ทบทวนบทบาทสภาที่ปรึกษาฯ ชายแดนใต้ คืนบทบาทพลเรือนช่วยดับไฟใต้ หลังโดน คสช.ยุบไปนานเกือบ 10 ปี

ทบทวนบทบาทสภาที่ปรึกษาฯ ชายแดนใต้ คืนบทบาทพลเรือนช่วยดับไฟใต้ หลังโดน คสช.ยุบไปนานเกือบ 10 ปี

ขณะที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยถูกใช้กำกับงานบริหารเพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่จนสามารถออกคำสั่งย้ายข้าราชการที่มีปัญหาได้ กำลังฟื้นกลับมาหลังถูกคณะรัฐประหารสั่งยุบไปเกือบ 10 ปี โดย สส.-สว.ได้ช่วยกันโหวตยกเลิกคำสั่งของคณะรัฐประหารเพื่อให้กลไกนี้กลับมาทำงานอีกครั้ง

ประชาไทชวนทบทวนบทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ ที่เคยได้ทำงานเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ว่าที่ผ่านมากลไกที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายพลเรือนได้เข้ามาช่วยลดความขัดแย้งใน พื้นที่ต้องเจออุปสรรคแบบใด และถ้าจะฟื้นมันกลับมาจะต้องปรับแก้อะไรเพื่อให้เงื่อนไขความขัดแย้งลดลงกว่านี้

สภาที่ปรึกษาชายแดนใต้ 1 ใน 3 กลไกดับไฟใต้

ว่ากันว่า ก่อนรัฐประหารปี 2557 สิ่งหนึ่งที่ข้าราชการในชายแดนใต้ค่อนข้างขยาดคือ อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สามารถเสนอให้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สั่งให้ย้ายเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนออกจากพื้นที่โดยด่วน

ในเวลานั้น ภานุ อุทัยรัตน์ เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ได้ใช้อำนาจสั่งย้ายได้เกิดขึ้นจริงมาแล้ว คือคำสั่งย้ายตำรวจนราธิวาส 9 นายที่พบว่ามีการเข้าไปตรวจค้นบ้านประชาชนในพื้นที่แล้วไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่ยึดสิ่งของมีค่าไปแต่เมื่อถูกทวงก็คืนเป็นเงินเพียง 70,000 บาท ซึ่งเป็นช่วงที่สภาที่ปรึกษาฯ ชุดแรกตำรงตำแหน่งอยู่ในปี 2554-2557 

ปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช

ปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ระบุว่า ขณะนั้นเลขาธิการ ศอ.บต.ได้เชิญสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มาร่วมหารือด้วย แต่ทางสภาฯ เห็นว่า การจะสั่งให้ย้ายนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะหน่วยงานต้นสังกัดไม่ได้โอนอำนาจมาให้

ปกรณ์ กล่าวว่า แม้ในที่สุดเลขาธิการ ศอ.บต.ใช้อำนาจสั่งย้ายจริง แต่ก็ถูกตำรวจทั้ง 7 นายฟ้องกลับด้วยเหตุผลว่าเลขาธิการ ศอ.บต.ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาจึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายได้ เพราะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ไม่ได้ถ่ายโอนอำนาจมาให้ สุดท้ายตำรวจทั้ง 7 นายก็ได้อยู่ในพื้นที่ต่อ

นั่นเป็นเพียงกรณีเดียวที่เกิดขึ้น แม้ไม่ใช่ข้อเสนอโดยตรงจากสภาที่ปรึกษาฯ แต่ก็แสดงให้เป็นถึงบทบาทสำคัญของสภาที่ปรึกษาฯ ต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ ในฐานะกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นทางการ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ที่เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ. ศอ.บต.

สภาที่ปรึกษาฯ มีสมาชิกที่มาจากหลากหลายใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล ได้แก่ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ผู้แทนกลุ่มสตรี หอการค้า สื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ รวมไม่เกิน 49 คน โดยมาจากการเลือกกันเอง หรือแต่ละกลุ่มอาจเลือกบุคคลอื่นที่เห็นสมควร

สภาที่ปรึกษาฯ มีอำนาจหน้าที่หลักๆ เช่น ให้ความเห็นต่อนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คำปรึกษา ร่วมมือ รวมถึงตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของ ศอ.บต. และให้ความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนใต้

แต่อำนาจหน้าที่สำคัญ คือสามารถเสนอให้เลขาธิการ ศอ.บต.สั่งย้ายเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนออกจากพื้นที่ด่วน และพิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมหรือความเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ศอ.บต.ถูกใช้เป็นสำนักงานของสภาที่ปรึกษาฯ ในช่วงก่อตั้ง 2554-2557

คำสั่งคณะรัฐประหาร ตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ทว่า หลังรัฐประหารปี 2557 กลไกสภาที่ปรึกษาฯ ถูกระงับไปด้วย คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายน 2559 ซึ่งออกมาหลังจากได้คัดเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯชุดที่ 2 แล้วในปี 2558 แต่ยังไม่ทันประกาศแต่งตั้งก็มีอันต้องระงับไป

ส่วนการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ มี 60 คนมาทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาฯ มาจากการคัดเลือกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ ศอ.บต. มีหน้าที่แค่ให้คำปรึกษาตามที่นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการ ศอ.บต.ต้องการ ซึ่งที่ผ่านมาก็แทบจะไม่เห็นบทบาทอะไรเลย

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 ยังกำหนดให้บูรณาการการทำงานระหว่าง กอ.รมน.กับ ศอ.บต. แต่เลขาธิการ ศอ.บต.ต้องฟังเลขาธิการ กอ.รมน. ซึ่งหมายถึงการให้ กอ.รมน.มีอำนาจเหนือกว่า ศอ.บต. ทั้งๆ ที่ตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. ให้อำนาจและศักดิ์ของ ศอ.บต. เทียบเท่า กอ.รมน.

สภาที่ปรึกษาฯ คือกลไกการมีส่วนร่วมจากประชาชน

อย่างไรก็ตาม เดิมทีสภาที่ปรึกษาฯ เป็น 1 ใน 3 กลไกตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กพต.” เป็นกลไกระดับบนสุด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการรวม 35 คน ซึ่งมี 6 คนเป็นตัวแทนประชาชน คือประธานสภาที่ปรึกษาฯ และผู้แทนภาคประชาชนจังหวัดละ 1 คนที่สภาที่ปรึกษาฯ คัดเลือก เมื่อสภาที่ปรึกษาฯถูกสั่งระงับ ตัวแทนประชาชนส่วนนี้ก็หายไปด้วย

กพต. มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ศอ.บต.เสนอ รวมถึงแผนงาน โครงการและงบประมาณ

กลไกที่ 2 คือ ศอ.บต.เป็นส่วนราชการในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่สำคัญ ๆ เช่น จัดทำยุทธศาสตร์และแผนด้านการพัฒนา คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและจากเหตุการณ์ไม่สงบ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

ส่วนกลไกที่ 3 ก็คือ สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส.ส.-สว.พร้อมใจออกกฎหมายยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.

หลังรัฐประหารปี 2557 แม้ กอ.รมน.จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่คนในพื้นที่ยังไม่รู้สึกว่าการแก้ปัญหาดีขึ้น ความรุนแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งที่มีงบประมาณมหาศาล ส่วนงานด้านการพัฒนาของ ศอ.บต.ก็แทบไม่ได้ช่วยอะไร เพราะกอ.รมน.คุมงบประมาณเองทั้งหมด ซ้ำยังถูกตัดการมีส่วนร่วมจากประชาชนไปอีกด้วย

นั่นจึงไม่แปลกที่ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และวุฒิสมาชิก (สว.) ต่างก็เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 ด้วยเสียงท่วมท้น โดยที่ประชุม ส.ส.ลงมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 อย่างเอกฉันท์ 406 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ส่วน สว.ลงมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 เห็นด้วย 182 คน งดออกเสียง 3 คน และไม่มีใครไม่เห็นด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

โดยมีเนื้อหาหลักคือ ยกเลิกคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ แล้วกลับไปใช้ พ.ร.บ. ศอ.บต.ในการเลือก “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ให้เสร็จใน 120 วัน หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่มี จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน มีข้อสรุปให้เพิ่มบทบัญญัติใหม่ 1 มาตรา เพื่อกำหนดกรอบเวลาการแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาฯ ให้ชัดเจน และเพิ่มเหตุผล ข้อสังเกตให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องและเหมาะสมกับปัจจุบัน รวมถึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

ศอ.บต.เตรียมคัดเลือกใหม่ ไม่ใช้ชุดเดิมเมื่อ 9 ปีที่แล้ว

นันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์  เลขาธิการ ศอ.บต.ได้มอบหมายให้เตรียมกระบวนการได้มาของสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯแล้ว และประสานทางจังหวัดให้เตรียมคัดเลือกตัวแทนของจังหวัดด้วย โดยยังใช้กระบวนการเดิม แต่เพิ่มตัวแทนเยาวชนในกลุ่มสตรี ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องแก้ไขระเบียบ

นันทพงศ์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอให้ใช้สมาชิกสภาฯ ชุดเดิมที่คัดเลือกไว้แล้วตั้งแต่ปี 2558 นั้น ตนเห็นว่าควรคัดเลือกใหม่เพราะผ่านมา 9 ปีแล้วซึ่งนานเกินไป

การประชุมของสภาที่ปรึกษาฯ ในช่วงใกล้ครบวาระเมื่อ 22 เม.ย.2557 เพื่อคัดเลือกสมาชิกที่จะมาทำหน้าที่แทน เพจ ข่าว ศอ.บต.

ขณะที่ปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช อดีตสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า กระบวนการคัดเลือกใหม่ต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงความเป็นตัวแทน เพราะกลไกนี้ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่ให้ความเห็นในการบริหารและการพัฒนาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างเงื่อนไขใหม่ของความขัดแย้ง

เผยสารพันปัญหาของความเป็นตัวแทนประชาชน

ปกรณ์ กล่าวว่า การออกแบบกระบวนการคัดเลือกตัวแทนจาก 8 กลุ่มอาจต้องขบคิดกันใหม่ โดยเขาได้ยกตัวอย่างปัญหาของสมาชิกในสภาที่ปรึกษาฯ ชุดที่ผ่านมา ได้แก่

สมาชิกสภาฯ ที่เป็นข้าราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือข้าราชการครูที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเลขาธิการ ศอ.บต. แต่ต้องมาทำหน้าที่ให้คำปรึกษา กลไกอย่างนี้รู้สึกจะผิดเพี้ยนไป ดังนั้นสมาชิกสภาฯ ควรเป็นภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมจะดีกว่า จะได้ไม่มีภาวะรอนายสั่ง

การเลือกสมาชิกจากกลุ่มครูหรือบุคลากรด้านการศึกษามักจะได้คนในสังกัด สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) แต่ปัญหาจริงๆอยู่ที่การศึกษาเอกชน คือสถาบันปอเนาะกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ควรจะดูแลมากกว่า ก็ควรชี้เป้าไปเลยว่า สมาชิกควรเป็นตัวแทนจากการศึกษาเอกชน เพื่อจะให้ความเห็นได้ตรงกับปัญหา เพราะกลไกการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการอาจจะไม่ได้มีปัญหา

หรือแม้แต่พระสงฆ์ที่มาเป็นสมาชิกก็อาจจะไม่เหมาะสมในบางเรื่อง ดังนั้นควรเป็นตัวแทนเจ้าอาวาสหรือตัวแทนของพุทธศาสนาจากกลุ่มคนไทยพุทธจะดีกว่า จะทำให้มองปัญหาได้ แต่ที่ผ่านมามักได้คนที่ไม่ตรงกับปัญหาหรือไม่ตรงกับงาน

เช่นเดียวกับตัวแทนกลุ่มสตรีอาจครอบคลุมกลุ่มเยาวชนด้วย หรือกลุ่มเศรษฐกิจที่เลือกจากหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรม อาจจะลงไปถึงสมาคมนักธุรกิจมุสลิมหรือกลุ่มอื่นที่มีโอกาสเป็นตัวแทนได้

“เรายังเห็นว่า สมาชิกบางท่านมีประสบการณ์ไม่พอ หรือไม่ได้ทำหน้าที่ตัวแทน รวมถึงสมาชิกมาจากทั้ง 5 จังหวัดซึ่งมีบริบทและวิธีคิดต่างกัน เช่น สมาชิกจากสตูลกับนราธิวาส ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะหลอมความรู้สึกในการมองภาพรวมก่อนในช่วงแรก เพื่อจะสามารถสะท้อนเสียงได้”

“หลายท่านมีประสบการณ์ทั้ง 5 จังหวัด เหมือนผมเองเป็นตัวแทนจากนราธิวาสก็ไม่ได้มองว่าต้องทำให้นราธิวาสก่อน ความสำคัญของบางเรื่องอาจจะอยู่ที่สงขลาหรือสตูลก็ได้ ดังนั้นการที่มีทรัพยากรจำกัดก็ไม่จำเป็นต้องให้จังหวัดตัวเองก่อน”

ผลงานของสภาชุดแรกและชุดเดียว

สำหรับผลงานของสภาที่ปรึกษาฯชุดแรกและชุดเดียวที่ได้ทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ศอ.บต.มีอะไรบ้างนั้น ปกรณ์ เล่าว่า ในช่วง 3 ปีแรกได้รับเสียงสะท้อนจากผู้นำศาสนาทั้งมุสลิมและพุทธ เรื่องค่าตอบแทนว่าควรจะให้ระดับหนึ่งเพื่อให้สามารถทำงานสังคมได้ดีขึ้น สภาจึงเสนอให้ที่ประชุม กพต.พิจารณา

อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวต่อว่า ยังมีกรณีให้มีวันหยุดราชการพิเศษ ซึ่งมีวันหยุดในวันสำคัญทางศาสนาเพื่อเคารพอัตลักษณ์ของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่อยู่แล้ว (วันรายออีดิ้ลฟิตรีและอีดิ้ลอัฎฮา) สภาได้เสนอให้มีวันหยุดที่เป็นอัตลักษณ์ของคนจีนด้วย คือวันหยุดตรุษจีน และยังร่างข้อเสนอให้มีวันหยุดของคนพุทธที่เป็นวันสารทเดือนสิบด้วย ซึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดของมาเลเซียที่มีวันหยุดตามชาติพันธุ์เพื่อให้เกียรติระหว่างกัน

“เรายังหารือถึงการให้ความดีความชอบหรือการลงโทษข้าราชการว่าควรจะเป็นอย่างไร เช่น ข้าราชการที่ทำงานดีก็จะเชิดชูเกียรติ แต่ราชการบางคนที่สร้างเงื่อนไข สภาฯมีหน้าที่เสนอแนะว่าควรทำแบบไหนให้เหมาะสม เช่น ทหารถือปืนตามด่านชายแดนควรจะหลบอาวุธในมือให้ดูไม่น่าเกลียด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้พื้นที่”

สภาที่ปรึกษาฯ ประชุมหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ขณะนั้น อาซิส เบ็ญหาวัน (ขวาบน) อดีต สว. อดีต อบจ.ยะลา และเป็นกรรมการอิสลามยะลา เป็นประธานสภาที่ปรึกษาฯ ในสมัยแรก(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วเมื่อ 5 พ.ค. 2562) จากแฟนเพจ ข่าว ศอ.บต. 

อำนาจสั่งย้ายข้าราชการ เจตนาคือลดเงื่อนไขความขัดแย้ง

ปกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ. ศอ.บต.ให้อำนาจเลขาธิการ ศอ.บต.ย้ายข้าราชการที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนออกจากพื้นที่ได้ แต่ข้าราชการมีหลากหลาย การสั่งย้ายก็ทำได้ยากมาก เช่น ข้าราชการมหาวิทยาลัยในพื้นที่จะให้ย้ายออกจากในพื้นที่ได้อย่างไร หรือมีหน่วยต้นสังกัดอยู่ในพื้นที่ เช่น นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเขาก็เป็นคนพื้นที่จะย้ายออกอย่างไร

กรณีตำรวจ 7 นายตามที่กล่าวข้างต้น หากสั่งย้ายออกเพราะสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนจริง เมื่อย้ายไปแล้วคนกลุ่มนี้ก็อาจจะไปสร้างปัญหาในพื้นที่อื่นต่อหรือไม่

ดังนั้น การสั่งย้ายจึงยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะเจตนาจริงๆ คือการลดเงื่อนไขความไม่พอใจต่อรัฐและไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ ฉะนั้นกลไกในการลดเงื่อนไขนี้จะเป็นอย่างไรก็ต้องมาออกแบบกัน

นอกจากนี้ การใช้อำนาจสั่งย้ายจะให้ได้ผลจริงก็ต้องมีการถ่ายโอนอำนาจจากหน่วยงานต้นสังกัดมาให้เลขาธิการ ศอ.บต. แต่โดยโครงสร้างทางกฎหมายแล้ว ศอ.บต.เป็นแค่กลไกประสานงานเท่านั้น

คือพื้นที่กันชนระหว่างรัฐกับประชาชน

ปกรณ์ กล่าวว่า การมีสภาที่ปรึกษาฯ มีผลในเชิงบวกคือ สะท้อนวิธีการทำงานตามกุศโลบายของรัชกาลที่ 6 ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ต้องส่งคนดีมา และไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา ของรัชกาลที่ 9 ด้วย

ดังนั้น ข้าราชการที่เข้ามาทำงานในพื้นที่อาจจะไม่เข้าใจพื้นที่ จึงต้องมีการอบรมข้าราชการใหม่ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ สามารถเป็นตัวแทนพูดคุยเรื่องนี้ได้

ที่สำคัญคือ การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาชายแดนใต้โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กฎหมายบังคับให้ต้องถามสภาที่ปรึกษาฯ ด้วยเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนประกาศใช้

“ดังนั้น สภาที่ปรึกษาเปรียบเสมือน Buffer (กันชน) ระหว่างรัฐกับประชาชนไม่ให้ชนกันโดยตรง เราจะเป็นโซ่ข้อกลางในการอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย หรือทำให้เงื่อนไขที่มีอยู่ถูกลดทอนลงไป”

สมาชิกหลายคนไม่เข้าใจหน้าที่ตัวเอง

ปกรณ์ กล่าวว่า ส่วนด้านลบ เห็นชัดเจนจากเสียงสะท้อนจากเลขาธิการ ศอ.บต. และข้าราชการใน ศอ.บต.ว่า ตัวแทนที่ถูกเลือกเข้ามาไม่เข้าใจหน้าที่ตัวเอง จึงต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ต้น และหลายท่านมาเพื่อขอโครงการไปทำหรือเอาไปให้กลุ่มหรือพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ

อีกข้อที่ถูกสะท้อนออกมาคือ นายก อบจ.(องค์การบริหารส่วนจังหวัด) มักถูกเลือกมาเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งนายก อบจ.อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าฯ แม้แต่เลขาธิการ ศอ.บต. ก็ยังมาเป็นทีมที่ปรึกษา แล้วจะบริหารกันแบบไหน

ศอ.บต.อย่าสร้างเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมเสียเอง

ปกรณ์ กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะ 2 ข้อคือ 1. ขั้นพิเศษของ ศอ.บต. ที่มักได้ยินมาว่า คนไม่ทำงานกลับวิ่งเต้นให้ได้รับขั้นพิเศษ โดยเฉพาะโควต้าที่จัดสรรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปแจกจ่ายต่อ ดังนั้น ควรจัดสรรให้ชัดเจนแก่คนทำหน้าที่แก้ปัญหาตามนโยบาย ศอ.บต.หรือ สมช. ไม่อย่างนั้นจะได้คนไม่ตรงกับงาน ซึ่งเป็นแบบนี้มานานแล้ว

ข้อที่ 2 การคัดเลือกคนไปทำพิธีฮัจย์ที่ซาอุดิอาระเบียหรือไปแสวงบุญที่อินเดีย หรือไปศึกษาดูงานในต่างแดน หลักๆ คือจะช่วยเหลือเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แต่กลับไม่ได้รับเลือก แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึกไม่เป็นธรรมนั้นถูกสร้างโดยหน่วยงานรัฐเอง

ปกรณ์ กล่าวว่า ศอ.บต.เองก็ยังมีปัญหา ทำให้ที่ผ่านมาไม่ได้รับความเชื่อใจจากประชาชน แม้แต่การบรรจุข้าราชการในตำแหน่งต่างๆ ก็กลายเป็นเงื่อนไขในการสร้างความไม่เป็นธรรม

“ถ้าหน่วยงานที่เป็นกลไกลดความไม่เป็นธรรม กลับสร้างเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมเสียเองมันจะเป็นปัญหาใหญ่ และถ้า ศอ.บต.ไม่ถูกเชื่อใจจากประชาชน ก็อย่าหวังว่าจะแก้ปัญหาได้”

ศอ.บต.กับ กอ.รมน. ต้องถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ให้ความเห็นกรณีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 14/2559 ที่ให้ กอ.รมน. คุม ศอ.บต. ว่า จากการศึกษาดูงานพบว่า การออกแบบกระบวนการสันติภาพในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่าจะแยกปีกการต่อสู้ทางทหารกับปีกการเมืองออกจากกัน

การออกกฎหมาย กอ.รมน.เพื่อดูแลความมั่นคง และกฎหมาย ศอ.บต. เพื่ออำนวยความยุติธรรมเกิดขึ้นบนหลักการนี้เพื่อดุลกัน ดังนั้น ศอ.บต. กับ กอ.รมน.เป็นกลไกที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่ในอดีตอาจจะรู้สึกว่าขาดเอกภาพในการบังคับบัญชา (จึงให้ กอ.รมน.คุม ศอ.บต.) ทั้งที่ทั้ง 2 หน่วยงานมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวอยู่แล้ว เอกภาพจะเกิดจากการกำกับของนายกรัฐมนตรี

“การที่ กอ.รมน.ไปกำกับ ศอ.บต. หรือ ศอ.บต.ไปกำกับ กอ.รมน. ถ้าพูดย้อนก็เหมือน ทหารนำการเมือง หรือการเมืองนำการทหาร ซึ่งเรามักต่อสู้กันใน 2 แนวคิดนี้ แต่ที่จริงทั้งสองฝ่ายต้องทำงานด้วยกัน และต่างฝ่ายก็มีกลไกทางกฎหมายอยู่แล้ว แต่ถ้ามองจากภาคประชาชนก็คือหน่วยรัฐไม่ไว้ใจกันเอง”

รับบทจัด Public consultation ในกระบวนการสันติภาพได้

ส่วนข้อเสนอว่า ในอนาคตสภาที่ปรึกษาฯ สามารถจัดการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public consultation) ในกระบวนการสันติภาพได้นั้น ปกรณ์ บอกว่า มีการทำอยู่แล้วในพื้นที่ ซึ่งสภาฯก็ทำได้ เพราะมีคนที่ผ่านหลักสูตรเสริมสร้างสันติสุขของสถาบันพระปกเกล้ามาแล้ว ซึ่งเรียนกันเข้มมาก เพราะต้องเข้าใจกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้ง

อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ อธิบายว่า Public Consultation เหมือนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับหนึ่ง ที่ต้องรู้จักใช้เครื่องมือให้เป็น ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ต้องเป็นสหสาขาวิชา มีคนจากหลากหลายอาชีพมาร่วมกันมอง จึงต้องพัฒนาทักษะที่ควรมี เช่น การเป็นโซ่ข้อกลาง การปรึกษาหารือ การเป็นนักฟังหรือนักจัดกระบวนการ (Facilitator) เพราะ Public Consultation เป็นกลไกนานาชาติที่มีเครื่องมือและวิธีการชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯเหมาะที่จะทำหน้าที่นี้

ขณะที่ รองเลขาธิการ ศอ.บต. อย่าง นันทพงศ์ ก็มองว่า สภาที่ปรึกษาฯ ทำหน้าที่นี้ได้ เพราะมีหน้าที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้อยู่แล้ว แต่สภาที่ปรึกษาฯไม่ใช่กลไกเดียวที่จะทำ ต้องทำงานร่วมกันในหลายๆ กลไก แต่จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบให้มีความชัดเจน

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top