ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา นโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถูกหลากหลายพรรคการเมืองหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายหลักของพรรค แต่จากการหลังเลือกตั้งที่ทำให้ได้มาซึ่งรัฐบาลผสมหลายพรรค นโยบายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจแทบจะหายไป จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย จึงตามมาด้วยคำถามสำคัญว่าอนาคตการกระจายอำนาจจะเดินไปในทิศทางใด
การเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ หัวข้อ “สืบข่าวคมมาคม ถึงขั้วอำนาจท้องถิ่น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมนักข่าวพลเมืองภายใต้โครงการท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ โดยประชาไทร่วมกับ We Watch จัดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีหัวข้อบรรยายประกอบด้วย 1. สืบจากถนน ประเด็นสำคัญในข่าวคมนาคมและการขนส่งสาธารณะ โดย รศ.ดร.ภิญญพันธ์ พจนาลาวัณย์ สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ 2. ประเมินฐานอำนาจการเมืองท้องถิ่นและแนวโน้มกระจายอำนาจหลังสลับขั้วตั้งรัฐบาล โดย ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ชาลินี สนพลาย สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรรคเพื่อไทยภาคเหนือในยุคที่มีผู้ท้าชิง
โดยช่วงหนึ่ง ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนย้อนมองลักษณะทางการเมืองใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนตั้งแต่ยุคก่อน 2540 ที่ภาคเหนือยังไม่มีพรรคประจำภูมิภาค จนกระทั่งการมาของพรรคไทยรักไทยที่ผูกขาดการเลือกตั้งในภาคเหนือตอนบน ก่อนที่หลังประหาร 2557 จะเกิดพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลเข้ามาสอดแทรก และชนะในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ
โดยภูมิทัศน์ทางการเมืองใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนก่อนปี 2540 ยังไม่มีพรรคการเมืองที่ผูกขาดชัยชนะในการเลือกตั้งได้ทั้งภูมิภาค แม้จะมีกลุ่มตระกูลทางเมืองต่างๆ เข้ามามีที่นั่ง สส. อยู่บ้าง แต่ไม่มีกลุ่มที่ใหญ่จนสามารถคุมที่นั่ง สส. ได้ทั้งจังหวัด อย่างที่ในปัจจุบันเรียกว่า “บ้านใหญ่” และยังมีความแตกต่างจากภาคใต้ที่มีพรรคประชาธิปัตย์ผูกขาดมาอย่างยาวนาน
จนมีจุดเปลี่ยนเมื่อพรรคไทยรักไทยเอาชนะการเลือกตั้งได้ทั้งภูมิภาค โดยไม่ใช้เพียงแค่นโยบายที่ทำให้พรรคได้รับความนิยม แต่ยังมีการรวมกลุ่มของนักการเมืองที่มีฐานความนิยมในพื้นที่เข้ามาอยู่ในพรรค นับตั้งแต่ปี 2544 พรรคไทยรักไทย เริ่มผูกขาดชนะการเลือกตั้งในภาคเหนือตอนบน
นอกจากนั้นกลุ่มการเมืองในเครือข่ายพรรคไทยรักไทย ก็ยังผูกขาดการเมืองท้องถิ่นในภาคเหนือเช่นเดียวกัน “เป็นยุคที่ผมเรียกว่า ‘แข่งกันแดง’ คือถ้าคุณไม่ประกาศว่าเป็นไทยรักไทย/เพื่อไทย ก็จะไม่ได้รับความนิยมกับชาวบ้าน ” แม้การเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายครั้ง พรรคไทยรักไทยจะไม่ได้ส่งผู้สมัครลงอย่างเป็นทางการ แต่จะเห็นผู้สมัครหลายคนก็สวมใส่เสื้อผ้าที่มีโลโก้คล้ายคลึงกับของพรรคไทยรักไทย หรือทำป้ายหาเสียง ที่ผู้สมัครการเลือกตั้งท้องถิ่นต่างใช้พื้นหลังเป็นสีแดง เป็นการบอกเป็นนัยว่าการจะชนะการเมืองท้องถิ่นต้องลงสมัคร หรือแสดงตัวว่าเป็นเครือข่ายกัน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับเลือก
ยกตัวอย่างกรณี กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งมาจากตระกูลใหญ่ในเชียงใหม่ ที่ก่อนหน้าปี 2540 ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตลอด แต่ไม่เคยได้รับเลือกอีกเลยหลังการเข้ามาของพรรคตระกูลไทยรักไทย แม้จะพยายามเปลี่ยนย้ายไปหลายพรรค แต่ไม่เคยสังกัดอยู่พรรคตระกูลไทยรักไทย จึงไม่สามารถชนะเลือกตั้งได้
จนมาถึงการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา กระแสความนิยมพรรคพรรคเพื่อไทยลดลง จากที่นั่ง สส. 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 34 ที่นั่ง ได้มาเพียง 14 ที่นั่ง และโดนเจาะฐานเสียงสำคัญอย่างหนัก อย่างจังหวัดเชียงรายที่ไม่เคยเสียที่นั่งให้พรรคไหนเลยนับตั้งแต่สมัยไทยรักไทย ซึ่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงมีมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 จากที่เพื่อไทยเคยแลนด์สไลด์ และได้ทุกที่นั่งใน 8 จังหวัด ก็เริ่มเสียที่นั่งในบางเขต และหลายเขตก็ชนะด้วยคะแนนสูสีกับคู่แข่ง จนมาถึงการเลือกตั้ง 2566
สาเหตุหนึ่งมาจากย้ายฝั่งของผู้คุมฐานเสียงในพื้นที่ กรณีจังหวัดพะเยาที่ ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งย้ายออกจากเพื่อไทยมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้งได้ 2 จาก 3 เขตของพะเยาในปี 2562 หลังจากนั้นจะเห็นธรรมนัสใช้โมเดลเดียวกับบรรหาร ศิลปอาชา คือใช้สิ่งที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า “จังหวัดนิยม” หรือ “Provincial identity” ซึ่งเป็นคำที่ โยชิโนริ นิชิซากิ (Yoshinori Nishizaki) นักวิชาการชาวญี่ปุ่นใช้เรียกโมเดลที่บรรหารใช้กับจังหวัดสุพรรณบุรี พลิกเรื่องเล่าที่ว่าคนสุพรรณบุรีเป็นคนบ้านนอก ถูกทอดทิ้งจากการพัฒนา เพื่อสร้างฮีโรจังหวัดขึ้นมา ซึ่งก็คือนักการเมืองอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา หรือ เนวิน ชิดชอบ หรือแบบธรรมนัสเอง ที่มีศักยภาพพอจะเข้าไปดึงงบประมาณจากส่วนกลางมาพัฒนาให้จังหวัดนั้นๆ โดดเด่นไปกว่าจังหวัดอื่นๆ ได้
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด คือการที่ในช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาด พะเยาเป็นจังหวัดที่ได่รับการฉีดวัคซีนโควิดสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภาคเหนือ เมื่อเทียบกับหลักเกณฑ์ความจำเป็นต่างๆ รวมถึงโครงการต่างๆ ตลอด 4 ปีที่สามารถดึงเข้ามาที่พะเยา ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดธรรมนัสจึงชนะเลือกตั้งในทุกเขต
ช่วงต่อมา ณัฐกรย้อนมาดูการเลือกตั้งในจังหวัดเชียงใหม่ จะเห็นได้ว่าเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ใช้วิธีคัดสรรผู้สมัครจากการมีฐานความนิยมเดิม ถึงไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ยังมาจากตระกูลที่มีฐานการเมืองเดิมอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เพื่อไทยได้มาเพียง 2 จาก10 เขตในเชียงใหม่ ซึ่งต่างจากก้าวไกลที่จะเลือกผู้สมัครอายุน้อย เป็นคนชนชั้นกลาง มีภูมิหลังเป็นนักกิจกรรมเป็นต้น และไม่ค่อยมีภูมิหลังทางการเมืองมาก่อน ชนะไปถึง 7 เขต
ส่งสองนคราฯ เข้านอน?
เมื่อผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกมา มีเสียงที่พยายามเสนอว่าถึงเวลา “ส่งสองนคราฯ เข้านอน” คือทฤษฎี สองนคราประชาธิปไตยของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ใช้อธิบายการเมือง-เลือกตั้งไทยไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นทฤษฎีการเมืองอธิบายว่าพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทย มี 2 กลุ่ม กลุ่มประชากรที่อยู่ในเมือง ที่จะมีความไวต่อข่าวสาร มีความตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งจะเลือกโดยไม่อิงกับความสัมพันธ์ส่วนตัว ส่วนอีกกลุ่มคือประชากรในชนบท ที่จะเลือกโดยผ่านเครือข่ายทางอำนาจ ที่ยึดโยงความสัมพันธ์ส่วนตัว ต้องเป็นคนที่รู้จัก เคยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลคนในชุมชนมาก่อน เมื่อผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ออกมาว่า พื้นที่ชนบทจำนวนมาก เลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่มีเครือข่ายทางอำนาจรองรับ ทฤษฎีนี้จึงใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามณัฐกร ชวนให้พิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่า เขตชนบทที่ก้าวไกลชนะนั้นเป็นเขตที่มีความเจริญเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นเมือง วิถีชีวิตของคนเป็นแบบเมืองมากขึ้น การตัดสินใจเลือกตั้งจึงเป็นในแบบคนเมืองมากขึ้น อย่างเช่นเขตต่างๆ อำเภอของเชียงใหม่ซึ่งมีความเป็นเมืองสูง และสังเกตได้ว่าเขตพื้นที่ห่างไกลในภาคเหนือ อย่างในแม่ฮ่องสอน ซึ่งยังมีความเป็นชนบทสูง ก้าวไกลยังไม่สามารถชนะได้ ทำให้ทฤษฎีนี้ยังพออธิบายการเลือกตั้งได้อยู่
ส่วนเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้ง 2566 ที่เชียงใหม่ เช่น (1) ที่เชียงใหม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ซึ่งมีผล ทำให้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบ (2) มีความมั่นใจในตัวเองสูง แกนนำพรรคเลือกตัวผู้สมัครโดยไม่ดูความเหมาะสม (3) ความไม่ชัดเจนในจุดยืนต่อขั้วอนุรักษ์นิยมของแกนนำพรรคเพื่อไทย บวกกับความนิยมในตัวบุคคลของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่มาพร้อมกระแสโซเชียลมีเดีย
และส่งท้ายด้วยว่า เมื่อเพื่อไทยเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาลไปจับกับฝ่ายรัฐบาลเดิม ทำให้นโยบายกระจายอำนาจที่ก้าวไกลชูขึ้นมาไม่ถูกสนองตอบ แม้แต่นโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ นำร่อง ที่เป็นนโยบายของเพื่อไทยเอง ก็ไม่อยู่ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา สิ่งที่น่าจับตาคือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จริง อย่างที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่
พลวัตเมือง-ชนบท มองผ่านผลการเลือกตั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก
ต่อมาเป็นการบรรยายของ ผศ.ชาลินี สนพลาย สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในภูมิทัศน์การเมืองท้องถิ่นภาคกลาง และภาคตะวันออก
โดยเริ่มนำเสนอผ่านแผนที่ประเทศไทยที่แบ่งตามผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ขึ้นมา เปรียบเทียบระหว่างผลแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมหยิบทฤษฎีสองนคราฯ มาชวนคุยต่อ ว่าถ้าพิจารณาดูผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะอาจเห็นได้ว่าทฤษฎีสองนคราใช้ไม่ได้แล้วจริงๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เมืองหรือว่าชนบทต่างก็มีแนวโน้มจะหันมาเลือกพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
แต่เมื่อดูผลการเลือกตั้งในแบบแบ่งเขต จะเห็นว่าพื้นที่ในภาคอีสานและเหนือ ที่ก้าวไกลชนะยังเป็นเขตที่มีความเป็นเมืองสูงอยู่ ทำให้อาจจะพูดทั้งหมดไม่ได้ว่ามิติของความเป็นเมือง หรือความเป็นชนบท ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้เลย จึงชวนเจาะลงไปดูว่าความเป็นเมือง และชนบทนั้นมีอะไรซ่อนอยู่
โดยในที่นี้จะอภิปรายผ่านผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในภาคกลาง และตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่การศึกษาหลัก ว่าโดยปกติแล้วที่ผ่านมา ไม่มีพรรคที่ผูกขาดเก้าอี้ผู้แทนได้อย่างเบ็ดเสร็จทั้งภาค โดยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีปรากฎการณ์ทั้ง “ช้างร่วง” และ “ช้างรอด”
“ช้างร่วง” คือมีทั้งเจ้าของพื้นที่เดิมที่แพ้ และ “ช้างรอด” คือเจ้าของพื้นเดิมที่ยังกลับมาชนะได้ อย่างช้างที่รอดที่ นครปฐม สุพรรณบุรี สุโขทัย ที่นักการเมืองชื่อดังยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ขณะที่พื้นที่ซึ่งมีความเป็นเมืองมากกว่ากลับมีปรากฎการณ์ ช้างร่วง เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี
เมื่อเจาะลึกหาเหตุผลว่าทำไม พื้นที่ซึ่งเป็นเขตเมืองหรือเขตอุตสาหกรรม เหตุใดถึงมีเทรนด์ที่พรรคก้าวไกลจะสามารถชนะเลือกตั้งได้เยอะ โดยอาจมีเหตุผลดังนี้
(1) พลวัตของเมืองและองค์ประกอบทางประชากรสูง เช่น ในเขตอุตสาหกรรมอย่างชลบุรีจะมีคนจากนอกพื้นที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก คนกลุ่มนี้ย้ายมาทำงานนานจนสามารถตั้งรกรากและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่ได้ หรืออย่างนนทบุรีที่มีโครงการคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร เกิดขึ้นจำนวนมาก และเมื่อองค์ประกอบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนไป คนที่เคยชนะเลือกตั้งได้จากใช้ทรัพยากรแบบเดิม อาจจะไม่สามารถไปด้วยกันได้กับองค์ประกอบประชากรแบบใหม่
(2) จินตนาการทางสังคมและการเมืองของผู้คน เมื่อพื้นที่มีความเป็นเมืองสูงขึ้น การประกอบอาชีพและวิถีชีวิตขอผู้คนก็เปลี่ยนไป ส่งผลต่อจินตนาการของผู้คนเหล่านั้น ที่มีการเข้าถึงข้อมูลที่เปลี่ยนไป จึงมีแนวโน้มที่จะผูกโยงตัวเองเข้ากับคุณค่า หรือกลุ่มคน โดยตัดข้ามมิติเชิงพื้นที่ อย่างคนที่ทำงานโรงงานในชลบุรี อาจจะไม่ได้มีความยึดโยงอยู่กับความเป็นคนชลบุรี แต่อาจไปมีสำนึกร่วมกับคนในบ้านเกิดในเชียงใหม่มากกว่าเป็นต้น
(3) รูปแบบความสัมพันธ์และวิถีชีวิต และสถานภาพทางอำนาจ ความเป็นเมืองเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงทรัพยากรรัฐของผู้คน ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายความสัมพันธ์ไม่ว่าจะกับนักการเมืองหรือระบบราชการที่อยู่ในพื้นที่มากเท่ากับคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท และความเป็นเมืองยังมีการเคลื่อนตัวของประชากรที่สูง เหล่านี้เป็นเหตุลที่ทำให้พรรคก้าวไกลที่มาพร้อมการหาเสียงที่ชูนโยบายระดับชาติ สามารถเจาะพื้นที่เหล่านี้ที่มีสิ่งที่เรียกว่า “บ้านใหญ่” ยึดพื้นที่เดิมอยู่ได้
มองอนาคตเลือกตั้งท้องถิ่น
เนื่องจากในปี 2567 นี้ จะมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสภา อบจ. จึงชวนมองต่อไปยังอนาคตว่าผลการเลือกตั้งในระดับชาติครั้งนี้ จะส่งผลอย่างไรในกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 นี้ หากย้อนดูการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อปี 2562 หลายพื้นที่ทั่วประเทศจะพบกับปรากฏการณ์ร่วมเดียวกัน ที่ถึงแม้นักการเมืองเจ้าของพื้นที่จะแพ้ในสนามเลือกตั้งระดับชาติ แต่ยังสามารถกลับมาชนะได้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น
ส่วนนิยามคำว่า “บ้านใหญ่” ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่กลุ่มที่ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่อย่างต่อเนื่องอย่างที่มักมีการใช้ในปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้ว “บ้านใหญ่” หมายถึง กลุ่มคนที่ยึดกุมการเมืองในพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สามารถกำกับการเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น ระบบราชการในพื้นที่ได้ รวมถึงมีสถานะเหนือกว่าในเชิงเศรษฐกิจ เช่น สามารถกำหนดตัวบุคคลที่จะลงเล่นการเมืองในระดับชาติ และท้องถิ่น อาจรวมถึงอาจมีส่วนในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่ ในเชิงเศรษฐกิจบ้านใหญ่มักจะมีกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น เช่น ในพื้นที่เกษตร มักจะเป็นเจ้าของโรงสี หรือขายเครื่องมือการเกษตรเป็นต้น
ดังนั้นฐานทรัพยากรของบ้านใหญ่ก็คือเครือข่ายทางอำนาจที่เชื่อมโยงการเมืองในทุกระดับ และระบบราชการ รวมไปถึงภาคธุรกิจในพื้นที่ การทำงานจึงเป็นการประสานเชื่อมโยง การดูแลในเชิงพื้นที่ การเมืองแบบบ้านใหญ่จึงไม่ได้แอบอิงไปกับกระแสของพรรค หรือนโยบายของพรรค
เมื่อถามว่าการผลเลือกตั้งระดับชาติในปี 2566 จะส่งผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จะมาถึงในปี 2567 อย่างไร ผศ.ชาลินี ยังเชื่อว่าบ้านใหญ่ยังถือความได้เปรียบในเวทีท้องถิ่น ด้วยเหตุ 3 ข้อด้วยกัน
(1) ลักษณะเฉพาะของการเลือกตั้งท้องถิ่น มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ ที่เป็นการเลือกคนไปทำงานในรัฐสภาที่อยู่ส่วนกลาง ผู้สมัครมาจากพรรคการเมืองที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ การตัดสินใจเลือกจึงเป็นไปเพื่อให้ผู้แทนเข้าไปทำงานในสภา ตามแนวอุดมการณ์ของพรรค การเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นการเลือกเพื่อให้ได้คนมาทำงานภายในท้องถิ่น มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นของประเทศน้อยกว่า
(2) วิธีการตัดสินใจของผู้เลือกตั้ง การเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้เลือกที่ไม่ใช่แค่เลือกลักษณะนักการเมืองที่ตรงต่อความต้องการเท่านั้น แต่ยังเลือกจากความเป็นนักบริหาร สามารถทำงานขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ในการเชื่อมโยงเครือ ประสานผลประโยชน์กับฝ่ายต่าง ๆได้ดังนั้นความสามารถส่วนตัวของผู้สมัครจึงมีความสำคัญมากกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ
ตัวอย่างการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ในปี 2564 เป็นพื้นที่ซึ่งคณะก้าวหน้ามุ่งมั่นจะเจาะให้ได้ เพราะเป็นพื้นที่มีความเป็นเมืองสูงมากและในการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2562 พรรคก้าวไกลก็ได้รับชัยชนะมาแล้ว โดยในการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงอย่างหนัก แต่คนในพื้นที่ก็คิดว่า พอเลือกตั้งเสร็จคุณธนาธรก็จะกลับกรุงเทพ แล้วก็จะเหลือแต่ผู้สมัครคนนั้นทิ้งไว้ในพื้นที่ ซึ่งเอาเข้าจริงไม่รู้ว่าผู้สมัครคนนั้นมีศักยภาพในการทำงานในพื้นที่ขนาดไหน แม้คนพื้นที่จะมีความนิยมในตัวคุณธนาธร และรับรู้ถึงการสนับสนุนของคณะก้าวหน้าต่อผู้สมัคร แต่ยังไม่เชื่อมั่นในฝีมือการบริหาร ผลเลือกตั้งจึงเป็นคนจากเครือข่ายอำนาจเดิมได้รับชัยชนะ
(3) โอกาส และข้อจำกัดของเจ้าของพื้นที่และผู้เล่นหน้าใหม่ การเลือกตั้ง อบจ. ถ้าเป็นการเลือกตั้งพร้อมกันเกือบทั้งประเทศ จึงเป็นโอกาสให้พรรคการเมืองระดับชาติสามารถทำแคมเปญเลือกตั้งที่เป็นนโยบายระดับชาติ ใช้หาเสียงพร้อมกันทั้งประเทศได้ ผู้เลือกตั้งสามารถเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมพื้นที่อื่นๆ ได้ ดังนั้นผู้เล่นหน้าใหม่ที่สังกัดพรรคการเมืองระดับชาติจะมีสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ได้
ขณะเดียวกันเจ้าของพื้นที่เดิม มีข้อได้เปรียบจากการที่จะสามารถบริหารดูแลเครือข่ายในพื้นที่ได้ดี ต่างจากเป็นรัฐบาลระดับชาติที่ถูกโจมตีอยู่ตลอด การเป็นนายก อบจ. ทำให้สามารถสร้างผลงานเพิ่มความนิยม และดูแลเครือข่ายทางอำนาจในพื้นที่ได้ไปพร้อมๆ กัน
นโยบายกระจายอำนาจภายรัฐบาลเพื่อไทย
เมื่อดูจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา จะเห็นว่าแทบจะไม่มีการพูดถึงการกระจายอำนาจ มีเพียง ผู้ว่าฯ CEO ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจให้กับส่วนภูมิภาค ซึ่งไปไม่ได้กับแนวคิดกระจายอำนาจ โดยตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง นโยบายด้านการกระจายอำนาจไม่ใช่นโยบายที่พรรคเพื่อไทยจะผลักดันจริง เพียงแต่เรื่องกระจายอำนาจเป็นเทรนด์มาตั้งแต่ช่วงที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ เมื่อ 2565 ทำให้พรรคการเมืองต้องมีแพ็กเกจนโยบายจำนวนมากๆ ครอบคลุมไปในทุกด้านรวมทั้งประเด็นท้องถิ่น
อีกส่วนหนึ่งหากย้อนดู จุดขายของพรรคเพื่อไทยที่ชูขึ้นมา คือความสามารถที่จะทำนโยบายให้สำเร็จได้จริง ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย/พรรคเพื่อไทย ที่สามารถผลักดันนโยบายสำคัญๆ ให้สำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องใช้อำนาจการบริหารที่เบ็ดเสร็จ ดังนั้นการตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคที่มีต้นทุนสูง ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าการสร้างผลงานในสมัยการเป็นรัฐบาลครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ซื้อใจให้คนกลับมาเลือกในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ ดังนั้น การผลักดันนโยบายกระจายอำนาจในช่วงเวลานี้จึงอาจไม่ใช่หนทางที่ถูก
อีกทั้งการกระจายอำนาจเป็นนโยบายที่มีแรงเสียดทานสูง จากหลายทั้งระบบราชการ ฝ่ายการเมือง หรือแม้แต่ประชาชนบางส่วนเอง และนโยบายที่มีแรงเสียดทานสูงแบบนี้ต้องอาศัยรัฐบาลที่ความชอบธรรมสูง หรือความสามารถในการนำสูงมาก ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยไม่มีสิ่งนี้ เพื่อไทยจึงน่าจะเลือกผลักดันนโยบายที่เห็นตรงกันในพรรคร่วม หรือนโยบายที่มีแรงเสียดทานน้อยกว่า
ในแง่ดีก็เป็นการทำให้แคมเปญ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดนำร่อง” จางหายไป แล้วจะได้สร้างแคมแปญใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยไม่ใช้ชื่อแคมเปญว่า “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” อีก ที่สร้างความสับสนและผิดจุดประสงค์หลายด้าน เพราะจริงๆ คู่ขัดแย้งของการกระจายอำนาจ ไม่ใช่ราชการส่วนภูมิภาคไปทั้งหมด แต่คือปัญหาสำคัญคือรัฐบาลส่วนกลาง ซึ่งไม่มีเรื่องเหล่านี้อยู่ในแคมเปญดังกล่าว
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ความหวังต่อการกระจายอำนาจ คือเชื่อความเปลี่ยนแปลงจะเริ่มจากค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย อย่างที่เคยมีหลายท้องถิ่นพยายามศึกษาการเปลี่ยนไปเป็นการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ เช่น มาบตาพุด อย่างที่ชุมชนอยากได้อำนาจในการเข้าไปจัดการมลพิษที่มาจากโรงงาน หรือท้องถิ่นในภาคเหนืออาจจะอยากได้อำนาจในการจัดการป่าไม้เป็นต้น และเมื่อมีท้องถิ่นเริ่มขออำนาจรูปแบบต่างๆ มาเป็นของตัวมากขึ้น ท้องถิ่นประเทศจะเริ่มค่อยๆ เปลี่ยนไปในแบบเฉพาะของตัวเองได้