‘สิทธิลาป่วย’ ที่ทุกคนควรรู้  ถอดบทเรียนปมสาวโรงงานนิคมบางปูเสียชีวิตคางาน

‘สิทธิลาป่วย’ ที่ทุกคนควรรู้ ถอดบทเรียนปมสาวโรงงานนิคมบางปูเสียชีวิตคางาน

‘สิทธิลาป่วย’ ที่ทุกคนควรรู้ ถอดบทเรียนปมสาวโรงงานนิคมบางปูเสียชีวิตคางาน
XmasUser
Wed, 2024-09-18 – 15:39

การจากไปของ ‘เมย์’ ลูกจ้างเหมาช่วงที่ ‘เดลต้า’ สมุทรปราการ หลังถูกปฏิเสธไม่ให้ลาป่วยรอบ 3 จุดประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานให้ร้อนแรงในโซเชียลมีเดีย มีคำถามมากมายต่อยอดจากกรณีนี้ นายจ้างมีสิทธิปฏิเสธลาป่วยของลูกจ้างได้หรือไม่ ไปจนถึงนายจ้างชั้นต้นต้องรับผิดชอบหรือไม่

 

สืบเนื่องจากเพจเฟซบุ๊ก ‘หนุ่มสาว-โรงงาน‘ โพสต์ข้อความเมื่อ 16 ก.ย.2567 กรณี ‘เมย์’ หญิงชาวสุโขทัยอายุ 30 ปี ซึ่งเป็นพนักงานในบริษัทเหมาช่วง (outsource) ของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ เสียชีวิตเมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากอาการเจ็บป่วยที่ลำไส้ใหญ่ โดย 2 วันก่อนหน้านี้พนักงานคนดังกล่าวเคยขออนุญาตที่ทำงานลาป่วย แต่ถูกปฏิเสธ

เรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ มีผู้เข้ามาคอมเมนต์ใต้โพสต์ของเพจจำนวน 486 ข้อความ และถูกแชร์กว่า 1,000 ครั้ง (17 ก.ย.) โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่วิจารณ์การรักษาที่ล่าช้าของโรงพยาบาล แลกเปลี่ยนกันถึงข้อกฎหมายสิทธิการลาป่วยของลูกจ้าง รวมถึงตั้งคำถามถึงความเข้าใจด้านสิทธิแรงงานของบริษัทและพนักงานผู้เสียชีวิต

 

ย้อนไทม์ไลน์การเสียชีวิตของ ‘เมย์’

จากการสอบถามข้อมูลไทม์ไลน์การเสียชีวิตของพนักงานเหมาช่วงจากเพจเฟซบุ๊ก ‘หนุ่มสาว-โรงงาน‘ และเซีย จำปาทอง สส.พรรคประชาชน ที่ติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด พบว่าก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายไม่เคยมีประวัติลาป่วยมาก่อนจนกระทั่งวันที่ 5 ก.ย.ได้ขอลาป่วยเพื่อรักษาตัวตามสิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลเมืองสมุทรปากน้ำ จ.สมุทรปราการ เนื่องจากลำไส้อักเสบ ตั้งแต่วันที่ 5-9 ก.ย. 2567

หลังผู้ตายจากออกจากโรงพยาบาลและกลับมาพักรักษาตัวต่อที่บ้าน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น เธอจึงขอลาป่วยอีกครั้งในช่วงวันที่ 10-12 ก.ย.ที่ผ่านมา

ต่อมา ช่วงเย็นของวันที่ 12 ก.ย. ‘เมย์’ ส่งข้อความขออนุญาตที่ทำงานลาป่วยต่อ เนื่องจากอาการยังไม่ดีขึ้น แต่ ‘ลีดเดอร์’ (หัวหน้าไลน์ผลิตย่อย) ปฏิเสธ โดยเพจ ‘หนุ่มสาว-โรงงาน’ แนบหลักฐานเป็นภาพแชทของ ‘เมย์’ ที่เล่าเรื่อง ‘หัวหน้าไม่ให้ลา’ ให้เพื่อนร่วมงานได้รับทราบ

ภาพจากเพจหนุ่มสาว-โรงงาน อ้างว่าเป็นแชทไลน์คุยกันระหว่าง เมย์ ผู้เสียชีวิต และเพื่อนร่วมงาน

เมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ลาเพิ่ม เมย์จึงกลับมาทำงานในวันที่ 13 ก.ย. แต่ทำงานได้เพียง 20 นาที ก็ไม่สามารถทำงานต่อได้ ที่ทำงานจึงส่งตัวเธอไปยังโรงพยาบาล ก่อนทราบข่าวร้ายว่าเธอเสียชีวิตระหว่างรอผ่าตัดที่ลำไส้ใหญ่เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2567 เวลา 16.10 น.

วันถัดมา (16 ก.ย.) เพจเฟซบุ๊ก บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โพสต์ไว้อาลัยต่อพนักงานที่เสียชีวิต และระบุด้วยว่าต่อจากนี้จะมีการดำเนินการตรวจสอบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพื่อหาข้อเท็จจริง และจะรับผิดชอบช่วยเหลือญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่

ต่อมา วันที่ 17 ก.ย. 2567 บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์ไว้อาลัยอีกฉบับหนึ่ง และยืนยันให้การช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต และเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มที่ แถลงการณ์ระบุด้วยว่าตอนนี้ทางบริษัทเดลต้า ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เนื่องจากขั้นตอนยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทางบริษัทจะยึดมั่นบนหลักการความโปร่งใส และความรับผิดชอบต่อสังคม และขอให้ทุกท่านติดตามคำชี้แจงและรายละเอียดจากบริษัทต่อไป

 

 จากการสอบถามข้อมูลจาก ‘เอ’ (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทเหมาช่วงที่เคยทำงานร่วมกับเมย์ เปิดเผยว่า เวลาแจ้งลาป่วย คนทำงานต้องแจ้งในไลน์กลุ่ม โดยภายในแชทบ็อกซ์จะมีพนักงานโรงงานหลายคนอยู่ในนั้น และมี ‘ลีดเดอร์’ ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มไลน์การผลิตอยู่ด้วย

อดีตพนักงานคนเดิมกล่าวว่า เคยมีกรณีคนขอลาป่วยแล้วลีดเดอร์พูดทำนองว่า ‘ป่วยบ่อยขนาดนี้ลาออกไปรักษาไหม’ ภายหลังพนักงานคนดังกล่าวก็ลาออก หรือกรณีของเมย์ก็มีการพูดทำนองเดียวกันนี้ในกลุ่มไลน์

ผู้สื่อข่าวติดต่อญาติผู้เสียชีวิตผ่าน ‘เซีย’ สส.พรรคประชาชน เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่ญาติไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ เนื่องจากติดธุระจัดงานศพให้กับผู้เสียชีวิต

‘ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยเท่าที่ป่วยจริง’ หากฝืนสั่งให้ทำงานอาจโดนคดีอาญา

‘เซีย จำปาทอง’ สส.พรรคประชาชน ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า สิทธิลาป่วยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างไม่ต้องให้นายจ้างอนุญาต หากป่วยจริงไม่เกิน 3 วัน ไม่ต้องยื่นใบรับรองแพทย์ให้นายจ้าง แต่หากเกิน 3 วัน นายจ้างอาจให้แสดงใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตาม หากไม่มีใบรับรองแพทย์ คนทำงานก็สามารถชี้แจงนายจ้างได้ หรือก็คือ ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยเท่าที่ป่วยจริง

อย่างไรก็ตาม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า นายจ้างมีสิทธิจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ลูกจ้างที่ลาป่วยไม่เกิน 30 วัน หากเกินกว่านี้นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ลูกจ้าง

หากนายจ้างทราบว่าลูกจ้างเจ็บป่วยแต่ยังให้ลูกจ้างมาทำงานแล้วเกิดการเสียชีวิต ถือว่าเข้าข่ายเป็นคดีอาญาหรือไม่ ‘ปสุตา ชื้นขจร’ ทนายความประจำมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ซึ่งดูแลเรื่องคดีแรงงานและสิทธิแรงงาน ให้ความเห็นว่า ต้องพิสูจน์ว่านายจ้างมีเจตนาหรือไม่

ทนายความจาก HRDF ยกตัวอย่าง ลูกจ้างเจ็บป่วยเป็นโรคปอดอักเสบและลาป่วย วันถัดมาอาการดีขึ้นแล้วกลับมาทำงาน แต่ปรากฏว่าอาการลูกจ้างเกิดกำเริบและเสียชีวิต กรณีเช่นนี้นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

กลับกัน ถ้านายจ้างทราบอยู่แล้วว่าลูกจ้างป่วย แต่สั่งให้ลูกจ้างมาทำงาน แล้วลูกจ้างอาการหนักขึ้น โดยพิจารณาประกอบกับลักษณะการทำงาน เช่น ต้องเดินเยอะ และการเดินเยอะดังกล่าวเป็นสาเหตุให้ลูกจ้างอาการหนักขึ้นหรือเสียชีวิต กรณีเช่นนี้อาจเข้าข่าย ‘เล็งเห็นผล’ ว่าถ้าทำงานลักษณะนี้ลูกจ้างจะอาการหนักขึ้น แม้ว่านายจ้างไม่ได้เจตนาให้ลูกจ้างเสียชีวิตก็ตาม  กรณีนี้จะถูกดำเนินคดีอาญา นายจ้างต้องรับผิดชอบการตายของลูกจ้าง

ปสุตา ชื้นขจร ทนายความประจำมูลนิธิ HRDF

เสนอเพิ่มเงินทดแทนลูกจ้างที่เสียชีวิต สอดคล้องกับความเป็นจริง

ทนายความจาก HRDF กล่าวเพิ่มว่า กรณีที่ลูกจ้างลาป่วยและยังคงเจ็บป่วยอยู่ แต่นายจ้างอยากให้กลับมาทำงาน หากลูกจ้างเสียชีวิตจากการทำงาน กองทุนเงินทดแทนจะเข้ามารับผิดชอบต่อชีวิตลูกจ้าง นายจ้างจะถูกบังคับให้ต้องรับผิดชอบโดยการจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โดย พ.ร.บ.นี้จ่ายเงินให้ผู้ประกันตน 4 กรณี ประกอบด้วย ประสบอันตรายจากการทำงาน, เจ็บป่วย,สูญหาย และเสียชีวิตจากการทำงาน หากเข้าข่าย 4 กรณีนี้สมาชิกครอบครัวของลูกจ้างหรือตัวลูกจ้าง จะได้รับเงินจากกองทุนทดแทนที่นายจ้างจ่ายเข้ามาเป็นระยะเวลา 10 ปีหลังจากลูกจ้างเสียชีวิต

ปัจจุบัน อัตราจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างที่เสียชีวิต อยู่ที่ 70% ของเงินเดือนสุดท้ายของลูกจ้าง โดยมีเพดานไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน ยกตัวอย่าง ผู้ประกันตนได้รับเงินเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตที่ 15,000 บาทต่อเดือน โดย 70% ของเงินเดือนสุดท้ายอยู่ที่ 10,500 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 10 ปี สมาชิกครอบครัวของผู้ประกันตนจะได้รับเงินจากกองทุนทดแทนอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปสุตา มองว่า อัตราเดิมอาจไม่เพียงพอ และเสนอว่าควรปรับเงินทดแทนให้เป็นธรรมกับลูกจ้างมากขึ้น โดยให้สอดคล้องความเป็นจริง ค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อต่างๆ

“ถามว่าชีวิตเรา ถ้าอยู่ต่ออาจจะได้เงินมากกว่านั้น เช่น เราเงินเดือน 15,000 บาท x 12 เดือน หนึ่งปีก็มีรายได้ 100,000 กว่าบาท ถ้าเราอยู่ต่ออีก 20 ปี รายได้ที่ได้รับก็อาจจะสูงกว่าที่กองทุนเงินทดแทนจ่ายให้เราด้วยซ้ำ คิดว่าควรต้องมีการคำนวณใหม่ให้สอดคล้องกับควาามเป็นจริง และอัตราเงินเฟ้อต่างๆ ด้วย” ปสุตา กล่าว

แม้เป็นลูกจ้างเหมาช่วง แต่ ‘นายจ้างชั้นต้น’ ต้องรับผิดชอบ

เมื่อถามว่าความรับผิดของนายจ้างและกองทุนเงินทดแทนครอบคลุมถึงลูกจ้างเหมาช่วงหรือไม่ ทนายความจาก HRDF อธิบายว่า ลูกจ้างเหมาช่วงถ้าเป็นผู้ประกันตนก็จะได้รับเงินทดแทน และแม้กฎหมายใช้คำว่า ‘ลูกจ้าง’ โดยไม่ได้อธิบายหรือนิยามความหมาย แต่ ‘บริษัทชั้นต้น’ ต้องร่วมรับผิดชอบ

“สมมติว่า A มาจ้าง B และ B ไปจ้าง C อีกทอดหนึ่ง A ก็ต้องรับผิดชอบต่อความตายของ C ด้วย เราจะเรียก A ว่า ‘นายจ้างชั้นต้น’ ซึ่งนายจ้างชั้นต้น หรือ A ต้องร่วมรับผิดกับบุคคลที่ตนเองไปจ้าง หรือในที่นี้ก็คือ B โดยร่วมกันรับผิดคนละครึ่ง”

“เคยมีเคสที่เราทำในกรณีลูกจ้าเหมาช่วงที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ทำงานก่อสร้างและเสียชีวิตจากการทำงาน ตกตึกคอหักตาย ทีนี้นายจ้างที่เป็นผู้รับเหมาปฏิเสธความรับผิดโดยระบุว่าฉันเป็นผู้รับเหมาเฉยๆ เราก็เลยเรียกร้องไปยังบริษัทแม่ที่มาจ้างผู้รับเหมา สุดท้ายกองทุนเงินทดแทนก็ให้บริษัทแม่เป็นคนจ่ายเงินอันนี้ คือนายจ้างชั้นต้นต้องร่วมรับผิด” ปสุตา กล่าว

 

  • ข่าว

  • แรงงาน
  • สิทธิมนุษยชน
  • คุณภาพชีวิต

  • นิคมบางปู
  • หนุ่มสาว-โรงงาน
  • สิทธิแรงงาน
  • ลาป่วย
  • เซีย จำปาทอง
  • ปสุตา ชื้นขจร
  • แรงงานเหมาช่วง
  • บริษัท เดลต้า

ติดตาม “ประชาไท Prachatai.com” ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top