จากพม่าถึงไทย: 3 ปีที่ต้องลี้ภัยของนักร้อง Gen Z
See Think
Tue, 2024-07-30 – 21:26
เรื่อง: ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล
บัตเตอร์ฟลาย (นามสมมติ) ศิลปินวัยรุ่นเชื้อสายกะเหรี่ยง-พม่าวัย 22 ปี กำลังลี้ภัยอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในประเทศไทย
ครั้งหนึ่งเขาเคยทำงานเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงไปพร้อมๆ กับเรียนมหาวิทยาลัยในนครย่างกุ้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2564 เขาเป็นหนึ่งในคนเจนซีจำนวนมากที่เสียโอกาสด้านการศึกษาเพราะเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านเผด็จการ ท่ามกลางสงครามที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปีแล้ว
ไปสู้ในป่า
หลังรัฐประหาร เขาออกมาประท้วงในนครย่างกุ้งนานกว่าครึ่งปี และต่อมาได้เดินทางไปอยู่ที่รัฐกะเหรี่ยงเพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนหรือพีดีเอฟ (People’s Defense Force – PDF) ซึ่งเป็นปีกทหารของรัฐบาล เอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี (National Unity Government – NUG) รวมถึงได้เข้าร่วมในขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement – CDM)
เขาอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 5-6 เดือน ในที่พักที่มีลักษณะคล้ายกับค่ายทหาร
ขณะนั้นงานหลักของเขาคือการระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการ ในการสื่อสารกับผู้บริจาค เขาจะต้องเป็นคนโพสต์คอนเทนต์เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในแคมป์และการฝึกทหารลงในเฟซบุ๊กเพจหนึ่งอยู่เสมอๆ
ไม่เพียงแค่นั้น ในฐานะศิลปินเขาแต่งเพลง 3 เพลงที่มีเนื้อหาต่อต้านเผด็จการพม่า หนึ่งในนั้นถูกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ การต่อสู้แบบเปิดหน้าออกกล้องทำให้เขาถูกเพ่งเล็ง ต่อมาเขาได้รับหมายจับ 2 หมาย ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนไปทำงานเบื้องหลังแทนเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวที่ยังอยู่ในพม่า
ขณะที่ในโลกออนไลน์ มีการเอาชื่อ ที่อยู่ รวมไปถึงชื่อพ่อของเขามาเปิดเผยเพื่อให้ผู้คนช่วยกันตามล่า ตำรวจเริ่มไปตามหาตัวเขาถึงบ้าน เขาเคยอยู่ที่บ้านหลังนั้นก่อนจะเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้าน เขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าเขายังอยู่ในประเทศต่อไป
ชีวิตในเมืองไทย
หลังจากที่บัตเตอร์ฟลายหนีเข้ามาที่ฝั่งไทยอย่างไม่มีเอกสาร เขาอาศัยอยู่ที่เมืองชายแดนหลายเดือนโดยได้รับการคุ้มครองจากองค์กรระหว่างประเทศ
ในระหว่างรอไปประเทศที่สามในฐานะผู้ลี้ภัย บัตเตอร์ฟลายไม่สามารถเข้ากระบวนการทำบัตรสีชมพูซึ่งเป็นบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติเหมือนกับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่ตั้งใจจะอยู่ที่นี่ได้ อีกทั้งสภาพเมืองชายแดนแห่งนี้ก็ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้ลี้ภัยมากนัก เขารออยู่ที่นั่นหลายเดือนทว่าไร้วี่แววที่จะได้ไปประเทศที่สามในเร็ววัน ต่อมาเขาตัดสินใจเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเขาเป็นคนเดียวที่หาเงินเลี้ยงครอบครัว
ช่วงแรกๆ ที่มาถึงกรุงเทพฯ เขาเดินเข้าไปถามตำแหน่งว่างตามโรงแรมและร้านอาหารด้วยความหวังว่าอาจมีสักแห่งที่ต้องการพนักงานล้างจาน ในขณะเดียวกันเขาหว่านใบสมัครทางออนไลน์ไปยังบริษัทราวๆ 60 แห่ง มีติดต่อกลับมาเพียงแค่ 3 แห่ง หนึ่งในกลุ่มหลังนี้คือ ร้านกัญชาแห่งหนึ่งในย่านคนรวยซึ่งได้กลายมาเป็นที่ทำงานของเขา
“ผมบอกคนที่ร้านว่าผมเป็นนักร้อง แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้สนใจมันก็ตาม” บัตเตอร์ฟลายพูดถึงวันแรกที่ทำงานที่นั่น
ก่อนที่จะมีการจ้างงาน เขาเปิดใจเล่าเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้คนที่ร้านฟัง แต่ไม่มีใครเชื่อเขาเท่าไหร่ ด้วยความที่เขาไม่มีเอกสารที่ใช้ยืนยันตัวตน เมื่อเห็นสถานการณ์เป็นเช่นนั้น เขาเสนอตัวทำงานที่ร้านแบบฟรีๆ 5 วันแล้วถ้าเจ้าของร้านเกิดถูกใจขึ้นมาก็ค่อยจ้างเขา
หลังจากนั้นผู้ลี้ภัยคนนี้กลายเป็นพนักงานที่มีอายุงานมากที่สุด เขาทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ วันละ 8-12 ชั่วโมง ที่นี่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง เวลานอนเขาพังเละเทะจากการต้องสลับกะทุกๆ 2 สัปดาห์
“บางทีเวลาตำรวจมา ผมแสร้งทำเหมือนตัวเองเป็นนักท่องเที่ยวและเดินหนีไป ผมต้องทำแบบนั้น จริงๆ แล้วมันน่ากลัวนะ สมัยอยู่ที่พม่าผมก็ต้องวิ่งหนีทหารพม่า พอมาอยู่ที่นี่ก็ต้องมาวิ่งหนีตำรวจอีก เหตุผลต่างกันแต่ความรู้สึกเดียวกันเลย จริงๆ แล้วผมไม่ได้อยากหนีเลย”
ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เขาไม่ได้ออกมาปรากฎตัวหน้าเคาเตอร์เหมือนอย่างคนอื่นๆ แต่ภาระงานก็ครอบจักรวาลมากทีเดียว ตั้งแต่ทำแคชเชียร์ ทำคอนเทนต์เพื่อการตลาดลงโซเชียลมีเดีย จัดการสต็อกสินค้า รวมทั้งสอนงานพนักงานใหม่
“ก่อนที่จะมีรัฐประหาร มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมเคยคิดว่าในชีวิตนี้ผมคงจะไม่ทำ แต่พอมาอยู่ที่นี่ ผมกลับต้องทำมันทั้งหมด เหมือนกับว่าส่วนหนึ่งในตัวผมถูกเผาไหม้ ผมเครียด แต่มันไม่เศร้าหรอก เพราะผมยังต้องทำงานหาเงินส่งให้ครอบครัว ค่ารักษาพ่อ หนี้สินของแม่ ค่าเทอมน้องสาว แม้ผมจะไม่เศร้าแต่ผมก็รู้สึกเครียด”
แม้ชีวิตในเมืองไทยจะหนักหนาสำหรับบัตเตอร์ฟลาย แต่ความเครียดช่วยให้เขาแต่งเพลงได้ งานด้านดนตรียังคงเป็นทั้งอาชีพและงานอดิเรก
“ช่วงที่ผมถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ ทีมงานใช้เวลาเป็นเดือนสำหรับเอ็มวี 4 นาที เนื่องจากผมว่างแค่สัปดาห์ละ 1 วัน”
ช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหาร เขาเคยมาที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง ด้วยการเข้าเมืองมาอย่างถูกกฎหมายคล้ายกับคนทั่วไปที่มาเที่ยวเล่น ชอปปิงตามห้างสรรพสินค้า มีบางครั้งที่เขามาถ่ายงานกับผู้กำกับคนไทย นี่จึงทำให้เขาพอมีคอนเนกชันอยู่บ้าง ซึ่งต่อมามันก็ช่วยให้เขาในฐานะผู้ลี้ภัยพอจะมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากงานถ่ายแบบ แม้ในวันๆ หนึ่งเขาจะมีเวลาว่างเพียงวันละ 2 ชั่วโมงที่อาจเป็นตอนกลางคืน แต่แบรนด์สินค้าส่วนมากก็เข้าใจในข้อจำกัดนี้
อนาคตที่กำลังจะเริ่ม
หลังจากรอคอยไปประเทศที่สามมาเกือบ 3 ปี ศิลปินวัยรุ่นคนนี้เลือกที่จะไม่รออีกต่อไป และได้จัดการทำบัตรสีชมพูกับพาสปอร์ตใหม่ เขาลาออกจากงานที่ร้านกัญชาเพื่อใช้เวลาเตรียมตัวสอบภาษาอังกฤษและสมัครชิงทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
ก่อนที่เขาจะได้พาสปอร์ตกลับมา พ่อของเขาที่ยังอยู่ในพม่าล้มป่วยและเสียชีวิต เขาไม่สามารถกลับไปดูใจได้ เนื่องจากปัญหาเอกสาร และถ้าเขากลับไปที่นั่นก็เสี่ยงถูกจับเข้าคุกหรืออาจถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตในระหว่างเดินทางก็เป็นได้ เขาทำได้เพียงอยู่กับพ่อทางวิดีโอคอลจนถึงวันสุดท้าย
“ตอนแรกผมคิดว่าคนไทยอาจจะไม่ชอบผม เพราะว่าผมไม่มีพาสปอร์ต ถ้าผมเป็นพวกเขา ผมก็อาจจะไม่ชอบตัวเองก็ได้ ผมเคยกังวลเรื่องนี้แต่พบว่ามันไม่จริงเลย
คนส่วนใหญ่ที่ร้านใจดีกับผมจริงๆ พวกเขาช่วยเหลือผมทุกเรื่อง ตอนที่ผมทำเรื่องขอทุนการศึกษา ลุงคนหนึ่งที่อายุมากที่สุดในร้านช่วยเขียนจดหมายแนะนำให้ ตอนที่พ่อของผมเสียชีวิต พวกเขารวมเงินกันเพื่อช่วยงานศพ พวกเขาช่วยผมหาที่พักด้วยเพราะผมไม่สามารถเช่าบ้านเองได้”
บัตเตอร์ฟลายเล่าถึงระยะเวลา 1 ปี 2 เดือนที่ทำงานที่ร้าน ตอนแรกๆ เขาไม่มั่นใจว่าการทำงานในร้านกัญชาแห่งนี้มันถือเป็นทางเลือกที่ดีไหม เมื่อเวลาผ่านไป เขาจึงเริ่มมองเห็นว่าในความอับจนหนทางก็ยังพอมีด้านที่สวยงาม
ขณะนี้เขาได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวนเป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อเรียนด้านการบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน เขายังมุ่งมั่นที่จะทำงานดนตรีต่อไป
“การร้องเพลงเป็นทั้งอาชีพและเป็นทางออกผม ด้วยการทำอาชีพนี้ ถ้าผมมีแฟนคลับมากขึ้นก็จะช่วยให้ผมเลี้ยงครอบครัวได้มากขึ้นและช่วยเหลือคนรอบข้างที่เป็นผู้ลี้ภัยได้ เพราะผมก็เคยเป็นผู้ลี้ภัยมาก่อน
ช่วงที่อาศัยอยู่ที่เมืองชายแดนไทย ผมมีประสบการณ์ 4 เดือนในการทำงานกับเอ็นจีโอ ไปช่วยงานในโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ที่เป็นลูกของผู้อพยพ ผมได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมสามารถช่วยได้ ถ้าผมมีแพลตฟอร์มในการร้องเพลงรวมถึงช่องทางหารายได้อื่นๆ มันจะเป็นผลดีต่อผมและชุมชนของผม”
รายงานชิ้นนี้เป็นผลงานจากกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย Borders & Broader Conversations Initiative
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- วิบากกรรม ‘นักข่าวหญิงพลัดถิ่น’ จากพม่าถึงไทยปลอดภัยพอหรือยัง
- สัมภาษณ์
- การเมือง
- แรงงาน
- สิทธิมนุษยชน
- คุณภาพชีวิต
- ต่างประเทศ
- พม่า
- ผู้ลี้ภัย
- แรงงานข้ามชาติ
- บัตรสีชมพู
- ข่าวเจาะ
- depth
- in-depth