รัฐฉานตอนเหนือหลังหยุดยิง ปชช.ยังประสบปัญหาขาดแคลนด้านสาธารณสุข

รัฐฉานตอนเหนือหลังหยุดยิง ปชช.ยังประสบปัญหาขาดแคลนด้านสาธารณสุข

รัฐฉานตอนเหนือหลังหยุดยิง ปชช.ยังประสบปัญหาขาดแคลนด้านสาธารณสุข
user8
Tue, 2024-06-18 – 12:22

ภายหลังปฏิบัติการ 1027 ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉานจนเกิดผู้อพยพจำนวนมากนั้น ล่าสุดประชาชนเริ่มกลับคืนสู่ถิ่นฐานหลังมีการหยุดยิงในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐว่างเปล่าและกองทัพพม่าก็ทำการปิดกั้นการลำเลียงเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าพื้นที่ยึดครองของฝ่ายพันธมิตรสามภราดรภาพ ขณะเดียวกันก็มีอาสาสมัครด้านสาธารณสุขในพื้นที่พยายามช่วยอุดช่องว่างตรงจุดนี้

เจ้าหน้าที่องค์กรอนามัยตะอางตรวจรักษาประชาชนที่เมืองใหย๋ ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ภาพถ่าย 24 พฤศจิกายนปี 2566 ที่ผ่านมา (ที่มา: แฟ้มภาพ/Supplied)

ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของพม่าแสดงความยินดีกับ ‘ปฏิบัติการ 1027’ ด้วยรูปของพวกเขาเองกำลังถือดอกยูจีเนีย หรือที่เรียกกันในพม่าว่าดอกตะเบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะสำหรับชาวพม่ามาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ปฏิบัติการโจมตีสายฟ้าแลบโดยกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพนำโดย กองกำลังโกก้าง MNDAA กองกำลังตะอาง TNLA กองกำลังอาระกัน AA และฝ่ายต่อต้านต่างๆ ฯลฯ ที่้เริ่มต้นเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 เป็นการโจมตีกองทัพพม่าจนแตกพ่ายหลายพื้นที่ในวงกว้างของรัฐฉานตอนเหนือ และได้ส่งแรงสะเทือนไปถึงกองทัพพม่ากับฐานสนับสนุนของพวกเขา

แต่ถึงแม้ว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะจุดไฟความหวังให้กับประชาชนในวงกว้างที่หวังว่าการปกครองของรัฐบาลทหารพม่าจะสิ้นสุดลง แต่มันก็ไม่ใช่ชัยชนะที่ปราศจากเหยื่อ พลเรือนหลายหมื่นคนทางตอนเหนือของรัฐฉานกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ในขณะที่ประชาชนอีกจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและปัญหาราคาข้าวของเพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนเกิดขึ้นเนื่องมาจากการปิดกั้นหรือการทำลายถนนหรือสะพาน รวมถึงมีสาเหตุมาจากคำสั่งจำกัดการลำเลียงสิ่งของโดยกองทัพเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นถึงแม้ว่าจะมีการตกลงหยุดยิงแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ความยากลำบากอย่างใหญ่หลวงที่สุดอีกประการหนึ่งคือการขาดระบบสาธารณสุข แหล่งข่าวกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อ “ฟรอนเทียร์เมียนมาร์” ว่า สาเหตุที่เกิดเรื่องแบบนี้ เป็นเพราะการปิดตัวลงของระบบสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยเผด็จการทหารซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยอยู่แล้วในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง และแม้แต่ในกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพฯ ก็ยังอุดช่องว่างได้ไม่มากนัก ถึงแม้ว่าจะมีความช่วยเหลือจากอาสาสมัครบางกลุ่มก็ตาม ในขณะเดียวกันเผด็จการทหารก็ได้ปิดกั้นเส้นทางขนส่งลำเลียงยาและความช่วยเหลือต่างๆ ไปสู่พื้นที่เมืองหรือหมู่บ้านต่างๆ ที่กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพฯ ยึดครองอยู่ ขณะเดียวกันฝ่ายเผด็จการทหารก็ไม่สามารถรักษาเส้นทางลำเลียงในพื้นที่ที่ตนยังคงควบคุมเอาไว้ได้

หนึ่งในพื้นที่เหล่านี้คือเมืองล่าเสี้ยว เมืองสำคัญทางตอนเหนือของรัฐฉาน ที่กองทัพพม่ายังคงยึดครองไว้ได้ โดยถูกกำหนดเป็นพื้นที่สำหรับปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม อย่างไรก็ตามโกหยิ่นฉั่น คนทำงานองค์กรเอ็นจีโอนานาชาติแห่งหนึ่งกล่าวว่า การสนองตอบเชิงให้ความช่วยเหลือของปฏิบัติการในเมืองล่าเสี้ยวนี้ส่วนใหญ่แล้วถูกจำกัดอยู่ที่เขตชายแดนของเมืองที่เป็นชนบท ที่อยู่ห่างจากพื้นที่ที่มีผู้พลัดถิ่นจำนวนมาก เช่นเดียวกับองค์กรเอ็นจีโอนานาชาติอื่นๆ องค์กรของโกหยิ่งฉั่น ต้องพึ่งพา สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ในการเจรจาต่อรองกับกองทัพพม่าเพื่อให้เข้าถึงชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ แต่ทว่าโดยส่วนมากแล้วเผด็จการทหารจะปฏิเสธไม่อนุญาตให้มีการเดินทางเข้าไปในเมืองอื่นๆ

กลุ่มให้ความช่วยเหลือเหล่านี้มักจะขาดช่องทางติดต่อสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ซึ่งในตอนนี้นับเป็นกลุ่มที่ปกครองประชากรเป้าหมายความช่วยเหลือเป็นส่วนใหญ่ โกหยิ่นฉั่นกล่าวว่า ก่อนหน้าที่ปฏิบัติการ 1027 จะเปลี่ยนแผนที่การปกครองทางตอนเหนือของรัฐฉานขึ้นใหม่ ในตอนนั้นกลุ่มให้ความช่วยเหลือเคยต้องพึ่งพาข้าราชการท้องถิ่นจากกรมการปกครองทั่วไป (GAD) เพื่อเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยึดครองอยู่ในพื้นที่ชนบท แต่เมื่อกลุ่มเหล่านี้ยึดเมืองได้มากกว่าสิบเมือง ข้าราชการในพื้นที่ก็พากันหนีตายทำให้เอ็นจีโอกับหน่วยงานของยูเอ็นไม่มีตัวกลางประสานงาน

โกหยิ่นฉั่นกล่าวว่า “เพื่อที่จะส่งยาและบริการสาธารณสุขให้แก่คนพลัดถิ่นในพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบจากสงคราม พวกเราต้องทำการเจรจาต่อรองกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ แต่พวกเขา (UNOCHA) ก็ไม่สามารถหาช่องทางที่จะประสานงานเจรจาได้ และมีองค์กรจำนวนมากที่ไม่อยากเสี่ยง”

กลุ่มองค์กรในท้องถิ่นที่มักจะเป็นองค์กรเกี่ยวกับชาติพันธุ์เป็นกลุ่มที่สามารถทะลุทะลวงฝ่าการปิดกั้นได้มากกว่า แม้กระทั่งในตอนที่ติดต่อขอความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้บริจาคในต่างประเทศซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า แต่ตัวแทนของหนึ่งในกลุ่มองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้คือ องค์กรอนามัยตะอาง (Ta’ang Health Organisation) ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องยากขึ้นที่จะเข้าถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะต้องผ่านด่านตรวจของกองทัพเผด็จการ

โฆษกจากองค์กรอนามัยตะอางผู้ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อบอกว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยขนส่งลำเลียงยาจากล่าเสี้ยวได้โดยอาศัยรถขนส่งสาธารณะหรือรถส่วนบุคคล แต่ทางเลือกเหล่านี้ก็ไม่สามารถพึ่งพาได้อีกต่อไป โฆษกขององค์กรอนามัยตะอางบอกอีกว่า ในเมืองก๊ดขาย (Kutkai) เมืองที่กองกำลังปลดปล่อยชาติตะอาง TNLA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรสามภราดรภาพฯ ยึดครองอยู่นั้น ยังคงปิดเมืองอยู่เนื่องจากความไม่สงบ ทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นที่จะให้บริการสุขภาพแก่ประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ องค์การอนามัยตะอางยังจำใจต้องปิดคลินิกในเขตชนบทที่เมืองล่าเสี้ยวด้วย ถึงแม้ว่าจะยังคงมีคลินิก 3 แห่งที่เมืองม่านต้ง และ 2 แห่งที่เมืองต้างยานก็ตาม

โฆษกขององค์การอนามัยตะอางกล่าวว่า “นับตั้งแต่มีปฏิบัติการ 1027 เป็นต้นมา เอ็นจีโอและองค์กรอื่นๆ จำนวนมากก็ไม่สามารถเข้าสู่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามได้เลย สถานการณ์ด้านสาธารณสุขในพื้นที่เหล่านั้นมีโอกาสจะย่ำแย่อย่างมาก”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ทหารกองกำลังตะอาง TNLA ลาดตระเวนในเมืองน้ำสั่น เมืองศูนย์กลางของภูมิภาคตะอาง ภาพเผยแพร่เมื่อ 18 ธันวาคม 2566 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Shwe Phee Myay News Agency)

แหล่งข่าวอีกรายอื่นๆ จากเมืองก๊ดขาย น้ำสั่น และแสนหวี กล่าวว่า ความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขจะช่วยอุดช่องว่างที่ทิ้งไว้โดยข้าราชการสาธารณสุขผู้ที่หนีจากการรุกคืบของกองกำลังพันธมิตรสามภราดรภาพฯ และปล่อยให้โรงพยาบาลรัฐกับคลินิกถูกทิ้งร้าง การบริการสาธารณะจากภาครัฐก็ไม่เพียงพออยู่แล้วเนื่องจากการปล่อยปละละเลยภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารและการที่คณะทำงานด้านสาธารณสุขจำนวนมากเข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืน ซึ่งเป็นการนัดหยุดงานประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพในปี 2564

กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพฯ พยายามจะฟื้นฟูการสาธารณสุขร่วมไปกับบริการสาธารณะอื่นๆ ในพื้นที่เขตแดนใหม่ที่พวกเขาขยายการปกครอง เป็นพื้นที่ที่ผู้อพยพพลัดถิ่นเริ่มทยอยกลับมาเรื่อยๆ สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ระบุว่า จนถึงวันที่ 23 ม.ค. 2567 มีประชาชนราว 15,900 ราย ที่ยังคงเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ลดลงจากจำนวนผู้พลัดถิ่นเดิมที่มีอยู่มากกว่า 100,000 ราย ก่อนหน้าที่จะมีข้อตกลงหยุดยิง

อย่างไรก็ตาม ทั้งโฆษกขององค์การอนามัยตะอางและโกหยิ่นฉั่น ต่างก็บอกว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์นั้นไม่สามารถทำได้มากพอกับความต้องการของคนในพื้นที่ “พวกเขาพยายามจะทำให้บริการสาธารณสุขกลับมา แต่ก็ไม่มีทรัพยากรมากพอ ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพชำนาญการและคนทำงานสาธารณสุขจากที่อื่นๆ ก็มักจะไม่ต้องการเดินทางไปและทำงานในที่เหล่านี้” โกหยิ่นฉั่นกล่าว

ผู้อาศัยในเมืองน้ำสั่นรายหนึ่งซึ่งเป็นเมืองที่กองกำลังปลดปล่อยชาติตะอาง (TNLA) ยึดครองได้เมื่อเดือนธันวาคม 2566 กล่าวว่า กลุ่มคนทำงานสาธารณสุขไปที่คลินิกในเมือง 1 ครั้ง ในทุกๆ 5 วัน แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็มีแค่การให้บริการขั้นพื้นฐานเท่านั้น กรณีที่ร้ายแรงจะต้องถูกส่งต่อไปให้กับโรงพยาบาลที่เมืองล่าเสี้ยวหรือต้องไปที่เมืองมัณฑะเลย์ ผู้อาศัยในเมืองน้ำสั่นเล่าถึงเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยขอปกปิดชื่อ

การขับรถจากเมืองน้ำสั่นไปยังเมืองล่าเสี้ยวหรือเมืองมัณฑะเลย์ต่างก็ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ในขณะที่เมืองล่าเสี้ยวนั้นอยู่ใกล้กว่ามาก แต่การจะเข้าถึงเมืองนี้ต้องผ่านทางลูกรังในพื้นที่ชนบท ซึ่งบางเส้นทางอาจถูกวางกับระเบิดด้วย เพราะว่ามีการทำลายถนนสายหลักและมีการปิดกั้นเส้นทางจากทั้งฝ่ายกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์

การเดินทางยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้นและอันตรายมากขึ้นในตอนกลางคืน เนื่องจากในตอนที่กองทัพพม่าประกาศกฎอัยการศึกใน 8 เมืองในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ รวมถึงเมืองก๊ดขายและล่าเสี้ยว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้มีการกำหนดเคอร์ฟิวช่วงระหว่าง 6 โมงเย็น ถึง 6 โมงเช้าอีกวัน อีกทั้งการที่เผด็จการทหารได้ตัดอินเทอร์เน็ตและสายโทรศัพท์ในพื้นที่ที่กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพฯ ยึดครองอยู่ ยังกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางอีกอย่างหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย

มีทีมอาสาสมัครบางส่วนที่ได้จัดตั้งปฏิบัติการในพื้นที่เหล่านี้ แต่ทรัพยากรที่พวกเขามีก็ไม่มากพอที่จะตอบรับกับความต้องการได้ หนึ่งในอาสาสมัครนี้คือ นางธุซา เป็นพยาบาลชาวไทใหญ่ ที่ลาออกจากงานพยาบาลของตัวเองที่โรงพยาบาลในเมืองก๊ดขาย เพื่อข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนของเจ้าหน้าที่รัฐหลังเกิดการรัฐประหาร เธอเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาสาสมัครร่วมกับแพทย์และพยาบาลอื่นๆ อีก 7 ราย

หลังจากที่กองกำลัง TNLA ยึดเมืองไว้ได้ในช่วงต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ทีมแพทย์ของนางธุซาก็ได้เดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่โดยรอบตัวเมืองเพื่อที่จะรักษาคนไข้ประมาณ 10 รายต่อวัน แต่พวกเขาก็จำเป็นต้องปฏิเสธคนไข้ที่เหลือในจำนวนเท่าๆ กันเพราะความขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์

นางธุซากล่าวว่าทีมแพทย์อาสาสมัครเหล่านี้ต้องรักษาทั้งคนที่มีอาการเจ็บป่วยชั่วคราวและผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น ความดันเลือดสูง และเบาหวาน รวมถึงทำคลอด แต่ทว่า คนไข้ที่ป่วยหนักหรือได้รับบาดเจ็บก็จะถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลเอกชนเล็กๆ ในหมู่บ้านกองคา เคสคนไข้ที่อาการแย่กว่านี้จะต้องถูกนำตัวไปที่ล่าเสี้ยวโดยการเดินทางที่สุ่มเสี่ยง

นางธุซา กล่าวว่า ในฐานะที่แพทย์อาสาเหล่านี้เป็นคนชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนเชื้อชาติบะหม่าหรือพม่า ทำให้แพทย์อาสาเหล่านี้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจและได้รับอนุญาตให้เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างเต็มที่จากกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ การเข้าถึงเช่นนี้รวมไปถึงการเข้าถึงช่องทางอื่นๆ ในการเดินทางไปสู่เมืองล่าเสี้ยวโดยไม่ต้องผ่านจุดตรวจของกองทัพพม่าด้วย ช่องทางเหล่านี้อนุญาตให้พวกเขาจัดหาเวชภัณฑ์ที่ใช้ไปแล้วกลับมาเติมได้ นางธุซาอธิบายถึงสาเหตุนี้และกล่าวว่า “กองทัพเผด็จการพม่าที่ด่านตรวจเข้าออกเมืองล่าเสี้ยวนั้น ไม่อนุญาตให้ใครหรือองค์กรใดก็ตามขนส่งลำเลียงเวชภัณฑ์ผ่านด่านเลย”

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งในเมืองล่าเสี้ยว ก็มีภาวะขาดแคลนยานับตั้งแต่ที่มีการเปิดฉากปฏิบัติการ 1027 เมืองแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่รองรับผู้อพยพพลัดถิ่นภายในหลายพันคน ที่อยู่ในค่ายพักพิงที่จัดเตรียมไว้ มีผู้พลัดถิ่นจำนวนมากที่มาจากเมืองอื่นๆ ทางตอนเหนือของรัฐฉาน อูริชาร์ดทุน ผู้ที่ทำหน้าที่ให้กับโบสถ์ที่คอยดูแลค่ายผู้พลัดถิ่นบอกว่า มีความต้องการมากเป็นพิเศษในเรื่องยาสำหรับผู้พลัดถิ่นที่เจ็บป่วยเป็นโรคแบบเรื้อรัง

หนึ่งในผู้ป่วยโรคเรื้อรังดังกล่าวนี้คือ นางขิ่น ผู้หญิงชาวลาหู่อายุ 75 ปี ผู้ที่หนีมาพร้อมกับลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลานอีก 3 คน ในตอนที่กองทัพพม่าทำการยึดครองหมู่บ้านของพวกเขาทางตอนเหนือของเมืองล่าเสี้ยวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 และอีก 3 สัปดาห์ต่อมา หลังจากที่เดินทางมาถึงค่ายผู้พลัดถิ่น เธอก็เป็นโรคหลอดเลือดสมอง แต่ครอบครัวของเธอไม่สามารถหายาตามใบสั่งยาของหมอเพื่อมารักษาเธอได้ “ฉันจะลุกขึ้นและเดินได้ก็ต่อเมื่อมีคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งช่วยฉันเท่านั้น” นางขิ่นกล่าวต่อสื่อฟรอนเทียร์เมียนมาร์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา “ฉันกำลังประสบปัญหาจริงๆ”

ในขณะที่ยายังหาซื้อได้ แต่ราคายากลับทำให้คนจำนวนมากไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะซื้อ โกเมียตธู ชาวเมืองล่าเสี้ยวกล่าวว่ายาเม็ดเมทฟอร์มิน (Metformin) สำหรับโรคเบาหวานเม็ดหนึ่งนั้นราคาสูงขึ้นจาก 1,000 จ๊าด (ราว 17 บาท) กลายเป็น 2,500 จ๊าด (ราว 44 บาท) ในขณะที่ราคาของยาเดียไมครอน (Diamicron) ซึ่งเป็นยาโรคเบาหวานอีกตัวหนึ่งนั้นราคาเพิ่มสูงขึ้นจาก 8,000 จ๊าด (ราว 141 บาท) เป็น 20,000 จ๊าด (ราว 353 บาท)

นอกจากนี้ยังมีช่องว่างที่ใหญ่มากจากการขาดการดูแลเยียวยาทางด้านจิตสังคม โกหยิ่นฉั่นกล่าวว่า หลังจากที่เดินทางมาถึงค่ายผู้พลัดถิ่นแล้ว กลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มที่แสดงให้เห็นถึงความบอบช้ำทางจิตใจมากเป็นพิเศษเนื่องจากการสู้รบที่เกิดขึ้น

ในขณะที่การทำสัญญาตกลงหยุดยิงสำเร็จเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ได้สร้างความเป็นไปได้ที่ว่าคนพลัดถิ่นจำนวนมากจะกลับบ้าน แต่การขาดบริการสาธารณสุขก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับมามีวิถีชีวิตแบบเดิมได้ สำหรับปัญหาอื่นๆ นั้นได้แก่ปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดและการบังคับเกณฑ์กำลังพลเข้าร่วมกองกำลังชาติพันธุ์

นางขิ่นกล่าวทิ้งท้ายว่า “มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้คนจากพื้นที่ซึ่งมีสงครามจะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ฉันอยากจะร้องขอทางการให้เห็นแก่มนุษยธรรม ขออย่าปิดกั้นองค์กรที่พยายามจะช่วยเหลือพวกเราเลย”

เรียบเรียงจาก

Healthcare denied as northern Shan communities return home, Frontier Myanmar, 22-02-2024

  • รายงานพิเศษ

  • คุณภาพชีวิต
  • ต่างประเทศ

  • รัฐฉาน
  • พม่า
  • รัฐประหารพม่า
  • ปฏิบัติการ 1027
  • สาธารณสุข
  • กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง
  • กองกำลังโกก้าง
  • TNLA
  • ผู้ลี้ภัย
  • ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
  • ล่าเสี้ยว

ติดตาม “ประชาไท Prachatai.com” ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top