3 ปี รัฐประหารพม่าแลกมาด้วยเลือดเนื้อของประชาชนที่ไหลนองเต็มท้องถนน กองทัพพม่าใช้ปืนจริง กระสุนจริงปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารทั้งทางพื้นดินและการโจมตีทางอากาศ หลังพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2021 การปกครองภายใต้การนำของมินอ่องหล่าย และกองทัพพม่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 2.6 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานจากบ้านเรือนของตัวเองเพราะผลกระทบจากการรัฐประหาร บ้านเรือนกว่า 80,000 หลังเสียหายจากการโจมตีของกองทัพ และค่าเงินในพม่าเฟ้อแตะ 20 เปอร์เซ็นต์
ประชาชนที่มีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล วิศวกร ครูอาจารย์ นักกฎหมาย นักการเมือง ศิลปิน นักแสดง นักศึกษา และอีกหลากหลายอาชีพกลายเป็นคนพลัดถิ่นในบ้านเกิดของตนเอง บางคนต้องหาทางดิ้นรนหนีออกนอกประเทศไปเป็นคนพลัดถิ่นไร้สิทธิไร้เสียงในประเทศอื่น เพียงเพราะยื่นหน้ายื่นมือเข้าไปต่อต้านการรัฐประหาร
“เสียงไวโอลิน” ก็มีความผิด
ในห้องเช่าขนาดเล็กที่กลายเป็นบ้านด้วยความจำเป็น บ้านที่ชเว (นามสมมติ) นักไวโอลินจากประเทศเพื่อนบ้านและครอบครัวอาศัยอยู่รวมกัน 4 ชีวิต ห้องที่ที่นอน ที่รับแขก ที่ทำอาหาร และที่ซ้อมดนตรีรวมกันอยู่ในพื้นที่เดียว โดยไม่มีการกั้นแบ่งเขตห้องทุกสัดส่วนของห้องถูกมองเห็นทันทีที่เปิดประตูเข้าไป ชเวและภรรยาต้อนรับผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้ม ลูกทั้ง 2 คนของเขานอนหลับอยู่บนเตียงนอน คีย์บอร์ดถูกตั้งอยู่ปลายเตียงข้างโต๊ะหนังสือที่มีไวโอลินวางอยู่
ชเวเคยเป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในระดับชนชั้นกลางของพม่า เขาร่วมกับเพื่อนเปิดสตูดิโอสอนเกี่ยวกับศิลปะและดนตรีในย่างกุ้ง ช่วงปี 2022 หลังการรัฐประหารพม่าเพียงแค่ 1 ปี ชเวเริ่มรับรู้ได้ถึงความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับตัวเขา คืนวันที่ 26 ม.ค. 2022 เวลาประมาณ 22.00 น. มีทหารและตำรวจราว 20 คน บุกมาตรวจค้นตึกที่ชวยอาศัยอยู่ โชคดีที่สายของทหารอาจจะรายงานข้อมูลผิดพลาด พวกเขาเข้าไปค้นผิดห้อง ทำให้ชเวไหวตัวทันหนีออกมาได้ เขาหนีการจับกุมตัวของทหารมาพร้อมลูกสาวคนโต ขณะที่ภรรยาและลูกชายคนเล็กตามออกมาทีหลัง ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจออกนอกประเทศพม่า ชเวพยายามพาครอบครัวเปลี่ยนที่นอนไปเรื่อยๆ ตามโรงแรมบ้าง บ้านเพื่อนบ้าง เพื่อไม่ให้ทหารพม่าตามตัวได้
“ผมยังอยู่ที่ย่างกุ้ง แต่ว่าอยู่บ้านไม่ได้ ต้องไปนอนที่โรงแรมสองคืน แล้วย้ายไปที่อื่น ย้ายที่นอนแบบนั้นไปเรื่อยๆ จนเพื่อนบอกว่า “โอ๊ย คุณจะย้ายแบบนี้มันไม่รอดอยู่แล้ว ออกมาเลย” เพื่อนแนะนําแนะให้เช่ารถแพงๆ มีคนขับไปส่งที่ชายแดน เพื่อไม่ให้คนอื่นจำได้ ก่อนจะหาทางออกนอกประเทศ” ชเวกล่าว
เขาเลือกหนีออกนอกประเทศพม่ามาอยู่ที่ไทยเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว ตอนออกมาจากพม่าชเวเล่าว่าเขามีเพียง “ไวโอลินของผม ของภรรยา ของลูกสาว” ติดตัวมา เหตุผลที่ทหารพม่าจับตามองมาที่เขาเป็นผลมาจากการที่เขาและเพื่อนๆ ที่สตูดิโอ รวมถึงลูกศิษย์ประมาณ 100 คน รวมตัวกันแสดงออกว่าการรัฐประหารของกองทัพพม่าที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้องและไม่มีความชอบธรรมผ่านการเล่นดนตรี นอกจากนี้สตูดิโอของชเวยังมีส่วนช่วยทำเพลงสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร จนมีคนในสตูดิโอของเขาถูกจับในข้อหาที่มีการยุ่งเกี่ยวกับกองกำลังชาติพันธุ์ ไม่แปลกที่เขาจะระแวงกับการมาตรวจค้นของทหารพม่าจนต้องหนีออกนอกประเทศ
กองทัพพม่าไม่เคยปรานีต่อคนที่ต่อต้านรัฐประหาร
ความกล้าในการแสดงออกของชเวมาจากการที่เขามองว่า “ก่อนรัฐประหารปี 2021 ผู้คนในย่างกุ้งก็เห็นการเล่นดนตรีของสตูดิโอของเรา ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ผู้คนลงถนนต่อสู้ เราจะเงียบไม่ได้ ประชาชนทุกคนก็ลำบาก แล้วเราจะให้กำลังใจคนที่ลงถนนได้อย่างไร ก็เลยตัดสินใจออกมาทำ”
“ครั้งแรกยังไม่แรงเท่าไหร่ แต่หลังจากที่มีการยิงประชาชน นักเรียนนักศึกษาตาย กลางคืนเราก็ไปนั่งตรงที่มีคนเสียชีวิต เล่นไวโอลินไว้อาลัยให้เขา หลังจากนั้นก็ถูกตาม ในพม่ามันเริ่มจากประชากรที่เห็นด้วยกับรัฐประหารจับตากันเอง ใส่ชุดธรรมดาเหมือนเรา ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อาจจะเป็นประชาชนหรือสายของทหารตำรวจก็ได้ที่ให้เบาะแสเรา” ชเว กล่าว
สิ่งที่ชเวทิ้งมาไม่ใช่แค่เพียงสตูดิโอสอนดนตรีในย่างกุ้ง แต่เป็นทุกอย่างในชีวิตของเขา “ถ้าไม่มีการรัฐประหาร หรือถ้าเราไม่ได้ไปร่วมอะไร (ต่อต้านรัฐประหาร) ก็อยู่ได้ รายได้ก็โอเค เป็นงานที่เราชอบด้วย แต่หลังจากที่เราตัดสินใจแล้วว่าจะออกมาสู้ ก็ทิ้งทุกอย่างไปหมดเลย”
“ถ้าเราคิดว่าอยู่เงียบๆ ดีกว่า ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้เมื่อไหร่ประชาชนจะชนะ เมื่อไหร่ประเทศของเราจะพัฒนา การรัฐประหารจะอยู่แบบนี้ตลอดไป เท่าที่เราทำได้เราต้องแสดงออก ต้องเปิดหน้าเปิดตาให้ทั่วโลกเห็นชีวิตประชาชนในพม่า” ชเว กล่าว
ชเวไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลว่า ที่ผ่านมาพม่าเคยมีการรัฐประหารมานับครั้งไม่ถ้วน ประชาชนต้องอยู่ภายใต้รัฐประหารจนกระทั่งปี 2015 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ ออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้ง เป็นช่วงเวลาที่เขาใช้คำว่า “ลมหายใจที่เราหายใจเข้าไป เป็นลมที่สะอาดมาก เป็นช่วงเวลาที่เปิดหน้าเปิดตาให้ประเทศเราพัฒนาขึ้น แต่อยู่ดีๆ ก็คือมีการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นมา เหมือนกับว่าเราย้อนกลับไปในอดีตอีกครั้ง”
“คนรุ่นใหม่ต่างไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและต่างลุกขึ้นสู้ เราก็เป็นอีกคนที่สามารถออกมาต่อสู้ได้ แต่การต่อสู้ของเราไม่ได้ใช้อาวุธรุนแรง เราใช้ศิลปะ ใช้เสียงดนตรีของเรา เป็นการไปสู้ร่วมกับคนอื่นๆ เราเองก็ไม่เห็นด้วย” ชเว กล่าว
ภายใต้การต่อสู้ในระดับที่แตกต่างกันมากระหว่างประชาชนที่มีเพียงเสียงดนตรีกับกองทัพพม่าผู้ทำรัฐประหารที่มีอาวุธครบมือ อาจดูเป็นไปไม่ได้เลย แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเสียงดนตรีของฉเว่คือการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐประหารอย่างเข้มข้นราวกับคลื่นใต้น้ำที่ช่วยประคับประคองการต่อสู้ของประชาชนชาวพม่าไว้อีกแรง
“เสียงดนตรีกับปืน ถ้ามองตรงๆ ก็สู้ไม่ได้ แต่เราใช้เสียงดนตรีของเราสนับสนุนคนที่ต่อต้าน จัดกิจกรรม หางบประมาณมาสนับสนุนคนที่ใช้อาวุธสู้ด้วย ไม่ใช่แค่ประเทศของเราประเทศอื่นถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นมา คนทำรับประหารมักจะระวังนักเขียน นักแสดง นักร้อง เพราะคนกลุ่มนี้สามารถใช้เสียงของพวกเขาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารได้ ซึ่งปฏิกิริยาหรือการแสดงออกของเราสามารถหางบประมาณไปสนับสนุนคนอื่นได้” ชเว กล่าว
ชีวิต 1 ปีในประเทศไทยชเวยังคงรักษาความสามารถในการทำงานเกี่ยวกับดนตรีที่เขารักได้ เพียงแต่ต้องระวังตัวจากจากตำรวจไทยบ้าง เพราะพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ต่อให้มีบัตรหรือมีเอกสารยืนยันตัวตนมาแสดงก็อาจถูกเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ซึ่งชเวยังเอาตัวรอดมาได้ตลอด ขณะที่เพื่อนของเขาที่เป็นหมอเคยถูกคนอ้างตัวเป็นตำรวจไทยจับและเรียกเงิน 200,000 บาท “อ้างว่าแม้จะคุณเป็นหมอ แต่ไม่มีสิทธิรักษาที่นี่ ทำงานที่นี่ได้ จับแล้วก็ขอเงินสองแสน สุดท้ายต้องเจรจากันจนยุติไป”
ชเวอยู่ประเทศไทยโดยหวังว่าสักวันประเทศของเขาจะสงบลง เขาจะได้เดินทางกลับบ้านเกิด “ตัวเราในใจเราอยากอยู่ที่นี่มากกว่าที่ไปประเทศที่สาม”
“ในครั้งนี้ถ้าเราสู้ไม่ชนะ อนาคตลูกหลานของเราจะเป็นอย่างไง คนรุ่นเราต้องสู้ให้ได้ ต้องสู้ให้ชนะ รัฐประหารครั้งนี้พรากความอิสระของเราไป ทำร้ายชีวิตที่ผ่านมาของประชาชนที่เคยมีอิสระ ในแต่ละวันประชาชนได้แต่ซึมเศร้า ข่าวแต่ละข่าวที่เราได้เห็นได้ฟังไม่มีอะไรที่ทำให้ยิ้มได้ ทุกวันมีแต่น้ำตาของประชาชนที่ตกออกมา” ชเว กล่าว
เมื่อถามชเวว่าอยากบอกอะไรกับคนที่ทำรัฐประหาร สิ่งที่เขาอยากบอกคือ “วางปืนลงเถอะ พอได้แล้ว”
แร็ปกระแทกเผด็จการ
ซานเจย์ไม่ใช่ชื่อจริงของแร็ปเปอร์หนุ่มชาวพม่าวัย 28 ปี ที่ต้องหนีการรัฐประหารจากประเทศตัวเองมาอยู่ไทยอย่างแน่นอน เราไม่อาจเรียกเขาด้วยชื่อที่แท้จริงหรือเปิดเผยโลเคชั่นของเขาได้ เพื่อความปลอดภัยของตัวเขาเอง ถ้ามองจากภายนอกซานเจย์ตัวสูง ผิวคล้ำแดด แต่งตัวเรียบง่ายธรรมดาไม่เหมือนแร็ปเปอร์ที่ร้องเพลงเสียดสีใคร เขาดูใจเย็นเกินกว่าจะแร็ปรัวๆ ได้ มองเผินๆ ซานเจย์เหมือนหมอมากกว่าคนเป็นแร็ปเปอร์ด้วยซ้ำ บ้านที่เขาอาศัยอยู่ในไทยไม่ได้มีแค่เขา ยังมีวัยรุ่นชาวพม่าคนอื่นที่ย้ายเข้ามาเพราะการรัฐประหารอยู่ด้วยอีก 6 – 7 คน เป็นบ้านที่ค่อยข้างสร้างสรรค์มีทั้งโปรดิวเซอร์ นักร้อง นักแต่งเพลง แร็ปเปอร์ อยู่รวมกัน ชั้นสองของบ้านมีห้องที่ถูกทำเป็นห้องอัดเพลง ทำให้พอจะรู้ได้ว่าคนในบ้านหลังนี้เป็นศิลปินที่ทำเพลงกันอย่างจริงจัง
ถึงภายนอกจะดูเหมือนหมอแต่พอขึ้นเวทีซานเจย์สามารถดึงผู้ชมให้อยู่กับเขาได้ไม่แพ้แร็ปเปอร์คนไหน เขาโชว์คลิปเพลงของตัวเองใน YouTube ให้เราดูทั้ง MV และการแสดงสดจนมั่นใจได้ว่าเขามีความเป็นแร็ปเปอร์มืออาชีพอยู่ในตัวเอง ทุกเพลงที่ซานเจย์ให้ดูต่างมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต้านรัฐประหารในพม่าทั้งสิ้น
ก่อนรัฐประหาร ซานเจย์เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง ทำงานปกติเหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป แต่เมื่อกองทัพพม่าเข้ายึดประเทศจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาจึงลงถนนเข้าร่วมกับ CDM (ขบวนการทำอารยขัดขืนต้านรัฐประหารของประชาชนชาวพม่า Civil Disobedience Movement หรือ CDM)
“ก่อนการรัฐประหารประเทศของเรามีการพัฒนาอย่างไร แต่หลังจากที่รัฐประหารประเทศของเรามีแต่ความลำบากอย่างไร เราได้มาเรียนรู้ในช่วงนี้ อนาคตของวัยรุ่นอย่างพวกเราหมดสิ้นแล้ว เราก็เลยลงถนนร่วมกับคนอื่นๆ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในครั้งนี้ ถ้าเราสู้ไม่สำเร็จ คนรุ่นต่อไปก็ต้องได้รับผลของมันอีก” ซานเจย์ กล่าว
ซานเจย์ยืนยันว่าการกระทำของเขาและประชาชนที่ออกไปต่อต้านรัฐประหารบนถนนไม่ได้เป็นการใช้ความรุนแรง ประชาชนเพียงแต่มาแสดงสิทธิอันบริสุทธิ์ของพวกเขาที่ไม่เห็นด้วยกับชะตากรรมภายใต้กระบอกปืนของประเทศ หลังจากร่วมขบวนการต่อต้านรัฐประหารกับ CDM ซานเจย์ต้องทิ้งงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เขาทำมากว่า 2 ปี
“เจ้าหน้าที่รัฐแสดงออกหรือลงถนนประท้วงแบบนี้ไม่ได้ เขาไม่ให้ทำ หลังเข้าร่วมกับ CDM หน่วยงานของผมก็ตามหาตัว ผมเลยหลบหนีอยู่ในย่างกุ้ง สุดท้ายต้องหนีเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยง และข้ามมาประเทศไทย งานที่เราเสียไปกับสิ่งที่คนอื่นเสียสละ ตัวผมยังถือว่าเล็กน้อยมาก” ซานเจย์ กล่าว
ระหว่างที่หลบหนีการจับกุมตัวอยู่ที่รัฐกะเหรี่ยง ซานเจย์ได้รู้จักกับคนกะเหรี่ยงที่เขียนเพลงต่อต้านรัฐประหาร ทำให้เขาเริ่มแต่งเพลงต้านรัฐประหารออกมาบ้าง ต่อมาการสู้รบลามไปถึงรัฐกะเหรี่ยงซานเจย์เริ่มรู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัย เขาจึงหนีมาอยู่ที่ประเทศไทยในปี 2022 “หลังเข้ามาอยู่ไทยก็ลำบากอยู่ แม้ว่าจะลำบากเพียงใดมันก็ไม่ใช่แค่เราคนเดียว หลายคนก็ลำบากก็ได้รับผลกระทบกันทั้งนั้น” สิ่งหนึ่งที่ซานเจย์และชเวทำเหมือนกันขณะอยู่ในประเทศไทยคือพวกเขาใช้เสียงดนตรีและเสียงเพลงหาเงินสนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ซานเจย์ยังคงมีความคิดความเชื่อกับการต่อสู้ผ่านเสียงเพลง ถึงรู้ว่าเนื้อหาในเพลงแร็ปของเขาเสี่ยงแค่ไหน เขาก็ยังคงยืนยันที่จะทำมันต่อไป
“การต่อสู้การต่อต้านมันไม่เกี่ยวว่ามีพลังหรือไม่มีพลัง แม้ฝั่งนู้นจะมีอาวุธสามารถทำร้ายหรือฆ่าคนได้ แต่เพลงของเราสารถเปลี่ยนใจคนได้ เพลงของเราอาจกระตุ้นใจคนฟังให้เขามีพลังได้ ทำให้คนรับรู้ว่าประเทศเรามีปัญหาอะไรที่เรากำลังเผชิญ และเหมือนกับว่าเรายังสู้อยู่กับประชาชน เราไม่ได้ไปไหน และเราไม่ได้อยู่คนเดียว” ซานเจย์ กล่าว
ซานเจย์รู้ดีว่าการรัฐประหารในพม่าครั้งนี้คร่าชีวิตคนหนุ่มสาวไปในพม่าที่ออกมาเคลื่อนไหวไปเป็นจำนวนมาก “ผมเคยคิดว่าประเทศของเราอาจจะไม่มีรัฐประหารอีกต่อไป ประเทศเราเริ่มก้าวหน้ามาเรื่อยๆ แต่อยู่ดีๆ ก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้น และแน่นอนว่าถ้ามีการรัฐประหารแบบนี้ประชาชน นักศึกษา หรือชาวบ้านอาจเป็นฝ่ายสูญเสีย แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เขาจะเสียชีวิตไปเอง คนที่เสียชีวิตไปเขาก็มีบทบาทหน้าที่ของเขา เขาออกมาต่อต้านออกมาส่งเสียง ผลกระทบจากรัฐประหารจึงเกิดขึ้นกับชีวิตเขา”
“การรัฐประหารครั้งนี้เหมือนพาเราย้อนกลับไปในอดีตที่เราเคยผ่านมาแล้ว ปิดปากปิดตาประชาชนไม่ให้เห็นไม่ให้พูดอะไร พรากประเทศเราไป คนที่ทำรัฐประหารขู่ประชาชน ฆ่าประชาชน ทำให้ประชาชนกลัว แต่ครั้งนี้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กมีการแสดงออก และครั้งนี้เรามั่นใจว่าจะอีกไม่นาน อาจบอกไม่ได้ว่าอีกเท่าไหร่ แต่แน่นอนว่าจะไม่นาน” ซานเจย์ กล่าว
“คนที่ทำรัฐประหารไม่รู้ว่าคุณเอาอะไรคิด ลุกขึ้นมารัฐประหารแบบนี้ สมองเหมือนหมากินขี้ คุณตัดขาดชีวิตตัดความหวังของประชาชน”
นี่เป็นเนื้อเพลงท่อนที่ซานเจย์ชอบ เขาเลือกใช้เพลงที่ตัวเองแต่งพูดกับผู้นำ ถ่ายทอดสิ่งที่อยากพูดออกมากับคนทำรัฐประหาร เขาเชื่อว่าสถานการณ์ในพม่าตอนนี้ต่อให้การรัฐประหารและการสู้รบจะผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่สำหรับเขา “อีกไม่นานแล้ว จะเสร็จแล้ว จะสิ้นสุดแล้ว”
รายงานนี้ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการการยืนหยัดท่ามกลางวิกฤตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Staying Resilient Amidst Multiple Crises in Southeast Asia) ภายใต้ความริเริ่มของ SEA Junction โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิ CMB