'ยืน หยุด ขัง' วันอภิวัฒน์สยามหน้า ม.เกษตรฯ บางเขน ร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมือง

‘ยืน หยุด ขัง’ วันอภิวัฒน์สยามหน้า ม.เกษตรฯ บางเขน ร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมือง

ประชาชนร่วม ยืน หยุด ขัง วันอภิวัฒน์สยามหน้า ม.เกษตรฯ บางเขน เรียกร้องให้ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองเข้าถึงสิทธิประกันตัว

24 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ หน้าประตูฝั่งพหลโยธิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน เวลาประมาณ 17.00 น. ในวาระครบรอบ 92 ปี คณะราษฎรปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนร่วมกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “ยืน หยุด ขัง (อภิวัฒน์สู่ประชาธิปไตย เหตุใดยังไร้ความยุติธรรม)” เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที เรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง นัดหมายโดย เพจเฟซบุ๊ก “เสรีเกษตรศาสตร์” 

บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมยืน หยุด ขัง และมีการชูป้ายกระดาษปรากฏคำว่า “ระลึกถึงบุ้ง เนติพร ศิษย์เก่า KU (ผู้สื่อข่าว – มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)” “สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเท่ากับสิทธิมนุษยชน” และอื่นๆ ขณะเดียวกัน มี รปภ.มหาวิทยาลัย มาถ่ายภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะ และตำรวจ สน.บางเขน ยืนสังเกตการณ์การทำกิจกรรม

‘น้ำ’ กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า วันนี้เธออยากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เนื่องจากเป็นทั้งวันอภิวัฒน์สยาม และเป็นวันชาติของเรา (อดีต) และอยากจัดอะไรในบริเวณพื้นที่ ม.เกษตรศาสตร์ เพื่ออย่างน้อยหันมาสนใจการเมืองข้างนอกมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่า กระแสของ ม.เกษตรฯ ซาลง อยากให้กลับมีความกระตือรือร้นทางการเมือง เรารู้สึกว่าประเด็นทางการเมืองมันรุนแรงขึ้น แต่ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวจากนิสิต ม.เกษตรฯ

น้ำ กล่าวต่อว่า ธีมงาน ยืน หยุด ขัง ครั้งนี้ตั้งใจจัดในวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย 2475 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบ “ประชาธิปไตย” แต่ปัจจุบัน เธออยากตั้งคำถามว่า ตอนนี้เรามีประชาธิปไตย เสรีภาพเต็มใบหรือยัง มันคือเรื่องเดียวกัน มันคือเรื่องโครงสร้าง เกี่ยวเนื่องกัน

สมาชิก เสรีเกษตรฯ ระบุเลือกวิธียืน หยุด ขัง เพื่อสื่อสารข้อเรียกร้องครั้งนี้ เพราะมันเป็นวิธีที่ง่าย ใครสามารถเข้าร่วมก็ได้โดยไม่ต้องมีแกนนำ มีพื้นที่ให้ทุกคน หรือประชาชนคนหนึ่งที่มีป้ายมีกระดาษสามารถมาร่วมแสดงออกได้

สมาชิก เสรีเกษตรฯ ระบุต่อว่า ชื่องานวันนี้คือ “ทวงคืนความยุติธรรม” เนื่องจากการดำเนินคดีมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่ากันขึ้นๆ ลงๆ สืบเนื่องจากที่เมื่อ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา กรณี อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการประกันตัว แต่ผู้ต้องหาทางการเมืองอื่นๆ ที่ยื่นคำร้องในช่วงเวลาเดียวกัน 18 ราย กลับถูกยกคำร้องขอประกันตัว ซึ่งมันสะท้อนว่า กระบวนการเลือกใช้กับคนแต่ละคนไม่เท่ากัน

“อยากฝากถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม กับคนที่มีอำนาจในประเทศไทย ควรหันมาพิจารณาและรับฟังเสียงของประชาชนจริงๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และความยุติธรรมเกิดขึ้นในประเทศเราจริงๆ จะได้ไม่ถูกครหาจากนานาชาติ” น้ำ ระบุ

ชลิดา บัณฑุวงศ์ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

ชลิตา บัณฑุวงศ์ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) กล่าวถึงกรณีที่เธอ ได้ไปร่วมกับ อนุสรณ์ อุณโณ นักวิชาการจาก คนส. ใช้ตำแหน่งทางวิชาการยื่นประกันตัว ‘ขนุน’ สิรภพ หนึ่งในผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อ 18 มิ.ย. 2567 ก่อนที่ 2 วันถัดมา ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวสิรภพ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ศาลประเมินตีวงเงินประกันสูงถึง 580,000 บาท โดยศาลระบุว่า คดีมีอัตราโทษสูง เกรงจำเลยจะหลบหนี และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งยกคำร้องประกันตัวมาแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ชลิตา มองว่า เสียดายมาก เพราะสิรภพ เรียนปริญญาโท อยู่ เขาก็เสียโอกาสทางการเรียน และยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่ก็ต้องพยายามต่อไปเพื่อยื่นประกันตัว

สมาชิก คนส. กล่าวว่า เธออยากเน้นย้ำเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ที่รวมมาตรา 112 ซึ่งทาง คนส. ดูว่าจะทำอะไรบางอย่างได้หรือไม่ เพราะกระแสสังคมมีแต่การพูดถึงเหตุผลที่ไม่ควรรวมมาตรา 112 ซึ่งฝั่งนักวิชาการจะพยายามดูว่าจะผลักดันเรื่องนี้อย่างไร และจะรีบทำเรื่องนี้

สมาชิก คนส. ระบุว่า ที่ต้องรวมทางมาตรา 112 มันเป็นเรื่องทางการเมือง ก่อนหน้านี้เราเคยคุยกับคนในรัฐบาลว่ารัฐบาลจะไม่รวมมาตรา 112 แต่ว่าถ้าไม่รวมนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แล้วเราจะนิรโทษกรรมใคร เพราะคดีที่เหลือส่วนใหญ่เป็นคดีมาตรา 112 ซึ่งถ้ากระบวนการในสภาฯ ทำได้เท่านี้ เสียงข้างนอกต้องยิ่งพูดให้มากขึ้นกว่าเดิม ที่ผ่านมาเราไว้วางใจ เพราะว่าเรามีสภาฯ และฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่นี้ แต่ถ้าทำได้แค่นี้ คนข้างนอกจะเร่งทำตรงนี้แทน

ชลิตา กล่าวว่า อยากฝากถึงรัฐบาลว่าตอนที่ตัวเองเป็นฝ่ายค้านเคยสัญญาอะไรไว้ และโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมระหว่างที่เด็กและเยาวชนยังไม่ได้รับการประกันตัว เป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมต้องดูแลพวกเขาในเรือนจำให้ดี ซึ่งรวมถึงทุกคนในเรือนจำทั้งหมด ซึ่งคิดว่ายังบกพร่องมากๆ ในการดูแลเรื่องนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ให้หันมาดูแลมากขึ้น คิดถึงตอนตัวเองเป็นฝ่ายค้านตัวเองท่าทีเป็นอย่างไร และตอนนี้เป็นอย่างไร

จากนั้นเวลา 18.15 น. น้ำ สมาชิกเสรีเกษตรฯ ได้อ่านแถลงการณ์ทิ้งท้าย ก่อนหันหน้าเข้าไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชู 3 นิ้ว และตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” และ “ปล่อยเพื่อนเรา” 3 รอบ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมือง จำนวนประมาณ 44 ราย แบ่งเป็นคดีเด็ดขาด 24 ราย ระหว่างสู้คดี 18 ราย และเยาวชน 2 ราย

ศูนย์ทนายความฯ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แนวโน้มการขอประกันตัวในช่วงหลัง หลังจากมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จะมีการส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาทันที 

ศูนย์ทนายฯ ระบุต่อว่า การใช้ดุลยพินิจของศาลชั้นต้นดังกล่าวทำให้การขอประกันตัวจำเลยในคดีการเมืองมีแนวโน้มยากขึ้น เนื่องจากศาลสูงมีแนวโน้มไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาตรา 112 หรือคดีเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด แม้จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับเมื่อคำสั่งประกันตัวในครั้งแรกหลังมีคำพิพากษาถูกสั่งโดยศาลที่สูงกว่าแล้ว การขอประกันตัวครั้งถัดๆ ไป ก็จะถูกส่งไปพิจารณาโดยศาลสูงเช่นเดิม

รายละเอียดแถลงการณ์

รายละเอียดแถลงการณ์ ที่มา เฟซบุ๊ก เสรีเกษตรศาสตร์

 

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top