ผู้หญิงในการเมืองท้องถิ่นไทย จำนวนมากขึ้นแต่สัดส่วนยังน้อยมาก

ผู้หญิงในการเมืองท้องถิ่นไทย จำนวนมากขึ้นแต่สัดส่วนยังน้อยมาก

ผู้หญิงในการเมืองท้องถิ่นไทย จำนวนมากขึ้นแต่สัดส่วนยังน้อยมาก
user8
Tue, 2024-05-28 – 13:32

คำกล่าวที่ว่าผู้หญิงครอบครองโลกนี้ไว้ครึ่งหนึ่งเป็นสัจธรรมที่พิสูจน์ได้ด้วยสถิติมานานแล้ว ถ้านับเอาแต่ทางกายภาพสัดส่วนประชาชนของโลกนั้นชายและหญิงจะมีสัดส่วน 50:50 บางช่วงเวลาสัดส่วนประชากรหญิงจะมากกว่าด้วยซ้ำไป แต่ในทางการเมืองนั้นปรากฏว่าสัดส่วนของผู้หญิงไม่เคยถึงครึ่งเลย แม้ในยุคสมัยปัจจุบันโลกจะยอมรับว่าความรู้ความสามารถของหญิงชายไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย การงานสิ่งใดที่เคยคิดว่ามีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ทำได้ ผู้หญิงก็พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ทำได้เหมือนกันหรือหลายกรณีดีกว่าผู้ชายเสียด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ปรากฏในระดับโลกกลับชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงยังปรากฎตัวอยู่ในการเมืองทุกระดับซึ่งก็รวมถึง “ท้องถิ่น” น้อยอย่างน่าตกใจ พวกเธอยังคงถูกกีดกันจากโอกาสที่จะมีส่วนร่วมและบทบาทในการกำหนดทิศทางชุมชน รายงานภายใต้โครงการ #ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ ชิ้นนี้มุ่งเจาะลึกถึง ปัญหาการขาดแคลนตัวแทนผู้หญิงบนเวทีการเมืองท้องถิ่น ฉายภาพให้เห็นถึงอุปสรรคที่ผู้หญิงต้องเผชิญ รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในระบบการเมืองท้องถิ่น

ทั่วโลกผู้ยังมีผู้หญิงเป็นนักการเมืองท้องถิ่นน้อย

แผนภาพแสดงความหนาแน่นในประเทศที่ผู้หญิงได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น (ภาพจาก UN Women)

ทั่วโลกยังคงเผชิญกับการขาดแคลนตัวแทนผู้หญิงบนเวทีการเมืองในระดับท้องถิ่น ซึ่งอาจส่งผลให้เสียงของผู้หญิงถูกกลืนหายและถูกกีดกันโอกาสในการมีส่วนร่วม ข้อมูลจากรายงาน Women’s representation in local government: A global analysis โดย UN Women ระบุว่าจากข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2020 มีผู้ได้รับเลือกตั้งในสภาท้องถิ่นทั่วโลกทั้งหมด 6.02 ล้านคน ใน 133 ประเทศและดินแดน แต่มีเพียง 2.18 ล้านคน (36%) เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง แม้ว่าจะมีผู้หญิงอยู่ในการเมืองระดับท้องถิ่นสูงกว่าในการเมืองในรัฐสภาระดับชาติซึ่งพบว่ามีเพียง 25% เมื่อคำนึงถึงสัดส่วนประชากรหญิงในโลกนี้ซึ่งมีอยู่เกือบเท่าๆกับผู้ชายคือ 49.76 : 50.24

มีเพียง 20 ประเทศ (คิดเป็น 15% ของประเทศที่มีข้อมูล) ที่มีสัดส่วนผู้หญิงในการตัดสินใจระดับท้องถิ่นมากกว่า 40% และมีอีก 28 ประเทศที่มีตัวแทนผู้หญิงอยู่ระหว่าง 30-40% ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ที่มีข้อมูลนั้นมีตัวแทนผู้หญิงน้อยมาก โดย 70 ประเทศมีตัวแทนผู้หญิงอยู่ระหว่าง 10-30% และ 15 ประเทศมีตัวแทนผู้หญิงน้อยกว่า 10%

ภูมิภาคที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่นมากที่สุดคือในเอเชียกลางและเอเชียใต้ (41%) ตามมาด้วยยุโรปกับอเมริกาเหนือ (35%) โอเชียเนีย (32%) แอฟริกาใต้สะฮารา (29%) เอเชียตะวันออกและอาเซียน (25%) ละตินอเมริกา (25%) ส่วนภูมิภาคที่ผู้หญิงมีบทบาทน้อยที่สุดคือเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ (18%)

ตัวอย่างประเทศที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่นสูงสุด ได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดา (67%) โบลิเวีย (50%) เบลารุส, เซเนกัล และตูนิเซีย (48%) ไอซ์แลนด์ (47%) และคอสตาริกา, นิวแคลิโดเนีย และยูกันดา (46%)

ทั้งนี้ในประเทศที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่นสูงนั้น ส่วนหนึ่งจากระบบ ‘โควตา’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในความก้าวหน้าของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงกับการเมืองท้องถิ่น ดังจะได้กล่าวต่อไป

หญิงไทยในการเมือง

ถึงสิ้นปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรเป็นหญิง 33.8 ล้านคน ชาย 32.2 ล้านคน ในทางสถิติสมควรที่จะมีผู้หญิงในการเมืองทุกระดับในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชายได้แล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งๆที่ผู้หญิงต้องการมีบทบาททางการเมืองมานานแล้ว แต่ก็กฎหมายอีกนั่นแหละส่วนใหญ่เขียนโดยผู้ชายเพิ่งจะอนุญาตเมื่อปี พ.ศ. 2525 ที่กำหนดให้ผู้หญิงสามารถลงสมัครเลือกตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CDEAW)โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่ง คือ “การเลือกปฏิบัติต่อสตรีเป็นการขัดต่อหลักการของความเสมอภาคของสิทธิและความเคารพต่อเกียรติศักดิ์ของมนุษย์ เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของสตรีด้วยเงื่อนไขที่เสมอภาคกันกับบุรุษในการดำรงอยู่ทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในประเทศของตน ขัดขวางความเจริญเติบโตแห่งความรุ่งเรืองของสังคมและครอบครัวและทำให้พัฒนาการอย่างสมบูรณ์ของศักยภาพต่าง ๆ ของสตรีในการให้บริการแก่ประเทศของตนและมนุษยชาติเป็นไปได้โดยยากยิ่งขึ้น”

จากนั้นปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้ส่วนราชการทุกแห่งเปิดโอกาสให้สตรีสามารถดำรงตำแหน่งได้ทุกตำแหน่ง พ.ศ. 2536 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการยกเลิกข้อห้ามการแต่งตั้งสตรีเป็นปลัดอำเภอ และในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขึ้น ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่นในชุมชนได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 มีการประชุมสตรีระดับโลกที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งได้จุดประกายความหวังของแนวคิดที่จะผลักดันให้ผู้หญิงไทยเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น องค์กรผู้หญิงเริ่มเคลื่อนไหวในเชิงรุกอย่างจริงจัง เพื่อปลุกเร้าใจให้ผู้หญิงกล้าเสนอตัวเป็นผู้ลงสมัครสมาชิก อบต. ในพื้นที่ทั่วประเทศให้มากขึ้น แต่กระนั้นสถานการณ์ของผู้หญิงในการเมืองระดับท้องถิ่นยังคงล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อย ๆ ตัวอย่างข้อมูลที่รวบรวมมาได้มีดังเช่น ข้อมูลที่รวบรวมโดยสถาบันพระปกเกล้า แสดงให้เห็นว่าจนถึงปี 2557 คือเมื่อทศวรรษที่แล้วนี่เองที่สัดส่วนของผู้หญิงในองค์กรบริหารระดับท้องถิ่น อย่าง องค์การบริหารส่วนจ้งหวัด (อบจ.) เทศบาลและส่วนตำบล มีเฉลี่ยเพียงแค่ 7 % อีกทั้งสัดส่วนการขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ยังน้อยมาก คือพบว่า นายกอบจ.ที่เป็นเพศหญิงมี 12% ระดับเทศบาลและ อบต. มีสัดส่วนคนที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯเป็นเพศหญิงไม่ถึง 10%

ตารางที่ 1. สัดส่วนผู้บริหารท้องถิ่นระหว่างเพศชายและหญิง จากการเลือกตั้งท้องถิ่นปี พ.ศ.2557

 

ชาย

หญิง

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

67 คน (88%)

9 คน (12%)

เทศบาล

2,233 คน (91%)

208 คน (9%)

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

4,980 คน (93%)

354 คน (7%)

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

2 คน (100%)

0 คน (0%)

ส่วนข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเมื่อปี 2560 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบไปด้วย 20 จังหวัด แต่มีเพียง 4 จังหวัดเท่านั้นที่มีนักการเมืองท้องถิ่นหญิงดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม และมุกดาหาร โดยแต่ละจังหวัดมีสัดส่วนของนักการเมืองท้องถิ่นหญิงที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหญิงที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • นครราชสีมา มี อปท. ทั้งหมด 334 แห่ง มีนักการเมืองท้องถิ่นหญิงที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น 42 คน ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล 18 คน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 23 คน คิดเป็น 12.57%
  • บุรีรัมย์ มี อปท. ทั้งหมด 209 แห่ง มีนักการเมืองท้องถิ่นหญิงที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น 15 คน ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ 1 คน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล 3 คน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 11 คน คิดเป็น 7.18%
  • มหาสารคาม มี อปท. ทั้งหมด 143 แห่ง มีนักการเมืองท้องถิ่นสตรีที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น 7 คน ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล 2 คน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 4 คน คิดเป็น 4.89%
  • มุกดาหาร มี อปท. ทั้งหมด 56 แห่ง มีนักการเมืองท้องถิ่นหญิงที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น 6 คนได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน นายกเทศมนตรีเทศบาลเมือง 1 คน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล 2 คน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน คิดเป็น 10.71%

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้หญิงที่เข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่นจัดได้ว่าเติบโตช้ามาก ข้อมูลสรุปผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัด อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2563 (รวบรวมโดยสถาบันพระปกเกล้า) พบว่าจากจำนวนนายก อบจ. ทั้งหมด 76 คน เป็นเพศชาย 63 คน (83%) เพศหญิง 13 คน (17%)


ผศ.ดารารัตน์ คำเป็ง คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ผศ.ดารารัตน์ คำเป็ง คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ให้ข้อมูลว่าผู้หญิงกับการเมือง เป็นประเด็นที่มีคนสนใจกล่าวถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความสนใจของการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศสภาพ จากการประเมินความเท่าเทียมทางเพศจากหลายแห่งไม่ว่า  Global Gender Gap ของ World Economic Forum หรือ Gender inequality index (GII) ของ Human Development Report โดย UNDP โดยตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงจากสัดส่วนของที่นั่งในรัฐสภาเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งพบว่าทั่วโลกยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก โดยเมื่อเทียบกับความเท่าเทียมทางเพศด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะของไทยในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 นับได้ว่าเป็นภาวะของหยุดนิ่งของการเลือกตั้งท้องถิ่น จนกระทั่งปี พ.ศ.2563 ที่เริ่มมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด และปี พ.ศ.2564 ในการเลือกตั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามมา โดยเมื่อวิเคราะห์จากการลงสมัครรับเลือกตั้ง และผู้ชนะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้หญิงก็เริ่มมีจำนวนที่นั่งในการปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นดารารัตน์จึงสรุปในเบื้องต้นว่า หากเราสามารถดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยและมีกลไกการเลือกตั้งที่ยุติธรรม ก็จะเป็นปัจจัยที่สามารถส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองได้ในทุกระดับ

ข่าวเจาะชุด: ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

  • ธรรมาภิบาล กระจายอำนาจ ความหวังของ “คนไร้ที่พึ่ง” (1) กลับไม่ได้เพราะไม่มีบ้านให้กลับ, ภัทรภร ผ่องอำไพ รายงาน, 16 พ.ค. 2567
  • สิทธิคนพิการนอกเมืองหลวง: ความเหลื่อมล้ำอันซ้ำซ้อน, สราวุธ ถิ่นวัฒนากูล รายงาน, 29 เม.ย. 2567
  • เคว้งคว้างอยู่กลางเมืองใหญ่ด้วยสถานะของ ‘คนไร้บ้าน’, วรรณรี ศรีสริ รายงาน, 10 ก.พ. 2567
  • สภาเด็กและเยาวชน? อะไร อย่างไร ทำไมไม่รู้ [ส่งเสริมวิถีประชาธิปไตยด้วยนะ รู้ยัง], อาทิตยา เพิ่มผล รายงาน, 10 ก.พ. 2567

 

เพดานแก้ว: ปัญหาอุปสรรคของนักการเมืองท้องถิ่นหญิง

ความคาดหวังจากบรรทัดฐานทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่กำหนดว่า การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของผู้ชาย หญิงจึงมักถูกสอนว่าควรจำกัดตัวเองอยู่แต่ในบทบาทแม่บ้านและการดูแลครอบครัวทำให้ผู้หญิงขาดพื้นที่และโอกาสในการสร้างเครือข่ายและแสดงศักยภาพทางการเมือง รวมถึงการขาดแคลนแหล่งทุนสนับสนุนการรณรงค์ ยิ่งในบางสังคมอคติและการเลือกปฏิบัติทางเพศยังมีมากยิ่งทำให้ผู้หญิงที่ต้องการเข้าสู่การเมืองต้องเผชิญกับอุปสรรคเพิ่มเติม

ในงานศึกษา ‘ภูมิหลัง แรงจูงใจ และบทบาทของนักการเมืองสตรีท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์’ ปี 2561 โดยอัจฉราพรรณ สิ่วไธสง และเพ็ญณี แนรอท ที่ได้ทำการศึกษานักการเมืองท้องถิ่นหญิงในจังหวัดบุรีรัมย์ 11 คน ชี้ถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าสู่เวทีทางการเมืองของนักการเมืองท้องถิ่นหญิงไว้อาทิเช่น ปัญหาด้านสรีระของร่างกายผู้หญิง และ ภาระครอบครัว แต่ความเป็นจริงปัจจัยเหล่านี้ก็ดูไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรมากนัก ในกรณีที่นักการเมืองท้องถิ่นหญิงไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ด้วยตนเองเพราะเหตุที่ร่างกายไม่เอื้ออำนวยนั้น ก็อาจจะมีการมอบหมายงานให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาไปปฏิบัติหน้าที่แทนได้ นอกจากนี้ นักการเมืองหญิงหลายคนแสดงให้เห็นแล้วว่าการที่ผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมืองนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใดและสามารถทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปได้ด้วยดี จากการแบ่งเวลาและการแบ่งเบาภาระจากครอบครัวของนักการเมืองท้องถิ่นหญิงที่สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม 


จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักกิจกรรมหญิงรุ่นใหม่

ผู้หญิงเจออุปสรรคตั้งแต่ด่านแรก นั่นคือตั้งแต่ การตัดสินใจเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นเลยทีเดียว  จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักกิจกรรมหญิงรุ่นใหม่ ซึ่งตั้งปณิธานว่าจะไปทำงานทางการเมืองที่บ้านเกิดคือจังหวัดอำนาจเจริญ มองว่าผู้หญิงที่เป็นคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองระดับท้องถิ่นกันน้อยนั้น อาจเป็นเพราะว่าเวทีการเมืองท้องถิ่นมีเรื่องอิทธิพล เงิน ธุรกิจสีเทา เข้ามาเกี่ยวข้อง และคนที่สามารถคุมเรื่องเหล่านี้ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ที่ผ่านมา นายก อบต. อบจ. ส.อบต. สจ. ฯลฯ ส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงถูกผลักออกจากการเมืองระดับท้องถิ่น และในบางครั้งหากผู้หญิงแต่งงานมีครอบครัวแล้ว มักจะไม่ได้มีโอกาสตรงนี้ เพราะต้องดูแลครอบครัว

จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ผู้หญิงไทยเผชิญกับ “เพดานแก้ว” (The Glass Ceiling ซึ่งหมายถึง “พรมแดนขวางกั้นโอกาสและอำนาจระหว่างเพศและชนกลุ่มน้อยที่โปร่งใสที่แม้จะมองเห็นทะลุแต่ไม่อาจข้ามผ่านไปได้”) ในระบบการเมืองท้องถิ่น โดยในงานศึกษาเรื่อง “เพดานแก้วกับบทบาททางการเมืองของผู้หญิงไทยในระบบการเลือกตั้ง” โดย รศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ ที่ได้สัมภาษณ์ผู้นำและนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ชี้ว่าความคิดเรื่องเพดานแก้วยังปรากฏให้เห็นเป็นเส้นแบ่งค่านิยมทางเพศของคนในสังคมไทยทั้งในองค์กรภาคการเมืองหรือภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนผู้หญิงในการแสดงบทบาททั้งทางการเมืองและสังคมซึ่งยังคงเจือปนไปด้วยข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่มีระบบความเชื่อ จารีตประเพณี การกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงพบกับความยากลำบากในการแสดงออกบนพื้นที่ทางการเมืองและในสนามแข่งขันการเลือกตั้ง ผนวกกับระบบการเลือกตั้งที่แม้จะมองผ่านข้อจำกัดทางเพศที่ไม่ใช่เรื่องของสรีระแต่ค่านิยมเรื่องเพศปรากฏในระดับโครงสร้างทางการเมือง ส่งผลให้ผู้หญิงต้องฟันฝ่าและใช้ทักษะ ความสามารถต้นทุนทางสังคมมากกว่าผู้ชายหรือผู้หญิงด้วยกันเพื่อเข้าสู่เวทีการเมืองผ่านการแข่งขันการเลือกตั้

เกศริน ตุ่นแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ ถึงแม้จะผ่านการเลือกตั้งและเข้าถึงอำนาจการบริหารแล้ว ผู้หญิงก็ยังพบกับอุปสรรคอยู่ เกศริน ตุ่นแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าประสบการณ์ว่า “เมื่อก่อนเขาไม่ได้ให้ความมั่นใจผู้หญิง เขาปลูกฝังไว้ว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ปัญหาที่ผ่านมาเลยคือ เขาไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นให้กับผู้หญิงในการทำงาน เขามองว่าผู้หญิงทำแต่เบื้องหลักเช่น ซักผ้า ทำอาหาร ไปไร่ไปสวน ไม่น่าจะทำได้ แต่ตั้งแต่สมัยท่านยิ่งลักษณ์เป็นนายกมาก็ทำให้มีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงในเรื่องของผู้หญิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ อย่างเราที่เป็นนายก อบต. เราต้องทำจากตนเองและครอบครัวก่อน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชน”

นอกจากนี้ผู้หญิงยังต้องใช้พลังมหาศาลในการพิสูจน์ตนเองว่าบริหารท้องถิ่นได้เทียบเท่าหรือดีกว่าผู้ชาย โดยเกศรินกล่าวต่อไปว่า “จากที่ผู้ชายทำ 100% เราต้องทำ 500% ทุกอย่าง มันเป็นปัญหาอุปสรรคเลย เพราะมุมมองที่ว่าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง แต่ ณ ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว ผู้หญิงผู้ชายเราเดินไปด้วยกัน และทำงานควบคู่กัน และสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้” 

ด้าน วงศ์อะเคื้อ บุญศล อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร มองว่าปัญหาและอุปสรรคที่นักการเมืองท้องถิ่นหญิงเจอนั้น ได้แก่การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม โดยในสังคมบางส่วนยังคงมีชุดความเชื่อว่าผู้นําที่ดีและเหมาะสมต้องเป็นเพศชาย โดยเฉพาะการเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ยกตัวอย่างคํากล่าวที่ได้รับที่ยังคงสะท้อนชุดความคิดของกลิ่น อายสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) เช่น “เป็นผู้หญิงในสภาก็ยกมือตามเค้าไป การเมืองต้องให้ผู้ชายคิด” “กิ่งแก้วทำงานเก่ง ลงพื้นที่ไม่เคยขาด ดีทุกอย่าง เสียดายอย่างเดียวเกิดเป็นผู้หญิง” (ประสบการณ์ของวงศ์อะเคื้อเอง), “เป็นผู้หญิงแล้วจะไปรู้อะไร”, “ผู้หญิงมาเป็นนักการเมืองทำไม ไปหาผัวรวยให้เค้าเลี้ยงสบาย ๆ อยู่บ้านไม่ต้องมาเหนื่อย” เป็นต้น แต่ถึงแม้จะยังมี บางส่วนที่ไม่ยอมรับและไม่เชื่อมั่นการเป็นผู้นําของเพศหญิง ก็มีเป็นส่วนน้อยกว่าที่ปัจจุบันสังคมเปิดกว้างมองคนเท่ากัน มองคุณค่าของนักการเมืองที่เลือกจากศักยภาพและความตั้งใจมากกว่าเพียงเรื่องเพศ

“นอกจากนี้ ‘การวางตัว’ คืออีกข้อจำกัดที่นักการเมืองหญิงต้องเจอ ในการทำงานการเมืองมักจะต้องร่วมงานและรายล้อมด้วยเพศชายจำนวนเยอะกว่าทั้งนั้นการเว้นระยะห่างและวางตัวให้เหมาะสมของนักการเมืองหญิงในการทำงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การร่วมเดินทาง การร่วมงานสังสรรค์ในพื้นที่ การทำงานในเวลาวิกาลจึงอาจถือเป็นข้อจำกัดบ้าง ของนักการเมืองหญิง” วงศ์อะเคื้อ ระบุ

มุมมองจากผู้ชาย

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผู้มีงานศึกษาด้านท้องถิ่นและการกระจายอำนาจมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า “ส่วนตัวมองว่าเรื่องเพศไม่ใช่อุปสรรคของการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองเท่าเครือข่ายทางการเมืองและทุน และยิ่งสมัยนี้หากเราโฟกัสไปที่เพศ ก็อาจทำให้เราหลงประเด็นไปอีก เพราะก็จะมีสัดส่วนของเพศทางเลือกไปอีก (ซึ่งไม่ได้มีปัญหาหากเพศทางเลือกจะลง แต่การกำหนดสัดส่วนก็คงยุ่งยากไปอีก) เพราะประเด็นการเมืองท้องถิ่น คือ การส่งตัวแทนของเราไปกำหนดทิศทางทางการเมืองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตรวจสอบในสภาท้องถิ่น”

“สำหรับผมประเด็นเรื่องเพศกับการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่ปัญหาเท่ากับการที่การเมืองท้องถิ่นถูกครอบงำจากส่วนกลางผ่านการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและทรัพยากรอยู่ที่ส่วนกลางและกรุงเทพฯ ประเด็นที่สำคัญคือ ทำยังไงถึงจะยุติตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการส่วนกลาง ให้เหลือเพียงตำแหน่งนายก อบจ. ซึ่งคล้ายกับแคมเปญ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” แต่เพียงต้องการจะลดทอนความสำคัญของตำแหน่งนี้ที่เป็นตัวแทนของอำนาจส่วนกลางเสมอมา และช่วงชิงคำว่านายก อบจ.ให้มีบทบาทแทน ไม่ต้องไปรณรงค์สร้างคำใหม่ หรืออธิบายผู้ว่าราชการจังหวัดเสียใหม่ … ส่วนข้อเสนอที่จะผลักดันให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น คงเป็นแนวทางสนับสนุนนโยบายสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่หลากหลายขึ้น เช่น การรวมตัวกันในที่ทำงานเพื่อต่อรองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มให้คำปรึกษา โดยอาจสร้างสิ่งที่คล้ายกับกรรมาธิการในสภา แต่เป็นในระดับสภาท้องถิ่น และทำงานเชื่อมกันทั้งระดับ อบต. เทศบาล และ อบจ.” รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ ระบุ

ด้าน ธนากร สัมมาสาโก อดีตผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ภาพในฐานะผู้เคยเข้าไปแข่งขันและพ่ายแพ้ในสนามการเมืองท้องถิ่นว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นคนธรรมดาสามัญครอบครัวไม่ร่ำรวยและมีอิทธิพลนั้น การเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นก็เป็นเรื่องยากสำหรับทั้งเพศชายและหญิง เพราะนอกจากอุปสรรคด้านเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องเงินค่าสมัคร และทรัพยากรในการหาเสียงแล้ว ก็ยังมีอุปสรรคอื่น ๆ อีกเช่น การที่ไม่ได้เป็นคนของเครือข่ายของนักการเมืองบ้านใหญ่ในพื้นที่ ไม่มีระบบอุปถัมภ์ ในพื้นที่คอยหนุนหลัง, การซื้อเสียงอย่างหนัก เพราะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นแค่คะแนนเดียวก็สามารถชี้เป็นชี้ตายได้ การซื้อเสียงในบางครั้งอาจจะมีมูลค่าสูงกว่าการเลือกตั้งระดับประเทศด้วยซ้ำ รวมถึงปัญหาอำนาจรัฐ หากคุณเปิดตัวอยู่คนละฝั่งฟากกับรัฐบาลในขณะนั้น ก็อาจโดยอำนาจรัฐกลั่นแกล้งได้

“ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ถ้าเป็นคนธรรมดาสามัญชนชั้นรากหญ้าหรือเกิดในครอบครัวที่ไม่ร่ำรวยและมีอิทธิพลนั้นการเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นก็เป็นเรื่องยากเหมือน ๆ กัน เรื่องค่าใช้จ่ายสำคัญมากทั้งค่าสมัครหรือการหาเสียง ควรมีการแก้ไขเรื่องนี้เช่นการสมัครฟรีไปเลย” ธนากร ระบุ

ผู้หญิงกับการทำงานพัฒนาท้องถิ่น 

วงศ์อะเคื้อ บุญศล อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

วงศ์อะเคื้อ ชี้ว่าข้อดีการเป็นนักการเมืองท้องถิ่นหญิงนั้นก็คือได้นําเสนอประเด็นและสะท้อนปัญหาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในหลายครั้งปัญหาเหล่านี้ถูกละลืมหรือไม่ถูกพูดถึงในสภาท้องถิ่น โดยการนําเสนอประเด็นนี้นําไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม เช่น ปัญหาการศึกษา ปัญหาความรุนแรงใน ครอบครัว และการส่งเสริมการสร้างรายได้ของกลุ่มสตรี เป็นต้น รวมทั้งการเป็นกระบอกเสียงที่มีพลังในการเรียกร้องหรือสร้างความตระหนักแก่สังคม ผู้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในพื้นที่ต่างต้องเกิดจากความไว้วางใจจากประชาชน ดังนั้นการเป็นผู้นําในท้องถิ่นจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและเป็นกระบอกเสียงที่มีพลังกว่าในการสร้างความตระหนักในประเด็นที่มีความเฉพาะของผู้หญิง

“ผู้หญิงยังมีความละเอียดอ่อนและความเห็นอกเห็นใจทำให้เกิดความร่วมรู้สึก (Empathy) ในการแก้ปัญหานั้นอย่างจริงจังทำให้การรับทราบปัญหาเพื่อนําประสานต่อสู่การแก้ไขมีการติดตามและนําไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม จึงทำให้นักการเมืองท้องถิ่นหญิงสามารถเข้าถึงได้ในทุกกลุ่มปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง” วงศ์อะเคื้อ ระบุ

ศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต 10

ศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต 10 ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มาก่อนด้วยนั้น มองว่าการทำงานท้องถิ่นของผู้หญิง นอกจากนักการเมืองท้องถิ่นแล้ว สส.เขต ก็มีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ

“ยกตัวอย่าง สมมติว่าเรามีโครงการก่อสร้างถนนในเขตของพื้นที่เทศบาล แล้วเผอิญว่ารายได้ของเทศบาลนั้นไม่สามารถมากพอโดยเฉพาะพื้นที่ของตนเอง [อำเภอแม่แจ่ม (เฉพาะ ต.บ้านทับ ต.ปางหินฝน ต.กองแขก และ ต.ท่าผา) อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า และอำเภออมก๋อย] ซึ่งอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติหรือกรมป่าไม้เสียส่วนใหญ่ ทำให้รายได้ของเทศบาลจะไม่ค่อยเยอะถ้าเปรียบเทียบในเมือง ซึ่งมันทำให้บางครั้งทรัพยากรที่เขามี อย่างเช่นถนนที่เขาต้องดูแลรับผิดชอบมันเกินศักยภาพเขาเพราะเขาไม่มีรายได้มากเพียงพอ มันก็เป็นหน้าที่ของ สส.เขต ที่จะต้องยื่นมือไปช่วยกับทางเทศบาลหรือทางท้องถิ่น ยกตัวอย่างถนนเส้นนี้เขาไม่สามารถดูแลได้ เป็นไปได้ไหมสามารถโอนย้ายให้ไปกับกระทรวงคมนาคมแทน เพื่อเขาจะได้รับผิดชอบและดูแลและมาสร้างถนนให้เรา” ศรีโสภา ระบุ

ศรีโสภามองว่าหลายพื้นที่ในประเทศไทยความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ยังคงมีอยู่ และนักการเมืองหญิงในพื้นที่นั้น ๆ ก็ต้องอยากดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและดูแลเรื่องเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก แม้เธอยังเชื่อว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพของความเป็นผู้หญิงมันควรเกิดขึ้นเช่นเดียวกันเพราะว่าด้วยความเท่าเทียม แต่เธอให้ความเห็นส่วนตัวว่าหากเป็นพื้นที่ของเธอ เธอก็ต้องแก้เรื่องที่ดินทับซ้อนก่อนเพราะเป็นปัญหาเร่งด่วน ก่อนที่จะมาแก้เรื่องสิทธิของผู้หญิง ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าสิทธิของผู้หญิงไม่สำคัญ แต่ก็แค่อยากให้คนในพื้นที่ได้รับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ส่งผลกระทบโดยตรงก่อน

“หน้าที่ส่วนใหญ่ของ สส.เขตในพื้นที่ เป็นเหมือนไกล่เกลี่ยและดูแลความเหมาะสมกับสิ่งที่ท้องถิ่นมี อย่างเชียงใหม่เขต 10 ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่เลย รับผิดชอบเยอะมาก  ส่วนใหญ่เขาเป็นชนเผ่า ชาติพันธุ์ เขาก็อยู่กันกระจายคือเขาแฮปปี้ตรงไหนเขาก็จะอยู่ตรงนั้น ซึ่งมันก็เป็นข้อท้าทาย ที่ทำให้เราต้องทำงานหนักขึ้น” ศรีโสภา ระบุ

ด้าน เกศริน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน ชี้ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน เข้าหาได้ทุกเพศทุกวัย ไปได้ทุกที่ ดังนั้นการที่ผู้หญิงเป็นผู้นำสามารถเข้าหากลุ่มแม่บ้าน การทำกิจกรรมอะไร สามารถเข้าหาได้ทุกอย่าง ในเรื่องของฝีมือผู้หญิงเองก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย เช่น การทำงาน การประสานงาน การลงพื้นที่ ทำทุกอย่างที่เป็นภารกิจของท้องถิ่น โดยเฉพาะนายก อบต. ชุมชนต้องได้ ในส่วนภาครัฐ ภาคีเครือข่ายด้วย ตอนนี้เขาก็มองว่าผู้หญิงก็สามารถทำได้ เราก็พิสูจน์ได้ เมื่อก่อนผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในท้องถิ่นน้อยมาก หลังจากที่เราเข้ามาแล้ว ผู้หญิงที่ได้รับเลือกการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มากขึ้นขึ้นในอำเภอแม่วาง

“ตั้งแต่เราเข้ามาเป็นนายก อบต.เราก็ทำให้เขาเห็นว่าผู้หญิงอย่างเราก็ทำได้ สมัยเมื่อก่อนไฟฟ้าที่จะเข้าในชุมชน บางหมู่บ้านที่ทุรกันดารเขามองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ขนาด สส.เขต ในอดีตยังยังทำไม่ได้ แต่เราสามารถดึงงบประมาณมาให้ชาวบ้านได้ มันก็เริ่มมีการให้ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ เราสามารถทำได้ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มันเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาคเรา เรื่องปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาเขตพื้นที่ในเขตป่าสงวน เราไม่ได้ดูถูกผู้ชาย แต่ชาวบ้านบอกว่าขนาดผู้ชายยังทำไม่ได้ แต่ผู้หญิงทำได้ เขาเลยให้ความเชื่อมั่นในตัวเรา” เกศริน ระบุ

ระบบโควตา

ภาพจาก Ground Report

ในงานศึกษาเรื่อง ‘การเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย : ความเป็นไปได้ของการนำระบบโควตาผู้หญิงในการเมืองมาใช้ในสังคมไทย’ โดย ตรีวิทย์ อัศวศิริศิลป์ ระบุว่า “ระบบโควตาผู้หญิงในการเมือง” (Gender Quota System) หมายถึง “การกําหนดสัดส่วนไม่ว่าจะเป็นระบบจำนวนคงที่ (Fixed  Number) หรือการกําหนดเป็นสัดส่วนที่เป็นร้อยละ (Percentage) ของผู้หญิงในระบบการเมืองทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับชุมชนหรือระดับท้องถิ่นตลอดจนในพรรคการเมืองเองก็ตามเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเมืองเพิ่มมากขึ้นในเชิงปริมาณ (Quantitative Increase) ไม่ว่าระบบโควตาผู้หญิงนั้นจะได้รับการรับรองหรือการคุ้มครองทางกฎหมาย (Legislative Quota System) หรือเป็นระบบที่อาศัยความสมัครใจ (Voluntary Quota System) ของทุกหน่วยในระบบการเมือง (Political Units) ก็ตาม”

งานศึกษาโดย ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ ยังชี้ว่าการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงผ่านระบบโควตาถือเป็นวิธีการหนึ่งที่เห็นผลชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในการเมืองที่มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางในรูปแบบของกฎหมายจะสร้างความมั่นคงเป็นหลักประกันต่อสถานภาพของผู้หญิงในการใช้พื้นที่ทางการเมืองชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามแนวทางของการใช้ระบบโควตาเพื่อผู้หญิงมีแนวทางหลัก ๆ ที่นิยมใช้ 3 แนวทางคือ (1) โควตาตำแหน่งที่สำรองไว้ (Reserved Seats) เป็นการกันตำแหน่งหรือที่นั่งในสภาไว้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ (2)โควตาผู้สมัครตามที่กฎหมายบังคับ (Legal Candidate Quotas) เป็นรูปแบบที่มีการกำหนดบังคับไว้ในกฎหมายให้พรรคการเมืองต้องจัดโควตาสำหรับกลุ่มผู้หญิงหรือคนกลุ่มน้อยในการส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้ง และ (3)โควตาแบบสมัครใจโดยพรรคการเมือง (Political Party Quotas -Voluntary) เป็นรูปแบบที่เปิดให้พรรคการเมืองใช้โควตาสำหรับผู้หญิงได้โดยสมัครใจ ซึ่งในแต่ละประเทศพรรคการเมืองจะมีแนวทางในการกำหนดโควตาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

ตามรายงานของ UN Women ระบุชัดเจนว่าระบบโควตาถือเป็นปัจจัยสำคัญในความก้าวหน้าของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงกับการเมืองท้องถิ่น โดยมี 44% ของประเทศที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งใช้ระบบโควตาทางเพศตามกฎหมายเพื่อแก้ไขความไม่สมดุลทางเพศที่เคยเกิดขึ้นในการปกครองระดับท้องถิ่น และเร่งกระบวนการเพิ่มตัวแทนผู้หญิง ข้อกำหนดเหล่านี้ระบุไว้ในกฎหมายการเลือกตั้ง และยังอาจระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ (11%) กฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่น (32%) กฎหมายส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ (15%) หรือกฎหมายพรรคการเมือง (5%) 
โดยระบบโควตารูปแบบที่ใช้กันบ่อยที่สุดคือ การกำหนดให้มีสัดส่วนขั้นต่ำของผู้หญิงในรายชื่อผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง (34%) และโควตาที่นั่งสำรองสำหรับผู้หญิง (10%)

อย่างไรก็ตาม ในระบบการกำหนดให้มีสัดส่วนขั้นต่ำของผู้หญิงในรายชื่อผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง มีความแตกต่างกันตั้งแต่ 10-50% แต่มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 50% ขณะที่ส่วนใหญ่ตั้งเป้าไว้ที่ 30-40% นอกเหนือจากการกำหนดไว้สำหรับผู้หญิงแล้ว ระบบโควตายังสามารถกำหนดอันดับของผู้หญิงและผู้ชายอย่างสมดุลในรายชื่อผู้สมัคร ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงมีโอกาสสูงขึ้นในการติดอันดับต้น ๆ และได้รับคะแนนเสียงเพียงพอในการได้รับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง โดยมี 19% ที่ใช้รูปแบบนี้  นอกจากนี้ 22% ยังมีบทลงโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตามเป้าหมายและข้อกำหนดในการจัดอันดับ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการปฏิเสธรายชื่อผู้สมัครหญิง สำหรับมาตรการอื่น ๆ ในการลงโทษ อาจรวมถึงการปรับและการริบเงินทุนสนับสนุนการหาเสียงจากภาครัฐ สำหรับในประเทศที่ใช้ระบบที่นั่งสำรองในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยทั่วไปจะมีการกำหนดเป้าหมายสัดส่วนที่นั่ง 1 ใน 3 สำหรับผู้หญิง

ตัวอย่างในประเทศอินเดียมีหลักประกันในรัฐธรรมนูญถึงการจัดสรรโควตาที่นั่งให้ผู้หญิงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 33 จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด ผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรงทั้งระดับหมู่บ้านและเทศบาล ที่นั่งสำหรับผู้หญิงและสำหรับชนเผ่า ชนชั้นต่าง ๆ ในสภาหมู่บ้านและหน่วยท้องถิ่นซึ่งปกครองตนเอง (Panchayats) เป็นสัดส่วน 1ใน 3 ของสมาชิกสภาทั้งหมด ซึ่งในบางรัฐของอินเดียก็ขยับสัดส่วนดังกล่าวให้เพิ่มขึ้นเป็น 50% เลยทีเดียว

สำหรับการนำระบบโควตามาปรับใช้ในประเทศไทยนั้น ผศ.ดารารัตน์ จากมหาวิทยาลัยพะเยา มองว่าอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการเลือกตั้งเป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งด้วยความสามารถ โดยระบบการเลือกตั้งแบบการกำหนดสัดส่วนเพศเข้ามาสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนโอกาสที่ให้ผู้หญิงเข้ามีส่วนร่วมในการเมืองสภาท้องถิ่นมากขึ้น และมีโอกาสที่จะนำเสนอนโยบายสาธารณะสำหรับผู้หญิงได้เพิ่มมากขึ้น เพราะพวกเธอต่างมีประสบการณ์และมีความเข้าใจในผู้หญิงมากด้วยเช่นกัน 

“แต่อย่างไรนั้นเป็นเพียงก้าวแรกในการแก้ปัญหาและส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถมีสัดส่วนในสภาท้องถิ่น แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันถึง อำนาจ การยอมรับ และการเกิดนโยบายสาธารณะที่เข้าถึงผู้หญิงได้มากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมยอมรับความสามารถ และความเป็นผู้หญิงสามารถอย่างแท้จริง โดยโครงสร้างปิตาธิปไตยต้องไม่ควบคุมชี้นำความคิดของผู้หญิงที่เป็นผู้นำ นั้นหมายความว่าหากเราได้ผู้นำที่เป็นหญิงแต่ต้องตกอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมอำนาจปิตาธิปไตย ผู้นำคนนั้นก็คงยังขาดความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องเพศสภาพ (gender awareness) ในการพัฒนาท้องถิ่นและการดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อผู้หญิงอยู่ดี” ผศ.ดารารัตน์ ระบุ

นอกจากนี้จากการศึกษาโดย ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้เสนอว่าการนําระบบโควตาผู้หญิงในการเมืองมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทย ควรเริ่มต้นจากการเมืองระดับส่วนท้องถิ่นก่อนเนื่องจากนักการเมืองผู้หญิงในระดับท้องถิ่นมักจะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับสภาพท้องถิ่นของตนเองเข้าใจปัญหาระดับท้องถิ่นได้มากกว่าและการเมืองระดับท้องถิ่นยังไม่ซับซ้อนสามารถทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้และมักมีขอบเขตกิจกรรมที่ชัดเจนกว่าการเมืองระดับชาติ ดังนั้นการพัฒนาทักษะฝีมือนักการเมืองระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างความพร้อมก่อนที่จะก้าวสู่การเมืองระดับชาติดูเหมือนว่าจะมีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติมากกว่าการบังคับใช้ระบบโควตาให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองระดับชาติ แต่ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงและต่อปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่มีอยู่ในสังคมไทย

เสริมพลังหญิงเพื่อเดินหน้าสู่การเมืองท้องถิ่น

สำหรับประเด็นการผลักดันให้ผู้หญิงก้าวสู่การเมืองท้องถิ่นให้มากขึ้นนั้น นอกจากระบบโควตาแล้ว นักกิจกรรมหญิงรุ่นใหม่อย่าง จุฑาทิพย์ ชี้ว่าต้องทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน อย่างในรัฐสภามี สส. หญิงเกือบ 20% ในระดับท้องถิ่นต้องผลักดันเช่นนั้น ต้องเปลี่ยนภาพจำจากการเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่ต้องการอำนาจเพื่อหาเงินจากโครงการรัฐ ให้เป็นการบริหารท้องถิ่น เพื่อคนในพื้นที่จริง ๆ และต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้การเมืองท้องถิ่น ทลายกลุ่มอิทธิพลบ้านใหญ่ ออกแบบกติกาการเลือกตั้งให้มีความยุติธรรม และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ

ผศ.ดารารัตน์ ระบุว่าปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษา เศรษฐกิจ มีอิสระในการประกอบอาชีพ สามารถมีทางเลือกได้มากขึ้น และโอกาสเหล่านั้นก็ทำให้ผู้หญิงก็มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่เราจะเริ่มเห็นผู้หญิงมีบทบาทในการมีส่วนร่วมชุมชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเป็นอาสาสมัครรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเป็น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) อสร. (อาสาสมัครแรงงานในพื้นที่) หรือกลุ่มสตรีแม่บ้านในการช่วยดำเนินกิจกรรมในชุมชน โดยได้รับการตอบรับและสนับสนุนเป็นอย่างดี และในหลาย ๆ ครั้ง ที่เส้นทางเหล่านี้ได้กลายเป็นแรงผลักที่สำคัญให้ผู้หญิงหลายคนตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีความหวังว่าประสบการณ์ของเธอจะสามารถแก้ปัญหาหลายอย่าง ๆ ในชุมชนได้ แต่ในทางกลับกันเมื่อเธอเหล่านั้นตัดสินลงสู่สนามการเลือกตั้งท้องถิ่น การยอมรับพวกเธอกลับน้อยลงเมื่อเทียบกับฐานะการเป็นอาสาสมัครต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งนั้นก็สื่อความหมายได้ว่าการที่ผู้หญิงสักคนที่จะลงเล่นการเมือง ความพร้อมส่วนบุคคลที่เธอฟันฝ่ามาเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ

“การศึกษาถึงการผลักดันผู้หญิงและการเมืองในระดับท้องถิ่น มีนักวิชาการ และนักวิจัยหลายท่านที่ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้มาพอสมควร โดยพบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว เช่น กลไกของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การสนับสนุนของครอบครัว และการเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการเป็นผู้นำ ฯลฯ ประเด็นที่สำคัญสำหรับผู้หญิงและการเมืองท้องถิ่น คือ การสร้างการตระหนัก และยอมรับคุณค่าความเท่าเทียมของทุกเพศ ตามความสามารถในการลงสมัครรับเลือกตั้งกับประชาชน เพราะการปกครองท้องถิ่นถือได้ว่าเป็นการปกครองใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด โอกาสของการทำความรู้จักของผู้ลงสมัครและผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งน่าจะมีความใกล้ชิดมากกว่าการเลือกตั้งระดับอื่น” ผศ.ดารารัตน์ ระบุ

ในปัจจุบันแม้จะมีการกำหนดด้วยกฎหมายและแผนระดับมหภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการคำนึงถึงมิติทางเพศ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 27 และมาตรา 71 หรือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งในการปกครองท้องถิ่นก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายและแผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่หากมีเพียงแค่กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ขาดความเข้าใจและขาดนำไปปฏิบัติสุดท้ายก็คงจะไม่เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อผู้หญิงทั้งสิ้น

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาตนเองมีความเชื่อมั่นต่อการมืองท้องถิ่นเสมอ ว่าเป็นการเมืองที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และสามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้ประชาชนได้เข้าใกล้การเมืองที่จับต้องได้มากที่สุด และที่สำคัญกว่านั้น คือ การส่งเสริมพลังภาคประชาชน โดยเฉพาะในการปกครองที่ท้องถิ่นที่แผนพัฒนาท้องถิ่น การจัดทำเทศบัญญัติ และข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของ อบต. ยังให้ความสำคัญกับการทำแผนประชาคมหมู่บ้าน การรวม “กลุ่มของผู้หญิง” ในการเข้าไปมีบทบาททุกรูปแบบจึงมีความสำคัญและจะทำเสียงพวกเรามีพลังมากขึ้น ดังนั้นไม่ว่านายกหรือผู้แทนสภาท้องถิ่นจะเป็นผู้หญิงหรือเพศใด ๆ เสียงของผู้หญิงก็จะมีพลังในนโยบายสาธารณะได้เสมอ และสุดท้ายนี้หวังว่าแนวคิดสตรีนิยม หรือความเข้าใจในนโยบายสาธารณะสำหรับผู้หญิง จะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย” ผศ.ดารารัตน์ ระบุ

วงศ์อะเคื้อ อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ให้คำแนะนำว่าผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นนั้นจงมั่นใจในตนเองและปักธงในประเด็นที่อยากเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยให้เชื่อเสมอว่าการเข้าไปเป็น ตัวแทนของประชาชนไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

นอกจากนี้ในการสะท้อนปัญหาหลาย ๆ อย่างหากเราเป็นประชาชนเราจะสะท้อนได้ระดับหนึ่ง แต่หากเข้าไปสะท้อนปัญหาของท้องถิ่นในฐานะตัวแทนประชาชน กระบอกเสียงของเราจะดังขึ้นและเสียงของเราจะมีอำนาจใน การผลักดันเชิงนโยบายเพื่อนํามาสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม

“ปัจจุบันอัตราส่วนระหว่างนักการเมืองเพศหญิงและเพศชาย ในส่วนของเพศหญิงยังมีจำนวนน้อยกว่ามาก ดังนั้นการผลักดันปัญหาเฉพาะเจาะจงอาจตกหล่นได้ การเป็นตัวแทนของประชาชนจึงต้องการเสียงของ ทุกกลุ่มคน ไม่ว่าจะเพศหญิง เพศชายหรือเพศทางเลือก ขอเพียงมีใจมุ่งมั่นเพื่อการพัฒนา เข้าร่วมเป็น กระบอกเสียงและมันสมองในการคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและสังคม และผลักดันให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาความต้องการของประชาชนในทุกกลุ่มอย่างแท้จริง” วงศ์อะเคื้อ ระบุ

เกศริน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน เสนอว่าอยากให้ผู้หญิงที่มีความตั้งใจ ความรู้ ความสามารถ ที่เรามีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการที่เราจะขึ้นมาเป็นผู้นำ อย่างน้อยความรู้ต้องมี ถ้าสมมติเรายังมีความรู้ไม่มากพอ อยากให้เรียนรู้เพิ่มจากที่เรามีอยู่แล้ว นอกจากนี้ถ้าเรามีใจ มีประสบการณ์ แต่ความรู้เราก็ต้องมีประกอบกันไป ถ้าเรามีประสบการณ์แต่ไม่มีความรู้ก็ยาก ถ้าเรามีความรู้แต่ไม่มีประสบการณ์ก็ยากเช่นกัน 

“อยากจะให้ผู้หญิงเรานำสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมาใช้ควบคู่กันไป อย่างคนรุ่นใหม่มีความรู้และความสามารถเยอะ แต่บางทีขาดประสบการณ์ แต่ถ้าคนเรามีใจก็ไม่ได้อยาก จะแนะนำพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้หญิงที่อยากจะเข้ามาเป็นผู้นำชุมชน บางคนก็คิดว่าเป็นผู้นำมันเท่ เป็นผู้นำมันสนุก แต่ก็ต้องมาด้วยใจไม่งั้นก็จบที่สมัยเดียวเท่านั้น ถ้าเราอยากจะอยู่กับพี่น้องชาวบ้านไปนาน ๆ อยากจะให้ผู้หญิงเรามี ‘ความมั่นใจ’ และหมั่นทำ ‘คุณงามความดี’  มันต้องเริ่มมาจากครอบครัว ครอบครัวเราไม่จำเป็นต้องรวย แต่ขอให้เป็นคนดีของสังคม ชุมชนให้ความไว้วางใจให้เราเป็นผู้นำ ที่จะนำพาชุมชนไปเจอในสิ่งที่ดี และนำพาสิ่งที่ดีเข้ามาในชุมชน” เกศริน กล่าวทิ้งท้าย.

ข่าวเจาะชุด: ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

  • “การคุกคามทางเพศในหมู่นักกิจกรรม” หรือแค่ “เรื่องเล่า-เรื่องซุบซิบนินทา”?, กมลชนก เรือนคำ รายงาน, 21 ธ.ค. 2566
  • แม่ญิงสิเล่นการเมือง: ข้ามพ้นมายาคติทางเพศเพื่อสร้างพื้นที่ของผู้หญิงในภาคเหนือ, กมลชนก เรือนคำ รายงาน, 27 ธ.ค. 2566
  • ‘บึงห้วยโจด’ เมื่อแหล่งน้ำธรรมชาติกลายเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย, ตติยา ตราชู รายงาน, 20 ธ.ค. 2566

 

  • รายงานพิเศษ

  • การเมือง
  • สังคม

  • ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ
  • depth
  • ท้องถิ่น
  • นักการเมืองหญิง
  • สตรีศึกษา
  • เพศสภาพ
  • กมลชนก เรือนคำ
  • การเมืองท้องถิ่น
  • CEDAW

ติดตาม “ประชาไท Prachatai.com” ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top