กฎหมายแรงงานไทยยังพึ่งไม่ได้ ‘ไรเดอร์’ ยังอยู่กับวังวนความไม่แน่นอนในฐานะแรงงานเปราะบาง

กฎหมายแรงงานไทยยังพึ่งไม่ได้ ‘ไรเดอร์’ ยังอยู่กับวังวนความไม่แน่นอนในฐานะแรงงานเปราะบาง

กฎหมายแรงงานไทยยังพึ่งไม่ได้ ‘ไรเดอร์’ ยังอยู่กับวังวนความไม่แน่นอนในฐานะแรงงานเปราะบาง
user007
Thu, 2024-05-30 – 02:31

รายงานเวทีเสนองานวิจัย “ความหวังรายนาที: วังวนความไม่เเน่นอนของแรงงานเปราะบางภายใต้ระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” เปิดแหล่งที่มาของความไม่แน่นอนที่ไรเดอร์ต้องเจอ พบชีวิตที่กําหนดเอง (ไม่) ได้ ตัวตนแบบผู้ประกอบการกับการจัดการความไม่เเน่นอน ขณะที่การแตกกระจายของปัจเจกกับปัญหาการต่อรองเพื่อสภาพการทํางานที่ดีขึ้น ด้านผู้ทรงคุญวุฒิแนะ ‘ควรจะฟันธงว่าไรเดอร์คือลูกจ้าง’ ทําให้กฎหมายเเรงงานมีความเข้มเเข็งขึ้นก็จะเป็นสร้างอํานาจต่อรองให้กับไรเดอร์มากขึ้น

วันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ในการประชุมวิชาการโครงการวิจัยเรื่อง “ฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดํารงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย” โครงการวิจัยได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโสจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ปิ่นเเก้ว เหลืองอร่ามศรี ศาตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ ในวงเสวนาประกอบไปด้วย การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มานําเสนองานวิจัย “ความหวังรายนาที: วังวนความไม่เเน่นอนของแรงงานเปราะบางภายใต้ระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” และ พฤกษ์ เถาถวิล ผู้ช่าวยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อคิดเห็น

“มอเตอร์ไซต์รับจ้างกับไรเดอร์ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ทุกวันนี้ไรเดอร์มีบางสิ่งบางอย่างเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างเขากับลูกค้า นั่นคือ แอพพลิเคชั่น” นักศึกษาปริญญาโทผู้นําเสนอวิจัยชิ้นนี้กล่าวเริ่มต้นการเสวนาในส่วนของเขา

การัณยภาสมีข้อค้นพบว่าบริษัทต้องสร้างความไม่เเน่นอนที่ไม่พึงปรารถนาและถูกผลิตสร้างให้กับไรเดอร์ (รูปแบบการจ้างงานที่เปราะบาง) เพื่อที่ความแน่นอนจะได้เกิดขึ้นกับบริษัทเองเพื่อบรรลุถึงผลกําไร ด้วยความที่โมเดลธุรกิจแบบนี้ต้อง Outsource  (จัดจ้างคนภายนอก) มันก็เลยจําเป็นต้องยกต้นทุนให้มากที่สุด เลยเป็นสภาพการจ้างงานที่เหมือนเป็นการขูดรีด ซึ่งโมเดลแบบแฟลตฟอร์มดิจิทัลในปัจจุบัน เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เพราะว่าโมเดลแพลตฟอร์มมันสามารถขูดรีดได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย เงื่อนไขของตลาดแรงงาน และสภาพโรคระบาด

แหล่งที่มาของความไม่แน่นอนที่ไรเดอร์ต้องเจอ

การัณยภาสกล่าวว่า มาจากปัญหาหลักๆ 2 ประการคือ การพยายามควบคุมความเสี่ยงจากบริษัทแพลตฟอร์ม และความไม่แน่นอนจากภายนอก เช่น สภาพอากาศ สภาพถนน ลูกค้า ร้านอาหาร สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ

ซึ่งการควบคุมความเสี่ยงจากบริษัทเเพลตฟอร์มประกอบไปด้วย 1.Being watched from invisible eyes คือ การควบคุมกระบวนการใช้เเรงงานจึงทําให้เเพลตฟอร์มบรรลุเป้าหมายความมั่นคงของตัวเอง โดยใช้อัลกอริทึมแจกจ่ายงาน เพราะความไม่แน่นอนคือในช่วงที่มีความต้องการมากๆ ไม่รู้ว่าจะมีอัลกอริทึมที่เพียงพอหรือเปล่า จึงต้องสร้างเเรงจูงใจเพื่อให้ไรเดอร์เข้ามาทํางานเยอะๆ  รวมถึงการให้คะเเนน การจัดลําดับ และการลงโทษ เพื่อให้ไรเดอร์ไม่กล้าที่จะปฎิเสธงานที่เขาไม่อยากทํา 2.Slot machine effect เป็นการพยายามที่จะบอกว่า Social media ทําให้เราเสพติดความไม่แน่นอน อย่างการที่ไรเดอร์เอาค่ารอบมาอวดกัน ในบริบทเดลิเวอรี่ทําให้เเรงงานเจอความไม่เเน่นอน จะเห็นได้ว่างานบางงานจะได้ค่ารอบที่เยอะผิดปกติ ไปส่งใกล้นิดเดียวเเต่ได้เงินเยอะ เเต่ส่วนมากก็จะไม่เป็นแบบนั้น ทําให้เป็นการขูดรีด เเต่ถ้าเเพลตฟอร์มเอาเเต่ขูดรีดเเรงงานก็จะไม่มีคนอยากจะทํางานนี้ ดังนั้นจึงต้องมีการให้รางวัลกับไรเดอร์บ้างเพื่อเป็นกลไกจูงใจในการทํางาน จึงเป็นการเปลี่ยนความไม่เเน่นอนให้เป็นโอกาส

ชีวิตที่กําหนดเอง (ไม่) ได้ ตัวตนแบบผู้ประกอบการกับการจัดการความไม่เเน่นอน

“สองด้านของอิสรภาพ” โดยการัณยภาสได้เเรงบันดาลใจมาจาก เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสังคม แห่ง Central European University (CEU) ซึ่งการัณยภาสค้นพบว่าด้านเเรกคือ negative freedom อิสระที่เราถูกปลดปล่อยจากโครงสร้างที่ถูกกดขี่ อย่างเช่น การเรียกร้องในแง่ของการนัดหยุดงาน และ positive freedom อิสระที่เรารู้สึกว่าเราจะทําอะไรก็ได้ อย่างเช่น ไรเดอร์จะทํางานตอนไหน วันไหน ก็ได้ หรือจะหยุดตอนไหนก็ได้

จากการลงสนามของการัณยภาส พบว่า ไรเดอร์ส่วนใหญ่ให้ความสําคัญกับ Positive freedom มากกว่า เพราะว่าเขารู้สึกว่าการที่เขาเข้ามาทํางานนี้ มันให้อิสระในแง่ของการจัดการตัวเองได้มากกว่างานอื่น ๆ หมายความว่าเขามีความต้องการที่จะควบคุมชีวิตของตัวเองได้ ลงมือทําในสิ่งที่ตัวเองอยากทํา ปฎิเสธในสิ่งที่เขาไม่อยากทํา ส่วนโครงสร้างที่เข้ามากดขี่เขา เขาก็จะลงมือทํา แก้ปัญหาด้วยตนเอง ทําให้เกิดความไม่ลงรอยเพราะมีมุมมองด้านเสรีภาพเเตกต่างกัน เนื่องจากไม่ได้เเก้ไขปัญหาด้วยการเรียกร้องเหมือนกับ negative freedom ดังนั้นไรเดอร์บางคนก็จะมีความเป็นผู้ประกอบการมากกว่าเพราะว่ามี positive freedom สูง  แต่ไรเดอร์ทั้ง 2 แบบนี้มีความต้องการเหมือนกันคือต้องการความอิสระจัดการตัวเองได้ และอยากให้โครงสร้างมันเปลี่ยนไป โดยที่ไม่ต้องขึ้นตรงกับแพลตฟอร์มเหมือนในปัจจุบัน

ถ้าพูดกันตรงๆ แล้วสังคมไทยประกอบไปด้วยเเรงงานอิสระหรือ “ผู้ประกอบการรายย่อย” เป็นจํานวนมาก เพราะฉะนั้นจึงไปด้วยกันด้วยดีกับการทํางานเเพลตฟอร์ม เนื่องจากเคยชินกับการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

การแตกกระจายของปัจเจกกับปัญหาการต่อรองเพื่อสภาพการทํางานที่ดีขึ้น

โมเดลแบบธุรกิจเเพลตฟอร์มทําให้ปัจเจกมีความแตกกระจายกันมากขึ้น เพราะการแข่งขันของทางเเพลตฟอร์มเองหรือแม้กระทั่งที่ตัวไรเดอร์เอง ซึ่งทําให้การรวมตัวกันนั้นเกิดขึ้นยาก

ประเทศไทยนั้น การัณยภาสมองว่า “สหภาพแรงงานก็ไม่ได้เข้มเเข็ง และไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้เเรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ (informal sector) ได้ การต่อรองจึงยังอยู่ในรูปแบบของความไม่เป็นทางการ”

แต่ในส่วนของต่างประเทศ ประเทศที่มี Trade union ที่เข้มเเข็ง เขามักจะเรียกร้องในเชิงกฎหมาย แต่ประเทศที่ไม่มีสหภาพเเรงงานที่เข้มเเข็งก็มักจะมีการเรียกร้องในรูปแบบนัดกันหยุดงาน

ดังนั้นการทําให้ความไม่แน่นอนกลายเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาคือหนึ่งกลไกสําคัญ ไรเดอร์ไทยจึงตกอยู่ในสถานะที่คลุมเครือ คือทั้งด้านที่เป็นผู้ประกอบการอิสระและด้านที่มีลักษณะเป็นลูกจ้าง คือเป็น ปัจเจกที่มีอํานาจตํ่าและไม่สามารถรวมตัวเพื่อต่อรองกับบริษัทแพลตฟอร์มได้ อิสรภาพเชิงบวกเพียงอย่างเดียวไม่สามารถปลดปล่อยเเรงงานจากการถูกขูดรีดได้ เพราะสุดท้ายเเล้วก็จะไปส่งเสริมให้ปัจเจกแข่งขันกันมากกว่าที่จะรวมตัวกัน พร้อมเสนอเเนะให้มีการกํากับควบคุมการดําเนินงานของบริษัทแพลตฟอร์มในประเด็นที่เกี่ยวข้อกับสถานะการจ้างงาน หากเป็น พาร์ตเนอร์ ก็ห้ามใช้กลไกเข้ามาควบคุมแรงงาน หรือถ้าเป็น ลูกจ้าง ก็ต้องมีความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเเลกกับความอิสระ เเต่ปัญหาคือ ไม่ว่าทางไหนแพลตฟอร์มก็เสียเปรียบ เขาจะยอมหรือไม่ เพราะถ้าคลุมเครืออยู่แบบนี้ ม

มันก็จะมีปัญหาไปเรื่อยๆ เเละกฎหมายแรงงานควรเข้มเเข็งมากกว่านี้ เพราะว่าไรเดอร์จํานวนมากไม่ต้องการที่จะอยู่ในสถานะลูกจ้าง เพราะว่าเขามีประสบการณ์แย่ๆ ทําให้ไม่ชอบวัฒนธรรมอํานาจนิยมเนื่องจากค่าเเรงตํ่า ไม่มีสวัสดิการ กลายเป็นว่าเเรงงานที่อยู่ในภาคธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางนั้น โดนขูดรีดมากกว่าแรงงานในบริษัทขนาดใหญ่ เพราะบริษัทใหญ่ต้องทําตามกฎหมายเเรงงาน ดังนั้นหากกฎหมายแรงงานอ่อนแอหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลูกจ้างได้อย่างทั่วถึง คนจะยิ่งออกมาทําอาชีพอิสระมากขึ้น และยิ่งทําให้สิทธิแรงงานตกตํ่าลงไปอีก

ควรจะฟันธงว่าไรเดอร์คือลูกจ้าง

“ไรเดอร์เขาไม่ได้ไร้เดียงสา เขารู้ดีว่าเขาอยากอิสระ เเต่ก็รู้ว่างานนี้ไม่ได้อิสระ” ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อคิดเห็น

พฤกษ์ กล่าวต่อในฐานผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อคิดเห็นว่า หากพูดให้ชัดขึ้นไรเดอร์จึงอยู่ในภาวะ หนีเสือปะจระเข้เพราะไม่อยากเป็นลูกจ้างในบริบทสังคมไทยและอยากจะมาหาโลกตามความปรารถนาเเต่กลายเป็นถูกหลอก และเเรงงานไรเดอร์ได้ทําให้ภาคประชาสังคมไทยคึกคักกันเป็นอย่างมาก ในเรื่องความไม่เป็นธรรมของสังคม พร้อมยังเสนออีกว่า “กฎหมายเเรงงานไทยนั้นมันพึ่งไม่ได้” เข้าประกันสังคมก็ต้องไปนั่งรอคิว

“ถ้าเราทําให้กฎหมายเเรงงานมีความเข้มเเข็งขึ้นก็จะเป็นสร้างอํานาจต่อรองให้กับไรเดอร์มากขึ้นด้วย” พฤกษ์ กล่ล่าวและให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย ว่าจึงควรจะฟันธงว่าไรเดอร์คือลูกจ้าง  เพราะในทางปฎิบัติ บริษัทเเพลตฟอร์มนั้นทําตัวเป็นนายจ้างอย่างเเน่นอนเเละเป็นนายจ้างที่โหดกว่านายจ้างธรรมดาด้วยเพราะตามเราไปถึงบ้าน เราทํางานไม่ทํางานเเพลตฟอร์มจะรู้หมดเเละก็ให้คุณให้โทษเราด้วย เราจึงเรียกการควบคุมนี้ว่าเป็นการควบคุมเชิงองค์กรที่มาควบคุมชีวิตจิตใจให้เราเป็นเเรงงาน ดังนั้น “ปัญหาทุกอย่างจึงเกิดจากโมเดลธุรกิจเเพลตฟอร์มที่ปิดบังอําพรางความไม่เป็นธรรมนี้”

นันทวัฒน์ ฉัตรอุทัย อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยน

เมื่อ ‘คนสั่งอาหาร’ มีส่วนในการ ‘ขูดรีด’

นันทวัฒน์ ฉัตรอุทัย ได้เเย้งว่า จากที่กล่าวมานั้น คนที่ขูดรีดอีกคนหนึ่งได้หายไปนั่นคือ คนสั่ง ซึ่งบริษัทแพลตฟอร์มหาประโยชน์จากสิ่งนี้ เเต่สิ่งที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือระบบเศรษฐกิจไทย เพราะเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมาเราใช้ Cheap labor (แรงงานราคาถูก) ดังนั้นเเล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมาคือระบบเศรษฐกิจเเบบนอกระบบ (informal sector) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ คือจริงๆ ควรจะต้องถามก่อนว่าเราเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดที่ค่าฝุ่น p.m.2.5 ขึ้นเเต่เเม่ยังต้องกระเตงลูกออกมารับงานไรเดอร์ ระบบเศรษฐกิจไทยไม่มีความคิดที่จะสร้างงานเเบบ Formal sector ซึ่งที่อาจารย์พฤกษ์ว่าการเป็นเเรงงานต่างประเทศมันดีกว่า เเต่เราจะไม่เห็นภาพว่าทําไม่เราถึงได้มีไรเดอร์จํานวนมาก ทําไมคนจํานวนมากที่ทํางานธุรกิจขนาดเล็กมาจ่ายค่าประกันสังคมให้กับลูกจ้างเนี่ยมันเป็นไปไม่ได้ การพูดถึงการรวมตัวไปเรียกร้องนั้น มันพูดง่าย เเต่พอความเป็นจริงเเล้วเราจะไปเรียกร้องกับใครได้ ในเมื่อระบบเศรษฐกิจมันต้องการการเลี้ยงดูจากเเรงงานราคาถูกเป็นหลัก เเต่กว่า 60-70% นั้นไปคาอยู่ใน Informal sector ดังนั้นจึงมีการเถียงกันว่า กสม.(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) บอกว่าไรเดอร์เป็นเเรงงาน เเต่ไรเดอร์ออกมาบอกว่าคุณหนีค่าเเรงขั้นตํ่ามาเพื่อที่จะกลับไปเอาค่าเเรงขั้นตํ่าหรอ เรื่องนี้ถ้าจะเเก้มันจึงยิ่งใหญ่กว่าการมารวมตัวกัน ดังนั้น เมื่อดูจาก Nordic country จึงต้องมีกฎหมายการจ้างงานที่ชัดเจน ถ้าคุณยอมให้เขาเรียกร้องต่อต้านได้ก็เเสดงว่าคุณยอมให้สิ่งที่เรียกว่าการจ้างงานแบบเปราะบางมันเติบโตได้อย่างเป็นทางการ

“ผมเห็นด้วยมากๆ เพราะว่าคนที่ได้ประโยชน์ แน่นอนต้องเป็นเเพลตฟอร์ม แล้วแพลตฟอร์มก็พยายามทําให้ลูกค้าคิดว่า เขาก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้เหมือนกัน” การัณยภาสตอบประเด็นที่นันทวัฒน์ได้เสนอข้อคิดเห็น เขายังกล่าวต่อว่าแม้ลูกค้าในต่างประเทศจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้ เวลาที่มีการเรียกร้อง ลูกค้าบางส่วนก็จะมาร่วมขบวนด้วย แต่ในประเทศไทย เราจะเคยชินกับการใช้เเรงงานราคาถูก ดังนั้น จึงยังไม่สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนว่าผู้บริโภคออกมาซัพพอร์ตไรเดอร์ได้มากน้อยเเค่ไหน แม้ภาคประชาสังคมบางส่วนจะออกมาสนับสนุนแล้วก็ตาม

สำหรับ วรันธร ตังคไชยนันท์ ผู้เรียบเรียงงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท ซึ่งมาจาก สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

  • ข่าว

  • เศรษฐกิจ
  • แรงงาน

  • ไรเดอร์
  • วรันธร ตังคไชยนันท์
  • การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์
  • เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
  • แรงงานเปราะบาง
  • พฤกษ์ เถาถวิล

ติดตาม “ประชาไท Prachatai.com” ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top