วิบากกรรม ‘นักข่าวหญิงพลัดถิ่น’ จากพม่าถึงไทยปลอดภัยพอหรือยัง | ประชาไท Prachatai.com

วิบากกรรม ‘นักข่าวหญิงพลัดถิ่น’ จากพม่าถึงไทยปลอดภัยพอหรือยัง | ประชาไท Prachatai.com

จากพม่าถึงไทยปลอดภัยพอหรือยัง ? เรื่องเล่าจาก ‘นักข่าวหญิงและ LGBTQ+’ ที่ต้องพลัดถิ่น สะท้อนความไม่ยอมแพ้ของคนตัวเล็กท่ามกลางปัญหาซ้อนปัญหาในวิกฤต

ต้องลี้ภัยแค่เพราะทำข่าว

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นในพม่าเมื่อปี 2564 จวบจนปัจจุบัน การปราบปรามประชาชนยังคงดำเนินไปอย่างรุนแรง สื่อมวลชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเผด็จการพม่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ถูกคุกคามเป็นพิเศษ จำนวนหนึ่งไม่สามารถอยู่ในประเทศได้จึงต้องหนีมาหลบในประเทศไทย โดยมากเป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือแม้อาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายผ่านมาตรการผ่อนผันแรงงานข้ามชาติ แต่ก็ยังต้องปกปิดอาชีพที่แท้จริง

ท่ามกลางสงครามที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี นักข่าวผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้เผชิญกับความเปราะบางยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งความเสี่ยงของชีวิตในภาคสนามที่อาจจำกัดโอกาสในการทำงาน การถูกคุกคามทางเพศ รวมถึงภาระงานบ้านและครอบครัว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอาชีพ

“เราเป็นผู้หญิงตัวคนเดียวก็ยังรู้สึกกลัวอยู่ แล้วก็ไม่ได้มีรายได้ประจำ บางเดือนก็มาก บางเดือนก็น้อย”

ผลกระทบจากการเมืองในพม่าก็มีส่วน พอมาถึงที่นี่ (เมืองไทย) ก็รู้สึกว่าทำไมฉันต้องมาเจออะไรแบบนี้ งานก็มีความกดดัน ช่วงปกติก็ยังพอโอเค แต่พอช่วงก่อนประจำเดือนจะมา 1 สัปดาห์ ความเครียดมันเหมือนจะระเบิดออกมาจนถึงขั้นคิดว่าฉันจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม”

หมี่ (นามสมมติ) นักข่าวหญิงประสบการณ์กว่า 14 ปีที่หนีออกมาจากนครย่างกุ้ง เล่าถึงการใช้ชีวิตและทำงานเป็นนักข่าวอย่างลับๆ ที่เมืองชายแดนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ก่อนที่จะมีการรัฐประหารเธอเคยเปิดหน้ารายงานข่าวอย่างอิสระ

เนื่องจากสุขภาพจิตดิ่งลงเหวจนรับมือไม่ไหว ขณะนี้หมี่เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ในขบวนการทำอารยขัดขืนต้านรัฐประหารของประชาชนชาวพม่า (Civil Disobedience Movement หรือ CDM) ซึ่งก็เป็นอีกกลุ่มที่หลบเข้ามายังฝั่งไทย เช่นเดียวกับเธอ

หลังรัฐประหารสื่อมวลชนก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ฝั่งหนึ่งเข้าร่วมกับกองทัพพม่า ส่วนอีกฝั่งเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้าน หมี่ซึ่งอยู่ในพวกหลังยังคงทำงานอย่างหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในพม่า

สองปีต่อมา มีทหารพม่าเข้ามาตรวจค้นละแวกที่พักอาศัยในวันที่เธอไม่อยู่บ้าน ทันทีที่หมี่รู้เรื่องนี้จากครอบครัวจึงรีบหนีมายังประเทศไทย แม้รู้ถึงความเสี่ยง แต่เธอผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวยังยืนยันจะทำอาชีพนี้ต่อไป

“แค่นักข่าวเขียนว่า อองซานซูจีเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ ก็มีโอกาสจะโดนส่งจดหมายมาเตือน” หมี่ยกตัวอย่างกรณีการถูกคุกคามสื่อแบบทั่วๆ ไป

ชีวิตที่เมืองชายแดนแห่งนี้ หมี่หมดเงินก้อนใหญ่ไปกับกระบวนการขอวีซ่านักเรียนราวๆ 50,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อปี 39,000 บาท และค่าธรรมเนียมสำหรับการต่อวีซ่าเป็นจำนวนเงิน 1,900 บาท ซึ่งอย่างหลังนี้จะต้องจ่ายทุกๆ 90 วันที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ทว่าการได้วีซ่าดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยขึ้นเท่าไหร่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้เธอก็เพิ่งจะถูกตำรวจจับกุมและได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

ชีวิตประจำวันของหมี่นอกจากการออกไปเรียนแล้วก็ไม่ได้ออกไปที่อื่นมากนัก เนื่องจากงานข่าวของเธอสามารถทำได้ออนไลน์

ตามข้อมูลจากรายงานเรื่อง “ความต้องการด้านความปลอดภัยของนักข่าวหญิงพม่าในประเทศไทย” (The Safety Needs of Myanmar Women Journalists in Thailand) โดย Exile Hub สำหรับคำถามที่ว่า ในแต่ละปีนักข่าวพลัดถิ่นเสียค่าใช้จ่ายในกระบวนการทำเอกสารทางกฎหมายเพื่ออยู่อาศัยในไทยเป็นจำนวนเท่าไหร่ ผู้ตอบแบบสอบถาม 10 คนจากทั้งหมด 23 คนระบุว่าเสียค่าใช้จ่ายเรื่องดังกล่าวมากกว่า 30% ของรายได้ต่อปี

หลังรัฐประหารเป็นต้นมา นักข่าวจากประเทศพม่าใช้นามแฝงในการทำงานหรือไม่ระบุชื่อผู้เขียนเลยด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แต่อีกมุมหนึ่ง นักข่าวก็ไม่สามารถได้รับเครดิตจากผลงานอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างชื่อเสียงและความก้าวหน้าในอาชีพ

สำหรับนักข่าวพลัดถิ่นที่ทำงานจากระยะไกลยังเผชิญความท้าทายอื่นๆ อีก เช่น ความลำบากในการติดต่อแหล่งข่าว ความกังวลเรื่องความปลอดภัยของแหล่งข่าว และการสื่อสารกับแหล่งข่าวด้วยวิธีที่ปลอดภัย ซึ่งก็อาจทำไม่ได้ในทุกกรณี เมื่อเป้าหมายสูงสุดคือการทำทุกทางเพื่อจะให้ได้ข้อมูลมา นักข่าวหลายคนก็ลงเอยด้วยการลดความปลอดภัยทางดิจิทัลลงเพื่อสื่อสารกับแหล่งข่าวด้วยวิธีที่แหล่งข่าวสะดวก

เมื่อถามถึงความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่ต้องเผชิญในการย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทย ผู้ตอบแบบสอบถาม 30 คนระบุว่ามีความกลัวเรื่องความปลอดภัยทางกายภาพ

ตินซาอ่อง ผู้ก่อตั้งองค์กร Myanmar Women in Media ระบุว่า ความกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพจิตหลักๆ เริ่มขึ้นตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดในพม่า โดยผู้หญิงแบกรับภาระเป็นสองเท่า ทั้งงานดูแลเด็ก งานบ้าน ผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากการล็อกดาวน์ และยังต้องจัดการเรื่องการทำงานของตัวเองไปด้วย ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2564 ผลของมันได้ผลักให้นักข่าวหญิงจำนวนมากตกอยู่ในภาวะวิกฤตจนส่งผลต่อสุขภาพจิตตามมา

ในรายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า นักข่าว 62 รายจากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 79 รายระบุว่า สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบต่องานของพวกเธอในฐานะนักข่าวพลัดถิ่น

ถึงแม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ได้ตระหนักถึงภาวะสุขภาพจิตที่แย่ลงของตัวเอง แต่พวกเธอก็พยายามมองข้ามเรื่องนี้และหันไปโฟกัสเรื่องการทำงาน โดยใช้การทำงานเป็นเครื่องมือเยียวยาและรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตที่มี ด้วยเหตุนี้การสร้างพื้นที่ทำงานที่ปลอดภัยจากการคุกคามและแสวงประโยชน์เพื่อปกป้องนักข่าวหญิงจึงยิ่งทวีความสำคัญ

เรื่องราวการถูกปราบปรามจากต้นทางและต้นทุนในเรื่องเอกสารเพื่ออยู่อาศัยในไทยของหมี่คล้ายคลึงกับ เค ซเว นักข่าวผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวอาระกันที่มีประสบการณ์กว่า 10 ปีในวงการข่าว

ภาพขณะ เค ซเว ทำข่าว สมัยที่ยังอยู่ในประเทศพม่า

เขาเล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจว่าก่อนที่จะมีการรัฐประหาร เขาทำงานกับสำนักข่าวมิซซิม่าที่เมืองย่างกุ้ง โดยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐอาระกัน

ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหาร เขาตัดสินใจลาออกเพื่อกลับบ้านเกิดไปก่อตั้งสื่อท้องถิ่นที่ชื่อว่า “อาระกัน ซากาวาร์” (Arakan Sagawar) ซึ่งนำเสนอข่าวสถานการณ์ในรัฐอาระกันแบบ 2 ภาษา ทั้งภาษาโรฮิงญาและภาษายะไข่ โดยมีการส่งข่าวให้กับมิซซิม่าเผยแพร่อีกช่องทางหนึ่ง

“ก่อนที่จะย้ายมาเมืองไทย มีทหารพม่าเดินทางมาสอบถามที่บ้านในรัฐอาระกัน วันนั้นผมไม่อยู่บ้าน แต่ครอบครัวมาบอก ผมก็เลยย้ายมาอยู่ไทย ทหารพม่าคอยติดตามนักข่าวอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นใคร”

เมื่อถูกทหารพม่าตามคุกคาม ทีมงานของสื่ออาระกัน ซากาวาร์ต่างแยกย้ายกันกันหลบหนี สื่อเล็กๆ เจ้านี้จำต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว ต่อมาก็ถูกแฮ็กระบบด้วย เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กส่วนตัวของ เค ซเว

“ตอนที่มาถึงเมืองไทยแรกๆ ก็เป็นห่วงทางบ้าน เพราะที่รัฐอาระกันโดนตัดอินเทอร์เน็ต สิ่งที่ผมทำได้ก็มีแค่การทำข่าว เราอยากให้คนในรัฐอาระกันได้รับข่าวสาร ทางสำนักข่าวมิซซิม่าก็เลยให้จัดรายการข่าวทางวิทยุ”

เค ซเว และแฟนเข้าเมืองผิดกฎหมายมาอยู่ที่ไทยด้วยกัน ตัวเขาสานต่องานข่าวสไตล์อาระกัน ซากาวาร์ด้วยการทำงานเป็นฟรีแลนซ์จัดรายการวิทยุให้สำนักข่าวมิซซิม่า โดยมีการเผยแพร่ผ่านสำนักข่าว Lay Waddy FM อีกช่องทางหนึ่งด้วย

ส่วนคนรักของเขาที่ไม่ได้อยู่ในสายงานข่าวนั้นก็กำลังจัดการเรื่องเอกสารเพื่อสมัครงานที่โรงงาน

เนื่องจากความที่จะเริ่มชีวิตที่นี่อย่างมั่นคง เค ซเว กับแฟน เสียเงินทำบัตรชมพูกับคนพม่าคนหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นนายหน้า แต่กลับลงเอยด้วยการสูญเงินก้อนโต

“ช่วงแรกที่เพิ่งมาถึงเรายังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ เราจ่ายเงินทำบัตรชมพูผ่านนายหน้าคนพม่าที่อยู่ในไทย เห็นเขาโฆษณาจากในเฟซบุ๊กก็เลยเชื่อ นายหน้าหลอกว่าเป็นเคสวีไอพีที่จะต้องเสียเงินคนละ 18,000 สองคนรวม 36,000 บาท เรียกว่าเป็นเงินก้อนสุดท้ายก็ว่าได้ ที่เสียไปก็ประมาณ 70 เปอร์เซนต์ของทั้งหมดที่มีอยู่”

นอกเหนือจากเรื่องการทำงาน การลงหลักปักฐานในไทยยังมีคุณค่าทางจิตใจต่อคนทั้งคู่ เนื่องจากสังคมไทยโดยรวมมีความคุ้นชินกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่า ต่างจากในพม่าที่ครอบครัวของเขาและของแฟนต่างไม่ยอมรับในความสัมพันธ์นี้

เค ซเว มีความฝันว่าถ้าเรื่องเอกสารเรียบร้อยแล้วจะจัดงานแต่งงานเล็กๆ และจดทะเบียนสมรสกับคนรักที่นี่ แม้ว่าอาชีพที่เขารักยังต้องทำอย่างหลบซ่อน

หลังจากข้ามแดนเข้ามาที่เมืองไทย เค ซเว (เสื้อเทาหลังกล้อง) ยังคงทำข่าวในประเด็นสิทธิมนุษยชน

 

เรื่องเล่าชีวิตในป่าจากนักข่าวหญิง

หลังรัฐประหารพม่า นักข่าวจำนวนหนึ่งไปฝังตัวทำงานภาคสนามอยู่ในพื้นที่ในความควบคุมของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้าน แต่พบว่าโอกาสในงานภาคสนามของนักข่าวหญิงมีจำกัดกว่า ด้วยเหตุผลหลายประการทั้งข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย ภาระในการดูแลลูกและงานบ้าน ชีวิตในป่าที่ไม่สะดวกสบาย และสภาพแวดล้อมการทำงานที่แวดล้อมไปด้วยผู้ชาย ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอาชีพ

“หลายๆ คนมักจะคิดกันว่านักข่าวหญิงอาจเผชิญความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยมากกว่าในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นเรื่องยากที่สำนักข่าวจะส่งนักข่าวผู้หญิงไปที่นั่น”

คำบอกเล่าจากผู้ประกาศข่าวและนักข่าวหญิงชาวกะฉิ่นจากเมืองย่างกุ้ง ผู้มีประสบการณ์มากกว่า 1 ปีในพื้นที่ปลดปล่อยในรัฐกะเหรี่ยง เธอขอใช้นามแฝงว่า จา*  ที่แปลว่าทองคำในภาษากะฉิ่น

จารายงานข่าวกลางป่า ซึ่งไม่มีสตูดิโอที่สามารถถ่ายทำแบบเงียบๆ และก็ไม่มีไฟฟ้าด้วย โดยสามารถใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟเท่านั้น

 

ชีวิตในรัฐกะเหรี่ยง จา นักชาวหญิงชาวกะฉิ่นขณะเดินเท้าไปทำข่าวในบริเวณภูเขาที่ไม่มีถนนให้รถยนต์และมอเตอร์ไซด์วิ่งผ่าน

ย้อนไปหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย จาเริ่มทำงานสื่อมวลชนมาตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งกองทัพพม่าทำรัฐประหารและต่อมาก็สั่งปิดสำนักข่าวหลายแห่ง หนึ่งในนั้นเป็นที่ที่เธอทำงานอยู่

หลายเดือนต่อมาเธอเริ่มงานที่ใหม่และได้เข้าไปในรัฐกะเหรี่ยง ช่วงหนึ่งจาและเพื่อนร่วมงานกว่า 20 คนอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านไม้สองชั้นที่ปราศจากพื้นที่ส่วนตัว โดยบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านของผู้ลี้ภัยอีกที

“ด้วยความที่ไม่มีไฟฟ้า พวกเราต้องปั่นไฟใช้เองทุกวันและใช้ถ่านก่อไฟเพื่อทำอาหาร น้ำก็ไม่พอใช้ เราต้องเดินประมาณ 15 นาทีไปยังที่ที่เราอาบน้ำ คนทั้งหมู่บ้านนี้ใช้บ่อน้ำเดียวกัน ช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว เราอาบน้ำจากบ่อน้ำได้ ส่วนหน้าร้อนเราจะไปอาบที่ลำธาร”

ในฤดูร้อนจะร้อนมากๆ เราที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศก็ต้องใช้พัดลม มันร้อนจนเรานอนไม่หลับเลย ในช่วงหน้าฝน ฝนตกหนักจนทำให้เครื่องปั่นไฟพังบ่อยครั้ง สัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มักถูกตัดไปสักพักเหมือนกัน เสียงฝนดังจนรบกวนการถ่ายทอดสดของเราอยู่บ่อยๆ ส่วนในฤดูหนาวมันก็หนาวมากๆ เราจึงต้องขอผ้าห่มและเสื้อกันหนาวที่คนบริจาคให้ผู้ลี้ภัยมาใส่” 

ทุกๆ เช้าในรัฐกะเหรี่ยง จาล้างหน้าแปรงฟันโดยใช้น้ำจากลำธารที่ไม่สะอาดเท่าไหร่ สัตว์ป่าก็มากินน้ำที่นี่ ซ้ำยังมีขยะถูกทิ้งอยู่ใกล้ๆ

นอกจากคำบอกเล่าเรื่องความไม่สะดวกสบายในชีวิตประจำวันที่ก็ต่างออกไปในแต่ละฤดูกาล จายังจำความน่าหวาดกลัวในช่วงที่กองทัพพม่าโจมตีทางอากาศได้เป็นอย่างดี

“ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมปี 2566 ฉันไปทำงานในพื้นที่ปลดปล่อยอีกแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยงโดยไปฝังตัวอยู่กับกลุ่มติดอาวุธ ในช่วงนั้นเครื่องบินรบของกองทัพพม่าบินอยู่บนหัวบ่อยๆ ฉันไม่เคยได้หลับสบายๆ แม้แต่คืนเดียว

ในตอนกลางคืน ทุกครั้งที่ฉันได้ยินเสียงเครื่องบินที่ค่อยๆ ดังเข้ามาใกล้ ฉันต้องรีบวิ่งไปยังหลุมหลบภัย ฉันเคยเห็นและได้ยินเสียงระเบิดที่ตกลงมาใกล้ๆ ตัวฉัน ฉันเห็นบ้านเรือนถูกทำลายจากแรงระเบิดและกลายเป็นหมู่บ้านร้าง การได้ยินเสียงเครื่องบินที่ค่อยๆ ดังเข้ามาใกล้เรามันทำให้ฉันกลัวมากๆ เลย”

ชีวิตในพื้นที่ปลดปล่อยของจาคล้ายๆ กับเรื่องราวของนักข่าวหญิงชาวกะเหรี่ยงที่เคยทำงานภาคสนามในรัฐกะเหรี่ยงเช่นกัน เธอขอใช้นามแฝงว่า ดาห์เลีย*

“เครื่องบินจะมาตอนกลางคืน เป็นแบบนั้นอยู่ 3 เดือน ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอย่างอื่นเลยนอกจากว่าต้องเอาชีวิตให้รอด เราต้องไปหลบระเบิดที่หลุมหลบภัยใต้ภูเขา ต้องเอาเปลไปนอน อากาศก็หนาวด้วย มีน้ำค้างตกลงมา”

ในช่วงที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกทิ้งระเบิด ดาห์เลียและเพื่อนร่วมงานอพยพมาหลบอยู่ใต้ภูเขา โดยมีการตัดไม้ไผ่มารองพื้นก่อนปูทับด้วยเสื่อ ส่วนของที่เตรียมมาใช้ทำงานก็วางไว้ไม่ห่างตัว ทั้งโน๊ตบุ๊ก โทรศัพท์ สมุดจด รวมถึงปืน ขณะที่ทางขวาของภาพจะเห็นลังบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและน้ำที่เตรียมมารับประทาน

ตามข้อมูลจากรายงานเรื่อง “ความต้องการด้านความปลอดภัยของนักข่าวหญิงพม่าในประเทศไทย” ระบุว่า นักข่าวหลายคนที่เข้าร่วมในการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussions) เห็นถึงความแตกต่างที่มีนัยยะสำคัญของสุขภาพจิตระหว่างช่วงที่อยู่ในพม่ากับช่วงที่ย้ายมาอยู่ในไทย

หลายคนเน้นย้ำถึงผลกระทบที่รุนแรงจากการอดนอนในช่วงที่อาศัยในพม่า ซึ่งปัญหานี้ก็ดีขึ้นหลังจากที่ย้ายมาอยู่เมืองไทย เนื่องจากไม่ต้องอยู่ในภาวะหวาดกลัวตลอดเวลาว่าจะถูกจู่โจมตอนกลางคืน

เสี่ยงถูกคุกคามทางเพศ

เมื่อเดือนมีนาคมปี 2566 ผู้สื่อข่าวประชาไทมีโอกาสเดินทางไปยังบริเวณพื้นที่ปลดปล่อยในรัฐกะเหรี่ยง นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้พบกับดาห์เลียที่ทำข่าวอยู่ที่นั่น เธอเป็นผู้หญิงไม่กี่คนท่ามกลางนักข่าวชายที่มีจำนวนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เธอเล่าให้ประชาไทฟังเรื่องการถูกคุกคามทางเพศ

“ตอนนั้นมีผู้หญิงกะเหรี่ยงแค่ 3 คน ท่ามกลางผู้ชาย 10 กว่าคน ส่วนใหญ่ก็ปกติดี เป็นเพื่อนกัน แต่ตรงนั้นมันจะมีผู้ชายคนหนึ่งที่อยากจะฉวยโอกาสกับเรา มีมาเกาะเรา ดึงเรา…เขามีลูกมีเมียแล้วด้วย ไม่ได้เข้าหาเพราะรักหรือมาจีบ”

วิธีเอาตัวรอดของดาห์เลียคือการเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนที่มาจากรัฐเดียวกันได้รับรู้ และพยายามเกาะกลุ่มอยู่กับเพื่อน เธอยังได้พูดเตือนชายคนนั้นให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว พร้อมทั้งขู่ด้วยว่าถ้ายังไม่หยุด เธอจะรายงานเรื่องนี้ต่อองค์กรสตรีในรัฐกะเหรี่ยง

เกี่ยวกับดาห์เลีย พื้นเพเกิดที่รัฐกะเหรี่ยง แต่เมื่ออายุ 10 ขวบเธอก็ย้ายมาเติบโตที่ฝั่งไทย เนื่องจากเหตุการณ์การสู้รบในฝั่งพม่า เธอค่อนข้างรู้สึกปลอดภัยกับประเทศไทย ทั้งยังมีบัตร 10 ปี หรือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งอนุญาตให้เธอเดินทางได้ภายในจังหวัด ส่วนในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกจังหวัด เธอก็สามารถขออนุญาตที่อำเภอและเดินทางได้ตามปกติ

 

ปัญหาสถานะอยู่อาศัย

ตามข้อมูลจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติที่ต้องการอยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย จะต้องมีเอกสารดังนี้

  1. เอกสารแสดงสิทธิในการอยู่อาศัยชั่วคราวในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย

มี 2 แบบ คือ ก. เข้าเมืองถูกกฎหมาย และ ข. เข้าเมืองผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยได้ชั่วคราว

คือ ต้องมีเอกสารรับรองตน เช่น หนังสือเดินทาง + วีซ่า หรือมีบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู)

  1. เอกสารแสดงการได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยได้ หรือ มีใบอนุญาตทำงาน

     

ภาพจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

สำหรับนักข่าวพลัดถิ่น 3 คนที่ประชาไทได้พูดคุย จะเข้ากรณีที่ 1. ในข้อ ข. ดังนี้ หมี่ อยู่ไทยได้แบบชั่วคราวด้วยวีซ่านักเรียน ส่วน จา ทำบัตรสีชมพูและบัตร CI แล้ว จึงอยู่ในสถานะแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ เค ซเว พยายามทำเรื่องอยู่

ส่วนดาห์เลีย นักข่าวชาวกะเหรี่ยง เป็นกรณีที่แยกออกมา เธอมีสิทธิอยู่อาศัยในไทยเนื่องจากถือครองบัตร 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดล้วนยังไม่ได้รับการรับรองจากทางการไทยในฐานะสื่อมวลชน เฉกเช่นนักข่าวต่างชาติประเทศอื่น

สำหรับจาที่ดูจะมีสถานะอยู่อาศัยที่มั่นคงที่สุด กว่าเธอจะได้ทำเอกสารทั้งหมดจนเรียบร้อยมันก็ไม่ง่ายเลย  ช่วงหนึ่งเธอเคยลักลอบเข้ามาอยู่ฝั่งไทยโดยที่พยายามจะทำบัตรสีชมพู แต่ก็ต้องรออยู่นานมากและสุดท้ายก็ไม่ได้บัตรด้วย

“ (ที่นั่น) ฉันเคยถูกล่ามที่เป็นผู้ชายที่สถานีตำรวจพูดคุกคามและเหยียดหยาม พวกเขาบังคับให้ฉันปลดล็อกโทรศัพท์มือถือเพื่อดูข้อมูลส่วนตัว รวมทั้งรูป วิดีโอ และข้อความ

ล่ามคนนั้นถามฉันว่าฉันแต่งงานหรือยัง เขาใช้มือถือของฉันโทรไปที่เครื่องของเขาเพื่อที่จะได้เบอร์ฉันไว้ เขายังชวนฉันออกไปเที่ยวกับเขา ฉันกลัวและโกรธแต่ไม่ได้ตอบโต้กลับไป เพราะก็กังวลว่าพวกเขาจะหาเหตุผลมาจับฉัน เพราะตอนนั้นฉันก็อยู่ที่สถานีตำรวจ”

จาย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2566 ต่อมาจึงพบว่าบรรยากาศที่เมืองท่องเที่ยวแห่งนี้มีความแตกต่างจากเมืองชายแดนที่เธอเคยอยู่มาก ที่นั่นเธอเคยถูกจับ 2 ครั้ง เช่นเดียวกับคนพม่าคนอื่นๆ ที่เผชิญการตรวจตราที่เข้มข้นและตกเป็นเป้าให้เจ้าหน้าที่รัฐรีดไถจับกุม

“พอฉันย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ฉันก็จัดการทำบัตรชมพูและบัตร CI เพื่ออยู่ที่นี่และเดินทางไปที่ต่างๆ ในไทยได้อย่างถูกกฎหมาย กว่าจะได้บัตรก็ใช้เวลาเป็นปี

ตอนนี้ฉันมีเอกสารทุกอย่างแล้ว ฉันสามารถเดินทาง เปิดบัญชีธนาคาร และลงทะเบียนเบอร์โทรศัพท์โดยใช้ชื่อของตัวเองได้ และที่สำคัญที่สุด การมีเอกสารอย่างถูกกฎหมายทำให้ฉันอยู่ในเมืองไทยได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฉันยังคงขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานทั่วไป ดังนั้นการทำงานเป็นนักข่าวพม่าในไทยจึงยังไม่ถูกกฎหมาย และฉันก็ยังกังวลว่าตำรวจจะเข้ามาจับกุมที่สำนักงาน เพราะว่าเราไม่ได้มีใบอนุญาตสำหรับทำสำนักข่าว” จาบอก

รายงานชิ้นนี้เป็นผลงานจากกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย Borders & Broader Conversations Initiative 

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top