พลัดถิ่นในไทย ชีวิตแรงงานครีเอทีฟพม่าหลังรัฐประหาร
See Think
Wed, 2024-07-31 – 19:36
เรื่อง: ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล
ภาพปก: กิตติยา อรอินทร์
นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2564 คนทำงานครีเอทีฟในพม่าจำนวนหนึ่งเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย ประชาไทคุยกับ 2 แรงงานสร้างสรรค์จากพม่าถึงชีวิตในเมืองไทย และโอกาสในด้านการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ต่างขึ้นอยู่กับสถานะทางกฎหมายของแต่ละบุคคล
งานอิสระ
“ความที่ผมต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ มันทำให้ผมไม่สามารถออกไปถ่ายรูปข้างนอกเหมือนเดิมได้ และผมก็กังวลด้วยว่าคนที่เข้ามาติดต่องานอาจเป็นฝ่ายเผด็จการพม่า”
เดวิด (นามสมมติ) ช่างภาพอิสระจากนครย่างกุ้งผู้มีประสบการณ์กว่า 10 ปีในอาชีพนี้ เล่าให้ประชาไทฟังถึงเส้นทางอาชีพที่จำต้องสะดุดลง หลังจากที่เขาหลบหนีการปราบปรามทางการเมืองมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว
ย้อนกลับไปสมัยอยู่ที่พม่า เดวิดเป็นเป็นชาวพม่าเชื้อสายจีนที่ไม่เกี่ยงงานมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งมันห่างไกลจากสภาพที่เขาต้องไร้งานเป็นเวลานานต่อเนื่องแบบนี้
ก่อนจะเป็นช่างภาพ เขาเคยทำงานมาหลายประเภท รวมถึงงานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า จนวันหนึ่งเขาเข้าร่วมอบรมการถ่ายภาพและมีโอกาสให้ถ่ายภาพในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่จัดขึ้นที่ประเทศพม่าในปี 2556 ภาพที่เดวิดถ่ายได้เผยแพร่ในนิตยสารหลายเล่ม ซึ่งแจ้งเกิดเส้นทางการเป็นช่างภาพของเขานับแต่นั้น
นับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารในปี 2564 เขาเป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านเผด็จการพม่า ต่อมาเขาได้รับหมายจับและไม่สามารถอยู่ในประเทศได้อีกต่อไป
จากนั้นเขาหลบเข้ามาอาศัยที่เมืองชายแดนไทยเพื่อเข้ากระบวนการไปประเทศที่สาม โดยได้รับการคุ้มครองจากองค์การระหว่างประเทศ ทว่าหลังจากอยู่มาระยะหนึ่งและยังไม่มีวี่แววว่าจะเห็นปลายทางในเร็ววัน บวกกับสภาพเมืองที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ลี้ภัย เขาตัดสินใจพาตัวเองออกจากที่นั่นโดยมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ
“ผมต้องอยู่ที่นั่น (เมืองชายแดน) แบบไม่ออกไปไหนเลย ต้องปิดประตูไว้ ผมกับเพื่อนรวม 4 คนตื่นขึ้นมาก็เจอกันแค่นี้ ถ้าอยากออกไปข้างนอก คือออกไปข้างหลังบ้านได้แค่นิดเดียว ตอนหลบอยู่ในย่างกุ้งก็แบบนี้แหละ เราต้องอยู่ให้เหมือนไม่มีคน ตอนนั้นผมรู้สึกโดดเดี่ยวมาก” เดวิดเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่อันหดหู่จนทำให้เขาในขณะนั้นเริ่มสูบบุหรี่
หลังจากย้ายมาเมืองไทย งานส่วนใหญ่ของเดวิดคือการถ่ายภาพเพื่อใช้ในกิจกรรมของกลุ่มต่อต้านเผด็จการ เดิมช่างภาพคนนี้เคยมีกล้องถึง 5 ตัว แต่หลังจากที่เขาส่งต่อกล้องเกือบทั้งหมดให้กับขบวนการปฏิวัติ เหลือไว้ใช้เองเพียงตัวเดียว ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เขาร่วมงานได้แค่กับคนที่หนีมาในลักษณะเดียวกัน ทำให้มีงานแค่ 1-2 งานต่อเดือนเท่านั้น
ในกรณีของบุคคลที่รอไปประเทศที่สามอย่างเดวิด เขาไม่สามารถทำบัตรสีชมพูและบัตร CI เหมือนกับแรงงานข้ามชาติทั่วๆ ไปได้ นั่นทำให้เขามีความผิดตามกฎหมายทั้งการเข้าเมืองและการอยู่อาศัย ทั้งยังเข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพ
ขณะที่เขาอยู่ในเมืองชายแดน เขาตรวจพบวัณโรคและต่อมาได้รับความช่วยเหลือด้านการรักษาจากองค์การระหว่างประเทศ
งานบริษัท
ชีวิตของเดวิดอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงในหลายมิติ แตกต่างจาก เอ (นามสมมติ) ศิลปินอิสระจากนครย่างกุ้งที่หลบเข้ามาเมืองไทยอย่างถูกกฎหมายพร้อมกับสามี
เวลาผ่านไป 2 ปี เอได้งานเป็นกราฟิกดีไซน์เพื่อการตลาดในบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ การมีใบอนุญาตทำงานและวีซ่าธุรกิจทำให้เธอรู้สึกถึงชีวิตที่มั่นคงขึ้น
“ฉันทำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีรัฐประหารด้วยซ้ำ แต่สภาพการเมืองแบบนี้ ฉันไม่มีแรงบันดาลใจอะไรอีกแล้ว มีคนบาดเจ็บล้มตายจริง ฉันไม่รู้สึกไม่สนุกเวลาวาดรูป ติดอยู่ในสภาพที่คิดสร้างสรรค์อะไรไม่ออกตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร”
หลังจากที่มีการรัฐประหาร เอเลือกช่วยเหลือพวกองค์กรเยาวชนด้วยฝีมือการทำกราฟิกของเธอ ด้วยเหตุผลที่ว่าองค์กรเหล่านี้มักไม่เป็นที่รู้จักและต้องการทุนสนับสนุนที่มากกว่า
นอกจากนี้ เธอออกแบบสื่อรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ เช่น โปสเตอร์ กราฟิก และเผยแพร่มันทางออนไลน์เพื่อให้ใครก็ตามนำไปใช้ได้เมื่อออกไปประท้วง ทั้งหมดนี้เป็นการทำโดยไม่เปิดเผยตัวตน
ลักษณะงานของเอมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง แตกต่างกับสามีของเธอที่แม้เป็นศิลปินอิสระเช่นเดียวกันแต่หน้างานมีความเสี่ยงมากกว่า วันหนึ่งรูมเมตและเพื่อนร่วมงานของสามีถูกจับ นั่นเป็นจุดที่ทำให้เอและสามีรีบหนีเข้ามายังฝั่งไทย มากกว่าชีวิตที่ต้องรักษาคืออนาคตที่ดีกว่า
หลังจากย้ายมาที่กรุงเทพฯ เอใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะเริ่มปรับตัวได้ เธอเลี้ยงชีพด้วยงานฟรีแลนซ์ ซึ่งเป็นงานศิลปะเช่นเดิม เพียงแต่ปรับรูปแบบตามสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป โดยมากจะอยู่ในรูปแบบของภาพประกอบรีพอร์ต วารสาร หรืองานวิจัยต่างๆ
“ฉันเหมือนกับปลาในบ่อที่ว่ายออกมาสู่แม่น้ำ โลกข้างนอกมีอะไรอีกมากมาย ตอนที่ฉันไปแถวๆ สยามแล้วเห็นวัยรุ่นออกมาเที่ยวเล่น ชอปปิง ฉันน้ำตาแตกด้วยความรู้สึกท่วมท้น มันสนุกที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ แต่ก็เสียใจกับประเทศตัวเองมากๆ
เราเป็นประเทศที่อยู่ติดกันแต่ชีวิตผู้คนช่างต่างกันเหลือเกิน ที่พม่า เยาวชนเสียโอกาสด้านการศึกษา ชีวิตพังจนต้องเริ่มจากศูนย์ ฉันเสียใจกับคนรุ่นใหม่ พวกเขาไม่ควรเจอเรื่องแบบนี้”
ขณะที่เออยู่ในไทยได้ตามกฎหมาย แต่สามีของเธออยู่เกิน (overstay) เนื่องจากเขาอยู่ในระหว่างรอไปประเทศที่สาม สถานะทางกฎหมายเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดคุณภาพชีวิตของผู้หนีภัย
“เราต้องรอดไปด้วยกัน หนึ่งในพวกเราต้องอยู่ที่นี่อย่างถูกกฎหมายและมีงานที่มั่นคง นั่นเป็นเหตุผลให้ฉันต้องไปทำงานออฟฟิศ ตอนนี้สามีฉันเป็นทำงานเป็นศิลปินเต็มตัวเพื่อการปฏิวัติ ส่วนฉันทำงานบริษัทและเป็นศิลปินได้ในเวลาว่าง พวกเราเป็นทีมเดียวกัน”
บริษัทที่เอทำงานตั้งอยู่ชานเมืองกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับที่พักของเธอ การได้ทำงานบริษัทช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นเหมือนกับได้ยกภูเขาออกจากอก แม้ยังเป็นหนี้ก้อนโตจากค่าใช้จ่ายในกระบวนการขอวีซ่า
ในสภาพแวดล้อมการทำงาน มีบ้างที่เธอรู้สึกโดดเดี่ยวจากการเป็นคนสัญชาติพม่าเพียงคนเดียวในบริษัท เพื่อนร่วมงานไทยและต่างชาติคอยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเธอเสมอ แต่มันก็หนักหนาเกินกว่าใครจะมาเข้าใจ
“เพื่อนร่วมงานมักถามฉันว่าทำไมฉันดูเศร้าอยู่ตลอด ทำไมฉันดูไม่เข้าสังคม ทำไมฉันดูเครียดจังเลย ฉันไม่ได้เครียดนะ ฉันแค่เหนื่อย ฉันกำลังพยายามที่จะมีความสุข
หัวหน้าของฉันเคยพูดประมาณว่า เฮ้ คุณมีงาน มีใบอนุญาตทำงาน เราทำวีซ่าธุรกิจให้คุณ ทำไมคุณถึงยังไม่มีความสุขล่ะ… ใช่ ฉันมีความสุข แต่คนๆ หนึ่งจะมีความสุขเต็มที่ได้ยังไงในเมื่อประเทศของเขายังอยู่ในสภาพนี้”
ในมุมมองของเอที่เลือกอยู่ในกรุงเทพฯ เห็นว่าความพิเศษของเมืองหลวงแห่งนี้ มี 3 ข้อหลักๆ คือ สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยป้ายโฆษณาและบิลบอร์ด และคอมมูนิตี้ศิลปินชาวไทย โดยอย่างแรกมันช่วยกระตุ้นให้เธอมีไอเดียผลิตเชิงพาณิชย์ ส่วนอย่างที่สอง ช่วยให้เธอมีโอกาสจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรก
ส่วนเหตุผลที่สาม เธอต้องการเป็นอิสระจากทัศนคติที่เป็นพิษของคนในวงการศิลปะที่มักจะอยู่กันในเมืองชายแดน
ศิลปินรุ่นใหญ่ที่นั่นเคยเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อเธอในอดีต พวกเขาสามารถทุ่มเวลาให้กับการปฏิวัติอย่างเต็มตัว บางคนมีความคิดทำนองว่าเราควรเลิกทำงานศิลปะไปเลย เพราะในสภาพการเมืองแบบนี้ เราควรจะไปโฟกัสที่การปฏิวัติก่อน
แต่เอไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากความที่ไม่ได้สังกัดองค์กรใดและยังต้องส่งเสียครอบครัว
“ฉันเห็นคนรุ่นเดียวกันทำงานศิลปะได้ดี แต่พวกรุ่นพี่ก็เอาแต่พล่ามให้หยุดทำงานศิลปะได้แล้วถ้ามันไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิวัติ ฉันว่าความคิดแบบนี้แม่งโคตรท็อกซิกเลย”
“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราไม่ควรหยุดทำงานศิลปะ ไม่เกี่ยวกับว่างานนั้นจะเกี่ยวกับการปฏิวัติหรือไม่ ตราบใดที่งานนั้นไม่ได้เป็นการสนับสนุนเผด็จการทหาร มันเท่ออกนะ”
สำหรับนิทรรศการครั้งแรกของเอในเมืองไทยเป็นนิทรรศการกลุ่มที่จัดแสดงร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ โดยมีงานของเอ 3 ภาพในธีมการปฏิวัติ ภาพหนึ่งเป็นเรื่องการปิดกั้นสื่อมวลชน ส่วนอีกสองภาพเป็นสไตล์ป๊อปอาร์ต
“มันไม่สำคัญว่าเราจะทำอะไร เราจะมีชีวิตที่สบายขึ้นแล้วขนาดไหน หรือเราจะทำงานบริษัทอยู่หรือไม่ แต่เราจะลืมเรื่องการปฏิวัติไปไม่ได้…ความเป็นขบถมันไม่ได้หายไปจากเรา มันยังอยู่ตรงนั้น ฉันเลือกที่จะทำงานศิลปะต่อไปแบบนี้แหละ เพราะว่ามันคือชีวิตของฉัน” เอกล่าว
รายงานชิ้นนี้เป็นผลงานจากกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย Borders & Broader Conversations Initiative
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- จากพม่าถึงไทย: 3 ปีที่ต้องลี้ภัยของนักร้อง Gen Z
- วิบากกรรม ‘นักข่าวหญิงพลัดถิ่น’ จากพม่าถึงไทยปลอดภัยพอหรือยัง
- สัมภาษณ์
- การเมือง
- สังคม
- วัฒนธรรม
- แรงงาน
- สิทธิมนุษยชน
- คุณภาพชีวิต
- ต่างประเทศ
- พม่า
- ผู้ลี้ภัย
- แรงงานสร้างสรรค์
- แรงงานข้ามชาติ
- ข่าวเจาะ
- depth
- in-depth