‘วิสามัญมรณะ’ หรือการฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันลอยนวลพ้นผิดของไทย การตายของสามัญชนในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและแทบไม่เคยมีเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิด ไม่ว่าจะกรณีน้องเมย, ชัยภูมิ ป่าแส หรือการตายของทหารเกณฑ์ในค่ายทหาร เหล่านี้คือความตายไร้เสียงของสามัญชนและเป็นโฉมหน้าที่แท้จริงของรัฐไทย
การใช้ความรุนแรงและการสังหารหมู่โดยปฏิบัติการหรือนโยบายของรัฐเป็นความตายที่มีเสียงและมีที่อยู่ที่ยืนในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างเหตุการณ์กันอีก ทว่า ท่ามกลางชีวิตปกติประจำวันของผู้คนยังมีความตายอีกประเภทที่สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกว่าเป็นความตายไร้เสียง ความตายที่เงียบงัน…
หรือ ‘วิสามัญมรณะ’ ความตายของสามัญชนที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งยังมีการศึกษาเพียงน้อยนิด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือสมชายชวนพิจารณาการตายของผู้คนในสถานการณ์ปกติอันเกิดจากความรุนแรงของรัฐที่แฝงอยู่ เกิดขึ้นกระจัดกระจายทั่วไปในชีวิตประจำไม่ว่าจะกับใคร หรืออาจจะเกิดกับตัวเราเองในสักวันหนึ่ง
สมชายกล่าวว่า “วิสามัญมรณะเป็นการตายที่ไร้เสียง มันไม่มีแม้กระทั่งการนับจำนวนด้วยซ้ำ เรื่องราวที่พูดถึงอาจจะมีอยู่บ้างในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่หลังจากนั้นมันจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีการรําลึกถึง ถูกลืมเลือนไป ผมลองพยายามไปไล่ดูเหตุการณ์พบว่าเรื่องพวกนี้ไม่มีบันทึกรายละเอียดไว้ แค่การเริ่มต้นจากการนับจำนวนสังคมไทยหรือรัฐก็ยังไม่เคยนับอย่างแท้จริงว่าในแต่ละปีมีคนที่ต้องตายโดยมีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องมากเท่าไหร่”
การสํารวจผ่านหนังสือพิมพ์ปี 2561 และ 2562 ของสมชายพบว่าในปี 2561 มีวิสามัญมรณะ 30 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 35 ราย ปี 2562 มี 35 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 47 ราย โดยรวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากเหตุวิสามัญมรณะประมาณปีละ 30-50 ราย
อย่างไรก็ตาม สมชายย้ำว่าจำนวนข้างต้นเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำเฉพาะที่เป็นข่าว ซึ่งไม่มีใครหรือหน่วยงานใดรู้ว่าตัวเลขที่แท้จริงคือเท่าไหร่ เนื่องจากไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้เลย
เหยื่อ
ใครบ้างที่เป็นเหยื่อของการวิสามัญมรณะ สมชายตอบว่าคนทั่วไปใครก็ได้ที่ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐด้วยข้อกล่าวหาบางประการหรืออยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย ทหารเกณฑ์ นักเรียนนายร้อย หรือคนโชคร้ายสักคนหนึ่ง มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดได้เป็นปกติโดยไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือความรุนแรงขนาดใหญ่
คำถามสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อเกิดกรณีวิสามัญมรณะขึ้น กระบวนการยุติธรรมปฏิบัติอย่างไรต่อความตายที่เงียบงันเหล่านี้ มีใครต้องรับผิดชอบต่อผู้สูญเสีย ญาติพี่น้องได้รับการเยียวยาอะไรบ้าง
“กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการปกติ ไม่มีการออกกฎหมายพิเศษ เป็นการตายที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ค่อนข้างปกติ ไม่มีศาลพิเศษ อันนี้เป็นคําถามที่ผมพยายามจะคลี่ว่า เฮ้ย ทําไมเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการทางกฎหมายจัดการอะไรกับเรื่องนี้บ้าง รวมถึงคนที่สูญเสียโต้ตอบกับเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร”
เราจะค่อยๆ ตอบไปทีละคำถาม
ความผิดปกติกรณีโจ ด่านช้าง
ทำไมการวิสามัญมรณะจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สมชายให้คำตอบว่าเพราะเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องแทบจะไม่ต้องรับผิด มีการรับผิดเกิดน้อยมาก เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ปี 2539 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมโจ ด่านช้างหรือศุภฤกษ์ เรือนใจมั่นและพวกในข้อหาค้ายาเสพติดที่จังหวัดสุพรรณบุรี
สมชายเล่าว่าหลังจากจับกุมตัวโจ ด่านช้างและพวกรวม 6 คนได้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็นำตัวทั้ง 6 คนมาขึ้นรถ แต่ปรากฏว่าอยู่ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับพาทั้ง 6 คนกลับไปยังตัวบ้านที่ทำการจับกุมจากนั้นก็มีเสียงปืนหลายนัดตามมา
“ผมคิดว่าตำรวจไม่ต่ำกว่า 25 คนก็ลุยเข้าไปจับใส่กุญแจมือออกมา ตอนนั้นผมดูข่าวนี้อยู่พอดี พอพามาปุ๊บกําลังจะเดินขึ้นรถ ไม่รู้ตำรวจคิดอะไร ตำรวจหันหลังพาโจ ด่านช้างเดินกลับเข้าไปในบ้านอีกรอบหนึ่ง แล้วพอเข้าไปในบ้านปุ๊บก็มีเสียงปืนดังขึ้น 10 นัด ตำรวจก็วิ่งกระเจิงกันออกมาแล้วบอกว่าโจ ด่านช้างขัดขืนการจับกุม ตำรวจเลยจัดการวิสามัญซะพร้อมกับพรรคพวก 6 ศพ ตำรวจไม่มีใครตาย
“โจ ด่านช้างถูกใส่กุญแจมือแล้ว ถูกปลดอาวุธแล้ว แล้วพอเข้าบ้านไปปุ๊บกล้ากระโดดไปแย่งปืนจากตำรวจเหรอ แล้วตำรวจแต่งชุดแบบเต็มอัตราศึกเลย เหตุการณ์นี้มีตำรวจที่มีชื่อเสียงอยู่นะครับ ผลปรากฏว่าในตอนหลังตำรวจสำคัญสองคนที่ทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติการก็เลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจเอกทั้งคู่ มีใครถูกลงโทษจากเหตุการณ์นี้ ก็ขนาดผู้บังคับบัญชายังเลื่อนขั้นมาตามระดับเลย ผมเดาว่าไม่มีใครถูกลงโทษจากเหตุการณ์นี้เลยทั้งที่เหตุการณ์นี้น่าสงสัยมาก”
หรืออย่างเช่นคดีน้องเมยหรือภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารที่ถูกซ่อมให้เอาหัวปักพื้นและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ถามว่ามีใครต้องรับผิดชอบบ้าง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เกลี้ยกล่อม ข่มขู่ผู้เสียหาย
กลับมาทางฝั่งผู้เสียหาย หลายกรณีที่สมชายลงพื้นที่ไปพูดคุยพบว่าการใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเรื่องยากตั้งแต่แสดงเจตจำนงว่าจะดำเนินคดี สิ่งแรกที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญคือปฏิบัติการของฝ่ายอำนาจรัฐในหลากหลายรูปแบบ เบาสุดคือไปเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับสภาพ มอบเงินเยียวยา เสนอให้ญาติพี่น้องเข้ารับราชการ ไปจนถึงการข่มขู่คุกคาม
“มีบางคนที่ผมไปคุยด้วยซึ่งยืนยันว่าจะสู้คดี ยืนยันว่ามีการเสนอเงิน เสนอตำแหน่งให้เข้าไปทำงานแทนผู้ตาย ผู้สูญเสียไม่ยอม ผลปรากฏว่าตอนจัดงานศพมีกระสุนปืนมาวางเรียงกันอยู่หน้างานศพ อันนี้คือการข่มขู่ หมายความว่าเวลาที่คนอยากจะสู้คดี เริ่มต้นก็จะเจอปัญหาว่าจะสู้จริงเหรอ ไม่ง่ายนะ รับเงินไปเถอะดีกว่าตายฟรี ไม่อย่างนั้นเอาเข้ามาทำงาน ถ้าเกลี้ยกล่อมไม่ได้ก็ใช้วิธีการข่มขู่ พอถึงจุดหนึ่งคนก็อาจจะลังเล”
เป็นเหตุให้มีคดีวิสามัญมรณะจำนวนมากตกหล่นไป ผู้สูญเสียเลือกที่จะหยุด ไม่เดินหน้าใช้กระบวนการกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายในการเรียกร้องให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
ไต่สวนการตายที่ไร้ประโยชน์
แล้วถ้าผู้เสียหายืนยันจะเดินหน้าต่อล่ะ? พวกเขาจะต้องเผชิญกับกระบวนการที่ยุ่งยาก 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ หนึ่งคือการชันสูตรพลิกศพสำหรับกรณีการตายที่ผิดธรรมชาติเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตโดยมีองค์กร 4 ฝ่ายเข้าร่วม ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์ อัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ขั้นตอนที่ 2 คือการไต่สวนการตายโดยศาล
“ศาลจะเป็นคนสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไหร่ เหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำเท่าที่จะทราบได้” ซึ่งทั้งสองขั้นตอนล้วนมีความยุ่งยาก
สมชายยกกรณีตากใบปี 2547 เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมขึ้นรถทหารโดยให้นอนซ้อนกันเป็นชั้นๆ แล้วขับรถจากนราธิวาสเพื่อไปควบคุมตัวต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ศพจากการขนย้าย
“การไต่สวนการตายของศาลบอกว่าสาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ปัญหากลายเป็นว่าการไต่สวนการตายศาลไปพูดถึงเหตุทางกายภาพ ศาลไม่ได้บอกว่าที่ขาดอากาศหายใจเพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจรัฐให้นอนทับๆ กัน”
“กรณีชัยภูมิ ป่าแส ปี 2560 คำสั่งไต่สวนการตายของชัยภูมิ ป่าแสที่ถูกยิงตาย ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายชัยภูมิ ป่าแส ตายที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ถนนหมายเลข หมู่ที่ ตำบล อำเภอ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกพลทหารใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง กระสุนทะลุต้นแขนซ้ายด้านในและกระสุนแตกทะลุเข้าไปในลําตัวบริเวณสีข้างด้านซ้าย กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่ หัวใจ และปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย คำสั่งไต่สวนการตายของศาลก็คือบอกว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ ตายเพราะถูกกระสุนปืน แต่ว่าไม่บอกว่าที่ถูกกระสุนปืน ใครยิง แล้วก็ถือว่าเป็นการยิงที่ชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า ศาลไม่ได้เข้าไปยุ่งในเรื่องต่างๆ เหล่านี้”
เมื่อศาลไม่ทำงาน
สมชายชี้ว่าคำสั่งไต่สวนการตายถือเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้เกิดความรับผิดขึ้นได้ ในกรณีชัยภูมิ ป่าแส ยังปรากฏอีกว่าหลังเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาระดับสูงในพื้นที่บอกว่าตนได้ดูกล้องวงจรปิดแล้วและพูดทำนองถูกต้องแล้วที่ยิง ถ้าเป็นตนอาจกดออโต้หรือยิงเป็นชุดไปแล้ว เหตุนี้ทนายจึงเรียกให้นําเอากล้องวงจรปิดเข้ามาเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ทางกองทัพบกตอบกลับมาว่าไม่พบข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดวันเกิดเหตุ
“ผมคิดว่าในแง่นี้ศาลน่าจะเป็นองค์กรที่สามารถเรียกพยานหลักฐานอันนี้เข้ามาได้ เพราะตอนที่มีการฟ้องคดีกันให้มีความรับผิดเกิดขึ้นนี่เป็นพยานหลักฐานสำคัญว่าทหารยิงเพื่อป้องกันตัวจริงหรือเปล่า แต่ในคําพิพากษาศาลเห็นว่าพยานหลักฐานต่างๆ เพียงพอต่อการวินิจฉัย ไม่ได้เรียกภาพจากกล้องเข้ามาสู่คดี”
เห็นได้ว่ากรณีการตายที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องพยานหลักฐานส่วนใหญ่จะอยู่ในมือเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำพยานหลักฐานที่ชัดเจนออกมาได้ โอกาสที่จะลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงย่อมเป็นไปได้ยากมาก
“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติผมเป็นทหารเกณฑ์ แล้วมีเพื่อนทหารเกณฑ์ผมถูกซ้อมจนตาย ผมอยู่ในเหตุการณ์ คําถามคือถ้าต้องไปขึ้นศาลผมกล้าพูดหรือว่าครูฝึกเป็นคนซ้อมจนตาย ถ้าผมบอกว่าผมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร จะซ้อมกูต่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ หมายความว่ามันไม่มีหลักประกันอะไรเลย ถามผมนี่กล้องวงจรปิดมันช่วยได้แต่ผลปรากฏว่าพอมีกล้องวงจรปิดซึ่งคนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐเองก็บอกว่าเห็น แบบนี้มันควรต้องถูกดึงมา สิ่งที่ผมบอกคือพยานหลักฐานสำหรับคดีพวกนี้มันไม่ง่าย เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมควรต้องทำหน้าที่บทบาทเชิงรุกที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงมาจึงจะทำให้เกิดการลงโทษเกิดขึ้นได้ แต่เราจะพบว่ามันไม่ค่อยเกิดขึ้นมากเท่าไหร่มันเป็นไปได้ยากมาก”
Justice delayed is justice denied
อีกหนึ่งความยากลำบากของการเอาเจ้าหน้าที่รัฐคือ เวลา เพราะนอกจากการเข้าถึงพยานหลักฐานจะเป็นไปได้ยากแล้ว การพิจารณาคดียังใช้เวลายาวนานมาก สมชายกล่าวว่ามีคดีหนึ่งที่ภาคใต้เหตุเกิดปี 2554 ศาลตัดสินปี 2566 ใช้เวลา 12 ปี
“มีสุภาษิตทางกฎหมายว่า Justice delayed is justice denied ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความยุติธรรมที่ถูกปฏิเสธ กรณีวิสามัญมรณะมันโคตรรดีเลย์เลย พอแบบนี้มันเลยทำให้การลงโทษหรือการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับความตายชนิดนี้มันเกิดขึ้นได้ยาก
“พอมันเกิดขึ้นได้ยากจึงทำให้ดูเสมือนว่าไม่ค่อยมีบทเรียน เพราะฉะนั้นคําถามว่าทําไมได้ยินข่าวทหารเกณฑ์ถูกซ้อมตาย ถูกซ่อมตาย ถูกฝึกจนพิการเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในแง่หนึ่งมันเห็นได้ชัดว่าการที่จะทำให้เกิดความรับผิดมันเกิดขึ้นได้ยากมาก มันอาจจะมีบางคดีที่มีความรับผิดเกิดขึ้น แต่ก็ใช้ระยะเวลา แล้วผู้สูญเสียที่จะเรียกร้องก็ต้องออกแรงเยอะมากในการทำให้เกิดความรับผิด ให้เกิดการเยียวยากับความเสียหายเกิดขึ้น”
โฉมหน้าที่แท้จริงของรัฐไทย
สมชายมองว่าวิสามัญมรณะเป็นปัญหาโดยรวมทั้งกระบวนการยุติธรรม เช่นเคยมีคนขับรถผ่านด่านถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิงเสียชีวิต หลังเกิดเหตุก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเคลียร์พื้นที่ เก็บปลอกกระสุน โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งต้องทำบทบาทนี้ไม่ได้ทำ เนื่องจากหน่วยงานรัฐนั้นเป็นหน่วยงานที่ใหญ่กว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่กล้าขัดขวาง
เหตุการณ์ลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บพยานหลักฐาน การชันสูตรพลิกศพ การไต่สวนการตาย จนถึงในชั้นศาล
“ผมคิดว่านี่คือโฉมหน้าที่แท้จริงของรัฐไทย เพราะมันเป็นสภาวะปกติ มันไม่ใช่สภาวะพิเศษที่มีความขัดแย้งขนาดใหญ่ แต่อันนี้คือสภาวะปกติที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันทำให้เราเห็นโฉมหน้าอันแท้จริงของรัฐไทยได้ชัดเจนขึ้นว่าทําไมรัฐไทยจึงสามารถใช้ความรุนแรงกับผู้คน”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทำให้มองเห็น
งานศึกษาลักษณะนี้ข้อเสนอที่ออกมามักเป็นไปในทำนองว่าต้องเพิ่มการตรวจสอบ ซึ่งสมชายเห็นว่าไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร เขาจึงเสนออีกมุมหนึ่งคือชวนสังคมให้ความสนใจต่อความรุนแรงของรัฐที่ทำให้เกิดความตายขึ้นและเป็นความรุนแรงที่เงียบงันเพิ่มขึ้น นักวิชาการหรือสื่อมวลชนจะต้องเกาะติด วิจัย หรือศึกษาความรุนแรงชนิดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น เนื่องจากความรุนแรงลักษณะนี้เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและใครๆ ก็อาจเข้าไปเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบ
สำหรับหน่วยงานรัฐ สมชายเสนอให้มีหน่วยงานที่ทำการรวบรวมข้อมูลวิสามัญมรณะ จําแนกแยกแยะ จัดประเภท ขนาด และระดับของความรุนแรง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เห็นสถิติแล้ว ยังช่วยให้สังคมเกิดความสนใจ และมีข้อมูลในการติดตามตรวจสอบต่อไป
“ผมคิดว่าอย่าไปคาดหวังว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับความมั่นคง หน่วยงานเหล่านี้ในเมืองไทยถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องรัฐ ถ้าถามผมผมคิดว่าควรสนับสนุนหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กลไกรัฐหรือจะเป็นกลไกรัฐแต่ต้องเป็นองค์กรที่มันค่อนข้างอิสระ อย่างเช่นคณะกรรมการสิทธิฯ อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้องได้หรือจะทำยังไงให้องค์กรเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้มีบทบาทมากขึ้นในการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ
“การทำให้เกิดการตรวจสอบและให้มีความรับผิดควรคิดถึงองค์กรที่พอจะมีความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ถ้าจะทำให้เรื่องนี้ถูกมองเห็น ถูกจัดการ และถูกแก้ไข ในเบื้องต้นต้องทำให้มันถูกมองเห็นก่อน ถ้ามันยังไม่ถูกมองเห็นผมคิดว่าโอกาสที่ไปคิดถึงประเด็นอื่นน่าจะยาก” สมชายกล่าวปิดท้าย