ท้องถิ่นจัดการป่า (1) ปัญหาการจัดการ ‘ป่าไม้’ ในไทย และตัวอย่างจากต่างประเทศ

ท้องถิ่นจัดการป่า (1) ปัญหาการจัดการ ‘ป่าไม้’ ในไทย และตัวอย่างจากต่างประเทศ

ตอนแรกของข่าวเจาะชุด “ท้องถิ่นจัดการป่า” เมื่อนโยบายและกฎหมายการจัดการป่าไม้ในไทยถูกกำหนดมาจากราชการส่วนกลางมาเป็นระยะเวลาช้านาน ทั้งยังถูกครอบด้วยแนวคิด ‘ทรัพย์สินของรัฐ-อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ’ ที่มักจะกีดกันประชาชนจากการใช้ประโยชน์จากป่า โดยพบว่ามีหน่วยงานราชการอย่างน้อย 7 แห่งที่มีหน้าที่บริหารจัดการป่าไม้ แต่โดยหลักๆ แล้วมี 2 หน่วยงานคือ ‘กรมป่าไม้’ และ ‘กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช’ พร้อมสะท้อนประสิทธิภาพของการจัดการป่าไม้ในไทย อาจสะท้อนผ่านปัญหาต่างๆ อย่างพื้นที่ป่าไม้ลดลง และความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ

ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย

ป่าไม้เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ ช่วยควบคุมสมดุลของวัฏจักรน้ำและคาร์บอน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด นอกจากนี้ยังมีบทบาทป้องกันการพังทลายของดิน ลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกกำลังลดลงจากการบุกรุกเพื่อทำเกษตรและการพัฒนาเมือง

ตามคำนิยามของกรมป่าไม้ “พื้นที่ป่าไม้” คือ “พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้นปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ และหมายรวมถึงทุ่งหญ้าและลำนหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิปตัสหรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่าผลผลิตหลักของการดำเนินการไม่ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม”

ในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ เหลืออยู่เป็นจำนวน 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47% ของพื้นที่ประเทศ  แบ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ในภาคกลาง 12,263,466.16 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15,608,130.07 ไร่ ภาคตะวันออก 4,703,353.52 ไร่ ภาคตะวันตก 20,033,806.37 ไร่ ภาคใต้ 11,232,880.27 ไร่ และภาคเหนือ 37,976,519.37 ไร่ ทั้งนี้มี 3 จังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง และมีพื้นที่ป่าไม้ที่ปรากฏนอกขอบเขตการปกครองอีกจำนวน 91,949.22 ไร่

ตารางที่ 1. พื้นที่ป่าไม้แยกตามภูมิภาค
ภูมิภาค พื้นที่ทั้งหมด (ไร่) พื้นที่ป่าไม้ (ไร่) สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้
ภาคเหนือ 60,048,349.14 37,976,519.37 63.24%
ภาคตะวันตก 34,038,210.43   20,033,806.37 58.86%
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 104,823,709.22 15,608,130.07 14.89%
ภาคกลาง 56,912,645.90 12,263,466.16 21.55%
ภาคใต้ 46,154,901.40 11,232,880.27  24.34%
ภาคตะวันออก 21,550,883.56 4,703,353.52 21.82%
รวมทั้งประเทศ 323,528,699.65 101,818,155.76   31.47%
พื้นที่ป่าไม้นอกเส้นขอบเขตการปกครอง ของกระทรวงมหาดไทยปี พ.ศ. 2563 91,949.22    

ที่มา: โครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ปี พ.ศ. 2566 (กรมป่าไม้)

 

ทั้งนี้ไทยถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่พื้นที่ป่าลดลง โดยมีแนวโน้มลดลงมาเป็นเวลานานแล้ว ข้อมูลจากรายงานโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ปี พ.ศ. 2566 โดยกรมป่าไม้ ชี้ว่าในปี พ.ศ. 2516 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 138,566,875 ไร่ หรือคิดเป็น 43.21% ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปี พ.ศ. 2565 มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียง 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47% ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น

การจัดการป่าไม้ในประเทศไทย

ป่าไม้ในประเทศไทย ที่มา: แฟ้มภาพ/ดลวรรฒ สุนสุข

ในการจัดการป่าไม้ในประเทศไทย พบว่าใช้นโยบายและกฎหมายด้านการจัดการป่าไม้จากหน่วยงานส่วนกลางมาเป็นระยะเวลาช้านาน นอกจากนี้ยังเคยมี นักวิชาการให้มุมมองไว้ว่า ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทยที่ถูกจัดตั้งขึ้นในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2505 นั้นเป็นการจัดการป่าที่ลอกเลียนโมเดลมาจากอุทยานแห่งชาติ Yellow Stone ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นโมเดลป่าอนุรักษ์ที่ไล่คนออกจากป่า

จากการรวบรวมข้อมูลโดย Open Development Thailand พบว่าปัจจุบันมี 7 หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อป่าไม้ในประเทศไทย แต่โดยหลัก ๆ แล้วมี 2 หน่วยงานหลักภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบ่งหน้าที่รับผิดชอบการจัดการป่าไม้ คือ กรมป่าไม้ ดูแลป่าสงวนและกำกับสวนป่าเชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลบริหารอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทั้ง 2 หน่วยงานแบ่งความรับผิดชอบพร้อมทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางอาญา

หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อป่าไม้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำกับการทำงานของ 3 กรมหลัก คือ กรมป่าไม้ (ปม.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.)

กรมป่าไม้ (ปม.) หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบดูแลภาคป่าไม้และจัดการป่าที่รัฐเป็นเจ้าของ และอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) รัฐวิสาหกิจดำเนินธุรกิจทำไม้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลจัดการสวนป่า

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดการป่าสงวนของประเทศ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ดูแลสวนยางพาราเชิงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กรมศุลกากรตรวจสอบความถูกต้องของการนำเข้า-ส่งออกไม้

กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดูแลหน่วยงานระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และมีหน่วยสืบสวนในสังกัดที่ตรวจสอบรายงานการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย

ที่มา: Open Development Thailand

ทั้งนี้การเข้าครอบครองที่ดินสาธารณะใด ๆ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ในทางปฏิบัติ จะห้ามการถือครองพื้นที่ในป่าที่ยังไม่ได้รับรองเป็นเขตอนุรักษ์ตามกฎหมาย โดยเฉพาะตามเนินเขา ภูเขา และในระยะที่ 40 เมตรจากเชิงเขาหรือภูเขาเท่านั้น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ระบุว่าการตัดไม้และการเก็บของป่าทุกชนิดจะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น พ.ร.บ.ป่าไม้ปี พ.ศ. 2484 ได้กำหนดไม้หวงห้ามทั่วประเทศไว้ 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา (รวมถึงไม้สัก) ซึ่งการทำไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และประเภท ข. ไม้หวงห้ามพิเศษ ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำไม้ เว้นแต่รัฐมนตรีจะได้อนุญาตในกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม การทำไม้ในพื้นที่สาธารณะทุกประเภทมีผลยุติลงทันทีตั้งแต่มีประกาศใช้มติ ครม.ปิดป่าสัมปทาน พ.ศ. 2532

นอกจากนี้ การครอบครองหรือใช้ที่ดินในป่าสงวนแห่งชาติเพื่อการเกษตรถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แม้จะมีข้อยกเว้นบางประการ แต่เมื่อคำนึงถึงขนาดประชากรที่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และภายใต้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ห้ามมิให้มีการจัดเก็บหรือทำอันตรายต่อทรัพยากรธรรรมชาติ ซึ่งรวมถึงพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ และไม่อนุญาตให้ประกอบอาชีพใด ๆ ในพื้นที่เขตอุทยาน นับได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายนี้มีความเข้มงวดและมีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากคาดการณ์ว่ามีประชากรกว่า 1 ล้านคนที่อยู่อาศัยทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ

ตัวอย่างปัญหาป่าไม้ในประเทศไทย

พื้นที่ป่าไม้ลดลง

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยปี พ.ศ. 2516-2541 และ ปี พ.ศ. 2543-2566 | ที่มาภาพ: โครงกำรจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ปี พ.ศ. 2566 (กรมป่าไม้)

ปัญหาการจัดการป่าไม้ที่สำคัญของประเทศไทยคือ “พื้นที่ป่าไม้ลดลง” ซึ่งมีสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use change) จากพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าไม้ เช่น พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่า (forest fire) นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมป่าไม้ยังระบุว่าสถานการณ์ความร้อนในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่าเกิดการร่วงหล่นของใบอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516-2566 สามารถพิจารณาเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2516-2541 และช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2543-2566 เนื่องจากมาตราส่วนที่ใช้ในการปฏิบัติงานมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ก่อนปี พ.ศ. 2543 ข้อมูลพื้นที่ ป่าไม้ของกรมป่าไม้ ถูกจัดทำขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพดาวเทียมที่มาตราส่วน 1:250,000 ภายหลังจาก ปี พ.ศ. 2543 มีการเปลี่ยนแปลงมาตราส่วนที่ใช้สำหรับการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้เป็น 1:50,000 และมี การนําระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (geographic information system : GIS) มาใช้ในการจัดทำข้อมูลสภาพ พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ดังนั้นผลจากการกําหนดมาตราส่วนของภาพดาวเทียมที่แตกต่างกันดังกล่าวทำให้ตัวเลขพื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีความแตกต่างกันชัดเจน

ช่วงที่ 1 (พ.ศ. 2516-2541: รวมระยะเวลา 26 ปี): พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 138,566,875.00 ไร่ ใน ปี พ.ศ. 2516 เหลือ 81,076,250.00 ไร่ ใน ปี พ.ศ. 2541 หรือคิดเป็นอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้เท่ากับ 2,211,177.88 ไร่ต่อปี

ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2543-2566: รวมระยะเวลา 24 ปี): พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 106,319,237.50 ไร่ ใน ปี พ.ศ. 2543 เหลือ 101,818,155.76 ไร่ ใน ปี พ.ศ. 2566 หรือคิดเป็นอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้เท่ากับ 187,545.07 ไร่ต่อปี

การจัดการพื้นที่ป่าของไทยถือว่าล้มเหลว หากใช้ตัวชี้วัดจากแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2564-2565 ได้กำหนดกิจกรรมปฏิรูปในการเพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในนโยบายป่าไม้แห่งชาติปี พ.ศ. 2562 ตั้งเป้าไว้ว่าในปี พ.ศ. 2565 มีพื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่า 33.04% ปี พ.ศ. 2570 มีพื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่า 35.35% ปี พ.ศ. 2575 มีพื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่า 37.67% และปี พ.ศ. 2580 มีพื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่า 40%

จะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ. 2566 ไทยมีพื้นที่ป่าเพียง 31.47% พลาดจากเป้าที่ตั้งไว้ในปี พ.ศ. 2565 ที่ 33.04% และถ้าหากจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าไทยจะต้องมีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศ หรือเท่ากับ 129,411,479.86 ไร่ ภายในปี พ.ศ. 2580 จากนี้ไปอีก 13 ปี (พ.ศ. 2567-2580) จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างน้อย 27,057,995.10 ไร่ หรือเฉลี่ย 3,517,539.36 ไร่ต่อปี — ในขณะที่ความเป็นจริงทุกวันนี้พื้นที่ป่าไม้กลับลดลงเฉลี่ย 187,545.07 ไร่ต่อปี

ปัญหาจากแนวนโยบายของรัฐภายใต้แนวคิด ‘ทรัพย์สินของรัฐ-อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ’

การจัดการป่าไม้ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถูกครอบงำด้วยแนวคิดที่ว่า “ป่าไม้เป็นทรัพย์สินของรัฐ” และ “ต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” ซึ่งทำให้รัฐกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน เนื่องจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการพื้นที่ป่า ทำให้รัฐถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจในการกีดกันประชาชนจากการใช้ประโยชน์จากป่า แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความต้องการของประชาชนได้ จึงเกิดการละเมิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้พยายามใช้ประโยชน์จากพื้นที่หรือผลผลิตจากป่าไม้มักถูกตีตราว่าเป็น “ผู้ร้าย” โดยเฉพาะ “ชาวบ้านผู้ยากไร้” และ “กลุ่มนายทุน”

ความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนผู้พยายามใช้ประโยชน์จากพื้นที่หรือผลผลิตจากป่าไม้เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าช่วงระยะเวลา 9 ปี (ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2566) มีคดีเกี่ยวกับป่าไม้ทั้งหมด (ประกอบด้วย คดีบุกรุกพื้นที่ป่า, คดีลักลอบเผาป่า, คดีทำไม้,  คดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า และคดีเกี่ยวกับของป่า) รวม 28,986 คดี เฉลี่ยแล้วปีละ 3,221 คดี มีผู้กระทำผิดรวม 15,589 คน เฉลี่ยแล้วปีละ 1,403 คน ส่วนข้อมูลล่าสุดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ณ วันที่ 30 เมษายน 2567) มีคดีเกี่ยวกับป่าไม้ทั้งหมด 1,104 คดี ผู้กระทำผิดรวม 725 คน

 

ตารางที่ 2. สรุปสถิติการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2566
ปีงบประมาณ คดีเกี่ยวกับป่าไม้ทั้งหมด* คดีบุกรุกพื้นที่ป่า คดีลักลอบเผาป่า** คดีทำไม้
คดี ผู้กระทำผิด คดี ผู้กระทำผิด คดี ผู้กระทำผิด คดี ผู้กระทำผิด
2558 6,062 2,716 3,478 451 2,031 1,535
2559 4,321 2,289 2,208 427 1,487 1,189
2560 4,221 2,057 2,068 411 1,603 1,090
2561 3,337 2,099 1,544 272 1,224 1,207
2562 2,633 1,575 1,074 214 837 642
2563 2,716 1,546 811 199 485 550 358
2564 1,970 1,312 525 190 144 626 376
2565 1,505 894 625 128 6 433 286
2566 2,221 1,101 743 170 377 4 524 307

หมายเหตุ

* ตัวเลขของคดีเกี่ยวกับป่าไม้ทั้งหมดนั้นประกอบด้วย คดีบุกรุกพื้นที่ป่า, คดีลักลอบเผาป่า, คดีทำไม้,  คดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า และคดีเกี่ยวกับของป่า ส่วนตัวอย่างคดีที่ยกมาในตารางนี้นำมาเพียง คดีบุกรุกพื้นที่ป่า, คดีลักลอบเผาป่า และคดีทำไม้ เท่านั้น

** ก่อนปีงบประมาณ 2563 คดีลักลอบเผาป่าถูกรวมอยู่ในคดีบุกรุกพื้นที่ป่า

ที่มา: เรียบเรียงข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข้อมูลจากงานวิจัยหัวข้อ ‘การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง กรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2’ โดยกิติมา ขุนทอง และธนพร สีสุขใส เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ชี้ว่า “การทวงคืนผืนป่า” คือวาทกรรมของรัฐบาล คสช. ในการ สร้างความชอบธรรมในการแย่งยึดที่ดินของประชาชนเพื่อเปลี่ยนที่ดินและพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่เชิงเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ทุนเข้ามาเปลี่ยนทรัพยากรไปเป็นสินค้าหรือ “การทำให้ธรรมชาติกลายเป็นทุน” (Capitalisation of nature) ไม่ว่าจะเป็นการใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำเหมืองหินทรายอุตสาหกรรมและโครงการไฟฟ้าพลังงานลม เป็นต้น โดยใช้ความคลุมเครือของเอกสารสิทธิ์ กรณีพื้นที่ประกาศเขตป่าทับซ้อนที่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ หรือกรณีพิพาทระหว่างรัฐและชุมชน และอำนาจกฎหมายตลอดจนการใช้ความรุนแรงมาบีบบังคับ แย่งยึดเอาที่ดินให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ นโยบายทวงคืนผืนป่าในยุค คสช. ไม่เพียงเป็นการแย่งยึดที่ดินทำกินแต่ยังเปลี่ยนชาวบ้านจากผู้บุกเบิก ผู้อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ให้กลายเป็น “นอมินี” หรือ ตัวแทนผู้กระทำการแทนนายทุนในการเข้าบุกรุกทำลายป่า เป็นการสร้างสำนวนโวหารใหม่ในการพรากที่ดินจากประชาชน และเพื่อซ่อนเร้นผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวจากการรับรู้ของสาธารณะ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายป่าไม้ในยุค คสช.เกือบทั้งหมดไม่ใช่นายทุนหรือผู้มีอิทธิพล เป็นเพียงเกษตรกรที่พยายามดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจนและต้องการจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ปัญหาการจัดการป่าไม้ของหน่วยงานรัฐ

ตัวอย่างการตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งได้ทำการตรวจสอบการดำเนินงานบางกิจกรรมของ “สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้” ในภาคเหนือและภาคอีสาน 4 แห่ง ([1] [2] [3] [4]) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ “กรมป่าไม้” สตง. พบข้อค้นพบที่น่าสนใจ เช่น

  • กิจกรรมโครงการสร้างป่าสร้างรายได้แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่ดำเนินการในพื้นที่ 4,711 แปลง รวม 32,200 ไร่ วงเงินงบประมาณรวม 182,600,000 บาท สตง. พบว่ามีการดำเนินโครงการขาดประสิทธิภาพ ไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยไม่สามารถฟื้นฟูป่าตามแนวทางสร้างป่าสร้างรายได้ในพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ ไม่สามารถทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้อย่างต่อเนื่องและสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ไม่สามารถสร้างจิตสำนึกแก่เกษตรกรในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ได้
  • การบริหารจัดการป่าไม้ของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งหนึ่งในภาคอีสาน สตง. พบว่าการจัดการพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ และพื้นที่ตรวจยึดคดีป่าไม้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่กันคืนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ พื้นที่ตรวจยึดจากคดีป่าไม้ถูกบุกรุกซ้ำ
  • การบริหารจัดการป่าไม้ของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งหนึ่งในภาคอีสาน สตง. พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี และแม้จะมีการใช้นโยบายการทวงคืนผืนป่า แต่พื้นที่ป่าไม้ไม่เพิ่มขึ้นเลย
  • การบริหารจัดการป่าไม้ของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งหนึ่งในภาคอีสาน สตง. พบว่าไม่สามารถป้องกันการบุกรุกและการตัดไม้ทำลายป่าได้, ไม่สามารถป้องกันและจัดการไฟไหม้ป่าได้, ไม่สามารถจัดการที่ดินป่าไม้เพื่อชุมชนให้ป่าไม้เพิ่มขึ้นได้ และไม่สามารถฟื้นฟูป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ได้ เป็นต้น

อีกหนึ่งหน่วยงานสังกัด “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” คือ “องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้” (ออป.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจดำเนินธุรกิจทำไม้ที่ดูแลจัดการสวนป่านั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาขององค์กรนี้ ไว้อาทิเช่น

  • สถานภาพของ ออป.ในทางเศรษฐกิจถือว่าประสบความล้มเหลวในการประกอบการอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเป็นภาระของสังคมที่ต้องจัดหางบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาษีประชาชนมาใช้จ่ายในองค์กรแห่งนี้ 
  • กระบวนการปลูกสร้างสวนป่าของ ออป. จะมีลักษณะเป็นสวนป่าขนาดใหญ่ (Plantation) โดยการปลูกไม้เศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ซึ่งต้องเตรียมแปลงโดยการไถปรับพื้นที่ ทำให้เกิดการทำลายไม้ธรรมชาติเดิมหมดไป ในหลายพื้นที่ เช่น สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จะพบว่าเจ้าหน้าที่สวนป่าได้ทำลายไม้ธรรมชาติบางแห่ง เช่น ประดู่ แดง ไผ่ ฯลฯ เพื่อปลูกยางพารา เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ทำให้พื้นที่เสื่อมสภาพ อีกทั้งในหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมในการลักลอบนำไม้ธรรมชาติในเขตสวนป่าออกไปจำหน่ายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
  • การทำไม้จากสวนป่าที่กำลังดำเนินการอยู่ของ ออป. จะทำให้พื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงจากเดิม และ ในสายตาของประชาชนในท้องถิ่นมองว่า ออป. คือผู้ทำลายป่าไม้ ไม่มีภาพลักษณ์ของผู้ทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากปลูกแล้วตัด หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โครงการปลูกไม้ ทำลายป่า”
  • พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ ออป. ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าเป็นการปลูกสร้างตามเงื่อนไขสัมปทานตัดไม้ แต่ในทางข้อเท็จจริง กลับพบว่าในหลายพื้นที่เป็นที่ดินที่ชาวบ้านถือครองทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ จากนั้นกรมป่าไม้ได้ให้อนุญาต ออป.เข้าดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสภาพเช่นนี้เป็นมาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบัน

ตัวอย่างการจัดการป่าไม้ในต่างประเทศ

ตัวอย่างการจัดการป่าไม้ตามแนวทาง Satoyama ในประเทศญี่ปุ่น | ที่มาภาพ: Wikipedia

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชี้ว่า ณ ช่วงปี ค.ศ. 2020 ทั่วโลกมีพื้นที่ที่คงสภาพป่าไม้อยู่ประมาณ 30.8% หรือคิดเป็น 25,375 ล้านไร่ พื้นที่มากกว่าครึ่งของพื้นที่ป่าไม้ในโลกมีการกระจุกตัวมากที่สุดใน 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศจีน โดยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาสัดส่วนของพื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 32.5% เหลือ 30.8% สาเหตุหลักของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่คือการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม

จากข้อมูล 135 ประเทศ พบว่า 60 ประเทศ จะมีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากกว่า 1% ของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศ ซึ่งประเทศที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากสุด ได้แก่ บราซิล แคนาดา คองโก และปารากวัย ในขณะที่มีเพียง 17 ประเทศเท่านั้น ที่มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1%

หลายประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ ดังนั้น จึงได้มีการปรับปรุงนโยบายการจัดการป่าไม้ให้เหมาะสมกับบริบทสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิประเทศของแต่ละประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนและสมดุล ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการจัดการป่าไม้ในบางประเทศ

เยอรมนี

ป่าไม้ในเยอรมนีครอบคลุมพื้นที่กว่า 114,000 ตารางกิโลเมตร (71.25 ล้านไร่) หรือกินพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีความสำคัญทั้งในแง่ของระบบนิเวศ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ การจัดการป่าไม้ในเยอรมนีมีพื้นฐานมาจากแนวคิดแบบบูรณาการที่มุ่งเน้นการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและหลากหลาย ป่าไม้เป็นทั้งส่วนหนึ่งของธรรมชาติและเศรษฐกิจ โดยมีการจ้างงานกว่า 1.1 ล้านคนในอุตสาหกรรมป่าไม้และไม้แปรรูป ไม้เป็นวัสดุหมุนเวียนที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ไม้ยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายการจัดการสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลกลางและการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ป่าไม้ในเยอรมนียังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เช่น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในด้านการจัดการสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ธรรมชาติ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การพักผ่อนหย่อนใจ และการล่าสัตว์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในบางพื้นที่ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อการจัดการป่าไม้

กลยุทธ์ป่าไม้ 2020 (Forest Strategy 2020) ของเยอรมนี เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการจัดการป่าไม้ทั้งในด้านธรรมชาติและเศรษฐกิจ โดยมี 9 แนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสที่เกิดขึ้น ได้แก่ การบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพย์สิน การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การปลูกป่า การล่าสัตว์ การปกป้องดินและการจัดการน้ำ การพักผ่อนหย่อนใจ สุขภาพ และการท่องเที่ยว และการศึกษา

กลยุทธ์นี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความต้องการที่เพิ่มขึ้นของป่าไม้และการผลิตที่ยั่งยืน โดยเน้นการวิจัยและการให้ข้อมูลเพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ เช่น การปรับตัวของป่าไม้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการป่าไม้และการอนุรักษ์ธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาและพัฒนามูลค่าเพิ่มสำหรับอุตสาหกรรมป่าไม้และไม้แปรรูป

กลยุทธ์ป่าไม้ 2020 มุ่งเป้าไปที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในระดับรัฐบาลกลางและรัฐต่างๆ การดำเนินงานตามกลยุทธ์นี้จะช่วยส่งเสริมความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับหน้าที่ต่าง ๆ ของป่าไม้ในประเทศ และประโยชน์และโอกาสของการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

เยอรมนียังมีแผนที่จะสานต่อกลยุทธ์ป่าไม้ 2020 เป็นแนวทางหลัก โดยเพิ่มเติมการพิจารณาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ กลยุทธ์นี้กำลังได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง โดยมีการบูรณาการกับรัฐต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

ฟินแลนด์

ประเทศฟินแลนด์มีชื่อเสียงด้านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยเน้นการผลิตไม้ที่มีคุณภาพสูงควบคู่ไปกับการอนุรักษ์คุณค่าทางธรรมชาติ ภูมิทัศน์ และการจัดการพื้นที่สันทนาการ

กระทรวงเกษตรและป่าไม้ของฟินด์แลนด์ ระบุว่ารัฐบาลฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยได้จัดทำ “แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน” (Best Practices for Sustainable Forest Management) ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับเจ้าของป่าในการจัดการป่าของตนอย่างยั่งยืน แนวปฏิบัตินี้ครอบคลุมทุกด้านของความยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงการคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศด้วย

การจัดการป่าไม้ในฟินแลนด์ส่วนใหญ่เป็นการจัดการแปลงป่าขนาดเล็กที่มีต้นไม้อายุใกล้เคียงกัน โดยมีการจัดการตามวงจรการฟื้นฟูป่า ตั้งแต่การปลูกป่าใหม่ หรือการฟื้นฟูตามธรรมชาติ จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิตสุดท้าย นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ โดยการรักษาลักษณะของแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีคุณค่า และการอนุรักษ์ต้นไม้ที่มีคุณค่าทางนิเวศวิทยา รวมถึงต้นไม้ที่ตายแล้วและกำลังผุพัง

ป่าไม้ในฟินแลนด์ส่วนใหญ่เป็นป่าสนซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เติบโตตามธรรมชาติ และเป็นสายพันธุ์หลักที่ได้รับการจัดการเชิงพาณิชย์ โดยไม่มีการปลูกต้นไม้สายพันธุ์ต่างถิ่นจำนวนมากนัก

สวีเดน

การจัดการป่าไม้ในสวีเดน ถือเป็นต้นแบบของ มาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) ซึ่งตัวอย่างที่ดีในการสร้างความสมดุลให้กับป่าที่มีหลายแนวทาง เช่น การพลิกฟื้นป่าที่เสื่อมโทรมทั่วประเทศที่เหลือเพียง 25% ให้เพิ่มเป็น 75% ได้สำเร็จ สวีเดนอนุญาตให้มีพื้นที่ปลูกป่าไม้เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเศรษฐกิจเติบโต เช่น ไม้แปรรูปสำหรับภาคก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม้แปรรูปสำหรับเฟอร์นิเจอร์ ที่ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมสามารถนำไปศึกษาต่อยอดได้ 
สวีเดนเป็นประเทศที่ส่งออกไม้เศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และยังครองตำแหน่งผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมดีด้วย

ปัจจัยที่สำคัญคือการใช้ “พระราชบัญญัติป่าไม้” (Forestry Act) ที่ทำให้ตัดไม้แต่สามารถได้ป่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากถ้าตัดต้นไม้ 1 ต้น ต้องปลูกต้นไม้ทดแทนอย่างน้อย 3 ต้น วิธีดังกล่าวนอกจากจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ยังช่วยให้ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ที่สำคัญช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกันได้ โดยป่าไม้จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เช่น ไม้สำหรับการก่อสร้างอาคาร ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเศษไม้เหลือทิ้งใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้อีก

การทำแบบนี้นอกจากจะได้ไม้สำหรับส่งออกแปรรูปที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังทำให้สวีเดนมีพื้นที่ป่ามากถึง 80% ของพื้นที่ประเทศด้วย และทำให้คนในชุมชนมีอาชีพ พร้อมเพิ่มรายได้ถึง 5 เท่า ซึ่งโมเดลนี้กว่าจะประสบความสำเร็จใช้เวลากว่า 20 ปีในการพลิกฟื้นป่าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นป่าชุ่มชื้นอีกครั้งอย่างทุกวันนี้

ปัจจุบัน ป่าไม้ในสวีเดน มีการจัดการน้ำเพื่อบำรุงรักษาให้ป่าอุดมสมบูรณ์ โดยได้เพิ่มพื้นที่ป่าไปแล้ว 1.2 ล้านต้น และสร้างฝายชะลอน้ำ 115,000 ฝาย  ซึ่งช่วยชุมชนกว่า 306 ชุมชน 57,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ ใช้อุปโภค-บริโภคและการเกษตร และเกิดการจ้างงานกว่า 2,550 คน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้เพิ่มกว่า 5 เท่า โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 3 ล้านไร่  150,000 ฝาย เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050  ตามแนวทาง ESG

อินเดีย

ข้อมูลจาก FAO ชี้ว่าอินเดียประสบความสำเร็จในการนำแนวทาง “การจัดการป่าไม้โดยชุมชน” หรือ Joint Forest Management (JFM) มาใช้ในการดูแลและฟื้นฟูป่าไม้ ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่กว่า 18% ของป่าไม้ของรัฐทั้งหมด
เดิมทีการจัดการป่าไม้ของอินเดียเน้นการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดปัญหาป่าเสื่อมโทรมและความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนท้องถิ่น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1988 อินเดียได้ออกนโยบายป่าไม้ใหม่ที่เน้นการจัดการป่าเพื่อระบบนิเวศและการตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น และได้ริเริ่มโครงการ JFM ในปี ค.ศ. 1990

ภายใต้ JFM กรมป่าไม้และชุมชนในหมู่บ้านจะร่วมกันทำข้อตกลงเพื่อปกป้องและจัดการพื้นที่ป่าใกล้เคียง โดยแบ่งปันความรับผิดชอบและผลประโยชน์ร่วมกัน ชุมชนจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ที่ไม่ใช่ต้นไม้มากขึ้น และส่วนแบ่งรายได้จากต้นไม้ ในขณะที่ต้องรับผิดชอบในการปกป้องป่าจากไฟไหม้ การบุกรุก และการตัดไม้ผิดกฎหมาย

โครงการ JFM ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยปรับปรุงสภาพป่าไม้ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้

อย่างไรก็ตาม JFM ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ การขาดความรู้และทักษะของชุมชน และการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ภายนอก แต่หากดำเนินการอย่างถูกต้อง JFM ก็สามารถเป็นกลยุทธ์ระยะยาวที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนและการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนได้

ญี่ปุ่น

Satoyama เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียกพื้นที่รอยต่อระหว่างภูเขาและพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการเกษตรและป่าไม้มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ Satoyama มีความหมายหลากหลาย ตั้งแต่การจัดการป่าไม้โดยชุมชนเกษตรกรรม การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยอินทรีย์ ไปจนถึงการจัดการภูมิทัศน์ทั้งหมดเพื่อการเกษตร ซึ่งรวมถึงป่า นาข้าว ทุ่งหญ้า และแหล่งน้ำต่างๆ

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ Satoyama ในญี่ปุ่น และในปี 2009 ได้มีการจัดตั้ง “Satoyama Initiative” ขึ้นที่ UNESCO เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิทัศน์ Satoyama และภูมิทัศน์ที่คล้ายคลึงกันทั่วโลก Satoyama ไม่เพียงแต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น แต่ยังเป็นแบบอย่างของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกได้ การอนุรักษ์ Satoyama ไม่เพียงแต่เป็นการรักษาระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังเป็นการรักษาวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Satoyama กำลังปัญหาการลดลงของประชากรในหมู่บ้านและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการละทิ้งพื้นที่และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อนและหลากหลายของ Satoyama เสื่อมโทรมลง และส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้

หลังจากได้พิจารณาตัวอย่างการจัดการป่าไม้ในหลายประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่าแนวคิดหลักที่สำคัญประการหนึ่งคือการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “ป่าชุมชน” ที่ได้รับความสนใจในประเทศไทย โดยแนวคิดนี้มุ่งเน้นการให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการจัดการและดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อท้องถิ่น

ในตอนต่อไป จะได้ทำความเข้าใจถึงรายละเอียดและความสำคัญของแนวคิด “ป่าชุมชน” ซึ่งถือเป็นทางเลือกสำคัญในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทย รวมทั้งการหาคำตอบร่วมกันว่า “ท้องถิ่น” จะอยู่ตรงไหนในการจัดการป่า

ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

 

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top