สืบข่าวคมนาคม ถึงขั้วอำนาจท้องถิ่น (EP.1/2) สืบจากถนน ไฮเวยาธิปไตย

สืบข่าวคมนาคม ถึงขั้วอำนาจท้องถิ่น (EP.1/2) สืบจากถนน ไฮเวยาธิปไตย

สมานฉันท์ พุทธจักร รายงาน
กิติยา อรอินทร์ กราฟิก

เสวนาออนไลน์ “สืบข่าวคมนาคม ถึงขั้วอำนาจท้องถิ่น” ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ชวนย้อนสำรวจอำนาจของทางหลวง นโยบายรัฐไทยที่ให้ความสำคัญกับการสร้างถนนมาหลายทศวรรษ การเพิ่มจำนวนของยวดยานพาหนะที่สัมพันธ์กับสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจร ซึ่งมักถูกอธิบายผ่านวินัยปัจเจก กฎจราจร ไปจนถึงเรื่องราวเหนือธรรมชาติ แทนที่จะกล่าวถึงปัญหานโยบายก่อสร้างถนนและวิศวกรรมจราจร

การเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ หัวข้อ “สืบข่าวคมนาคม ถึงขั้วอำนาจท้องถิ่น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมนักข่าวพลเมืองภายใต้โครงการท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ โดยประชาไทร่วมกับ We Watch จัดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีหัวข้อบรรยายประกอบด้วย 1. สืบจากถนน ประเด็นสำคัญในข่าวคมนาคมและการขนส่งสาธารณะ โดย รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ 2. ประเมินฐานอำนาจการเมืองท้องถิ่นและแนวโน้มกระจายอำนาจหลังสลับขั้วตั้งรัฐบาล โดย ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ชาลินี สนพลาย สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สืบจากถนน ประเด็นสำคัญในข่าวคมนาคมและการขนส่งสาธารณะ นำเสนอโดย รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

อำนาจท้องถนนยิ่งใหญ่ อำนาจประชาชนเล็กนิดเดียว

“อำนาจของท้องถนนในเมืองไทยมีความยิ่งใหญ่มาก ทั้งในตัวมันเองและการสร้างอำนาจให้ผู้ที่ไปเกี่ยวข้องมัน ขณะที่อำนาจประชาชนเล็กนิดเดียว ไม่สามารถที่จะเข้าถึงประชาธิปไตยจริงๆ ได้” ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ผู้เขียนหนังสือ “ไฮเวยาธิปไตย: อำนาจของถนนกับพลวัตการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย” (2566) กล่าว โดยภิญญพันธุ์เริ่มนำเสนอด้วยการย้อนดู 2 ประโยคเกี่ยวกับถนนในอดีตคือ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้งหลังทศวรรษ 2550 ราวกับเป็นรัตนตรัยของการพัฒนา ที่ใช้เป็นตัววัดความเจริญ

และประโยค “รถไฟฟ้าความเร็วสูงยังไม่จำเป็น และเป็นไปได้ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน” ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในปี 2557 ซึ่งคนไทยรู้จักกันดี และเป็นที่มาของการทำวิจัยชิ้นนี้ เป็นประโยคที่ย้ำให้เห็นว่าระบบคมนาคมทางถนนถูกให้ความสำคัญมากกว่าระบบอื่น

“เทพบุตรทางหลวง” อำนาจ และความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองและชนบท อันเนื่องมาจากทางหลวง

ภิญญพันธุ์นำเสนอว่า การขยายตัวของทางหลวงนั้น มีบทบาทอย่างมากในการเติบโตของประเทศ และการขยายพื้นที่ของเมือง ทางหลวงมีอำนากว้างใหญ่ไพศาล ที่เพียงแค่วางแผนรากเส้นถนนตัดผ่านไปยังพื้นที่ใดๆ ก็ทำให้ท้องที่เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างอัศจรรย์ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีระบบการกระจายอำนาจที่ดี ระบบผังเมืองมีส่วนสูงในการออกแบบรูปร่างของเมือง แต่ในไทยกลายเป็นว่า การสร้างถนน มีส่วนทำให้เกิดเมืองขึ้นมาเสียมากกว่า

การสร้างถนนตามมาด้วยการเวนคืนที่ดินจำนวนมาก หลัง พ.ศ. 2475 การเวนคืนแต่ละครั้งต้องออกกฎหมาย ออก พ.ร.บ. มารองรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ที่กฎหมายต่างๆ จะผ่านออกมาง่ายและรวดเร็ว การเวนคืนที่ดินจะออกมามากในช่วงนั้นเช่นกัน มาในยุคหลังที่ประชากรขยายและกระจายออกไป ทำให้การเวนคืนที่ดินมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก อย่างเช่นมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ที่ค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นจาก 1,290 ล้านบาท กระโดดไปเป็น 5,420 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ถึงอย่างไรก็ตามการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหลวงก็เกิดขึ้นมากมาย ตัดผ่านพื้นที่จำนวนมาก หลายครั้งกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คน และทิ้งปัญหาต่างๆ ไว้ข้างหลัง

การเวนคืนยังมีกรณียกเว้นที่ไม่สามารถทำได้ เมื่อการเวนคืนนั้นไปกระทบกับสิ่งที่อยู่สูงกว่าอย่างวัง เช่นเคยมีการจะเวนคืนพื้นที่บางส่วนของวังสุโขทัย เพื่อไปสร้างสะพานคู่ขนานสะพานธนบุรี หรือกรณีที่จะมีการเวนคืนที่ดินในวังสระปทุม ซึ่งมาจากความเข้าใจผิดในการระบายสีผังเมือง จนขณะนั้นกลายไปเป็นประเด็นเพื่อโจมตีรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการสร้างถนนระหว่างตาก-สุโขทัย ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2493 ซึ่งมีการตัดผ่ากลางเมืองเก่าของสุโขทัย จนมาถึงในช่วงท้ายของสงครามเย็น ที่ชนชั้นนำเริ่มตระหนักถึงเรื่องการสร้างประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นเป้าหมายหนึ่ง ในปี 2522 ได้มีการนโยบายปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จึงมีการตัดถนนอ้อมเมืองเก่าขึ้นมาแทนถนนเส้นเดิม

นอกจากนั้นการสร้างถนนยังไปเกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์ อย่างถนนรัชดาภิเษกที่มีลักษณะเป็นวงแหวน สร้างขึ้นมาจากวาระครองราชครบ 25 ปี ของในหลวงรัชกาลที่ 9 อนึ่งถนนเส้นนี้สัมพันธ์กับพระราชดำรัสเมื่อ พ.ศ. 2514 ที่เคยกล่าวไว้ว่า “…อนุสาวรีย์อย่างเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า ถนนที่เรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน  เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว…” ซึ่งในความเป็นจริงถนนรัชดาภิเษก ไม่ใช่ถนนวงแหวนแต่เป็นการเชื่อมถนนหลายๆ สายเข้าหากันเป็นวงรี และถูกใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักมากกว่าจะเป็นทางอ้อมอย่างวงถนนวงแหวนทั่วไป จนสุดท้ายก็มีการสร้างถนนวงแหวนรอบ 1 และ 2 ขึ้นมาเพื่อระบายรถไม่ให้เข้าเมือง

แม้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาทจะถูกศาลรัฐธรรมนูญปัดตกไปในปี 2557 แต่หลังจากการทำรัฐประหาร 2557 กลับมีการสร้างถนนมากขึ้นมหาศาล มาจากแนวคิดที่ว่ายิ่งสร้างทางหลวงยิ่งเป็นพัฒนาประเทศ ทั้งที่เป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้กับการพัฒนาเมือง “สำหรับผมแล้ว กรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท แทบจะเป็นหน่วยงานอิสระ ที่ครอบครองพื้นที่มากมายทั่วประเทศได้ เพราะไม่ถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง ” ทั้งที่ผ่านมามีคนจำนวนมากที่เสียชีวิตบนทางหลวง แต่ไม่มีการตรวจสอบกรม ในท้ายของวิจัยจึงเสนอว่าควรจะมี องค์กรฝ่ายที่ 3 เข้ามาตรวจสอบกรมทางหลวงโดยตรง

“มัจจุราช ทางหลวง” ว่าด้วยการเดินทาง อุบัติเหตุและการสูญเสีย

ประเด็นที่ผู้นำเสนอ อยากชวนร่วมกันอภิปรายคือ อุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ได้เกิดขึ้นจากเพียงแค่ ผู้ขับขี่ไร้วินัย ประมาทหรือเมาแล้วขับ เพียงเท่านั้น  และสิ่งที่ถูกใช้แก้ปัญหามากที่สุดคือการออกกฎหมายเพื่อควบคุมวินัยคน แต่ที่มีน้อยมาก คือการศึกษา วิจัยต่างๆ หรือแผนแก้ไขสภาพแวดล้อมของทางหลวงอย่างจริงจัง

กฎหมายเกี่ยวกับจราจรทางบกเกิดขึ้นมาหลังปี 2475 และมีการยกเครื่องใหม่ปี 2522 จนมาหลังรัฐประหาร รสช. 2534 ที่มีกฎหมายออกมาอีกหลายฉบับ เพื่อควบคุมวินัยจราจรของปัจเจกบุคคล แสดงให้เห็นว่าทางหลวงขยายตัวอย่างชัดเจนในทศวรรษ 2530 ซึ่งเป็นยุคทองของเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับการเติบโตของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างถนนต่างๆ และบรรดานักการเมืองท้องถิ่น จนมาถึงการออก พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 4) ล่าสุดปี 2562 ที่ยังมีเนื้อหาที่ตอกย้ำว่าอุบัติเหตุการเกิดจากวินัยจราจรของปัจเจก

ภิญญพันธุ์ ยังยกตัวเลขอุบัติเหตุบนทางหลวง ตั้งแต่ปี 2526-2563 ขึ้นแสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุในประเทศไทยสูงขึ้นมาตลอด สัมพันธ์กับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของทางหลวง และดูจากตัวเลขยานยนต์ที่จดทะเบียนเทียบระหว่างปี 2531-2535 ไทยมีรถจักรยานยนต์ถึง 6 ล้านคัน รถกระบะ 1 ล้านคัน ขณะที่รถประจำทางมีเพียง 5.9 หมื่นคันเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับรถสาธารณะน้อยมาก และเมื่อมาดูตัวเลขรถจักรยานยนต์ในปัจจุบันพบว่ามีมากถึง 20 ล้านคัน จึงตามมาด้วยสถิติตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สูงในช่วงเทศกาล

ทำให้เห็นปรากฎการณ์ที่อุบัติเหตุ การสูญเสีย ถูกอธิบายผ่านเรื่องราวเหนือธรรมชาติ เช่น ผีวิญญาณร้าย เจ้าที่เจ้าทาง หรือเจ้ากรรมนายเวร จึงได้เห็นการสร้างศาลเพียงตาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ริมทางหลวง และคำพูดติดปากอย่างโค้งร้อยศพ แต่ไม่เน้นคำอธิบายหรือตรวจสอบทางวิศวกรรมจราจรเกี่ยวกับถนนหรือโค้งเหล่านั้น นอกจากนั้นหลังรัฐประหาร 2557 มีการขยายเส้นทางจำนวนมาก ตามมาด้วยอุบัติเหตุจำนวนมาก ที่มักจะเกิดในบริเวณถนนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งไม่มีมีการเข้ามาตรวจอย่างจริงๆ การแก้ปัญหากับมีเพียงแค่การกฎหมายเพื่อมาควบคุมปัจเจกบุคคล

โดยภิญญพันธุ์ ได้สรุปใจความสำคัญของงานวิจัยและหนังสือไฮเวยาธิปไตยดังนี้ (1) ชี้ให้เห็นอำนาจการจัดการพื้นที่อย่างใหญ่หลวงของทางหลวงในสังคมไทย (2) ระบอบทางหลวงไม่ได้ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจโดยตรงเท่านั้น อย่างที่นักวิชาการชาวญี่ปุ่น อิจิโร คากิซากิ เคยเสนอไว้ แต่ยังตอบโจทย์ต่อทุนการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ (3) ทางหลวงเป็นต้นเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมากตั้งแต่ปี ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา แต่การแก้ปัญหากับเน้นไปในเรื่องการควบคุมทางวินัยของปัจเจกบุคคล (4) แม้จะมีการพยายามแก้ปัญหาเชิงระบบ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่กว้างขว้างจนเกินไป  และเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย และ (5) ผังเมืองยังถูกผูกขาดอำนาจโดยกรมโยธาธิการและพังเมือง ทั้งที่ควรจะกระจายอำนาจมาให้ท้องถิ่นดูแล

ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

 

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top