วงถกเสนอนโยบายคุ้มครองผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นได้ รัฐต้อง ‘กล้าหาญ’ เริ่มจากมองผู้ลี้ภัยในฐานะ ‘มนุษย์’
XmasUser
Sun, 2024-06-23 – 13:33
ภาพปก: บรรยากาศวงเสวนา “นโยบายไทยต่ออนาคตผู้ลี้ภัย” (ถ่ายโดย แมวส้ม ประชาไท)
วงเสวนา ‘นโยบายไทยต่ออนาคตผู้ลี้ภัย’ เชิญชวนผู้ลี้ภัย นักการเมือง และ NGO ร่วมพูดคุยถึงอนาคตนโยบายคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ‘กัณวีร์’ ชี้การแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยในไทย ต้องเริ่มจากการมองผู้ลี้ภัยเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา เมื่อเปลี่ยนทัศนคติ นโยบายความมั่นคง และอื่นๆ จะปรับเปลี่ยนตามมา
23 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (22 มิ.ย.) เวลา 19.15 น. ที่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ถ.เจริญนคร กรุงเทพฯ เนื่องในวันผู้ลี้ภัยสากล มูลนิธิเสมสิกขาลัย จัดงานฉายภาพยนตร์ “Myanmar Film Tour 2024” หัวข้อ Homesick หรือ “หวนคิดถึงบ้าน” โดยนอกจากการจัดฉายภาพยนตร์แล้ว มีการแสดงท้องถิ่นของชาวชาติพันธุ์ในเมียนมา งานขายอาหารและสินค้า รวมถึงการเสวนาหัวข้อ “นโยบายไทยต่ออนาคตผู้ลี้ภัย”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- “Myanmar Film Tour 2024” เมื่อภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสื่อสารความรู้สึก-ความเข้าใจผู้ลี้ภัย
สำหรับวงเสวนา “นโยบายไทยต่ออนาคตผู้ลี้ภัย” มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ‘กาลิ’ ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่เข้าร่วมผ่านระบบประชุมทางไกล ‘zoom’ กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม และ นัยนา ธนวัฑโฒ มูลนิธิ “Asylum Access Thailand”
ผู้ลี้ภัยต้องการมากที่สุด คือสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
กาลิ เข้ามาในประเทศไทย และต้องติดสถานกักกันคนต่างด้าว สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นระยะเวลาประมาณกว่า 1 เดือน ก่อนได้รับการประกันตัวเพื่อไปต่อประเทศที่ 3 เขาเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เขาอยู่ข้างใน ผู้ที่ถูกกักตัวส่วนใหญ่ถูกจับกุม เพราะเข้าเมืองผิดกฎหมาย พวกเขาหนีการประหัตประหารจากความขัดแย้งในประเทศเมียนมา เข้ามาในประเทศไทย และต้องการแสวงหาที่ปลอดภัย เบื้องต้น กาลิ มองว่า คนที่อยู่ในห้องกักประสบปัญหาเรื่องระบบที่มีความเอารัดเอาเปรียบ การติดต่อบุคคลภายนอกเป็นไปอย่างลำบาก กระบวนการขอไปประเทศที่ 3 ซึ่งมีขั้นตอนที่ยาวนาน มีราคาสูง และไม่รู้อนาคตเลยว่าเมื่อไรจะได้ออกไปข้างนอก
กาลิ เสริมด้วยว่า การพูดเรื่องในห้องกักยังเป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่าต้องกังวลเรื่องผลกระทบทางลบกับคนที่ยังอยู่ข้างในห้องกัก และเขามองด้วยว่า สำหรับผู้ลี้ภัยควรสามารถอยู่ในไทยได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบ และมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และกระบวนการขอลี้ภัยควรเป็นไปโดยง่ายด้วย
“ถ้าผู้ลี้ภัยสามารถเลือกที่จะอยู่ในประเทศไทยได้โดยที่ไม่ถูกละเมิดสิทธิ หรือถูกเอาเปรียบ บางคนเลือกอยู่ที่นี่ (ไทย) แทนการไปประเทศที่ 3 ผมคิดว่าผู้ลี้ภัยเข้ามาควรได้รับเสรีภาพและมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา กระบวนการขอลี้ภัยควรง่ายสำหรับผู้ลี้ภัย และควรมีพื้นที่ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้แสดงออกถึงปัญหาโดยปราศจากความกลัว” กาลิ กล่าว
รัฐบาลต้องกล้าหาญมากพอ ที่จะมองผู้ลี้ภัยเป็น ‘มนุษย์’ เหมือนกัน
กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีการแก้ไขปัญหาพม่า และผู้ลี้ภัยมาตลอด แต่ว่าความจำเป็น ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องมีความกล้าหาญมากกว่าเดิม ประเทศไทยไม่สามารถจะยืนอยู่บนจุดเดิมได้ ตอนนี้เวลาเราพูดเรื่องผู้ลี้ภัย รัฐจะมองว่าผู้ลี้ภัยคือ ‘ภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐ’ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีปัญหา เพราะฉะนั้น ประเทศไทยเลยบริหารจัดการผู้ลี้ภัยในเรื่องของความมั่นคงเท่านั้น
กัณวีร์ เสนอว่า รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะมองผู้ลี้ภัยเป็น “มนุษย์” และเมื่อมองผู้ลี้ภัยเป็นมนุษย์แล้วเราจะมองเรื่องพวกเขาเปลี่ยนไป มองว่าพวกเขาควรได้รับสิทธิอะไรบ้างเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ และจะมองข้ามเรื่องสัญชาติที่แตกต่างกัน
“รัฐไทยต้องมีความกล้าหาญที่จะมองว่าผู้ลี้ภัยคือ ‘มนุษย์’ เหมือนกัน เพราะว่าถ้ามองว่า ‘มนุษย์คือมนุษย์’ การบริหารจัดการเรื่องผู้ลี้ภัยก็จะเปลี่ยนไป เราจะมองว่า เราจะทำยังไงให้มนุษย์คนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตได้อย่างพวกเราเหมือนกัน เราจะไม่มองเรื่องสัญชาติ สัญชาติจะไม่มีความสำคัญเรื่องใดๆ ทั้งนั้น สัญชาติจะเป็นแค่สิ่งที่เราอุปโลกน์สร้างขึ้น คนที่อยู่ในประเทศนี้ อยู่ในดินแดนของประเทศนี้มีสิทธิที่จะได้รับสิ่งต่างๆ ที่รัฐสร้างมาให้ คนที่ไม่ใช่คนที่มีสัญชาติเกี่ยวกับเราจะไม่ได้รับ เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ต้องใช้ทัศนคติในเรื่องมนุษยธรรม” กัณวีร์ กล่าว
กฎหมายเปิดช่องไว้ ขาดแค่มติ ครม.
นัยนา ธนวัฑโฒ มูลนิธิ “Asylum Access Thailand” (AAT) กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์การขอลี้ภัยมีโอกาสน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับผู้ลี้ภัยทั้งโลก แม้ว่าช่วงปี 2564 มีชาวเมียนมาได้ลี้ภัยหลายคน ซึ่งรัฐบาลอนุญาต เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงฉุกเฉินที่มีคนหลั่งไหลเข้ามาเป็นพิเศษ แต่ว่าตอนนี้ 3 ปีผ่านไป รัฐบาลคำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะต้องระวังไม่ให้เห็นภาพว่าประเทศไทย ช่วยเหลือคนออกนอกประเทศ
นัยนา มองว่า อนาคตสถานการณ์ลี้ภัยไปประเทศที่ 3 ยากขึ้น แล้วเราน่าจะมาดูว่า เราจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่างได้หรือเปล่า เพื่อให้ผู้ลี้ภัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยในประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาเป็นรายงาน “ทบทวนกฎหมายและนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัย” พบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง หรือพระราชกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว นโยบายการศึกษา นโยบายเรื่องสุขภาพ และอื่นๆ ซึ่งจะเห็นว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่ใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องทำอะไรใหม่ กฎหมายที่มีอยู่เปิดช่องไว้แล้วว่าถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติออกมาแล้วว่าจะคุ้มครอง ทำงาน และให้มีพื้นที่อยู่ในเมืองไทย สามารถทำได้เลย ซึ่งต้องฝากนักการเมืองไปดูต่อ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- NGO เปิดตัวรายงาน ‘ทบทวนกฎหมายและนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัย’ (ใหม่) หลัง รปห.เมียนมาปี’64
จำเป็นต้องมีกฎหมายผู้ลี้ภัย
ด้านกัณวีร์ ระบุว่า ก่อนมีมติ ครม. พอหรือไม่นั้น เขาอยากถามว่าคนไทยทราบหรือไม่ ไทยมีตัวเลขผู้ลี้ภัยกี่คน เราจะพบว่าประเทศไทยไม่มีตัวเลขผู้ลี้ภัยในไทยอย่างเป็นทางการ หรือไม่ยอมรับการมีอยู่ของผู้ลี้ภัย พอเป็นแบบนี้แล้วจึงยากที่จะให้มติ ครม.แก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยนั่นเอง
กัณวีร์ มองว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยติดขัดอยู่ตรงตัวกฎหมาย เพราะประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายใดๆ ทั้งนั้นในการดูแลผู้ลี้ภัย เราแค่ปรับใช้กฎหมายข้างเคียง เราแค่มีตัวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย มองกลับไปในจุดที่ว่าทำไมประเทศไทยต้องมีความกล้าหาญ หรือเปลี่ยนแปลงจุดยืนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย คำตอบก็คือประเทศไทยตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ปัญหาเหล่านี้จะยังอยู่ในใต้เสื่อ
กัณวีร์ กล่าวต่อว่า การสร้างกฎหมายใหม่อาจจะใช้เวลานาน แต่ระหว่างที่มีการบัญญัติกฎหมายใหม่ขึ้นมา จะมีการพยายามปรับใช้กฎหมายอื่นๆ ก่อน โดยหากรัฐไทยมีเจตจำนงทางการเมือง และเจตนาในการแก้ไขทางการเมือง เชื่อว่าเราจะสามารถแก้ไขช่องทางในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ให้กับผู้ลี้ภัยก่อนได้ และเมื่อถึงตอนที่กฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยออกมาแล้ว เขาเชื่อว่านโยบายการเข้าถึงสวัสดิการ และนโยบายความมั่นคงจะเปลี่ยนไป
นัยนา ระบุว่า ระหว่างที่เรารอการแก้ไขปัญหา ยังมีผู้ที่ติดอยู่ในห้องกักอีกเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นชาวพม่า หรือประเทศอื่นๆ เธอเสนอว่าระหว่างนี้ควรมีการพัฒนาปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ภายในห้องกักให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้การติดต่อผู้แทนทางกฎหมาย และติดต่อญาติพี่น้องง่ายขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นห่วงมาก เพราะว่าลำบากมากที่เราจะเข้าไปเยี่ยมคนในห้องกัก
กัณวีร์ กล่าวว่า ครั้งนี้จะไม่ได้เป็นการส่งท้าย แต่เป็นจุดเริ่มต้นว่าคนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นผู้ลี้ภัยว่า เราต้องมองผู้ลี้ภัยว่าเป็นมนุษย์ ต่อให้เขาพานายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ชายแดนอีกกี่ครั้ง นายกฯ ก็จะปฏิเสธ ไม่ได้เป็นเพราะว่าเขาเป็นฝ่ายค้าน แต่เพราะว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องผู้ลี้ภัย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องจุดยืนทางการทูต รัฐบาลจะให้ความสำคัญเรื่องนี้หลังๆ ดังนั้น อยากให้ทุกคนที่ทำงานเรื่องนี้ยืนให้มั่น เดินด้วยกัน ไม่งั้นจะไม่สามารถขยับเขยื้อนเรื่องนี้ได้เลย
“วันนี้เราไม่ได้มาเฉลิมฉลองวันผู้ลี้ภัยโลก แต่เรามาตระหนักรู้ถึงความเข้มแข็งของผู้ลี้ภัยทั่วโลก เรามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศบวกผู้ลี้ภัยทั้งหมด 120 ล้านคน ณ ปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะมาตระหนักรู้ถึงความกล้าหาญในการที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาปิดบังเรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรม วันนี้อยากให้ทุกคนแสดงความกล้าหาญต่อไป และอย่ายอมเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่าลืมสิ่งที่จะกดหรือทำให้สิทธิมนุษยชน หรืองานด้านมนุษยธรรมลดถอยลงไป” กัณวีร์ กล่าว
หลังจากจบงานเสวนา มีการฉายภาพยนตร์จากเมียนมาอีก 8 เรื่อง โดยมีเรื่องที่น่าสนใจ เช่น “I am Rohinya” การ์ตูนอนิเมชันว่าด้วยเรื่องราวของหญิงชาวโรฮีนจาที่ต้องหนีความโหดร้ายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยกองทัพพม่าเมื่อปี 2560 จนเธอต้องย้ายไปอาศัยที่ค่ายผู้ลี้ภัย ‘ค็อกบาซา’ ในบังคลาเทศ ก่อนที่ต่อมา เธอจะตั้งปณิธานว่าในการใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ตัวเธอได้พบเจอมาทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือและเป็นแรงบันดาลใจให้หญิงชาวโรฮีนจาคนอื่นๆ ต่อไป
“Chasing Home” เป็นการ์ตูนว่าด้วยเรื่องราวหลังเกิดสงครามกลางเมืองจากการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า เมื่อปี 2564 ผู้ลี้ภัยหญิงในรัฐกะเหรี่ยง ต้องหนีออกจากหมู่บ้าน เพราะว่าที่อยู่ของเธอถูกกองทัพพม่าใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดจนต้องเข้าไปอยู่อาศัยในป่า เธอพยายามดูแลครอบครัวและเอาชีวิตรอด
“รอวัน” (Hours of Ours) สารคดีว่าด้วยชาวซูดาน ที่ต้องหนีมาที่ประเทศไทย เนื่องด้วยสงครามกลางเมืองในประเทศซูดาน และรอวันที่พวกเขาจะได้ไปที่ประเทศที่ 3 หรือสารคดีสั้นเรื่อง “My Note to Spring” ว่าด้วยเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องเข้าไปเป็นทหารกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งตั้งขึ้นมาหลังการทำรัฐประหารเมียนมา เมื่อปี 2564 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อการปกป้องประชาชนจากความโหดร้ายของกองทัพพม่า โดยตัวเอกของเรื่องเป็นชาวพม่าที่อยู่ในภูมิภาคสะไกน์ ตอนกลางของเมียนมา ที่ได้เข้าไปเป็นหน่วยประดิษฐ์และผลิตกับระเบิด เพื่อสกัดกั้นการเดินทัพของกองทัพพม่า และกองทัพพลเรือนฝั่งกองทัพพม่านามว่า ‘ผิ่วซอที’
ทั้งนี้ งานฉายภาพยนตร์ Myanmar Film Tour 2024 จะมีการฉายภาพยนตร์ที่ จ.ระนอง ในวันที่ 30 มิ.ย. 2567 และจะมีการส่งหนังไปฉายในต่างประเทศด้วยที่ไต้หวัน และอินโดนีเซีย
- ข่าว
- การเมือง
- สิทธิมนุษยชน
- ผู้ลี้ภัย
- วันผู้ลี้ภัยโลก
- กัณวีร์ สืบแสง
- พรรคเป็นธรรม
- นัยนา ธนวัฑโฒ
- Asylum Access Thailand
- พม่า
- เมียนมา