บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรคการเมือง” โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ Sol Bar & Bistro อาคารอนาคตใหม่ (รามคำแหง 42 หัวหมาก 12) เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลในเวลาต่อมา
เขากล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญกับการเมืองแบ่งเป็น 4 เฟส คือ เฟสแรกตุลาการภิวัตน์ คนคิดคำนี้คือธีรยุทธ บุญมี ต่อมาเฟสสองคือ รัฐประหารทางตุลาการ เฟสสามศาลเงียบ และเฟสสี่นิติสงคราม ใน 2 ทศวรรศนี้ศาลรัฐธรรมนูญต่อให้พูดให้ตายว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่มันเกี่ยวจริงๆ ต่อคำถามว่าศาลรัฐธรรมนูญควรเลิกหรือไม่ต่อ เขาเชียร์ให้ไปต่อ เพราะยังเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย ออกแบบศาลรัฐธรรมนูญให้ดี จำกัดอำนาจให้ได้ และเป็นกลไกสำคัญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพียงแต่ทำอย่างไรให้ถูก
โดยปิยบุตรเสนอปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ 4 ประเด็น ได้แก่ 1. เปลี่ยนองค์ประกอบและกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2. ตีกรอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้ลดลงและเคร่งครัด 3. ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 4. สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การใช้อำนาจถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้
ข้อเสนอของตนในการเปลี่ยนกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรับธรรมนูญ คือใช้สูตร 3-3-3 ได้แก่ 3 คน กลุ่มรัฐบาลเสนอ 3 คน กลุ่มฝ่ายค้านเสนอ และ 3 คนศาลยุติธรรมเสนอมา ไม่มีใครยึดได้เบ็ดเสร็จ และการผ่านใช้เสียงข้างมาก เพื่อไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งกวาดหมด จะเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ มันต้องเกี่ยวอยู่แล้ว เพราะศาลตัดสินคดีทางการเมืองทั้งนั้น เผชิญหน้ากับคนเลือกตั้ง จึงต้องสร้างความชอบธรรมตรงนี้กลับไป แล้วทำอย่างไรไม่ให้การเมืองครอบงำชัดแจ้ง ก็คือสูตร 3-3-3 นี่แหละ และไม่ใช่เลือกหมูหมากาไก่ ต้องล็อคสเปก เขียนคุณสมบัติให้สูง ไม่ใช่เลือกใครไม่รู้มาเป็น ที่บอกแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลกก็เดินแบบนี้ ผสมผสานหลายฝ่ายเข้ามา ถ้าเปลี่ยนองค์ประกอบ เราก็จะปลดล็อคว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสัมพันธ์รัฐประหาร ล้างคลาบไคลออก
“เรียกร้องนักการเมืองรุ่นพี่ ที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค เป็นเหยื่อของการยุบพรรคก่อนผม วันนี้กลับมามีอำนาจแล้ว อย่าเพียงแต่พูด กระทำหน่อยทุกพรรคการเมืองรวมพลังยกเลิกการยุบพรรคกันไหม ตีกรอบการยุบพรรคกันไหม ด้วยการแก้กฎหมายพรรคการเมือง ง่ายนิดเดียว ไม่ยากเลย ไม่อย่างนั้นถูกครหาว่า พูดไป แล้วรู้สึกกันว่า เรดาร์อำมหิตยุบพรรคเคยฉายไปพรรคกลุ่มหนึ่ง วันนี้รอดหมดแล้ว เรดาร์อำมหิตยุบพรรคฉายไปพรรคอื่น แล้วมาบอกว่าไม่เกี่ยวกับฉันแล้ว อย่างนี้ไม่ถูก ขอเรียกร้องให้ลงมือกระทำหน่อย ฝากถึงนักการเมืองอาวุโส หมอทศพร เสรีรักษ์ จาตุรนต์ ฉายแสง อดิศร เพียงเกษ ท่านช่วยกันหน่อย พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ร่วมกับก้าวไกล เสนอกฎหมายยกเลิกการยุบพรรคเลย ดีดนิ้วแปบเดียวจบเลย”
เขากล่าวอีกว่า นี่คือการอธิบายทางวิชาการด้วยความปรารถนาดี เพื่อความดำรงอยู่ของศาลรับธรรมนูญในอนาคต ผ่านหลายเหตุการณ์มา ผ่านเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย ใช้ประกาศคณะรัฐประหารตัดสิทธินักการเมือง 111 คน ผ่านการยุบอีก 3 พรรค เปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้ ผ่านคำสั่งให้การเลือกตั้งทั่วประเทศโมฆะ 2 ครั้ง ผ่านการยุบพรรค ทษช.ข้อหากระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์การปกครอง ยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยข้อหากู้เงิน ผ่านการสั่งว่าการชุมนุมเยาวชนล้มล้างการปกครอง ผ่านคดีที่วินิจฉัยให้นายกฯ จากการเลือกตั้งพ้นตำแหน่ง 2 คน และอีกไม่กี่ชั่วโมงศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล
เรื่องนี้ไม่ใช่สำคัญกับพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว แต่สำคัญกับประเทศไทยด้วย หากพรรคถูกยุบ เชื่อว่าคนในพรรคก้าวไกลที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิคงเดินหน้าต่อ คงไปก่อร่างสร้างพรรคใหม่ และเดินหน้าลงเลือกตั้ง 2570 และคงได้คะแนนกลับมาเยอะกว่าเดิมอีก ดังนั้นชะตากรรมนักการเมืองกลุ่มนี้คงเดินหน้าต่อไป แต่สิ่งที่เราจะได้รับต่อมาคือ ในท้ายที่สุดคำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่จะเอามานำวินิจฉัยว่าใครล้มระบอบนี้ พรรคไหนปฏิปักษ์บ้าง ในที่สุดคำว่าระบอบประชาธิปไตยฯ มีความหมายอย่างไรกันแน่ เชื่อว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงคำวินิจฉัยนี้สำคัญต่อไทยจริง ๆ ถึงจุดที่อธิบายว่า ประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบอะไร เนื้อหาในระบอบนั้นเป็นอย่างไร
“ผมตั้งแต่เป็นนักวิชาการ จนมาก่อตั้งพรรคการเมือง มากกว่า 2 ทศวรรษถูกกล่าวหามาโดยตลอดว่า มีความคิดสุดโต่ง อันตราย บ้าปฏิวัติฝรั่งเศส ล้มนั้นล้างนี่ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ ถูกกล่าวหามามากกว่า 2 ทศวรรษ แต่วันนี้ยืนยันทุกครั้งว่า ไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่โลกปัจจุบันเป็นโลกสมัยใหม่ ความคิดผู้คนเปลี่ยนไปกันมาก ทำอย่างไรจะรักษาความชอบธรรมตามประวัติศาสตร์ชาติไทย ความชอบธรรมทางประเพณีไทย กับความชอบธรรมแบบโลกสมัยใหม่ ความชอบธรรมเรื่องประชาธิปไตย รักษาองค์ประกอบสำคัญของประเทศทั้ง 2 สิ่งไม่ได้หรือ คำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือต้องเป็นประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์ จะรักษาพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตลอดกาล แล้วรักษาประชาธิปไตยไทยไม่ได้หรือ” ปิยบุตรกล่าว
ปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ช่วงชีวิตต่อไปแม้ไม่มีสิทธิทางการเมืองแล้ว จะรักษาทั้ง 2 สถาบันคือ พระมหากษัตริย์ และประชาธิปไตย ใครจะคิดว่าล้มล้างอะไรเชิญ จะยืนของตนแบบนี้ และหวังว่าการบรรยายวันนี้จะเป็นประโยชน์กับศาลรัฐธรรมนูญ และคนไทย หวังว่าผ่านไปอีกกี่ปี ไทยจะยังต้องมีศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญจริงๆ