นางรำผู้ไม่มีที่ยืนในเมืองไทย ชีวิตลี้ภัยของ ‘มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ’
See Think
Wed, 2024-09-18 – 18:04
เรื่อง: ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล
ภาพปก: กิตติยา อรอินทร์
คำเตือน: มีภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับการข่มขืนที่อาจสร้างความรู้สึกไม่สบายใจ
เดือนตุลาคมเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว มิ้นท์–กัลยมน นางรำฟรีแลนซ์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ลี้ภัยทางการเมืองมายังกรุงปารีส
ไม่นานนักชีวิตก้าวใหม่ก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหลังได้รับสถานะพำนักถาวรจากรัฐบาลฝรั่งเศส
ในวันธรรมดา เธอทำงานเป็นรองเชฟในร้านซูชิที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน มือไม้ที่เคยร่ายรำสลับมาจับมีดหั่นปลา ต้องยกของหนักหลายอย่างให้ได้ ทั้งปลา หม้อหุงข้าว ขยะในแต่ละวัน เพื่อนในร้านมีทั้งชาวทิเบต บังกลาเทศ เวียดนาม ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันได้ไม่มีปัญหา
“นี่ก็ไม่เคยทำซูชิมาก่อน ต้องหัดใหม่หมด เป็นนางรำอ้อนแอ้นมาก่อน ต้องไปหั่นปลา ที่ทำงานก็ขำ เพราะชอบทำท่าแปลกๆ มือไม้ จริตมันไปเอง แต่ว่าเราก็ทำได้”
ย้อนไปสมัยอยู่เมืองไทย มิ้นท์เคยทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในบริษัทแห่งหนึ่ง โดยมีงานรำและงานถ่ายแบบเป็นอาชีพเสริม
เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อดีตบัณฑิตวิทยาลัยนาฏศิลป์คนนี้อยู่ๆ ก็กลายมาเป็นเน็ตไอดอลแบบงงๆ จากการที่เธอแค่ไปเป็นครูอาสาสอนรำให้ผู้พิการทางสายตาและเด็กพิเศษ พิธีกรชื่อดังมาเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ ชาวเน็ตก็เอารูปเธอมาโพสต์ในชื่นชมในเว็บบอร์ด
ณ ตอนนั้น มิ้นท์มองว่าการสอนรำให้ผู้ด้อยโอกาสเป็นรูปแบบการพยุงสังคมในแบบที่เธอพอจะทำได้ แต่เมื่อชีวิตผกผันมาตกที่นั่งผู้ลี้ภัย ความสามารถพิเศษนี้กลายมาเป็นใบเบิกทางให้เธอได้ทำงานกับสมัชชาศิลปินพลัดถิ่นปารีส พาให้เธอได้ไปแสดงในโอกาสพิเศษ ตระเวนสอนนาฏศิลป์ตามเมืองต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยนองแทร์ กรุงปารีส
ชีวิตวัยเด็กตลอด 11 ปีในรั้วโรงเรียนนาฏศิลป์ เติบโตมากับการรับเสด็จสมาชิกราชวงศ์และการรำเทิดพระเกียรติ ครูสอนว่าโขนเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทย การเป็นนางรำถือเป็นเกียรติของชีวิต เธอควรภูมิใจกับมัน
“ตอนที่อยู่โรงเรียน ครูบอกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา มิ้นท์ไม่รู้จักแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชน ไม่รู้ว่าถูกละเมิดมาตลอด ถูกเอากรรไกรมาตัดผมเรา ไม่รู้ว่าถูกละเมิดสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายเลย ไม่คิดว่าสิ่งที่ครูทำเป็นสิ่งที่เกินกว่าเหตุ คิดว่าเราทำผิดกฎเอง ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ (critical) ไม่มีคำว่าสิทธิมนุษยชนในหัวเลย”
“พอเราไปเสิร์ชคำว่าเครื่องราชูปโภคกลายเป็นหม้อดิน ไห คือเราไม่ได้เป็นคนเลยอะ เราก็รู้สึกเอ๊ะในใจ ทำไมครูสอนให้เราภาคภูมิใจกับการเป็นเครื่องราชูปโภค”
ท่ามกลางบรรยากาศอนุรักษนิยมสุดขั้ว คำถามที่ผุดขึ้นมาในใจก็มาจากเรื่องใกล้ตัวอย่างนาฏศิลป์ อย่างเช่น พิธีกรรมครอบครู ที่ผู้ฝึกหัดโขนละครจะต้องผ่านพิธีนี้ก่อนจะออกแสดง ถ้าหากว่าใครไม่ผ่านการครอบครูก็จะไม่สามารถรำบางเพลงได้ และทำไมผู้ทำพิธีครอบครูจึงต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น
“บางเพลงอย่างเช่น รจนาเสี่ยงพวงมาลัย คนในวงการถ้าจะรำเลยไม่ได้ ต้องครอบครูก่อน ขอขมารูปปั้นหัวโขน เราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันมีจริงไหม ทำไมต้องเอาสิ่งที่เราเรียนไปผูกกับสิ่งที่มองไม่เห็น มันใช่เหรอวะ”
ความเอ๊ะเล็กๆ นี้เองกลายเป็นแรงขับให้เธอศึกษาหาอ่านงานเขียนเรื่องนาฏศิลป์ในมุมที่โรงเรียนไม่เคยสอน งานเขียนเรื่องผู้หญิงในวังของ จิตร ภูมิศักดิ์ และการได้รู้จักกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์ คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิด
ข้อมูลพวกนี้เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ตัวเล็กตัวน้อย เมื่อนำมาต่อเชื่อมเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวที่ถูกกดทับในหลายมิติ คิดวิเคราะห์จนวันหนึ่งมันตกผลึก เปลี่ยนให้เธอเริ่มมีความคิดแตกต่างจากคนในสายงาน นี่จึงเป็นที่มาของการทำเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “นาดสินปฏิวัติ” เพื่อโพสต์คอนเทนต์เรื่องนาฏศิลป์ในแง่มุมวิพากษ์
ในช่วงการเคลื่อนไหวปี 2563 มิ้นท์ถือเป็นผู้ชุมนุมที่อินมาก สิ่งที่พนักงานออฟฟิศอย่างเธอทำได้คือฟังปราศรัยไปด้วยทำงานไปด้วย มีเงินโอนช่วยม็อบได้บ้าง ส่วนสิ่งที่ไม่มีเลยคือความคิดที่จะเป็นแกนนำ
จนกระทั่งปีต่อมารัฐบาลรุกคืบปราบปรามผู้ประท้วง เธอเห็นแกนนำรุ่นแรกอย่าง รุ้ง ปนัสยา และ เพนกวิน พริษฐ์ ทยอยกันเข้าคุก ข่าวม็อบค่อยๆ หายไปจากหน้าสื่อ บรรยากาศแห่งความกลัวแผ่คืบปกคลุม ความสิ้นหวังเหนื่อยหน่ายกลายเป็นมวลอารมณ์หลักที่พาให้กระแสเริ่มซา
มันเป็นความรู้สึกตื่นโลกและขับข้องใจจนอยากทำอะไรสักอย่าง เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2564 เธอจึงอาสาไปช่วยตีกลองสะบัดชัยให้กลุ่มราษดรัมส์ ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะในขบวนประชาธิปไตย นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของเธอในแวดวงนักเคลื่อนไหว
กำเนิดเวรัมภา
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในช่วงกลางปี 2565 นำมาซึ่งปรากฎการณ์ “ชัชชาติฟีเวอร์” จากที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คว้าชัยในครั้งนี้อย่างถล่มทลายจากผู้สนับสนุนหลายเฉดการเมือง
กระแสนี้อาจดูไม่เกี่ยวโดยตรงกับการประท้วง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีส่วนช่วยจุดไฟแห่งความหวังให้กลับมาสู่สังคมในภาพใหญ่ ขณะเดียวกันเรื่องม็อบนับวันก็มีแต่จะยิ่งจางลงเรื่อยๆ
เดือนกรกฎาคม ปี 2565 มีดรามาที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว คือเหตุการณ์ชุลมุนอีเวนต์ฉายภาพยนตร์ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ที่ดำเนินตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.
ในวันนั้น มิ้นท์และมานี นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เข้าไปชูลูกโป่งที่สกรีนรูปหน้า “วัฒน์ วรรลยางกูร” ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ พร้อมข้อความว่า “ยกเลิก 112”
พวกเธอในฐานะผู้ทำกิจกรรมในครั้งนั้น ให้เหตุผลว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออกในการรำลึกถึงผู้ประพันธ์ เนื่องจากหนังเรื่องนี้สร้างจากบทประพันธ์ของนักเขียน ซึ่งเป็นผู้ถูกหมายจับในข้อหา ม.112 และต้องลี้ภัยทางการเมือง
ทว่าเกิดกระแสตีกลับอย่างแรงทั้งจากฝั่งตรงข้ามและฝั่งเดียวกัน ไล่มาตั้งแต่ผู้จัดงานไม่ให้เข้าพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่านักกิจกรรมแจ้งรายละเอียดไว้ไม่ครบถ้วน ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ก็ตะโกนโห่ไล่ ขณะที่ชาวเน็ตบางส่วนมองว่าการแสดงออกทางการเมืองในงานฉายหนังเป็นการทำผิดกาละเทศะ
รูปแบบการเคลื่อนไหวในแบบของมิ้นท์มีความเป็นเอกลักษณ์สูง เธอมักโผล่มารำในพื้นที่ที่มีกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง หลายคนเรียกเธอว่า “มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ” มีบ้างที่จดจำเธอในชื่อ “เวรัมภา หักฉัตร”
มิ้นท์เล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อหลังว่าเป็นชื่อของตัวละครในการแสดงหนึ่งที่เธอดัดแปลงขึ้นมาจากความรู้โขนพื้นฐาน คำว่าเวรัมภา หยิบยืมมาจากลมร้ายที่หักฉัตรพระมหาอุปราชในลิลิตตะเลงพ่าย ส่วนคำว่าหักฉัตร มาจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนสุครีพหักฉัตร
“นาฏศิลป์เขาจะห้ามเล่นตอนสุครีพหักฉัตร เพราะถือว่าเป็นลางร้ายต่อสถาบันฯ คือบทละครที่นักเรียนเรียนน่ะมี แต่พอจะแสดงเขาไม่ให้แสดง เพราะฉัตรที่ใช้มันมี 9 ชั้น ตรงกับฉัตรที่ใช้ประกอบพิธีของกษัตริย์”
“หลังจากที่แสดงไปในวันฉัตรมงคล คนในวงการนาฏศิลป์ เขาก็โพสต์ด่าเลยว่าไม่เหมาะสม เป็นการลบหลู่ เขาก็สาปเราไป เขาก็ไม่เอาเราอยู่แล้ว เราก็ไม่แคร์ เพราะเลือกมาเคลื่อนไหวทางสังคม”
การประท้วงนำโดยคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ได้ดันเพดานข้อเรียกร้องสูงไปจนถึงเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่แต่ก่อนอาจเคยเป็นเรื่องซุบซิบนินทาก็ถูกนำมาพูดอย่างเปิดเผยมากขึ้น รัฐบาลในขณะนั้นใช้กำลังสลายการชุมนุมบนท้องถนน และมีการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาบังคับใช้
กฎหมายมาตรานี้ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”
หลังเปิดหน้าเคลื่อนไหวช่วงปลายปี 2564 มิ้นท์ก็กลายเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวที่ถูกแจ้งความในข้อหานี้ โดยถูกแจ้งความจำนวน 2 คดี คดีแรกจากการปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 ซึ่งตรงกับวันจักรี
ส่วนคดีที่สอง จากการโพสต์ภาพชูป้ายข้อความวิจารณ์กระบวนการพิจารณาคดี ม. 112 ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ในเดือน ก.ค. และ ส.ค. 2565 โดยคดีนี้มีประชาชนในกลุ่มปกป้องสถาบันเป็นผู้แจ้งความ
โดยคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำข้อมูลคดีไว้ว่า “เหตุที่ถูกกล่าวหามาจากการโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก จำนวน 3 โพสต์ ได้แก่
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ได้โพสต์และข้อความเป็นภาพตนเองถือป้ายข้อความ “ปลดรูปคู่กรณีก่อนพิพากษาคดี 112 ตำรวจของคู่กรณี อัยการของคู่กรณี ศาลของคู่กรณี อะไรคือความยุติธรรม” หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2565 ได้โพสต์และข้อความเป็นภาพตนเองถือป้ายข้อความ “ยุติการพิพากษาคดี 112 ในนามพระปรมาภิไธย” หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ได้โพสต์และข้อความเป็นภาพตนเองถือป้ายข้อความ “การปฏิเสธอำนาจศาล ซึ่งเป็นองค์กรของคู่กรณีมาตรา 112 ย่อมกระทำได้ ดังนั้นศาลไม่มีศักดิ์และสิทธิ์ใดมาขังผู้ต้องหาคดี 112” หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้”
ลี้ภัยแต่ได้ครอบครัวคืน
ครอบครัวของมิ้นท์เป็นคนเสื้อแดงที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พ่อยื่นคำขาดต่อลูกสาวว่าถ้าไม่เลิกเคลื่อนไหว ไม่ต้องมาเรียกเขาว่าพ่อ ซึ่งย่าก็ไม่ต่าง พูดขู่เชิงขับไสเธอออกจากบ้าน เมื่อมีความคิดไม่ลงรอยกัน มิ้นท์ที่ยังอยากทำกิจกรรมการเมืองต่อจึงเลือกปลีกตัวจากครอบครัว
การได้รับคดี ม. 112 ทำชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ตำรวจคอยติดตามเธอไปทุกที่จนไม่เหลือความเป็นส่วนตัว มือถือก็ถูกเจาะระบบด้วยสปายแวร์เพกาซัส ทั้งยังได้รับจดหมายปริศนาจากใครไม่รู้ขู่ว่าจะข่มขืนเธอแล้วฆ่า น้องสาวของเธอเป็นคนเจอจดหมายนี้ที่หน้าบ้าน เนื้อความในนั้นเลวร้ายจนน้องสาวลังเลอยู่พักหนึ่งว่าจะบอกเธอดีไหม
“จดหมายเขียนขู่ว่าถ้ายังไม่หยุดเคลื่อนไหวจะเหมือน สุรชัย แซ่ด่าน แล้วก็จะโดนรุมโทรม แนบภาพผู้หญิงกำลังถูกรุมโทรมหลายภาพ”
“พอเรารู้ เราก็เอาไปแจ้งความที่ สน.ใกล้บ้าน ตำรวจก็ไม่ทำอะไรเลย กล้องที่บ้านเราก็เสียใช้งานไม่ได้ ถ้าเป็น กทม. กล้องก็จะมีย้อนหลังแค่ 7 วัน ก็เกินแล้วตามไม่ได้ เขา (ตำรวจ) ก็ไม่ช่วย เขาบอกว่าเป็นนักกิจกรรมยังไม่ชินอีกเหรอเจอเรื่องนี้ พูดเป็นเรื่องโจ๊ก”
นอกจากนี้ มิ้นท์ยังถูกขู่ฆ่าทำนองเดียวกันทางเฟซบุ๊ก มีแอ็กเคานต์อวตารนำรูปคอนโดมิเนียมที่เธอพักอยู่มามาตามคอมเมนต์ใต้โพสต์ของเธอ พร้อมขู่ว่าจะข่มขืนและทำให้เธอตายอย่างทรมานเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยที่ถูกบังคับสูญหายไปเมื่อหลายปีก่อน
มิ้นท์รีบออกนอกประเทศช่วงต้นเดือนตุลาคมปี 2565 หลังจากภัยคุกคามประชิดรอบทิศจนทำสภาพจิตใจย่ำแย่ขั้นสุด บวกกับไม่เห็นหนทางในการสู้คดีด้วย
ก่อนหน้านั้นสองสัปดาห์สุดท้ายเธอกลับมาคืนดีกับครอบครัว พ่อบอกว่าเขาน่าจะลดทิฐิลงและรับฟังลูกสาวมากกว่านี้ ส่วนเรื่องที่ย่าเคยไล่ออกจากบ้าน ย่าเฉลยทีหลังว่าแค่ขู่เฉยๆ แบบที่เคยทำสมัยยังเด็ก ไม่ได้คิดว่าเธอจะออกไปจริงๆ
เธอว่าครอบครัวที่ทะเลาะกับลูกเพราะเรื่องการเมืองควรดูบ้านเธอเป็นตัวอย่าง มันน่าเสียดายที่มาเข้าใจลูกหลานในวันที่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้แล้ว
“มิ้นท์ถูกกล่าวหาโดยยัดคดี 112 เขายัดให้เราเป็นผู้กระทำความผิด นิรโทษกรรมคือมันเหมือนเขายกโทษให้เรา แบบเรายอมรับผิดแล้วก็กลับบ้าน แต่มิ้นท์ไม่โอเคกับคำว่านิรโทษกรรมทางการเมืองตรงที่เราไม่ได้ผิดแต่แรก”
สำหรับจุดยืนเรื่องการกลับบ้าน มิ้นท์แสดงความคิดเห็นต่อเรื่อง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมว่า ส่วนตัวเธอไม่มีความคาดหวังอะไรต่อการนิรโทษกรรม เพราะมองว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดตั้งแต่แรก ต้นเหตุคือการที่กฎหมาย ม.112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจึงควรไปแก้ที่ตรงนั้นมากกว่า
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ‘มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ’ ถูกจับคดีม.112 ของสน.ยานนาวา ล่าสุดกำลังถูกพาไปสโมสรตำรวจ
- ‘กลุ่มปกป้องสถาบัน’ แจ้ง บก.ปอท.เอาผิดผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘เจ๊เขียว กิโยติน’ แชร์โพสต์เข้าข่าย ม.112
- สัมภาษณ์
- การเมือง
- วัฒนธรรม
- สิทธิมนุษยชน
- ผู้ลี้ภัยทางการเมือง
- มิ้นท์
- มิ้นท์ กัลยมน
- ฝรั่งเศส
- มาตรา 112
- คดีมาตรา 112
- depth
- ข่าวเจาะ