‘แบมบู ภัคภิญญา’ อดีตบรรณารักษ์ เหยื่อ ม.112 สู่ผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย

‘แบมบู ภัคภิญญา’ อดีตบรรณารักษ์ เหยื่อ ม.112 สู่ผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย

ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล : สัมภาษณ์/เรียบเรียง

ชวนรู้จัก ‘แบมบู ภัคภิญญา’ อดีตบรรณารักษ์ห้องสมุดที่ตกเป็นเหยื่อ ม.112 และต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย ประชาไทพูดคุยกับภัคภิญญาถึงตัวตน มุมมองการต่อสู้ในแบบคนธรรมดา และชีวิตก้าวใหม่ที่กำลังเริ่มขึ้นในออสเตรเลีย
 

12 มิ.ย. 2567  การปราบปรามการชุมนุมประท้วงภายใต้การนำของคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้มีนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนอย่างน้อย 30 ราย จำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาว ตัดสินใจหนีไปแสวงหาเสรีภาพยังนอกประเทศ และต้องกลายเป็น ‘ผู้ลี้ภัยทางการเมือง’ ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องการถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ที่มองไม่เห็นหนทางสู้คดี และความหวาดกลัวจากการถูกข่มขู่คุกคามสารพัดรูปแบบ

แบมบู ภัคภิญญา (สงวนนามสกุล) อดีตบรรณารักษ์ วัย 34 ปี เป็นหนึ่งในนั้นที่กำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ออสเตรเลีย และอยู่ในระหว่างเข้าสู่กระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัย

“สวัสดีค่ะ แบมบูนะคะ อยู่ไทยก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งเลย กลางวันทำงานออฟฟิศ กลางคืนเป็นนักดนตรีค่ะ ชีวิตก็เหมือนทั่วๆ ไป สนุกกับการทำงานทั้งสองของตัวเอง” แบมบู กล่าว

งานออฟฟิศที่เธอว่าหมายถึงงานบรรณารักษ์ของห้องสมุดในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ส่วนงานดนตรี ก็มีทั้งทำเพลงและออกงาน ซึ่งแรกเริ่มทำเป็นงานอดิเรกต่อมาก็กลายเป็นรายได้อีกทาง

ขณะนี้ เธออาศัยอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น เลี้ยงชีวิตด้วยงานด้านดนตรีเต็มตัว รายได้หลักเพียงทางเดียวก็เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายทั่วๆ ไป แม้ยังไม่มีเงินเก็บมากนัก

“เรารู้แค่ว่าเราเกิดมาไม่ค่อยมี ก็ต้องขยันเรียนเพื่อไปหางาน ได้เงินมาใช้จ่าย” แบมบู กล่าว

ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางล่างที่ง่วนอยู่กับการหารายได้ให้ทันในแต่ละเดือน ตอนที่มีเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ภัคภิญญายังใช้ชีวิตตามปกติ และไม่รู้สึกว่าต้องสนใจการเมือง

เธอจบการศึกษาด้านบรรณารักษ์โดยตรง ชอบอ่านหนังสือหลายประเภท ทั้งนิยายสืบสวน หนังสือพัฒนาตัวเอง ที่ไม่ค่อยได้แตะคือพวกประวัติศาสตร์และการเมือง

จนกระทั่งมีการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ที่มากระตุ้นความสนใจ บวกกับได้ตามข่าวสารในโซเชียลมีเดีย ทำให้เริ่มสงสัยและตั้งคำถามเชื่อมโยงเรื่องการเมืองกับชีวิตที่ต้องดิ้นรน

ต่อมาในปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค จุดชนวนความไม่พอใจจนลุกลามไปเป็นการชุมนุมทั่วประเทศ ภัคภิญญาในวัย 20 ปลายๆ ก็เป็นพลังเล็กๆ ในคลื่นความเคลื่อนไหวนั้น

“ตั้งแต่โดนคดี เหมือนเราไม่มีอนาคต เราอยากทำอะไรก็ต้องเบรกตัวเองไว้ก่อน ไม่รู้ว่าถึงจุดนั้นไหมแต่ก็ไม่ถึงกับไม่ทำอะไรเลย เราทำแหละ แต่เราทำในสิ่งที่ตอนนี้เรายังมองเห็น อย่างเล่นดนตรี เราก็ฝึกทักษะเราให้ดีขึ้น หาคอนเนกชัน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องออกมาเมื่อไหร่ เราก็ทำในสิ่งที่เราพอทำได้ไปก่อน แต่ถ้างานอื่นๆ ที่คิดว่าเราอยากทำ ความฝันตรงนั้นก็ต้องตัดออกเลย เพราะไม่รู้จะทำได้ไหม” แบมบู อธิบาย

สภาพชีวิตที่มองไม่เห็นอนาคต ที่ภัคภิญญาเปรียบเปรยว่า “เหมือนขับรถแล้วเห็นแค่ฝากระโปรงรถ” คือผลกระทบทางใจที่หนักที่สุด หลังจากเมื่อปี 2564 เธอถูกดำเนินคดี ม.112 จากการถูกกล่าวหาว่าแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดียที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์

“ตอนที่เราโดน เราไม่ใช่แกนนำ ไม่ใช่คนที่อยู่ข้างหน้า เราก็เป็นผู้ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นเวลาเขามีกิจกรรมอะไร เราไปได้ เราก็ไป ช่วยแชร์ข้อมูล ที่เราโดนก็ไม่ใช่ที่เราเขียนนะ เรากดแชร์ข้อมูลเป็นโพสต์สาธารณะ เราก็โดนโพสต์นั้น หลังจากโดนคดีก็ยังแชร์อยู่เหมือนเดิม เราไม่มองว่าการแชร์มันร้ายแรงอะไร เราไม่ได้ฆ่าใคร” แบมบู กล่าว

คดีนี้เริ่มจากประชาชนคนหนึ่งที่ชื่อว่า  พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับภัคภิญญา ที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นั่นจึงทำให้เธอต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสู้คดีไกลถึงที่นั่น

“เครื่องบินมีแค่รอบเดียว ต้องไปก่อน 1 วันล่วงหน้า เพราะไม่รู้ศาลจะเสร็จกี่โมง ไม่มีขนส่งสาธารณะ โดนที่อำเภอสุไหงโก-ลก ต้องนั่งรถจากตัวเมืองนราธิวาสไปอีกชั่วโมงหนึ่ง แต่ไปสุไหงฯ แค่ครั้งเดียว ที่เหลือก็ขึ้นมาที่นราฯ ก็ต้องหารถเช่าเพื่อเอาตัวเองไปถึงศาล” แบมบู กล่าว

การเดินทางไปศาลในแต่ละครั้งต้องลางานอย่างน้อย 3 วัน และมีค่าใช้จ่ายสูงราวหนึ่งหมื่นบาท เธอเก็บวันลาทั้งหมดไว้ใช้กับเรื่องคดี ต่อมาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ในช่วงก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำตัดสิน ด้วยความกังวลว่าอาจทำให้องค์กรและคนรอบข้างเดือดร้อน

เดือนตุลาคม ปี 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาจำคุก 9 ปี ถือได้ว่าเป็นคดี ม.112 ที่มีการพิพากษาลงโทษจำคุกสูงที่สุดแล้วในปีนั้น

ในตอนนั้นจุดยืนของภัคภิญญาคือการสู้คดีจนถึงที่สุด เพราะเชื่อว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิดและยังคงมีหวังกับกระบวนการยุติธรรม จนกระทั่งเดือนสิงหาคมปี 2566 มีจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ภัคภิญญาตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีส่วนทำให้สถานการณ์คดีการเมืองมีแนวโน้มเลวร้ายลง พร้อมยกตัวอย่างกรณีของหนุ่มโรงงานชาวปราจีนบุรีที่ชื่อ อุดม ซึ่งเป็นจำเลยคดี ม.112 ที่นราธิวาสเช่นเดียวกับเธอ โดยมีคนชื่อ พสิษฐ์ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีเช่นกัน

“ตอนแรกอยากสู้ถึงฎีกาไปเลย มัน 9 ปี เหมือนเราฆ่าคนตาย เพราะเราแชร์ข้อความ 3 โพสต์ ก็เลยตั้งใจจะสู้ถึงฎีกา แต่ปี 66 เปลี่ยนรัฐบาล ปกตินราธิวาสไม่ขังใครเลย ถ้ามาปกติ รายงานตัว ก็ให้ประกันตัวได้…ปลายเดือนสิงหาคม พี่อุดมไปฟังอุทธรณ์ ศาลไม่ให้ประกันตัว ศาลอุทธรณ์ยืนยันคำพิพากษาเดิม โทษเดิม คือศาลอุทธรณ์ไม่ได้ใช้คำสั่งตัวเอง ให้ศาลฎีกาสั่งว่าจะให้ประกันตัวไหม แต่ก็ต้องอยู่ในคุกก่อน ศาลฎีกาก็สั่งไม่ให้ประกันตัว เราก็คิดว่ามันเกี่ยวข้องกันไหม พอเปลี่ยนรัฐบาลปุ๊บก็เข้มขึ้นเลย” แบมบู กล่าว

เมื่อไม่เห็นความหวังในการสู้คดี ภัคภิญญาเร่งจัดการชีวิตทั้งหมดที่ไทยด้วยความคิดที่ว่าคงไม่น่าจะได้กลับมาอีกแล้ว จากนั้นก็บินมายังออสเตรเลียอย่างฉุกละหุก โชคดีที่มีคนรอบตัวและเพื่อนๆ คอยช่วยเหลือ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

มุมมองเรื่องการต่อสู้-การกลับบ้าน

สำหรับกระแสผู้ลี้ภัยทยอยกันกลับบ้านและความหวังต่อพรรคการเมือง ภัคภิญญากล่าวว่า เธอไม่ดูถูกการต่อสู้ทุกรูปแบบ แต่ละคนมีเส้นทางหรือวิธีการต่อสู้ที่อาจจะไม่ได้พูดออกมา

เธอในฐานะคนธรรมดาที่ชอบอ่านหนังสือก็สามารถทำสิ่งเล็กๆ ที่มีพลังได้ เช่น บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านงานเขียน หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนใกล้ตัว

อย่างกรณีของ “บัสบาส” (มงคล ถิระโคตร จำเลยคดี ม.112 ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงราย) ที่ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสคุยกันบ้าง เขาเลือกต่อสู้ในเรือนจำเพื่อให้โลกรู้ว่ามีคนถูกจำคุก 50 ปี จากการแชร์โพสต์ในโซเชียลมีเดีย ฉะนั้นแต่ละคนมีเส้นทางของตัวเองอยู่แล้ว อาจจะมีพักบ้าง แต่สุดท้ายปลายทางก็ที่เดียวกัน

“ถ้าเราจะเป็นต้นแบบของอะไรก็เป็นของประชาชนคนหนึ่งเลย เพราะบูเป็นประชาชนเลยค่ะ ไม่มียศ ตำแหน่งอะไรเลย เป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ก็แค่เอ๊ะ อยากรู้ มีคำถาม พอได้เห็นว่าประเทศตัวเองมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราเริ่มสนใจแล้วก็เริ่มออกไปและแสดงความคิดเห็น

เราเป็นคนหนึ่งที่เป็นเหยื่อ จะบอกว่าก็เราทำตัวเอง การทำตัวเองในแง่นี้คืออะไร เราไปชี้หน้าแล้วด่าแบบนี้เหรอ ไม่ใช่นะ เราแสดงความคิดเห็นและแชร์ในพื้นที่ของเรา คุณอาศัยช่องว่างกฎหมายมาแจ้งความ แล้วคุณบอกว่าอ่านเจอของเราที่นราธิวาส แล้วคุณก็แจ้งความที่นราธิวาส ประเทศไทยไม่สามารถยกคดีทำที่อื่นได้ ต้องไปรายงานตัวที่นั่นเท่านั้น ไม่สามารถรายงานตัวทางไกลได้ อันนี้เราไม่เป็นเหยื่อแล้วเรียกว่าอะไร” แบมบู กล่าว

ภัคภิญญาเป็นคนสดใสร่าเริงที่เด็ดเดี่ยวและมองโลกตามความเป็นจริง วันที่มีความสุขก็ดื่มด่ำ วันที่ทุกข์ก็อนุญาตให้ตัวเองเศร้าได้ แม้ภาพอนาคตจะยังไม่แน่นอน แต่ก็พยายามทำปัจจุบันให้ดีเท่าที่จะทำได้

“เราอยากกลับบ้านอยู่แล้ว มันมีทุกอย่างที่เราสร้างมา แต่ถ้าเขายกโทษให้แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม บูก็ยังไม่กลับ เราสู้มันมา ถ้าเราอยู่ข้างนอกแล้วทำให้มันดีกว่านี้ได้ เราก็จะอยู่จนกว่ามันจะดีขึ้น จนกว่ามันจะไม่ใช่แบบนี้ ไม่ใช่ความทุเรศ” เธอให้ความเห็นเรื่องนิรโทษกรรมทิ้งท้าย

 

 

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top