‘พระรอง’ ผู้กำหนดเกมตัวจริง ‘ภูมิใจไทย’ ยักษ์ใหญ่ในเงามืด
XmasUser
Thu, 2024-09-26 – 19:28
ภาพปก: กิตติยา อรอินทร์
พรรคเงียบๆ แต่ฟาดเรียบทุกสเต็ป เติบโตแบบไม่สนกระแส ก้าวกระโดดจาก สส. 34 เป็น 51 เป็น 71 จนเป็นตัวแปรที่ใครจะจัดตั้งรัฐบาล ไม่ง้อไม่ได้ จุดยืนชัดเจนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเว้นหมวด 1 และ 2 มาแต่ไหนแต่ไร ยึดกุมวุฒิสภาได้ชนิดที่สามารถกำหนด ไฟเขียว-ไฟแดง ใบอนุญาตแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ล่าสุด แสดงอิทธิฤทธิ์ รื้อร่างกฎหมายประชามติที่ผ่านสภาผู้แทนฯ แล้ว ให้กลับไปเหมือนเดิม และเบรกการแก้ไขรายมาตรา ว่าด้วย ‘ปัญหาจริยธรรม-การยุบพรรค’ ที่ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชนเสนอ ด้วยเหตุผลว่าเหมือนแก้เพื่อตัวเอง ไปรอแก้ทั้งฉบับดีกว่า … เส้นทางทั้งหมดนี้ไม่อาจเรียกได้ว่า ‘ธรรมดา’
พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล พรรคประชาชนในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เป็นสองพรรคที่ผู้คนจับตาหนักในทุกย่างก้าว แต่มีอีกพรรคหนึ่งที่มักจะอยู่นอกเรดาห์ ไม่ได้รับ ‘ดอกไม้’ และไม่ต้องรับ ‘ก้อนหิน’ แต่ทรงประสิทธิภาพยิ่งในทางการเมือง
ภูมิใจไทย ถือกำเนิดหลังรัฐประหารไม่นานนัก ในราวปี 2552 หลังจากกลุ่มของเนวิน ชิดชอบ แยกตัวออกมาจากพรรคพลังประชาชน พรรคนี้ผ่านการเลือกตั้งใหญ่มา 3 ครั้ง ทุกครั้งจำนวนเก้าอี้ สส. ก้าวกระโดด จาก 34 เป็น 51 เป็น 71 ในปัจจุบัน
ภูมิใจไทย ไม่ (จำเป็นต้อง) ไปกับ ‘กระแส’ ของสังคม อันที่จริงแล้ว อดีตพรรคก้าวไกล กับเพื่อไทย อาจดู ‘extreme’ ทั้งคู่ในมุมมอง ‘ชนชั้นนำสายอนุรักษ์’
ก้าวไกลขายนโยบายหลักในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ซึ่งแหลมคมและกลายเป็นเงื่อนปมสำคัญให้ถูกบล็อคการเข้าสู่อำนาจที่ผ่านมา เพื่อไทยขายเมกะโปรเจกต์ด้านเศรษฐกิจอยู่เรื่อยเมื่อเป็นรัฐบาล แล้วก็ถูกขัดขาล้มคว่ำคมำหงายมาแล้วหลายรอบ ส่วนภูมิใจไทย ยึดมั่นการปกป้องสถาบันหลักของชาติ และนำเสนอโครงการเป็นเรื่องๆ โดยไม่ยุ่งกับโครงสร้างไม่ว่ามิติใด แต่ ‘ความแน่นเชิงพื้นที่’ นั้นไม่อาจสบประมาท
ตัวแปรจัดตั้งรัฐบาล
หลังรัฐธรรมนูญ 2540 การออกแบบระบบการเมืองทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายหันมาแข่งขันทางนโยบายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ แต่ภูมิใจไทยไม่แข่งและไม่เคยคุยโม้โอ้อวดหวังที่ 1 ขอเป็นเพียงพระรอง…ที่ยิ่งใหญ่กว่าแชมป์
ในการจัดตั้งรัฐบาลรอบที่ผ่านมา ผู้กำหนดโฉมหน้ารัฐบาล นอกจากจะมี สว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.แล้ว ‘ภูมิใจไทย’ คือตัวแปรที่ขาดไม่ได้ ถ้าฟากฝั่งไหนอยากเป็นรัฐบาล และนโยบายต่างๆ ก็ต้องประนีประนอมกับภูมิใจไทยเป็นสำคัญ ไม่ว่านโยบายเชิงโครงสร้างหรืออื่นใด
ถัดมาไม่นานนี้ เรื่องการเลือก สว.อันอลหม่าน ด้วยระบบที่ไม่ make sense เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ในชุด ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ มีจุดมุ่งหมายเดียวว่า ต้องกีดกันอิทธิพลของพรรคการเมืองออกไปจากสภาสูงให้ได้ เนื่องจากรังเกียจ ‘สภาผัวเมีย’ อย่างที่สุด แต่แล้วภูมิใจไทยซึ่งอยู่นอกสายตาทุกคู่ ซุ่มทำงานอย่างไรไม่มีใครทราบ แต่ผลลัพธ์ว่ากันว่า ‘ตามเป้า’ ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูงสำเร็จ แซงทุกความพยายามจัดตั้งภายใต้ข้อจำกัดของระบบแปลกๆ
ยึดกุมสภาสูง
การคุมสภาสูงได้ มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ สว.ชุดนี้แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือนชุดเฉพาะกิจที่ผ่านมา แต่ก็ทรงอำนาจในการไฟเขียว-ไฟแดง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ
ภายในปี 70 จะมีผู้หลุดจากตำแหน่งดังนี้
- ป.ป.ช.
หมดวาระในปี 2567 จำนวน 3 คน
หมดวาระในปี 2570 จำนวน 1 คน
- กกต.
หมดวาระในปี 2568 จำนวน 5 คน
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
หมดวาระปี 2567 จำนวน 2 คน
หมดวาระปี 2570 จำนวน 5 คน
การกุมชะตากรรมประเทศนั้นชัดเจนขึ้นอีกระดับ เมื่อการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 เป็นสิ่งซึ่งภูมิใจไทยตั้งต้นไว้อย่างแข็งแรง ไม่มีโอนอ่อน
ล่าสุด ในความพยายามแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ทั้งพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยนำเสนอ สองพรรคนี้แม้เป็นคู่แข่ง ขัดแย้งกันในแทบทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นพันธมิตรกันไปโดยสภาพ นั่นคือ ความพยายามจำกัดอำนาจตรวจสอบของตุลาการที่ดูจะกินแดนเข้ามามากในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
โดยพรรคประชาชนเน้นเรื่องโครงสร้างหลักๆ เช่น การยุบพรรค และตัดหมวดจริยธรรมออกไปแล้วเขียนใหม่ ส่วนพรรคเพื่อไทยเน้น ‘เสถียรภาพ’ ของรัฐบาลด้วยการแก้ไขหมวดจริยธรรมที่สามารถตีความเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลให้นายกฯ รัฐมนตรี สส.หลุดจากตำแหน่งและโดนตัดสิทธิตลอดชีพได้ อย่างไรก็ดี ในร่างเพื่อไทยยังมีจุดหนึ่งที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่ององค์กรอิสระ ที่ไปลดเงื่อนไขว่าไม่ต้องทำประชามติก่อน
ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ
พรรคภูมิใจไทยซึ่งปกติจะเงียบๆ ตอบโต้เรื่องนี้โดยตั้งโต๊ะแถลงสวนทันควันว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้รายมาตราที่อาจถูก ‘ครหา’ ว่าทำเพื่อผลประโยชน์ตนเอง (นักการเมือง) และบอกว่าไปแก้ทั้งฉบับเลยดีกว่า
เมื่อภาพออกมาเช่นนี้ หลายเสียงปรบมือชื่นชมภูมิใจไทย สื่อบางคนถึงกับเรียกการแก้ไขรายมาตราของ 2 พรรคหลักว่า ‘จริยธรรมสุดซอย’ และกล่าวด้วยว่า แม้เห็นด้วยในหลักการ แต่ ‘เวลา’ ดำเนินการไม่เหมาะ เกรงจะซ้ำรอยนิรโทษกรรมสุดซอย
หากพิจารณากันในรายละเอียด จะพบว่า
1.การแก้ไขรัฐธรรมเพื่อตั้ง สสร.ทั้งฉบับนั้นยังลูกผีลูกคน ต้องถกเถียงกันอีกในหลายประเด็น เช่น ทำประชามติกี่ครั้ง คำถามประชามติเป็นอย่างไร ฯลฯ โดยแนวโน้มในปัจจุบันดูเหมือนยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเสร็จทันรัฐบาลนี้
2.กระแสต้านอันยิ่งใหญ่ วัดจากสิ่งใด หากมวลชนหลักของ กปปส. คือ คนชั้นกลางในเมือง ปัจจุบันมวลชนกลุ่มนี้อยู่ในจุดไหนอย่างไร และประเด็นนี้ใช้ ‘ผีทักษิณ’ มาจุดประเด็นได้มากน้อยเพียงไหน
หรือว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่ทุกองคาพยพที่ต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราต้องการจะปกป้องจริงๆ ก็คือ อำนาจควบคุมระบบการเมือง ที่สะท้อนผ่านองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ
สว.สีน้ำเงินพลิก พ.ร.บ.ประชามติ
น้ำหนักของเรื่องนี้มีมากขึ้นอีก เมื่อ สว.ปัจจุบันซึ่งประกอบด้วยสายสีน้ำเงินราว 70% กำลังพิจารณา ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นร่วมกันว่า ไม่ต้องเป็น Double majority (ไม่ต้องกำหนดให้ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ ให้เหลือเพียงเสียงข้างมากของผู้ที่มาลงออกเสียง) อันจะเป็นด่านแรกเส้นทางยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่แล้วเมื่อเข้าสู่สภาสูงก็มีการตั้ง กมธ.ขึ้นพิจารณา โดยรื้อร่างสภาผู้แทนฯ กลับไปสู่จุดเดิม คือล็อค 2 ชั้น Double majority อีก กระบวนการนี้จะทำให้การแก้ไข พ.ร.บ.นี้ยืดยาวไปอีกหลายเดือน เพราะต้องส่งกลับมาที่สภาผู้แทนฯ แล้วตั้ง กมธ.ร่วมสองสภาเพื่อพิจารณาอีก โดยยังไม่รู้จุดหมายปลายทาง
ดังนั้น ข้อเสนอของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ให้แก้ไขรายมาตรา ทั้งเรื่องยุบพรรค ทั้งเรื่องจริยธรรมที่ใช้เตะตัดขา สส.-รัฐมนตรี ไม่ว่าจะดูสวยหรูเพียงใด ผลลัพธ์ก็คือ ไม่สามารถแก้ไขจุดตายสำคัญในรัฐธรรมนูญ ‘มีชัย’ ได้เลย
‘จริยธรรม’ เป็นเรื่องที่คนไทยดูจะให้ความสำคัญอย่างมาก บนฐานของสำนึก ‘เกลียดนักการเมือง’ ในการยกร่างของ กรธ.ชุด ‘มีชัย’ หากไปไล่อ่านบันทึกการประชุมจะพบว่าเรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างมาก และเป็นโจทย์หลักที่พยายามออกแบบควบคุมฝ่ายบริหารอย่างแน่นหนาในทุกทาง โดยมี ‘ผี’ บางตัวคอยหลอกหลอนคณะผู้ร่างอยู่ (ดูได้จากการยกตัวอย่างในการหารือ) ทั้งที่จริงแล้ว กระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันนั้นมีมากพอควรอยู่แล้ว และโทษทัณฑ์ก็ค่อนข้างหนัก
เมื่อดูร่างฉบับพรรคเพื่อไทยนั้นก็เพียงแค่ปรับปรุงเรื่อง ‘จริยธรรม’ ให้ชัดขึ้น ร่างฉบับพรรคประชาชนคือเอาอำนาจนี้ออกจากมือ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ แล้วให้แต่ละองค์กรไปปรับปรุงแนวจริยธรรมของตนให้เข้มข้น
ล่าสุดดูเหมือนพรรคเพื่อไทยยอมถอยโดยง่ายเมื่อพรรคร่วมหลักไม่เอาด้วย ส่วนพรรคประชาชนยังยืนยันเดินหน้าโดยใช้วิธีแยกแพ็คเกจการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นต่างๆ ออกเป็นหลายร่าง โดยหวังว่าอาจจะมีโอกาสผ่านในบางร่าง จึงต้องจับตาว่าจะมีการบรรจุวาระเรื่องนี้หรือไม่ในช่วงเดือนตุลาคม
เส้นทางการแก้รัฐธรรมนูญดูจะยากลำบากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- แก้ รธน. มียืดเยื้อ กมธ.วิสามัญฯ วุฒิสภา พลิก ‘ไม่รับ’ หลักเกณฑ์ประชามติ ฉบับ สส.
- รายงานพิเศษ
- การเมือง
- พรรคภูมิใจไทย
- พรรคเพื่อไทย
- พรรคก้าวไกล
- พ.ร.บ.ประชามติ
- แก้รัฐธรรมนูญ
- อนุทิน ชาญวีรกูล
- องค์กรอิสระ
- วุฒิสภา