‘STALKING’ สะกดรอย-ติดตาม-รังควาน อาชญากรรมที่ยังไม่ถูกมองเห็น

‘STALKING’ สะกดรอย-ติดตาม-รังควาน อาชญากรรมที่ยังไม่ถูกมองเห็น

‘STALKING’ สะกดรอย-ติดตาม-รังควาน อาชญากรรมที่ยังไม่ถูกมองเห็น
user007
Fri, 2024-05-24 – 11:02

การสะกดรอยติดตามรังควานหรือ stalking ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยังไม่ถูกตระหนักรู้ในฐานะอาชญากรรมประเภทหนึ่งที่อาจนำไปสู่อาชญากรรมที่ร้ายแรงกว่าได้ มิหนำซ้ำบางครั้งยังถูกสื่อปั่นให้เป็นเรื่องโรแมนติก ฟาโรห์ จักรภัทรานน เจ้าของช่องยูทูบ The Common Thread เป็นผู้หนึ่งที่ต้องการผลักดันกฎหมาย anti-stalking เพื่อให้รัฐมีเครื่องมือทำงาน ปกป้องประชาชน และป้องกันการติดตามรังควานโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจนอกกฎหมาย

การสะกดรอยติดตามรังควานหรือ stalking เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเสมอบนหน้าสื่อ ประเด็นอยู่ที่ว่ามันไม่ได้ถูกสื่อสารออกมาให้เห็นสภาพปัญหา กรณีอดีตสามีคอยติดตามการเคลื่อนไหวของอดีตภรรยา แฟนคลับติดตามไอดอลที่ตนชื่นชอบอย่างเกินพอดี ในบางครั้งการสะกดรอยติดตามรังควานยังถูกสื่อปั่นให้ดูเป็นความโรแมนติก เช่นกรณีที่ชายหนุ่มอดีตแฟนแอบเข้าไปในห้องของอดีตแฟนสาวเพื่อห่มผ้าให้

ทั้งที่การสะกดรอยติดตามรังควานเป็นการละเมิดสิทธิที่จะอยู่คนเดียว สิทธิที่จะใช้ชีวิตตามลำพังของปัจเจก และอาจรุนแรงถึงขั้นสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้ถูกสะกดรอย ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด มันอาจนำไปสู่อาชญากรรมที่รุนแรงขึ้น ดังที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกรณีฝ่ายชายตามขอคืนดีกับฝ่ายหญิง เมื่อถูกปฏิเสธก็มักจบลงด้วยโศกนาฎกรรม แต่ถามว่าผู้ถูกสะกดรอยสามารถยืมมือกฎหมายเข้าแก้ไขได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ นั่นเป็นเพราะในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ใช้กับกรณีสะกดรอยติดตามรังควานโดยตรง

ฟาโรห์ จักรภัทรานน เจ้าของช่องยูทูบ The Common Thread จึงมีอีกภารกิจหนึ่งที่เขาตั้งใจทำ นั่นคือการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับ stalking ออกมาเพื่อสร้างเครื่องมือป้องกันเหยื่อและความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคาม

ฟาโรห์ จักรภัทรานน เจ้าของช่องยูทูบ The Common Thread

เรื่องมีอยู่ว่า

ความตั้งใจของฟาโรห์เริ่มจากมีคนใกล้ชิดซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวถูกชายคนหนึ่งตามจีบและหนักข้อจนกลายเป็นการ stalking แม้ว่าฝ่ายหญิงจะปฏิเสธ แต่ฝ่ายชายกลับรุกไล่มากขึ้นด้วยการดักรอที่ที่ทำงาน โทรศัพท์ มายืนอยู่หน้าบ้านกลางดึก กระทั่งไปยืนอยู่หน้าเนอสเซอรี่ที่ลูกของหญิงรายนี้ จนเธอต้องส่งลูกไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดดูแล เมื่อเธอพยายามแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตํารวจกลับไม่สามารถทําอะไรได้ ซ้ำยังเจอคำถามที่เหยื่อการ stalking  ต้องเผชิญเสมอคือผู้สะกดรอยติดตามรังความได้ทําอะไรหรือยัง บุกรุกแล้วหรือยัง ทําร้ายร่างกายหรือยัง หรือล่วงละเมิดอะไรหรือยัง

ขณะที่ในต่างประเทศโดยเฉพาะในอเมริกาและญี่ปุ่นกลับให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และมีกฎหมายเฉพาะ เนื่องจากถือว่าการ stalking เป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งซึ่งมีโอกาสกลายเป็นอาชญากรรมรุนแรง เพราะการฆาตกรรมหลายกรณีก็มีจุดเริ่มต้นจากการ stalking

“ในต่างประเทศจะมี mindset ว่าตอนนี้ยังไม่ทํา แต่ถ้ายังปล่อยไว้ไม่เข้ามาจัดการดูแล สุดท้ายเหยื่ออาจต้องกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่รุนแรงกว่าการสะกดรอยติดตาม ก็เลยพยายามจะผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อเหยื่อที่ถูกสะกดรอยจะได้มีเครื่องมือในการป้องกันตัวเอง ไปแจ้งความตํารวจจะได้รับแจ้ง ไม่ใช่แค่บอกว่าแล้วเขาทําอะไรหรือยัง ปัจจุบันการสะกดรอยติดตามรังความในไทยเป็นเพียงความผิดลหุโทษ”

ฟาโรห์อธิบายว่ากฎหมายป้องการการ stalking เป็นกฎหมายที่มีลักษณะป้องปรามไม่ให้เกิดอาชญากรรม แต่กฎหมายของไทยเน้นการปราบปราม กล่าวคือเมื่อเกิดอาชญากรรมที่รุนแรงกว่า เช่น การบุกรุก การล่วงละเมิด การฆาตกรรม แล้วจึงเข้าไปจัดการ

“คําถามคือทําไมเราต้องรอให้เกิดเหตุรุนแรงแบบนั้น ทั้งที่มันมีงานวิจัยหรือมีการศึกษาในหลายประเด็นที่บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าภัย stalking สามารถหยุดยั้งได้ก่อน”

ก่อนจะร้ายแรงเกินแก้ไข

ฟาโรห์กล่าวว่าในสังคมไทยยังมีภาพการ stalking คลาดเคลื่อน คิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่มักเกิดกับคนมีชื่อเสียง แต่ความจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป บางกรณียังถูก romanticize ดังตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น มีกระทั่งผู้ที่ถูก stalking ไม่รู้ว่าตนกำลังตกเป็นเหยื่อ ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้จึงเป็นงานหนักอีกงานหนึ่งที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคม

ประเด็นสำคัญอยู่ที่นิยามของการสะกดรอยติดตามรังความคืออะไรและมีขอบเขตแค่ไหน เพราะเมื่อจะกำหนดให้เป็นโทษทางอาญาก็จำเป็นต้องมีนิยามและตัวบทที่ชัดเจน ฟาโรห์กล่าวว่าจุดนี้จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้จากต่างประเทศ

“มลรัฐแคลิฟอร์เนียกําหนดไว้ว่าการสะกดรอยติดตามรังควานคือการที่ใครสักคนหนึ่งจงใจมีเจตนามุ่งร้ายและติดตามบุคคลอื่นอย่างต่อเนื่องหรือมีเจตนามุ่งร้ายที่จะรบกวนคนอื่น ข่มขู่ โดยอาจจะเกิดขึ้นและมีเจตนาให้ผู้อื่นเกิดความกลัวเกี่ยวกับความปลอดภัยของครอบครัวหรือคนใกล้ชิด หรือมีความรู้สึกว่ากําลังถูกรบกวนสิทธิ์ในการที่จะอยู่เพียงลําพัง right to be let alone

“เรื่องคํานิยามของกฎหมายการสะกดรอยติดตามรังควาน นิยามกว้างๆ เอาไว้คือเป็นลักษณะของการกระทําใดๆ ก็ตามที่เป็นการรบกวนหรือรุกล้ำสิทธิ์ที่จะอยู่คนเดียว ผมยกตัวอย่างของญี่ปุ่นจะเห็นได้ชัด ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในชาติที่กําหนดนิยามชัดๆ ออกมา เช่นพฤติกรรมในลักษณะการติดต่อที่ฝ่ายผู้รับสารหรือผู้รับการติดต่อไม่ต้องการ การโทรยังซ้ำๆ การส่งข้อความ ส่งอีเมล์ การโทรมาแล้วไม่พูด แค่ปล่อยสายไว้ โทรมาแล้วทําเสียงแปลกๆ หรือการส่งของขวัญที่ผู้รับแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าไม่ต้องการ เช่น ดอกไม้ เอาอาหารไปแขวนไว้หน้าห้อง หรือการส่งของขวัญในเทศกาลสําคัญ หรือการใช้เทคโนโลยีในการติดตาม เช่น การใช้จีพีเอส การฝังแอประบุตําแหน่ง หรือการแอบติดกล้องซ่อนเอาไว้ในจุดที่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลของตัวผู้ถูกสะกดรอย

“การเผยแพร่ข่าวหรือบอกเรื่องนัดหมายของเหยื่อ เช่นเราไม่ได้มีนัดกันวันนี้ แต่ไปบอกทุกคนว่าคุณมีนัดกับผมวันนี้หรือโพสต์ แชร์ว่าเราจะนัดพบกัน หรือเป็นลักษณะของการแอบอ้างตีสนิท หรือการเก็บข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ รวมถึงการติดตามคุกคามไม่ใช่แค่ตัวเหยื่อ แต่กับคนรอบข้างเหยื่อ เช่นติดต่อเหยื่อไม่ได้ก็โทรหาพี่น้องหรือเพื่อนของเหยื่อ ไปปรากฏตัวตามสถานที่ต่างๆ ที่เหยื่อไปโดยไม่มีเหตุอันควร และมีการแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าคุณไม่ควรตามเราแบบนี้”

และหากเกิดการทำลายทรัพย์สิน ข่มขู่ หรือบุกรุก ก็จะมีกฎหมายอาญามาตราที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการ ทั้งนี้ในแง่นิยามในต่างประเทศจะมีการปรับกรอบนิยามไปตามลักษณะของจารีตประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

แค่ไหนจึงเรียกสะกดรอยติดตามรังควาน

ฟาโรห์ยอมรับว่าเรื่องนิยามเป็นเรื่องยากที่หลายประเทศก็ยังเจอปัญหานี้ เพราะมันจำเป็นต้องมีนิยามที่ชัดเจน รัดกุม แยกผู้ถูกสะกดรอยกับผู้ที่คิดไปเองออกให้ได้ เพื่อปกป้องเหยื่อและปกป้องผู้ถูกกล่าวหา เขายกตัวอย่างในอเมริกาว่าถึงขั้นระบุจํานวนครั้งไว้เป็นแนวทางคร่าวๆว่า ผู้กล่าวหาจะต้องมีหลักฐานว่าถูกสะกดรอยรังความจริงๆ

ถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามว่าสามารถใช้จำนวนครั้งการพบเจอผู้ที่เราคิดว่าเป็น stalker ได้หรือไม่ ฟาโหร์ตอบว่าในอเมริกาหรือญี่ปุ่นไม่ได้กําหนดลงในตัวบทกฎหมาย แต่มีลักษณะเป็นบทนิยามเพิ่มเติมใช้ประกอบกฎหมาย เพราะถ้ากำหนดจำนวนครั้งลงเช่นสามครั้งในตัวกฎหมายก็จะเป็นการตีกรอบที่แคบเกินไปสําหรับกฎหมายอาญา แต่ส่วนใหญ่จะวางความแนวทางประกอบกับพฤติการณ์อื่นๆ

สมมุติไปเจอคนที่ตนคิดว่าเป็น stalker ในร้านกาแฟที่ไปประจํา เคยแจ้งพฤติการณ์อื่นๆ ประกอบแล้ว การโทรหาในยามวิกาล แอบส่งจดหมาย เป็นต้น เจ้าหน้าที่จะนำเหตุการณ์เหล่านี้มาประกอบกันเพื่อพิจารณา หากเห็นว่าเป็นการ stalking ก็จะมีการส่งหนังสือเตือน หากผู้ถูกเตือนคิดว่าตนไม่ได้ stalking ก็จะต้องแสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่าตนไม่ใช่ stalker ขั้นตอนเหล่านี้จะใช้คัดกรองก่อนเข้าสู่กระบวนการทางอาญา เพราะการสะกดรอยติดตามรังควานต้องอาศัยพฤติการณ์อื่นๆ ประกอบกัน

“อันนี้คือหนึ่งในสิ่งที่เราต้องดูว่าในบ้านเรามีลักษณะจารีตประเพณีวัฒนธรรมอะไรบ้างที่เรารู้สึกว่าบางกรณีต้องมีการสร้างระบบที่รัดกุมมากพอที่จะทําให้เราประเมินแล้วชี้ได้ว่านี่คือคนที่กําลังสะกดรอยติดตามและนี่คือเหยื่อของการถูกสะกดรอยติดตาม

“อย่างในญี่ปุ่นจะเขียนไว้ว่าอะไรบ้าง สมมุติคุณอ่านนิยามของกฎหมาย คุณจะเริ่มรู้สึกว่าอันนี้เราน่าจะเป็นเหยื่อของการถูกสะกดรอยแล้วหรือยัง เพราะบางคนเข้านิยามไปแล้วแต่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกสะกดรอยติดตาม เช่นคนนี้มาตามทุกวันเลย เอาอาหารมาให้ทุกเช้า เทศกาลไหนก็ส่งดอกไม้มา แต่เขาไม่รู้สึกว่าเป็นการก่อกวนรําคาญ อันนี้ก็ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดด้วยซ้ำ คือสุดท้ายแล้วกฎหมายการสะกดรอยติดตามรังควานจะต้องมีพวกเจตนาพิเศษ ต้องมีเงื่อนไของค์ประกอบภายนอกที่ค่อนข้างรัดกุมมากๆ สุดท้ายจะใส่ทั้งหมดนี้ลงไปในกฎหมายอาญาคงไม่ได้ ไม่อย่างนั้นมันจะตายตัวไปเลยว่าต้องแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วโลกเรามีพลวัต”

cyber stalking

นอกจากการ stalking ในโลกออฟไลน์แล้ว อีกรูปแบบหนึ่งคือการ stalking ในโลกออนไลน์หรือ cyber stalking ฟาโรห์เล่าว่าในประเทศญี่ปุ่นเคยเกิดกรณี underground idol ที่ถูก stalker นำภาพที่สะท้อนจากตาดําของไอดอลไปขยายความคมชัดและเปรียบเทียบภาพจากมุมต่างๆ กระทั่งรู้ว่าไอดอลหญิงผู้นี้พักอยู่ที่ใด หรือการตามไปยังที่ที่เหยื่อเช็คอิน แล้วตัว stalker ส่งข้อความบอกว่าตนรู้ว่าเหยื่ออยู่ไหน ซึ่งต้องดูว่าเข้าข่ายพฤติกรรม cyber stalking ตามนิยามกฎหมายของญี่ปุ่นหรือไม่

ทว่า ก็ยังต้องขึ้นกับความรู้สึกหรือความยินยอมของผู้ที่ถูกติดตาม หากเจ้าตัวไม่รู้สึกเป็นการรบกวนก็จะไม่เข้าเกณฑ์การสะกดรอยติดตามรังควาน ยกตัวอย่างเช่นคนคนหนึ่งติดตามสเตตัสและกดไลค์ทุกโพสต์ หากเจ้าของโพสต์ไม่รู้สึกอะไรกับพฤติกรรมของคนคนนี้ก็ยังไม่เข้าข่ายการสะกดรอยติดตามรังควาน แต่เจ้าของแอคเคาท์ไม่พอใจและได้แจ้งคนคนนั้นแล้ว ปรากฏว่าคนคนนี้ยังไม่เลิกพฤติกรรมดังกล่าว ยังใช้วิธีต่างๆ เพื่อจะกระทำดังเดิม แบบนี้ก็จะเข้าข่ายสะกดรอยติดตามรังควาน

ฟาโรห์ จักรภัทรานน

“สังเกตมั้ยว่ามันจะมีพฤติการณ์อื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ว่าไม่ใช่เลเวลปกติแล้ว คือถ้ากดไลก์ธรรมดาทุกโพสต์เลย สิ่งที่เป็นลักษณะของการถูกสะกดรอยติดตาม มันมีคําหนึ่งติดท้ายคือคําว่ารังควาน ถ้าหากตัวผู้ถูกกระทําไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกรังควาน มันก็จบแล้ว มันก็ไม่สามารถนําสู่สเต็ปต่อไปเพราะว่ามันไม่เข้าองค์ประกอบความผิดในทางอาญาได้

“อย่างผมไปตามจีบผู้หญิงแล้วผมโดนแจ้งจับ มันไม่ง่ายขนาดนั้น การสะกดมาติดตามรังควานมันจะมีหลายสเต็ปมาก แล้วหนึ่งในสิ่งที่ทําในหลายๆ เคสคือต้องมีการพยายามแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งแล้วว่าฉันไม่โอเคกับการที่คุณมาตาม หรือไปแจ้งความลงบันทึกประจําวันว่าคนคนนี้มาตามที่บ้าน แล้วมันจะนําไปสู่สเต็ปต่อไปว่านิยามจะมีหลายนิยาม การสะกดรอยติดตามที่ดูจาก case study ต่างๆ ในหลายประเทศจะมีพฤติการณ์ร่วมเสมอไม่มีใครเป็นแบบใดแบบหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มันจะเริ่มจากการกระทําง่ายๆ เช่น การตามในโซเชียลมีเดีย การโทรศัพท์ ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้เจอกันในที่ทํางานก็จะเป็นการไปอยู่ในสถานที่ที่ถ้าคนคนนั้นมีรูทีนยิ่งดูง่าย เช่น ทุกเช้าพี่จะต้องไปกินกาแฟที่ร้านนี้ แล้วเจอเขาทุกวันทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยเจอ”

สร้างเครื่องมือทำงานให้เจ้าหน้าที่

ขณะที่ในประเทศไทยยังมีองค์ความรู้และงานศึกษาเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย การจะตรากฎหมายอาจจะต้องหยิบยืมความรู้ ความเข้าใจ และงานวิจัยในหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

ฟาโรห์กล่าวต่อว่าในไทยมีคําสั่งศาลคุ้มครองไม่ให้บุคคลเข้าใกล้บุคคลหนึ่งเช่นในต่างประเทศ แต่ด้วยความที่เจ้าหน้าที่เรามีจํากัด การปฏิบัติจริงจึงทำได้ยาก นี่ก็เป็นอีกความจำเป็นหนึ่งที่ต้องมีกฎหมายสะกดรอยติดตามรังควาน ทั้งยังต้องผลักดันให้เจ้าหน้าที่เข้าใจความสําคัญของกฎหมายนี้ กล่าวคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องเป็นฝ่ายทำหน้าที่

“แต่เพราะไม่มีกฎหมายต่อให้เจ้าหน้าที่รัฐอยากจะทําก็ทําไม่ได้ สมมติผมเป็นตำรวจ น้องสาวผมคือเหยื่อที่ถูกสะกดรอยติดตามและยังไม่เข้าเงื่อนไของค์ประกอบความผิดอื่น ผมอยากจะไปจับคนนี้มากๆ หรือไปเอาตัวคนนี้มาควบคุมตัวหรือสอบสวนเพิ่มเติม ผมก็ทําไม่ได้เพราะเขายังไม่ทําผิดอะไรนอกจากลหุโทษ มันจึงเป็นประเด็นว่าถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมีกฎหมายก็จะมีเครื่องมือทํางาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมค่อนข้างเชื่อว่าตํารวจส่วนใหญ่ใน

“บ้านเรายังมีจํานวนจํากัด แล้วเราต้องสร้างทัศนคติให้เขาเห็นว่าเมื่อมีประชาชนเข้ามาแจ้งความและหากมีกฎหมายนี้ตํารวจต้องเทคแอ็กชันเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นจะเหมือนกฎหมายอื่นๆ ที่พอตํารวจไม่เทคแอคชั่นเพราะมองว่าเป็นเรื่องไม่จําเป็น สุดท้ายมันจะนําไปสู่พาร์ทของการละเลยการปฏิบัติหน้าที่”

เขาย้ำอีกครั้งว่าหากมีกฎหมายเกี่ยวกับการสะกดรอยติดตามรังควานจะช่วยให้เหยื่อมีเครื่องมือป้องกันตนเอง ฟาโรห์ยกตัวอย่างว่าเมื่อมีกฎหมายญาติพี่น้องของเหยื่อก็ไม่ต้องออกโรงปกป้องเหยื่อซึ่งอาจจะลุกลามเป็นความรุนแรง เท่ากับบีบให้บุคคลคนหนึ่งต้องเป็นอาชญากรเพียงเพราะต้องการปกป้องคนที่ตนรัก อีกฟากฝั่งหนึ่งผู้ที่เป็น stalker ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดเยียวยาพฤติกรรมและคืนกลับมาเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าแก่สังคมได้

“อีกเรื่องหนึ่งที่บ้านเราต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติคือเหยื่อของการถูก stalker เหมือนกับเคสการคุกคามทางเพศ เวลาเราพูดว่าการคุกคามทางเพศ เรามักจะคิดถึงเหยื่อที่เป็นผู้หญิง เป็นเด็ก จริงๆ แล้วเหยื่อจะเป็นใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพไหน เพศวิถีอะไร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องใส่เข้าไปในสังคมให้มี awareness แลtทัศนคติตรงกันว่าไม่ว่าใครก็ตกเป็นเหยื่อการถูกสะกดรอยติดตามคุกคามได้ คนที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ต้องทนกับความทุกข์ทรมานไม่ต่างกันและเขาต้องการความช่วยเหลือไม่ต่างกัน”

ป้องกันอำนาจนอกกฎหมาย

ถึงตรงนี้ก็นำมาสู่คำถามที่ว่าการสะกดรอยติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐจะถือเป็นข้อยกเว้นหรือไม่ ฟาโรห์อธิบายว่าต้องแยกแยะเป็นกรณีๆ อย่างการสะกดรอยติดตามรังควานนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ย่อมถือว่าเป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต่างจากการสะกดรอยติดตามอาชญกรหรือผู้ต้องสงสัย โดยกรณีหลังกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐให้ทำได้

“บ้านเราปัญหาหนึ่งทุกวันนี้คือมีการใช้เจ้าหน้าที่หรือพวกนอกเครื่องแบบการสะกดรอยติดตามแล้วก็คุกคามนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว การมีกฎหมายตัวนี้เข้ามาผมเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในสเต็ปที่เข้ามาช่วยในการจัดการกับการใช้อํานาจนอกกฎหมายของทางฝั่งรัฐได้

“ผมตั้งใจจะผลักดันขยับไปถึงขั้นนิยามว่าบุคคลที่เป็นผู้สะกดรอยติดตาม เจ้าหน้าที่รัฐจะอยู่ในนั้นมั้ย และหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะมีอํานาจในระดับไหน ยังไง แต่ในปัจจุบันรู้สึกว่าถ้าหากดันไปตรงนั้นอาจจะถูกแรงเสียดทานค่อนข้างสูงเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือสําคัญของเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวะบ้านเมืองแบบนี้ การสะกดรอยคือการติดตามและการเก็บรวบรวมข้อมูลของเหล่านักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าในวันหนึ่งกฎหมายไปถึงตรงนั้นได้จะยิ่งทําให้แยกเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบที่ทํางานแบบคุกคามเพราะคนเหล่านี้ไม่มีอํานาจในการเข้าไปจัดการ มันเป็นอํานาจนอกกฎหมายทั้งสิ้น”

ในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่สะกดรอยติดตามในภาคการสืบสวนสอบสวนคดีหรือติดตามอาชญากรรมในรูปแบบอื่นๆ ย่อมต้องมีกฎหมายรองรับเป็นปกติ ฟาโรห์จึงเห็นว่ากฎหมายต่อต้านการสะกดรอยติดตามรังควานจะช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ

ฟาโรห์ยังเสนอด้วยว่าสำหรับประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องร่างกฎหมายขึ้นใหม่ แต่ใช้วิธีแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาแทน ซึ่งเขาเห็นว่าจะสร้างผลกระทบได้มากกว่าและสร้างความเข้าใจได้ง่ายกว่า โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาร่วมกันเขียนเนื้อหาที่ไม่รัดแน่นเกินไปจนใช้ไม่ได้จริง หรือหละหลวมจนถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้อื่น 

  • สัมภาษณ์

  • สังคม
  • คุณภาพชีวิต

  • ฟาโรห์ จักรภัทรานน
  • กฎหมายอาญา
  • การสะกดรอยติดตามรังควาน
  •  stalking
  • stalker

ติดตาม “ประชาไท Prachatai.com” ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top