แก๊งสแกมเมอร์ย้ายฐานจากชเวก๊กโก่ หลังเจอสถานการณ์ไม่เป็นใจ
XmasUser
Sat, 2024-09-21 – 22:10
ภาพปก: ด่านเจดีย์สามองค์ ไทย-พม่า เมื่อปี 2551 (ที่มา: Joaquin uy from Seattle)
การปราบปรามแก๊งสแกมเมอร์รอบเมืองเมียวดีนั้น จริงๆ แล้วเป็นแค่การบังหน้าเพื่อการย้ายฐานสแกมเมอร์ไปยังพื้นที่อื่นเท่านั้น กรณีล่าสุดมีกองกำลัง BGF กะเหรี่ยง กับกลุ่มกะเหรี่ยง DKBA ช่วยเหลือแก๊งอาชญากรจีนตั้งฐานอุตสาหกรรมโดยขยับจากเมียวดีลงมาทางใต้ เพื่อบุกเบิกพื้นที่ใหม่แถบชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ #ทุนเทา #รัฐกะเหรี่ยง #สแกมเมอร์
จ่อมิ้น เป็นเจ้าของร้านข้าวแกงเล็กๆ ที่เมืองพญาตองซู (Payathonzu) รัฐกะเหรี่ยง เมืองชายแดนไทย-พม่า ติดกับ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เขาขายข้าวแกงให้กับแรงงานย้ายถิ่นจากทั่วทั้งพม่า กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม และบางครั้งก็มีผู้มาเยือนชาวไทยเป็นลูกค้า
“มีผู้คนเดินทางผ่านไปมาจำนวนมาก เพราะมีการค้าข้ามพรมแดน หรือเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในโรงงานแถบนี้” ชายผู้ใช้นามแฝงว่า จ่อมิ้น ให้สัมภาษณ์ฟรอนเทียร์เมียนมา
เมืองพญาตองซู ตั้งอยู่ตอนใต้ถัดจากเมืองจาอินเซกจี (Kyainseikgyi) ในรัฐกะเหรี่ยง โดยมีเขตแดนติดต่อใกล้กับรัฐมอญ ชื่อเมืองพญาตองซู ก็ตั้งตามชื่อเจดีย์สามองค์ ที่เป็นด่านสำคัญของเทือกเขาตะนาวศรีกั้นแดนไทย-พม่า
เมืองพญาตองซู มีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ตั้งฐานอยู่ 4 กลุ่มได้แก่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า อีกกลุ่มคือกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) รัฐกะเหรี่ยง หรือกลุ่มซอว์ชิดตู่ ที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพพม่า ตามมาด้วยกองกำลังพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีใจเมตตา (DKBA) ซึ่งทั้งสองกลุ่มหลังนี้โดยส่วนใหญ่แล้วกำลังรักษาสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าอยู่
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนกินข้าวแกงมีแต่ชาวไทย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาสำหรับจ่อมิ้นที่เคยเป็นหัวหน้างานในโรงงานสิ่งทอในเมืองไทยเป็น 10 ปี แต่เขาบอกว่าเริ่มมีคลื่นชาวต่างชาติกลุ่มใหม่เข้ามาในพื้นที่เมื่อ 3 เดือนก่อน
“ผมเห็นว่ามีคนจีนเยอะแยะเริ่มเข้ามากินข้าวร้านผม น่าจะตั้งแต่พฤษภาคมนี้แหละ แถมตอนนี้พากันมามากกว่าเดิมอีก”
ตามประสาคนทำมาหากิน จ่อมิ้น ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง เขาเรียนภาษาจีน จ้างลูกน้องที่พูดภาษาจีนได้ 2 คน แต่ลูกค้าใหม่เหล่านี้ก็ไม่ได้เดินทางมาพญาตองซู เพื่อกินข้าวแกงระดับโลกของเชฟจ่อมิ้น อะไรทำนองนั้น
คนกลุ่มใหม่ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มแก๊งอาชญากรรมชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่ออกมาจากเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงโดยความช่วยเหลือของ BGF รัฐกะเหรี่ยงและกองกำลัง DKBA
การย้านฐานครั้งใหญ่นี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไกลออกไปทางตอนเหนือของประเทศติดกับชายแดนจีน นั่นคือ ภายหลังปฏิบัติการ 1027 เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2566 เมื่อกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ได้ร่วมกันปฏิบัติการรุกคืบอย่างน่าทึ่งในทางตอนเหนือของรัฐฉาน สามารถโค่นกองกำลังที่ร่วมมือกับฝ่ายเผด็จการได้อีกหนึ่งฝ่ายคือ กองกำลัง BGF โกก้าง ซึ่งเชื่อกันว่าปฏิบัติการ 1027 รุกคืบในคร้ังนี้ได้ไฟเขียวจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีที่มาจากความไม่พอใจที่กองกำลัง BGF โกก้างเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสแกมออนไลน์หลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่บังคับใช้แรงงานชาวจีนเพื่อให้หลอกลวงต้มตุ๋นชาวจีนออนไลน์
ในรัฐกะเหรี่ยง กองกำลัง BGF รัฐกะเหรี่ยง ก็จัดการให้มีแหล่งสแกมเมอร์อยู่ที่เมืองใหม่ชเวก๊กโก่ ทางตอนเหนือของเมียวดีเช่นกัน แต่เมื่อมีข่าวพ่ายแพ้ของกองกำลัง BGF โกก้าง ก็ทำให้กลุ่ม BGF รัฐกะเหรี่ยง ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะขับไล่ “ชาวต่างชาติ” ออกจากชเวก๊กโก่ภายในปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งชาวต่างชาติที่ว่า ก็เหมือนต้องการสื่อถึงกลุ่มแก๊งอาชญากรชาวจีน
แต่การปราบปรามก็ดูเหมือนจะเป็นการลูบหน้าปะจมูก เป็นไปเพื่อการปกป้องกองกำลัง BGF กะเหรี่ยงมากกว่า โดยยอมโยกย้ายฐานปฏิบัติการแก๊งสแกมเมอร์ออกไป ในขณะที่แก๊งอาชญากรรมจีนได้เปลี่ยนไปเน้นเป้าหมายจับเหยื่อกลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษแทนเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่พอใจจากทางการจีน
แบบแผนของการโยกย้าย
เจ้าหน้าที่กองกำลัง BGF รัฐกะเหรี่ยง กล่าวถึงเรื่องนี้โดยไม่ประสงค์เอ่ยนามยืนยันว่ากลุ่มของพวกเขาได้ช่วย “นักธุรกิจ” จีนย้ายฐานจากเมืองเมียวดีไปยังพญาตองซูจริง โดยเขาเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังที่คอยอารักขาชาวจีนบนเส้นทางย้ายถิ่นสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม และครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน
“ตอนที่เดินทางจากเมียวดีไปยังพญาตองซู พวกเราได้หลีกเลี่ยงพื้นที่สู้รบ แล้วรถของกลุ่มกะเหรี่ยง BGF ก็คอยประกบรถของพวกเขา (กลุ่มชาวจีน) จากสองข้างในฐานะผู้อารักขา” เจ้าหน้าที่กองกำลัง BGF รัฐกะเหรี่ยงรายหนึ่งกล่าว “ระหว่างทางพวกเราได้ผ่านเขตกะเหรี่ยง DKBA และด่านตรวจของกองทัพพม่า แต่ผมก็คิดว่าพวกเขาได้รับแจ้งล่วงหน้าแล้ว เพราะพวกเขาอนุญาตให้เราผ่านโดยไม่มีการตรวจใดๆ”
เจ้าหน้าที่ กล่าวว่า เขาได้ยินว่า ทั้งกองกำลัง BGF กะเหรี่ยงและกองกำลัง DKBA จะได้รับเงินถ้าหากพวกเขาสามารถอารักขานักธุรกิจจีนไปถึงที่หมายได้สำเร็จ 100,000 บาทต่อคน และถ้าหากอารักขาคนงานสำเร็จก็จะได้รับ 30,000 บาทต่อคน แต่เขาก็บอกว่ายังไม่เห็นมีการจ่ายเงินให้
“ถ้าหากพวกเราได้รับการร้องขอ (จากผู้นำของกองกำลัง) ให้ทำการอารักขา พวกเราก็จะต้องทำ” เจ้าหน้าที่ BGF กะยินกล่าว และพูดต่อไปว่ามีกองกำลัง BGF กะเหรี่ยง บางส่วนที่ถูกวางตัวให้ไปทำงานเป็น รปภ.รักษาความปลอดภัยในสถานที่ซึ่งชาวจีนเช่าไว้ตอนที่ไปถึงพญาตองซู
ส่วนเจ้าหน้าที่ของกองกำลัง DKBA กล่าวว่าส่วนใหญ่แล้ว กองกำลัง BGF กะเหรี่ยงได้รับมอบหมายให้พาชาวจีนจากเมียวดีไปยังพญาตองซู โดยส่วนใหญ่ DKBA ถูกมอบหมายให้ช่วยเหลือชาวจีนในการหาเช่าที่ดินและที่พักเมื่อพวกเขาไปถึงที่หมายแล้ว
“ตอนเดือนพฤษภาคม 2567 มีคน 200 คนกลุ่มหนึ่ง คน 58 คนอีกกลุ่มหนึ่ง และคน 158 คนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้เดินทางจากเขตพื้นที่ของกองกำลัง BGF แล้วพวกเราก็ได้ช่วยเหลือพวกเขาในการหาบ้านและที่ดิน แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็เป็นแค่กลุ่มที่พวกเรารู้โดยตรง อาจจะมีกลุ่มอื่นๆ อีก เพื่อนผมบอกว่ามีชาวจีนประมาณ 2,000 คนเดินทางมาที่พญาตองซูช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน” เจ้าหน้าที่ของ DKBA กล่าว
เจ้าหน้าที่ของ DKBA บอกอีกว่าชาวจีนเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ที่มาจากเมียวดีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมาจากเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงคือพะอัน และมาจากเมืองมะละแหม่งกับมุดงของรัฐมอญ “ผมคิดว่ามันมีข้อตกลงบางอย่างระหว่างผู้นำของพวกเราและกลุ่มผู้นำของ BGF”
พ.อ.ซอว์ อาวาน ผู้บัญชาการอาวุโสของ DKBA ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเรื่องที่ว่า DKBA มีส่วนเกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายชาวจีนหรือให้ความร่วมมือกับ BGF กะเหรี่ยง แล้วยังพูดในเชิงลดทอนความสำคัญต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ด้วย
“เพราะว่ามันเป็นเมืองชายแดน มันก็เลยมีธุรกิจการพนัน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้ามพรมแดน แล้วก็มีคนย้ายถิ่นฐาน มันก็มีธุรกิจอะไรเหล่านี้มาตั้งแต่ก่อนแล้ว” พ.อ.ซอว์ อาวาน กล่าว
แต่แลแล ผู้ที่ทำงานสแกมเมอร์ออนไลน์ในเมียวดีมาตั้งแต่ปี 2564 กล่าวยืนยันว่า การเคลื่อนย้ายคนไปยังพญาตองซู เกี่ยวกับปฏิบัติการสแกมออนไลน์ เธอเคยให้สัมภาษณ์กับฟรอนเทียร์เมียนมา เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่า บริษัทของเธอเคลื่อนย้ายจากสถานบันเทิงกาสิโนที่ตั้งอยู่โดดๆ ให้ไปอยู่ที่โรงแรมภายนอกเมืองเมียวดี
นับตั้งแต่นั้นมาเธอก็ได้รับการเลื่อนขั้นจากงานหลอกลวงคนออนไลน์ ให้ไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าของเธอที่เป็นชาวจีน แล้วก็ได้ร่วมเดินทางย้ายถิ่นครั้งใหญ่ไปที่พญาตองซู ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน เธอเดินทางในรถคันเดียวกับชาวจีน 13 คนจากบริษัทเดียวกันเธอ เธอบอกว่ามีรถยนต์คันอื่นๆ อีก 1 คันในขบวนโยกย้ายและมีรถยนต์ของ BGF กะเหรี่ยง คอยคุ้มกัน
“ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน พวกเราได้ย้ายอุปกรณ์สำนักงานและเคลื่อนย้ายผู้คน” แลแลกล่าว
เธอบอกอีกว่าคนงานชาวพม่าได้รับทางเลือกระหว่างหาทางเดินทางไปที่ใหม่เอง หรือไม่ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อที่จะได้เดินทางร่วมกับหัวหน้างานชาวจีนและกองกำลังอารักขา โดยในส่วนของแลแลเป็นผู้ช่วยหัวหน้าชาวจีน บริษัทจึงเป็นฝ่ายออกค่าเดินทางให้
“การเคลื่อนย้ายไปพร้อมกับบริษัทปลอดภัยกว่า เพราะระหว่างทางมีพื้นที่จำนวนมากที่กำลังสู้รบอยู่”
นับตั้งแต่เดินทางถึงสถานที่แห่งใหม่ แลแลก็วุ่นอยู่กับการสร้างฐานปฏิบัติการสแกมเมอร์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
“ฉันต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเช่าที่ดินพร้อมอาคาร เพราะจะต้องหาสำนักงานใหม่ มีคนจากกลุ่มติดอาวุธเข้ามาช่วยเรื่องเหล่านี้ด้วย แต่เนื่องจากฉันเป็นชาวพม่า ฉันจึงทำได้ด้วยตัวเอง มีนักธุรกิจคนอื่นๆ บางคนที่เดินทางเข้ามาแล้วมีแต่พนักงานเป็นชาวจีน ทำให้พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากกลุ่มติดอาวุธมากกว่าพวกเรา” แลแลอธิบาย ซึ่งเป็นการยืนยันว่ากองกำลัง BGF กะเหรี่ยงและ DKBA เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือพวกเขา
โฉมหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปของพญาตองซู
วินมิ้นต์ เป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรม 50 ห้องมา 14 ปีแล้ว เขาบอกว่าการที่ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามานั้นเสมือนเป็นยุคตื่นทองสำหรับอุตสาหกรรมภาคบริการ
“ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม จนถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายนโรงแรมของพวกเราถูกจองเต็มหมด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” วินมิ้นต์กล่าว เขาบอกอีกว่าลูกค้าทั้งหมดเป็นชาวจีน และเป็นผู้ที่มักจะมีกองกำลัง BGF กะเหรี่ยงและ DKBA เป็นผู้พามา สังเกตได้จากสัญลักษณ์ที่ติดบนรถยนต์และเครื่องแบบของพวกเขา
เขาบอกว่าช่วงนี้โรงแรมไม่ได้ห้องเต็มอีกแล้ว แต่ก็มีแขกพักใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มคนที่มากลุ่มแรกๆ ก็ย้ายไปอยู่บ้านเช่า อย่างเช่นบ้านของ ขิ่นมา ผู้เป็นเจ้าของปล่อยเช่า
ขิ่นมากล่าวว่า “ครอบครัวของพวกเรามีที่ดินอยู่ 81 ตารางวา ใกล้กับจุดตรวจเมียวชิด ซึ่งอยู่ในเขตของ BGF กะเหรี่ยง พวกเรามีที่ทำการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็มีบ้านหลังเล็กๆ อยู่ มีเจ้าหน้าที่ DKBA มาบอกฉันเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า เขารู้จักกับนักธุรกิจชาวจีน เขาอยากจะเช่าที่ดิน เราก็บอกว่าถ้าเสนอราคาเช่าดีพวกเราก็จะปล่อยให้เช่า”
พวกเขาทำข้อตกลง 5 ปี จ่ายค่าเช่า 15,000 บาทต่อเดือน โดนจ่ายเงินค่าเช่าก้อนใหญ่ทุกๆ ช่วงต้นปี
“เจ้าหน้าที่ DKBA เช่าที่ดินในชื่อของเขา พวกเขา (ชาวจีน) บอกว่านั่นเป็นเพราะพวกเขาเป็นชาวต่างชาติ พวกเขากังวลว่าพวกเขาอาจจะมีความลำบากในการจัดการกับเอกสารบางอย่าง” ขิ่นมะ กล่าว
ขิ่นมะ บอกอีกว่า ด่านเจดีย์สามองค์กำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ที่กลายเป็นแหล่งสแกมเมอร์
“ถ้าหากคุณขี่จักรยานยนต์ไปรอบๆ คุณจะเห็นชาวจีนจำนวนมาก แล้วป้ายธุรกิจกับโฆษณาสมัครงานต่างๆ ก็จะเขียนเป็นภาษาจีน” ขิ่นมะ กล่าว
วินมิ้นต์ กล่าวด้วยว่าชาวจีนที่โรงแรมซื้อพวกอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานไว้จำนวนมาก เช่น คอมพิวเตอร์ โต๊ะ และเก้าอี้ “พอพวกเราถามพวกเขาว่าพวกคุณทำงานอะไร พวกนั้นก็จะบอกว่าพวกเขามาลงทุนและทำงานที่พญาตองซู แต่พวกเขาก็ไม่ได้บอกอะไรเป็นพิเศษ”
ขิ่นมะ บอกว่า ชาวจีนพูดกับเธอว่าพวกเขาจะทำกาสิโนออนไลน์ที่บ้านของเธอ และมีแผนการสร้างสิ่งก่อสร้างชั่วคราวอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์
“ฉันแค่ปล่อยเช่าที่ดิน ฉันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับธุรกิจของพวกเขา” ขิ่นมะ กล่าว เธอบอกอีกว่าเธอไม่ได้มีแผนจะไปดูที่ดินที่เธอปล่อยเช่าอีกแล้ว
นั่นอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ฉลาด เมื่อพิจารณาจากปัญหาการทารุณกรรมและการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาแพร่สะพัดไปทั่วอุตสาหกรรมสแกมเมอร์ รวมถึงปัญหาการลอยนวลไม่ต้องรับผิดที่ครอบงำเมืองชายแดนที่ปกครองภายใต้กองกำลังสารพัดกลุ่ม
“ฉันมักจะเห็นชาวจีนและกองกำลังติดอาวุธเดินด้วยกันเป็นกลุ่มเดียว” จ่อมิ้น กล่าว “ฉันถึงขั้นสังเกตเห็นว่าบางทีชาวจีนเหล่านี้ก็พกปืน เป็นปืนพกเล็กๆ ที่เหน็บอยู่ที่เอวของพวกเขา”
เรียบเรียงจาก
South for the winter: Myanmar’s cyber scam industry migrates, Frontier Myanmar, 29-08-2024
- รายงานพิเศษ
- ต่างประเทศ
- ความมั่นคง
- รัฐกะเหรี่ยง
- พม่า
- สแกมเมอร์
- การพนัน
- กะเหรี่ยง BGF
- DKBA
- ชเวก๊กโก่
- ด่านเจดีย์สามองค์
- พญาตองซู
- ชายแดน
- จีนเทา
- การค้ามนุษย์