โฆษก ก.ต่างประเทศ แจง คนไทยดับ 12 ศพ รอทางการอิสราเอลยืนยันอีกครั้ง เผย แจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศแล้ว 1,099 คน ขณะที่กองทัพอิสราเอลอพยพคนไทยบางส่วนออกจากพื้นที่มายังจุดปลอดภัยแล้ว
วันที่ 9 ตุลาคม 2566 เมื่อเวลา 11.00 น. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวถึงความคืบหน้าเหตุการณ์การสู้รบในตะวันออกกลาง ของกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล ซึ่งรายงานเบื้องต้นมีแรงงานไทยเสียชีวิต และบาดเจ็บ ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้มีการแถลงข่าววันละ 2 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนทราบสถานการณ์ต่อเนื่อง คือเวลา 11.00 น. และ 17.00 น. เนื่องจากเวลาไทยและอิสราเอลห่างกัน 4 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สถานการณ์ยังคงมีความรุนแรง มีการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซา ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลพยายามกระชับพื้นที่เพื่อยึดคืน รวมถึงพยายามช่วยเหลือตัวประกัน ซึ่งมีทั้งพลเรือนทั้ง 2 ฝั่งได้รับผลกระทบ คืออิสราเอล และปาเลสไตน์ บาดเจ็บและเสียชีวิต มีการยืนยันว่ามีคนถูกจับตัวไปเป็นตัวประกันอย่างน้อย 100 คน ในหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ในพื้นที่นั้น รวมถึงคนไทย ตอนนี้กระทรวงกลาโหมของอิสราเอลประกาศว่าอยู่ในภาวะสงครามสถานการณ์พิเศษ ขณะเดียวกัน กองทัพอิสราเอล มีการประกาศจะอพยพพลเรือนออกจากพรมแดนฉนวนกาซา โดยจะพยายามทำให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจในสถานการณ์ก่อนว่าไม่มีผู้ก่อการร้ายในบริเวณนั้น เพื่อความปลอดภัยของพลเรือน

คนไทยดับ 12 ศพ ยังต้องรออิสราเอลยืนยันอย่างเป็นทางการ
อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลอิสราเอล มีการแจ้งไปยังสถานทูตประเทศต่างๆ เพื่อลดความกังวล ขณะที่ท่าอากาศยานยังเปิดทำการตามปกติ ปัจจุบันมีเที่ยวบินพาณิชย์เข้า-ออก ราว 50% โดยทางการอิสราเอลยืนยันว่าปลอดภัย แต่หากประเทศไหนจะอพยพก็ได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้ถูกจับกุมเป็นตัวประกัน พร้อมขอส่งกำลังใจให้สถานทูตไทย แรงงานไทยในพื้นที่ ยืนยันว่าทุกฝ่ายพยายามที่จะเข้าถึงแรงงานไทย และขอบคุณที่ทุกฝ่ายช่วยกันไม่ว่าจะด้านใด
สำหรับความคืบหน้าแรงงานไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รับแจ้งมีผู้บาดเจ็บ 8 คน ได้รับการดูแลในโรงพยาบาลแล้ว ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน ส่วนผู้เสียชีวิต สถานทูตได้รับแจ้งจากนายจ้างว่า อยู่ที่ 12 ราย แต่อิสราเอลยังไม่ได้ยืนยันเป็นทางการ ซึ่งจะติดตามต่อเนื่อง ส่วนเรื่องรายชื่อ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า ไม่อยากเปิดออกสื่อก่อนที่ญาติพี่น้องจะได้รับทราบ เพราะเกรงว่าจะตระหนกตกใจ

แจ้งความประสงค์อพยพกลับไทยแล้ว 1,099 คน
ขณะเดียวกัน กองทัพอิสราเอล เริ่มอพยพคนไทยบางส่วนไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว พร้อมกับให้สถานทูตช่วยแปลข้อปฏิบัติต่างๆ ให้พี่น้องแรงงานไทยรับทราบ ทางด้านการเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวานที่ผ่านมา (8 ตุลาคม 2566) มีการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานรักษาการนายกรัฐมนตรี นำประชุม (นายกรัฐมนตรีมีภารกิจเยือนต่างประเทศ 8-12 ตุลาคม 2566) ใรการประชุมมีการพูดคุยถึงการเตรียมเครื่องบินกองทัพอากาศเพื่ออพยพคนไทย จะได้ทำโดยคล่องแคล่วรวดเร็วเมื่อได้รับสัญญาณ
นางกาญจนา กล่าวต่อไปว่า ทางการอิสราเอลระบุว่า ยังไม่จำเป็นต้องอพยพ แต่ถ้าไทยต้องการอพยพก็พร้อมที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ขณะที่หลังจากสถานทูตเผยแบบสอบถามความประสงค์ในการอพยพกลับไทย โดยการตอบรับเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 เวลา 21.00 น. (ตามท้องถิ่น) พบว่า มีคนแจ้งความประสงค์ต้องการกลับไทย 1,099 คน ยังไม่ขอกลับอีก 22 คน เชื่อว่าจะมีทยอยแจ้งความจำนง เพราะคนไทยในอิสราเอลมีจำนวนกว่า 30,000 คน โดยอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซา 5,000 คน

“จากการประเมินสถานการณ์ของนักวิเคราะห์ฝ่ายต่างๆ คิดว่าปฏิบัติการครั้งนี้อาจจะมีความยืดเยื้อได้ ทางฝ่ายเราเตรียมการไว้ก่อนก็เป็นเรื่องที่ดี เมื่อมีความพร้อมก็จะได้ดำเนินการต่อไป ทางสถานทูตได้ประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐอิสราเอลทุกฝ่ายๆ รวมทั้งท้องถิ่น เพื่อที่จะหาหนทางช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ ท่านใดที่ติดต่อสถานทูตไม่ได้ ขอให้ใจเย็นๆ สถานทูตแจ้งมาว่าโทรศัพท์สายเข้าไม่หยุดยั้งตลอดเวลา ขอให้ท่านวางใจว่าเรื่องความปลอดภัย แล้วก็สวัสดิภาพที่น้องประชาชน เป็นเรื่องที่รัฐบาล ทางการ ให้ความสำคัญสูงสุด เป็นภารกิจหน้าที่ของสถานทูตของเรา ไม่ต้องห่วง”
หลังจากนี้จะมีการประชุมศุนย์ประสานสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยวันนี้จะเป็นช่วงเวลา 13.00 น. ขอให้รอติดตามว่าจะมีการเลื่อนเวลาแถลงข่าวให้เร็วขึ้นหรือไม่ แต่มีการประสาน นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ไว้แล้วในการร่วมแถลงข่าวเพื่ออัปเดตสถานการณ์
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสารนิเทศ ยังย้ำด้วยว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญมาก เรามีความเห็นอกเห็นใจพี่น้องแรงงานที่อยู่ในอิสราเอล รวมทั้งญาติพี่น้องที่อยู่ทางนี้ ซึ่งคงมีความตระหนกตกใจ และความเป็นห่วงอย่างมาก ในสถานการณ์วิกฤติเราก็พยายามสื่อสารออกมาไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก และให้มีความมั่นใจว่าทุกฝ่ายจะพยายามดำเนินการกันเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และแรงงานไทยในอิสราเอล”


สถานการณ์ละเอียดอ่อน ต้องแสดงท่าทีอย่างระวัง-รอบคอบ
จากนั้นตอบคำถามสื่อมวลชนว่า ในเรื่องกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาล เข้าใจดีถึงความละเอียดอ่อนของปัญหาในสถานการณ์ การกำหนดท่าทีต้องระมัดระวัง รอบคอบ ซึ่งความรุนแรงนี้ไม่มีใครสามารถยอมรับได้ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และการสื่อสารออกที่ไปนั้นเป็นการประณามในสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยหวังว่าความรุนแรงจะยุติลงโดยเร็ว ปล่อยตัวพลเรือนผู้บริสุทธิ์ รวมถึงแรงงานไทยด้วย
ขณะที่ผู้เสียชีวิต 12 ราย ย้ำว่า ได้รับแจ้งจากนายจ้าง โดยยังไม่อยากเปิดเผยชื่อ ไม่อยากเห็นญาติเห็นชื่อจากสื่อก่อน เพราะกระทรวงให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งแม้นายจ้างจะแจ้งมาแล้ว แต่ต้องตรวจสอบยืนยันโดยทางการด้วย ขณะนี้ยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงยังขอไม่เผยแพร่ชื่อ แต่ก็พยายามติดต่อกับพี่น้องแรงงานอยู่ตลอด ในเรื่องการช่วยเหลือตัวประกันขอให้เป็นข้อมูลในการแถลงภาคบ่าย เพราะต้องรอข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ด้วย แต่ก็มีการสั่งการทุกสถานทูตให้ช่วยกัน ยืนยันว่ามีการดำเนินการในหลายช่องทาง

รอสถานการณ์ปลอดภัย กองทัพอากาศพร้อมบินไปรับคนไทย
ขณะที่การอพยพ ตามหลักการแล้วจะมีเตรียมแผนเอาไว้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีการซ้อมแผนกันไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งกรณีสถานการณ์ปัจจุบันสถานทูตจะแจ้งเพิ่มเติม แต่หลักการคือ ย้ายจากพื้นที่ไม่ปลอดภัยมายังจุดปลอดภัยก่อน โดยจะมีจุดรวมพล มีผู้ประสาน และเคลื่อนพล อีกทั้งต้องให้เวลาในการแจ้งความสมัครใจผู้ประสงค์ต้องการกลับไทยเพิ่มขึ้น เพราะสถานการณ์เกิดขึ้นไม่นาน เชื่อว่ามีความกังวลจะลำเลียงอย่างไร ซึ่งท่านทูตได้คุยไว้แล้ว และอิสราเอลจะช่วยประสานดำเนินการต่างๆ
ทางด้านคำถามว่า มีการประสานพื้นที่เพื่อเอาเครื่องบินกองทัพอากาศไปสแตนด์บายไว้ก่อนได้หรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบว่า ต้องประสานประเทศใกล้เคียงไว้ ซึ่งที่ใกล้เคียงคือจอร์แดน แต่ทราบจากกองทัพอากาศในการประชุมเมื่อวานนี้ว่าสามารถบินตรงไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความปลอดภัยในพื้นที่ ยืนยันว่าประสานอยู่ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีสนามบินของอิสราเอลที่ยังเปิดบริการได้นั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพาคนไทยกลับบางส่วนก่อน ได้รับคำชี้แจงว่า หลายๆ ครั้งขึ้นกับจำนวนผู้อพยพ เราไม่ปิดออปชัน โดยขึ้นกับจำนวนผู้ที่แสดงความประสงค์ ส่วนเครื่องบินพาณิชย์ก็สามารถทำได้ โดยในการประชุมคุยกันมีรายละเอียดจำนวนมาก รวมถึงทีมแพทย์ที่ต้องเดินทางไปด้วย

นางกาญจนา กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการในสถานการณ์วิกฤติเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ต้องมีความรอบคอบในเรื่องที่จะสื่อสารออกไป ช้าหรือเร็วอยู่ที่แต่ละคนมอง เราพยายามที่จะทำให้เร็วที่สุด ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาแก้ต่าง ตั้งแต่มีการรายงานสถานการณ์ สถานทูตไม่ได้นิ่งนอนใจ หน่วยราชการประสานงานใกล้ชิดตลอด หลายอย่างทำอยู่แต่ยังบอกไม่ได้ เฉกเช่นกรณีซูดาน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่อพยพคนไทยประสบผลด้วยดี เข้าใจว่าเป็นห่วงและตื่นตระหนก พร้อมน้อมรับคำแนะนำและจะพยายามปรับปรุง
อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า มีการคุยกับฝั่งปาเลสไตน์หรือไม่ อธิบดีกรมสารนิเทศ ระบุว่า ได้สั่งการทูตกัวลาลัมเปอร์ให้ติดต่อแล้ว มีความพยายามกันอยู่ในทุกฝ่าย ส่วนผู้เสียชีวิตที่ยืนยันแล้ว 2 รายเป็นคนไทย ซึ่งข้อมูลที่นายจ้างแจ้งขอให้รอการยืนยันจากทางการอีกครั้ง เพราะตัวเลขจะยังไม่นิ่ง เนื่องจากเป็นสถานการณ์สงคราม ยังสามารถลด หรือเพิ่มได้ ก็มีความหวังให้ลดลง หากยืนยันเป็นทางการแล้ว แต่ขอให้รอการยืนยันที่ชัดเจนก่อน.