เมื่อจดหมายคือสิ่งฮีลใจผู้ต้องขัง แค่ขาด 'ปากกา' ก็เหมือนถูกตัดจากโลกแต่เงื่อนไขในคุกยังเพิ่มอุปสรรค

เมื่อจดหมายคือสิ่งฮีลใจผู้ต้องขัง แค่ขาด 'ปากกา' ก็เหมือนถูกตัดจากโลกแต่เงื่อนไขในคุกยังเพิ่มอุปสรรค

เมื่อจดหมายคือสิ่งฮีลใจผู้ต้องขัง แค่ขาด ‘ปากกา’ ก็เหมือนถูกตัดจากโลกแต่เงื่อนไขในคุกยังเพิ่มอุปสรรค
admin666
Tue, 2024-09-03 – 12:10

เมื่อการได้เขียนจดหมายและได้รับจดหมายจากเพื่อนและครอบครัวของผู้ต้องขังคดีการเมือง เป็นเพียงกิจกรรมไม่กี่อย่างที่ผู้ต้องขังจะทำได้ในคุก แต่ล่าสุดเมื่อปัญหาขาด “ปากกา” ที่คนนอกคุกอาจนึกไม่ถึงว่าเป็นปัญหาได้อย่างไรเพราะแค่ปากกาหายจะหาใหม่เท่าไหร่ก็ได้กลับเป็นปัญหาที่ทำให้คนในคุกเสียช่องทางการติดต่อไปโดยปริยาย 

แต่เรื่องนี้ยังถูกขยายไปถึงอุปสรรคในการใช้แอพ DomiMail ที่กรมราชทัณฑ์ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือให้คนในเรือนจำได้สื่อสารกับเพื่อนและครอบครัวที่รออยู่ข้างนอก แต่เงื่อนไขต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามาภายหลังยังเพิ่มอุปสรรคที่คนในคุกจะสื่อสารกับคนข้างนอกเพิ่มขึ้นอีก

เมื่อ “ปากกา” ขาดตลาดในคุก

ช่วงเที่ยงของวันที่ 2 ก.ย.2567 เฟซบุ๊กส่วนตัวของ อานนท์ นำภา โพสต์ว่ามีคำถามจากคนในเรือนจำว่า “ไม่เอาปากกามาขายเป็นเดือนแล้วจะให้เขียนจดหมายกับอะไร?” ซึ่งเป็นคำถามที่อานนท์ที่ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฝากภรรยาออกมาถามต่อการจัดการของทางเรือนจำ

“ลูกหว้า” ภรรยาของอานนท์เล่าว่า อานนท์บอกกับเธอว่าทางเรือนจำไม่เอาปากกาเข้ามาขายประมาณ 1 เดือนแล้วทำให้ปากกาในเรือนจำตอนนี้ขาดตลาด แต่ก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไรทางเรือนจำถึงไม่นำเข้ามาซึ่งสำหรับผู้ต้องขังถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับใช้ในการสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนๆ เพราะจะต้องใช้เขียนสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารใส่กระดาษเพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำนำไปสแกนใส่ในแอพชื่อ ‘DomiMail จดหมายหลังกำแพง’ ที่ทางกรมราชทัณฑ์ออกแบบมาสำหรับให้ผู้ต้องขังกับคนนอกเรือนจำรับ-ส่งจดหมายหากันได้ แม้ว่าสำหรับคนนอกจะส่งง่ายกว่าเพราะแค่พิมพ์เข้าไปในแอพก็ส่งได้แล้ว

ภรรยาของอานนท์บอกว่าเหตุที่ต้องหมั่นซื้อปากกาให้เพราะว่าปากกาแท่งละ 5 บาทที่ขายในเรือนจำมีปัญหาเรื่องคุณภาพด้วย อานนท์เล่าให้เธอฟังด้วยว่าปากกาที่มีให้ใช้ในเรือนจำนี้มักจะเขียนได้ไม่มากนักก็เขียนไม่ออกแล้ว อีกทั้งตอนซื้อก็ไม่สามารถลองก่อนซื้อเหมือนเวลาซื้อปากกาจากร้านเครื่องเขียนทั่วๆ ไป

แต่นอกจากกรณีของอานนท์แล้ว ปัญหาเรื่องเรือนจำไม่ขายปากกาให้ผู้ต้องขังนี้ยังถูกยืนยันจาก “เข็ม” กลุ่มเพื่อนขนุน(สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ผู้ต้องขังคดี มาตรา 112) ที่เล่าว่าเจอปัญหาเดียวกันนี้เมื่อเธอขอสั่งซื้อปากกากับทางเรือนจำให้กับขนุนผ่านแชท Line ของ “ร้านค้าพิเศษกรุงเทพ” โดยทางร้านค้าตอบกลับเธอว่าปากกาน้ำเงินปิดการขายอยู่และจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งเมื่อเปิดจำหน่ายยังไม่ต้องสั่งซื้อเข้ามา

ภาพจากแชท Line ที่เข็มได้มาจากแม่ของสิรภพเป็นการส่งข้อความหาร้านค้าของเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อสั่งสินค้าให้คนในเรือนจำ

เงื่อนไขรับ-ส่งจดหมายที่เพิ่มมาในคุก

แต่ปัญหาเรื่องปากกาเป็นเพียง 1 ในอุปสรรคของการสื่อสารระหว่างคนนอก-ในเรือนจำเท่านั้น อีกปัญหาในเวลานี้คือข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นมาในระบบการรับ-ส่งจดหมายผ่านแอพ DomiMail ด้วย

ภรรยาของอานนท์เล่าด้วยว่าเท่าที่ทราบจากอานนท์ พบว่าภายในเรือนจำมีประกาศติดแจ้งกับคนในเรือนจำว่า ผู้ต้องขังจะสามารถรับจดหมายได้เฉพาะจากคนใน 10 รายชื่อที่ลงทะเบียนเข้าเยี่ยมกับทางเรือนจำเท่านั้น

“เดิมคนที่ไปเยี่ยมที่เรือนจำมันกำหนดว่าเป็น 10 รายชื่อมันก็ทำให้จำกัดพอแล้วในการที่ผู้ต้องขังจะได้เจอคนอื่น แต่มันยังจำกัดไปยันจดหมายด้วยในตอนนี้” ลูกหว้ากล่าว

ภรรยาของอานนท์บอกอีกว่ายังมีอีกเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามาด้วยคือ ผู้ต้องขัง 1 คนใน 1 วันจะสามารถส่งจดหมายออกได้ 1 ฉบับและรับจากข้างนอกได้ 1 ฉบับเท่านั้น ซึ่งเดิมทีหากครอบครัวของผู้ต้องขังคนไหนสามารถซื้อจดหมายให้ผู้ต้องขังได้สม่ำเสมอก็จะสามารถส่งเข้าออกแค่ไหนก็ได้ แต่เธอไม่ทราบว่าข้อกำหนดนี้ถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไปทุกเรือนจำหรือเฉพาะกับที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ อีกทั้ง 2 เงื่อนไขที่เพิ่มมานี้ยังไม่ถูกระบุอยู่ในเงื่อนไขการใช้บนแอพ DomiMail ด้วย

ลูกหว้ามองว่าเงื่อนไขที่เพิ่มมาเหล่านี้เป็นเหมือนกฎย่อยที่ถูกเพิ่มเข้ามาเฉพาะเรือนจำ เพราะเธอพบว่าในกรณีของเรือนจำหญิงก็มีการกำหนดให้รับ-ส่งจดหมายได้แค่เฉพาะเสาร์และอาทิตย์เท่านั้นด้วย ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าแต่ละเรือนจำไม่ได้มีมาตรฐานในการจัดการแบบเดียวกัน

แต่จากปัญหาที่ผู้ต้องขังถูกจำกัดจำนวนจดหมายที่ส่ง-รับเหลือแค่วันละ 1 ฉบับ ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องตามมาด้วย

เข็มกลุ่มเพื่อนของขนุนเล่าด้วยว่าหากมีคนอื่นส่งจดหมายหาผู้ต้องขังคนเดียวกันในวันเดียวกันจะทำให้จดหมายของคนที่ส่งไปถูกนับว่าใช้ไปด้วยแม้ว่าจดหมายฉบับนั้นจะไปไม่ถึงมือผู้ต้องขังก็ตามทั้งที่เป็นจดหมายที่เสียเงินซื้อไปแล้ว

ตามระบบของ DomiMail แล้ว ครอบครัวของผู้ต้องขังก็จะต้องเป็นคนซื้อทั้งจดหมายขาเข้าสำหรับให้คนข้างนอกเขียนถึงคนในเรือนจำและยังต้องซื้อจดหมายขาออกให้กับผู้ต้องขังด้วย โดยการซื้อถูกกำหนดว่าจะต้องซื้อครั้งละ 10 ฉบับเป็นราคา 100 บาท ดังนั้นเมื่อต้องซื้อสำหรับทั้งขาเข้าและออกจึงรวมเป็น 20 ฉบับ 200 บาท และการซื้อก็มีค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตถ้าซื้อผ่านแอพหรือค่าธรรมเนียมของเคาเตอร์เซอร์วิสถ้าซื้อผ่านร้านสะดวกซื้อ

ธนภัทร ธรรมโชติ หรือ ป๊อป เพื่อนของโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท ในกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เล่าว่าทางกลุ่มทำโครงการส่งจดหมายให้กำลังใจแก่ผู้ต้องขังทางการเมือง แต่การส่งจดหมายแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่าย แต่ในกรณีที่ส่งจดหมายหาเพื่อนๆ ในเรือนจำก็เจอปัญหาว่ากว่าจดหมายที่ส่งเข้าไปหรือผู้ต้องขังส่งออกมาก็ใช้เวลานานหลายวันกว่าจะถึงมือผู้รับ อย่างเช่นที่โสภณ ส่งให้กับเขาล่าสุดเพื่อให้นำไปเล่าในกิจกรรมที่เพื่อนๆ จัดในวาระครบรอบ 1 ปีที่ตัวเองถูกคุมขังก็ส่งมาถึงเขาหลังจากวันงานไป 7 วันทั้งที่โสภณก็ส่งออกมาล่วงหน้าก่อนแล้ว

นอกจากนั้นธนภัทร ยังเล่าด้วยว่าจดหมายที่โสภณส่งออกมาหาเพื่อนๆ บางครั้งก็ถูกเซนเซอร์เนื้อหา อย่างเช่นคำว่า “บีบแตร” เป็นต้น ซึ่งเขาเห็นว่าแม้จะเป็นเนื้อหาทางคดีแต่ถ้ามันไม่ได้ไปกระทบใครก็น่าจะผ่านออกมาได้ แล้วเท่าที่เขาทราบมาจากเพื่อนในเรือนจำก็คือบางครั้งก็การตรวจก็เอาผู้ต้องขังด้วยกันมาตรวจแล้วเจอคำบางคำก็กลายเป็นว่าจดหมายก็ออกมาไม่ได้

จดหมายที่โสภณส่งหาธนภัทรมีข้อความบางส่วนถูกลบ

เพื่อนของโสภณบอกด้วยว่าปัญหาที่เจอส่วนใหญ่จะเป็นจดหมายของผู้ต้องขังส่งออกมาไม่ถึงมือคนข้างนอกมากกว่าที่จดหมายที่คนข้างนอกส่งเข้าไปไม่ถึงผู้ต้องขัง เขายกตัวอย่างจดหมายของโสภณที่เขียนออกมาร่วมรำลึกถึงบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ผู้ต้องขัง ม.112 ที่เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง

“เก็ทพูดถึงการไว้อาลัยของบุ้งที่จากไป เนื้อหาเป็นเพื่อนเขียนถึงเพื่อน บางทีก็ไม่ถูกส่งออกมา” ธนภัทรเล่าและมองว่าจดหมายก็ซื้อมาแล้วแต่เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเนื้อหาในจดหมายยังถูกเซนเซอร์อีก

จดหมายที่โสภณส่งถีงธนภัทรเพื่อแจ้งว่าไม่สามารถส่งจดหมายที่เขียนไว้อาลัยให้เนติพรออกมาได้

เข็มบอกว่ากรณีของสิรภพก็เจอปัญหาในเรื่องนี้เช่นเดียวกันคือก่อนหน้านี้เคยส่งจดหมายเข้าไปแล้วยังไม่เจอปัญหาเรื่องจดหมายถึงมือช้าแต่พอสิรภพถูกย้ายแดนไปแดน 4 ในช่วงเดือน 2 เดือนนี้จดหมายของสิรภพเหมือนจะถูกตรวจมากขึ้นทำให้บางครั้งจดหมายถึงมือช้าหรือพอไปเยี่ยมสิรภพก็บอกว่าส่งจดหมายให้คนข้างนอกแล้วแต่คนข้างนอกยังไม่ได้รับก็ไม่รู้ว่าถูกเซนเซอร์หรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นจดหมายจากเพื่อนๆ ที่ส่งหาสิรภพ เข็มบอกว่ายังไม่เจอปัญหาว่าจดหมายส่งไปไม่ถึงมือสิรภพ

การเซนเซอร์ที่นำไปสู่ปัญหาการจัดการจดหมาย

ลูกหว้าสันนิษฐานว่าการออกกฎมาจำกัดจำนวนจดหมายเข้าออกนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามตรวจดูเนื้อหาจดหมายของผู้ต้องขังที่ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ต้องขังทางการเมือง แล้วก็เกิดปัญหาการจัดการของทางเรือนจำตามมาที่ไม่สามารถตรวจจดหมายได้ทั้งหมดหลังจาก DomiMail เริ่มมีคนใช้งานเพิ่มมากขึ้น เพราะเดิมทีจดหมายที่ส่งเข้าไปเป็นจดหมายกระดาษพอกลายมาเป็นส่งจดหมายผ่านแอพทำให้ขั้นตอนง่ายขึ้นมากกว่าเดิม

ภรรยาของอานนท์เล่าเสริมว่าทนายความของสิรภพเคยเล่าให้ฟังว่า สิรภพเองก็ใช้วิธีการเขียนจดหมายออกมาวันละหลายฉบับเพื่อบรรเทาความเครียดจากการต้องอยู่ในเรือนจำแต่พอถูกจำกัดก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของสิรภพไปด้วย

“คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็เป็นผู้ต้องขังทางการเมืองด้วย เพราะเราก็รู้กันว่าหลายคนที่อยู่ในเรือนจำมันมีคนสนใจติดตามชีวิตของเขาอยู่แล้วอยากให้กำลังใจ การที่รับจดหมายได้แค่วันละ 1 ฉบับจาก 10 ฉบับมันแปลว่าจดหมายต่างๆ มันจะช้าออกไปเรื่อยๆ หรือเปล่าถ้าสมมติว่ามีคนส่ง 10 ฉบับแล้วเขารับได้แค่วันละหนึ่งต่อคน” ลูกหว้ากล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

  • ‘The Letter : คนในส่งออก คนนอกส่งเข้า’ จดหมายสื่อความคิดถึงและอุดมการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมือง

รอดเซนเซอร์ก็ยังอาจมีปัญหาตามมา

ทั้งนี้นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว อีกประเด็นที่บรรดาผู้ใช้แอพ DomiMail ส่งจดหมายถึงผู้ต้องขังพบคือ เมื่อราววันที่ 30 ก.ค.2567 ที่ผ่านมาทั้งเพจของอานนท์และโสภณโพสต์ว่า แอพมีการอัพเดตใหม่พร้อมกับเพิ่มเงื่อนไขการใช้เข้ามาในข้อตกลงการใช้งานคือ “ห้ามนำจดหมายฯ ข้อความ ที่ได้รับจากผู้ต้องขัง ส่งต่อทางระบบโทรศัพท์ โพสต์ในระบบอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย”

เงื่อนไขการใช้แอพ DomiMail ที่ครอบครัวและเพื่อนๆ ของผู้ต้องขังใช้สำหรับส่งหาผู้ต้องขังที่มีการแจ้งว่าเงื่อนไขข้อ 1.4 เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามา

ในข้อตกลงการใช้งานยังระบุด้วยว่าในกรณีดังกล่าวหากการกระทำเป็นผลให้ผู้ให้บริการหรือเรือนจำฯ ได้รับความเสียหาย ผู้ให้บริการมีสิทธิฟ้องร้องทางแพ่ง อาญา และเรียกค่าเสียหายจากผู้ใช้บริการได้ทุกกรณี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ใช้รายใดที่ถูกแจ้งเตือนหรือถูกระงับการใช้แอพดังกล่าว

  • ข่าว

  • สิทธิมนุษยชน

  • DomiMail
  • เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
  • ปากกา
  • อานนท์ นำภา
  • ลูกหว้า
  • ธนภัทร ธรรมโชติ

ติดตาม “ประชาไท Prachatai.com” ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top