ชีวิตที่ยังไร้สถานะของ ‘เรเน่’ หญิงข้ามเพศที่ต้องลี้ภัยแค่จากโพสต์ไวรัลของตัวเอง
See Think
Tue, 2024-07-09 – 22:37
เรื่อง: ทีมข่าวการเมือง
ภาพปก: กิตติยา อรอินทร์
ประชาไทพูดคุยกับ ‘เรเน่ พุทธพงศ์’ หญิงข้ามเพศและเจ้าของโพสต์สุดไวรัลที่กลายมาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถึงชีวิตที่ยังติดขัดเรื่องสถานะการอยู่อาศัยในฝรั่งเศส ซึ่งอาจทำให้ที่นี่ไม่ใช่ปลายทางสุดท้ายของเธอ
ในระลอกของการปราบปรามการชุมนุมประท้วงภายใต้การนำของคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 เป็นต้นมา นอกจากการใช้กำลังกับผู้ชุมนุมบนท้องถนนแล้ว ความพยายามกดปราบผู้คนในโลกออนไลน์ก็เข้มข้นไม่แพ้กัน มีการตั้งข้อหามาตรา 112 กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวเพื่อกดเพดานเสรีภาพออนไลน์ให้ต่ำลง
เรเน่–พุทธพงศ์ กลิ่นยี่โถ ผู้หญิงข้ามเพศวัย 28 ปี เป็นหนึ่งในชาวเน็ตกลุ่มนี้ที่ถูกบีบให้ลี้ภัยมายังฝรั่งเศส เนื่องจากมองไม่เห็นหนทางสู้คดีและรู้สึกหวาดกลัวจากการถูกข่มขู่คุกคามสารพัดรูปแบบ
กลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ครบ 1 ปีที่มาถึงฝรั่งเศส เธอโพสต์ข้อความยาวเหยียดระบายความในใจเกี่ยวกับการยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยที่ยังไม่มีความคืบหน้า พร้อมแนบรูปผื่นแดงที่ขึ้นตามร่างกายสืบเนื่องจากความเครียด
“จริงๆ เราคาดหวังไว้มากว่าการมาปารีสมันจะดีกว่าอยู่ที่ไทย แต่พอมาถึง ทุกอย่างกลับไม่ได้เป็นเหมือนที่คิด เหมือนจะดี แต่ก็ไม่ ดีกว่าที่ไทยอย่างเดียวคือไม่ต้องติดคุก แค่นั้น เพราะมาตราเหี้ยนั่น”
“แต่การมาอยู่ที่นี่คือการอยู่แบบไร้จุดหมาย และไม่คาดหวังอะไรแล้ว เพราะทุกการคาดหวัง มันจะผิดหวังเสมอ ทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน ที่อยู่ ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เปลี่ยนตลอด เปลี่ยนบ่อยจนเหนื่อยสุดๆ เหมือนต้องเริ่มใหม่ซ้ำๆ ชีวิตไม่ได้ก้าวไปไหนเลย ถอยหลังด้วยซ้ำ” วรรคหนึ่งจากโพสต์ของเธอ
อุปสรรคในกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยของเรเน่แตกต่างจากกรณีของผู้ลี้ภัยไทยคนอื่นๆ ตรงที่เธอถูกยกเลิกการให้ความช่วยเหลือกลางคัน
ช่วงแรกที่มาถึงปารีส เรเน่ยื่นเรื่องขอลี้ภัยต่อ ออฟฟรา ซึ่งเป็นหน่วยงานของฝรั่งเศสที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (Ofpra: Office française de protection des réfugiés et apatrides) โชคไม่ดีที่ต่อมาเธอถูกขโมยโทรศัพท์ ออฟฟราจึงติดต่อมาไม่ได้และยกเลิกความช่วยเหลือ
ต่อมาเธอตัดสินใจยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้มีการตัดสินว่าการยกเลิกความช่วยเหลือกลางคันเช่นนี้มันยุติธรรมแล้วหรือไม่
“หลังจากที่โดนยกเลิกการช่วยเหลือจากทางฝรั่งเศส เนื่องจากเรื่องการติดต่อสื่อสาร ทำให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงไปอีกมากๆ เรไม่สามารถทำงานได้ เพราะไม่มีเอกสาร และไม่อยากทำผิดกฏของทางฝรั่งเศส ทางพี่ผู้ลี้ภัยเลยแนะนำให้เปิดลิงก์เพื่อรับบริจาค แต่เรก็ใช้เวลาทำและตัดสินใจนานมาก เพราะกลัวจะมีปัญหาหรือโดนด่า จนพี่คนหนึ่งได้บอกเรว่า บางทีเราก็ต้องยอมรับว่าเราต้องการความช่วยเหลือ และคนที่เขาเข้าใจเรา เขาจะพร้อมที่จะช่วยเหลือเรา จำไว้ว่าเราไม่ได้สู้เพียงคนเดียว ทำให้เรได้ปล่อยแคมเปญบริจาคออกมาค่ะ”
ในระหว่างนี้ เรเน่อยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนผู้ลี้ภัยไทยและรายได้กระจุกกระจิกจากงานพี่เลี้ยงสุนัขและรับจ้างถ่ายภาพ
ชาวบ้านหนึ่งที่ทนเห็นเพื่อนโดนตีไม่ได้
ย้อนไปสมัยอยู่ไทย เรเน่ทำงานด้านการตลาดออนไลน์ในกรุงเทพฯ ได้เงินเดือนราวสามหมื่นแต่ก็ไม่ค่อยเหลือเก็บจากค่าครองชีพสูงและปัญหาเชิงโครงสร้าง
ในกระแสการประท้วงที่นำโดยคนรุ่นใหม่ เธอก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไปที่ติดตามข่าวอยู่ตลอด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เธอกับเพื่อนไปร่วมการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย
ม็อบในวันนั้นมีเหตุการณ์ชุลมุนหลักๆ 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ภาพใหญ่คือตำรวจฉีดน้ำผสมสารเคมีและใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม อีกส่วนคือการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มปกป้องสถาบันและผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร
“มีแก๊สน้ำตา แล้วก็มีฝั่งตรงข้ามเขาปาหินมาโดนเพื่อนหนูหัวแตก”
สิ่งนี้ทำให้เธอโมโหขั้นสุดจนอดไม่ได้ที่จะโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐและการใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์
“ตอนนั้นก็ถูกเตือนให้ระวังว่าจะมีปัญหา เราก็คิดว่าจะเป็นปัญหาได้ยังไง เราคนธรรมดาทั่วไป ก็รู้ถึงการมีอยู่ของ ม.112 มาพักหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าใกล้ตัวขนาดนั้น”
ความรุนแรงที่ในม็อบเกียกกายทำให้ครอบครัวของเรเน่เป็นกังวล เธอห่างจากม็อบที่มีความสุ่มเสี่ยงไปสักพักแล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ
ผ่านไปหลายเดือน เช้าของวันที่ 9 มี.ค. 2564 เรเน่ถูกตำรวจควบคุมตัวจากที่พักย่านดินแดง ยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ พร้อมตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกนำกลับมาใช้ปราบปรามการประท้วงตั้งแต่พ.ย.ปี 2563
“หนูนอนเล่นอยู่ที่ห้อง อยู่ดีๆ ก็มีเสียงเคาะประตูขึ้นมา ตอนแรกคิดว่าเป็นแม่หรือเพื่อนมาหา แต่เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ 12 คน เขาก็ถามชื่อเรา แล้วก็เข้ามายึดของ ตอนนั้นติดต่อใครไม่ได้เลย แล้วก็ถูกเอาตัวไปที่ บก.ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี)”
“ตำรวจถามเราว่ามีทนายไหม เราก็บอกว่าไม่มี ตอนนั้นคือยังไม่รู้ว่าต้องมีทนายด้วย แล้วตำรวจก็บังคับให้เซ็นเอกสารทุกอย่าง บอกว่าถ้าเซ็นก็จะปล่อยตัวแล้ว เขาก็ไม่ได้ให้หนูอ่านนะคะ ยืนคุมสองฝั่ง หนูก็เซ็น อยู่ตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึงบ่ายๆ เย็นๆ จนเพื่อนโทรหาทนายที่ศูนย์ทนายฯ ให้ ทนายก็ถามว่าเซ็นอะไรไปบ้าง หนูก็บอกว่าไม่รู้เขาไม่ได้ให้อ่าน พอทนายดูเอกสารก็บอกว่านี่เป็นการเซ็นยอมรับแล้วนะว่าเราทำจริง”
หลังจากนั้นชีวิตเรเน่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เครียดตลอดเวลา ต้องพบนักจิตบำบัดและถูกวินิจฉัยว่าเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ถูกตำรวจคุกคามถึงบ้านและที่ทำงานจนต้องลาออกมาขายผัดกะเพรา ขายได้แค่เดือนเดียวก็ต้องลี้ภัย
ขณะนั้นเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด บวกกับตัวเธอเองก็ไม่ได้มีทุนทรัพย์มากและไม่ได้รู้จักใครในแวดวงนักเคลื่อนไหว เรเน่ออกจากไทยไปไต้หวันด้วยความหวังว่าเมื่อถึงที่นั่นแล้วเธอจะขอความช่วยเหลือไปประเทศที่สามได้ ทว่าองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งกลับช่วยเหลือเธอไม่ได้ด้วยเหตุผลเรื่องแนวปฏิบัติที่ว่าไต้หวันยังเป็นส่วนหนึ่งของจีน เธอเคว้งคว้างอยู่ที่นั่นสักพักจนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือให้ไปยังฝรั่งเศส
“ตั้งแต่หนูออกจากไทยมาเมื่อเดือนตุลาคมปี 2565 หลังจากนั้นสี่เดือนก็ยังมีการคุกคามอยู่ พี่สาวก็โดนเหมือนกันจากคนเดิมที่หน้าบ้าน เขาก็ตามไปที่ทำงานของพี่สาวเลย เจอคนหัวเกรียนนั่งรออยู่”
หมายจับ
เรเน่บอกกับประชาไทด้วยว่า ช่วงที่มาถึงปารีสแล้วในกระบวนการยื่นขอลี้ภัย เธอต้องใช้หมายจับเพื่อเป็นเอกสารยืนยันว่ามีภัยจากประเทศต้นทาง ในตอนนั้นมีทนายคนหนึ่งชื่อว่าทนายไวท์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้บอกกับเธอว่าในการส่งหมายจับให้จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
“เขาบอกว่าหนูต้องซื้อตั๋วเครื่องบินให้เขาเพื่อเอาหมายจับมาให้ หนูก็บอกหนูไม่มี (เงิน)”
“เขาบอกหนูว่าถ้าหนูอยากได้หมายจับ เขาต้องบินมาให้หนูเท่านั้น เขาไม่สามารถส่งอีเมลหรือส่งอะไรให้หนูได้เลย ทำให้หนูไม่มีหมายจับตอนยื่นลี้ภัยครั้งแรก”
แต่เธอเอาเรื่องนี้ไปบอกกับเพื่อนผู้ลี้ภัยด้วยกันเรื่องจึงแดงขึ้นมา และต่อมาก็ได้ไฟล์หมายจับโดยที่ไม่ได้เสียเงินแต่อย่างใด
สำหรับ ทนายไวท์ หรือ คุณากร มั่นนทีรัย เคยเป็นทนายอาสาให้ศูนย์ทนายความฯ อยู่ระยะหนึ่ง ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น สส.พรรคก้าวไกล
ทั้งนี้ประชาไทได้ส่งคำถามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไปให้คุณากรตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 2567 จนกระทั่งวันที่เผยแพร่ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากคุณากร
ความลำบากของหญิงข้ามเพศ
เรเน่เล่าประสบการณ์ในฐานะผู้หญิงข้ามเพศที่เผชิญกับความยากลำบากในกระบวนการยุติธรรมและการลี้ภัยมากกว่าคนตรงเพศ
“ตอนอยู่ที่ บก.ปอท. เขาบอกว่าทรงแบบนี้เข้าคุกไปมีผัวแน่ๆ เราก็รู้สึกว่ามันอันตรายแล้ว นี่เป็นเหตุผลที่บอกทนายว่าจะไม่เข้าคุกที่ไทย มันไม่มีสิทธิมนุษยชน แล้วนี่ก็เป็นเหตุผลให้ลี้ภัยด้วย ถ้าเข้าคุกไปวันเดียวหนูยอมตาย ฆ่าตัวตายเลย”
ชีวิตที่ฝรั่งเศสยังคงเผชิญความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศอยู่ ทั้งการถูกลวนลาม คุกคามทางเพศในที่สาธารณะ และระบบการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยก็ยังไม่ได้เป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่าที่ควร
เธอยกตัวอย่างเรื่องการหาที่พักให้ผู้ลี้ภัยเพศหลากหลายที่จะมีความยากกว่าคนตรงเพศ เนื่องจากผู้ลี้ภัยที่นั่นส่วนมากเป็นชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลามและมักมากันเป็นแก๊ง แม้มีที่พักเพียงพอก็ใช่ว่าจะไปอยู่ร่วมกับพวกเขาได้อย่างปลอดภัย เพราะมีโอกาสที่จะไปเจอคนที่ต่อต้านเพศหลากหลาย
อีกหนึ่งปัญหาที่เรเน่เจออยู่ตลอดคือคำนำหน้านามยังไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ ทำให้มีความสับสนในการทำเอกสารอยู่บ้าง ขณะที่เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสหลายคนปฏิบัติต่อเธออย่างให้เกียรติ แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่มาแกล้งเรียกเธอด้วยคำนำหน้าที่ไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ
เรเน่พูดถึงตอนที่เธอถึงฝรั่งเศสแล้วต้องถูกกักตัวอยู่ในสนามบินเพื่อรอความช่วยเหลือ
“เขา (เจ้าหน้าที่) ไม่แน่ใจว่าเราเป็นนาย (เมอซิเออ) หรือนางสาว (มาดาม) เราก็เขียนตามพาสปอร์ตว่านาย แต่เขาก็บอกว่าไม่ได้นะ ต้องเป็นนางสาว แต่พอแก้แล้วก็เป็นปัญหาเพราะมันไม่ตรงกับพาสปอร์ต พอเข้าไปกักตัวในที่กักตัวก็โดนพูด โดนมอง มันเห็นได้ชัดจริงๆ มีปัญหาตลอดเรื่องคำนำหน้า”
แค่คนโชคร้ายที่โดนคดี
คนทั่วๆ ไปมักจดจำผู้ลี้ภัยทางการเมืองในฐานะนักเคลื่อนไหวที่เมื่อลี้ภัยไปแล้วก็ยังคงต่อสู้อยู่ กองเชียร์บางส่วนอาจเผลอไปคาดหวังว่าพวกเขาควรจะสู้มากกว่าเดิมเพราะได้ไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้ว
สำหรับเรเน่ที่มองตัวเองเป็นเพียง “คนโชคร้าย” สิ่งนี้สร้างภาระทางใจให้เธออยู่ไม่น้อย
“หนูกลัวมากที่คนจะว่าเราไม่เป็นปากเสียงให้ใคร หนูไม่รู้ว่าตัวเองมีเพาเวอร์มากพอมั้ย หนูไม่ใช่นักเคลื่อนไหว ไม่ใช่เน็ตไอดอล
หนูก็รู้สึกกลัวเพราะมันโดน (คดี) คนเดียว ถ้ากลับไปก็คงไปเที่ยว ไม่ได้ไปอยู่ ไม่รู้ว่าเห็นแก่ตัวไหม เพราะเสียงหนูคนเดียวไม่พอ แต่ถ้ามันสามารถพูดได้ ถ้ามีโอกาสก็จะทำ”
สำหรับความคาดหวังต่อพรรคการเมือง เรเน่กล่าวว่ายังต้องการให้ยกเลิก ม.112 หรือปรับลดบทลงโทษให้ได้สัดส่วนกับความผิด ส่วนเรื่อง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เธอให้ความเห็นว่าถ้ากลับไทยได้ก็คงจะแค่กลับไปเที่ยว
“การที่เรามาอยู่ที่นี่คือดีกว่าเรากลับไปติดคุก หนูแค่ต้องรอให้อะไรมันดีกว่านี้ การมาลี้ภัยก็เป็นโอกาสของเราเหมือนกัน มีการงานที่ดีได้ ที่ไทยเงินเดือนดี แต่เงินไม่เหลือใช้เลย เพราะโครงสร้างไม่ค่อยดี พอมาอยู่นี่ก็เป็นโชคดีได้ลี้ภัย”
- สัมภาษณ์
- การเมือง
- สิทธิมนุษยชน
- คุณภาพชีวิต
- ต่างประเทศ
- ผู้ลี้ภัยทางการเมือง
- มาตรา 112
- คดีมาตรา 112
- ฝรั่งเศส
- เรเน่
- พุทธพงศ์ กลิ่นยี่โถ
- depth
- ข่าวเจาะ