ย้อนอ่านรายงานถอดบทเรียนการเลือก สว.ตามบทเฉพาะกาลฯ พบพยายามแก้ปมขาดมีส่วนร่วมและการรับรู้ของประชาชนต่อกระบวนการเลือก สว. แนะกระตุ้นความสนใจของประชนชนและสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการดำเนินการให้มีการเลือกทั้ง 3 ระดับ เปิดช่องให้ผู้สมัครแนะนำตัวมากขึ้น จัดเวทีแนะนำตัวให้แก่ผู้สมัครเป็น สว. รวมถึงจัดทำเทปบันทึกภาพเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสื่อออนไลน์
จากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสร้างอุปสรรคของการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน รวมทั้งมีผู้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนระเบียบดังกล่าวนั้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามปมปัญหาการขาดมีส่วนร่วมและการรับรู้ของประชาชนต่อกระบวนการเลือก สว. นี้ เคยถูกหยิบยกมาศึกษาตั้งแต่งการได้มาซึ่ง สว.ชุดปัจจุบัน โดยที่ประชุม สว. ครั้งที่ 17/2562 วันที่ 10 ก.ย. 2562 พิจารณาและมีมติตั้งคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและมอบหมายให้อนุกรรมาธิการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คณะที่ 1 ดำเนินการพิจารณาศึกษาเรื่องการถอดบทเรียนการเลือก สว.ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป.ว่าดว้ยการได้มาซึ่ง สว. 2561
รายงานถอดบทเรียนดังกล่าวหน้า 137-138 ระบุว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ม.18 ที่กำหนด “ห้ามมิให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครและจํานวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร” ประกอบ ม.36 ได้กำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครและบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้สมัครที่จะช่วยเหลือในการแนะนำจัวไว้ โดยต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขตามที่ กกต. กำหนด ซึ่งการแนะนำตัวจะเป็นไปตามแบบ สว. 18 โดยห้ามมิให้มีการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ความคืบหน้าในการดำเนินการให้มีการเลือก สว. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ประเด็นปัญหา คือ การกำหนดความดังกล่าวข้างต้นเป็นเหตุทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปสังเกตการณ์หรือนำเสนอข้อมูบข่าวสารให้ประชาชนรับทราบการดำเนินการให้มีการเลือก สว. ทั้ง 3 ระดับได้
ข้อเสนอแนะ/แนวทางแก้ไขของสำนักงาน กกต. ไว้ด้วยว่า 1.ให้มีการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้เพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดเสมือนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระตุ้นความสนใจของประชนชนและสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการดำเนินการให้มีการเลือก สว. ระดับ อำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ 2. ควรมีการกำหนดวิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครให้มากยิ่งขึ้นโดยเปิดโอกาสให้ผู้สมัครคัดเลือก สว. ได้มีการแนะนำตัวผ่านช่องทางอื่นๆ ด้วย เช่น การจัดเวทีแนะนำตัวให้แก่ผู้สมัครเป็น สว. การจัดทำเทปบันทึกภาพเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสื่อออนไลน์ เป็นต้น
ข้อเสนอแนะของรายงานการวิจัยกระบวนการได้มาซึ่ง สว. 1. ควรปรับปรุงแก้ไขหลักการและวิธีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลหรือนําเสนอข่าวสารข้อมูลของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดําเนินการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ สำนักงาน กกต. สามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนเกิดความตื่นตัวมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้สื่อมวลชนสามารถเผยแพร่ข่าวสารและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับการเลือก สว. รวมทั้งสํานักงาน กกต.สามารถดําเนินการเชิงรุกในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง
2. การส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนถึงกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาให้มากขึ้น สํานักงาน กกต. ทั้งในส่วนกลางและส่วนจังหวัดควรสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนถึงกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยดําเนินการสร้างความร่วมมือกับสื่อมวลชนทุกแขนงในการประชาสัมพันธ์ถึงกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาในแต่ละขั้นตอนเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนให้ความสําคัญและตระหนักถึงความสําคัญในการมีส่วนร่วมในกระบวนการได้มาซึ่ง สว. พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจต่อประชาชนผู้ที่มีความสนใจให้ลง สว. โดยในช่วงก่อนการดําเนินการเลือกหรือเลือกตั้ง สว. ในอนาคต ควรจะต้องมี การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ หลากหลายช่องทาง และต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลไกผู้นําชุมชนและเครือข่ายชุมชนไปพร้อมกับการอาศัยศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งตําบล (ศส.ปชต.) ให้เป็นกลไกในการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ในชุมชนและสังคมเพื่อกระตุ้นจิตสํานึกของประชาชนให้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ที่สําคัญของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นสถาบันที่สําคัญทางการเมือง