“ศปปส.” บุกสภา ร้องค้าน “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล” หวั่น ลักไก่สอดไส้เหมาช่วยคดี ม.112 ชี้กฎหมายนี้คลุมเครือ ทำผิดจากการชุมนุมทางการเมือง กับทำผิดตามมาตรา 112
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 ต.ค. 2566 ที่รัฐสภา ตัวแทนกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดย นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส.และกลุ่มเลือดนักรบสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานประธานสภา ผ่าน นายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภา
โดย นายอานนท์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร พวกตนยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าคนที่ยื่นแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ต่างเป็นผู้ที่กระทำการผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนั้น จึงไม่ใช่แค่ความคิดต่างทางการเมือง แต่เป็นกฎหมายความมั่นคง รวมถึงนิยามของคําว่า “ผู้กระทําความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง” ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้คืออะไร
อีกทั้งร่างกฎหมายนี้ยังคลุมเครือระหว่าง “ผู้กระทําความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง” และ “ผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ม.112″ ที่ต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน
“หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ อาจเหมารวมถึง ผู้กระทําผิด เกี่ยวกับความมั่นคง ม.112 เข้าไปด้วย ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 เพราะคดีความมั่นคง ไม่ใช่คดีทางการเมือง ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวนี้มาก เห็นได้จากการจัดการชุมนุมในแต่ละครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน มักที่จะอ้างว่า เป็นการออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ทุกครั้งที่ขึ้นปราศรัย ส่วนใหญ่แล้วจะปราศรัยหมิ่น, จาบจ้วง, ก้าวล่วง, โจมตี, ใส่ร้าย และกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างๆ นานา จากกลุ่มเยาวชนปลดแอก, กลุ่มราษฎร, กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มทะลุวัง รวมไปถึง สส.หลายคนของพรรคก้าวไกล จึงเป็นข้อสงสัยและข้อสันนิษฐานว่า นี่หรือไม่ ที่เป็นที่มาของการดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้
ดังนั้นเราจึงคัดค้านเพื่อไม่ให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา จึงขอให้ประธานสภาพิจารณาเรื่องนี้เป็นวาระสําคัญ เป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อดํารงคงอยู่ไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบไป”
นายอานนท์ กล่าว