2 หนุ่มอุบลฯ เล่าชีวิต แรงงานไทยใน อิสราเอล ใช้ชีวิตลำบาก

2 หนุ่มอุบลฯ เล่าชีวิต แรงงานไทยใน อิสราเอล ใช้ชีวิตลำบาก

2 หนุ่มอุบลฯ เล่าชีวิต แรงงานไทยใน อิสราเอล ใช้ชีวิตลำบาก มีเวลา 1 ชม.ทำธุระส่วนตัว-ประกอบอาหาร จากนั้นต้องเข้าหลุมทั้งวันทั้งคืน 

วันที่ 11 ต.ค. 66 ทีมข่าว “อมรินทร์ทีวี” มีโอกาสได้วิดีโอคอลพูดคุยกับ นายธวัชชัย มังศรีดา อายุ 25 ปี ชาว จ.อุบลราชธานี และ นายณัฐพล ปัญญา อายุ 28 ปี ชาว จ.อุบลราชธานี 

โดยนายธวัชชัย เล่าว่า พื้นที่ที่อาศัยอยู่ตอนเกิดเหตุคือ โมชาฟยาติส มีคนไทยอยู่ประมาณ 170 คน ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง อยู่ห่างจากฉนวนกาซ่าฝั่งใต้แค่ 10 กม. เหตุการณ์วันแรกที่เริ่มยิงกันเป็นวันที่ 7 ต.ค. 66 ซึ่งพวกตนก็พากันออกไปทำงานที่ไร่มะเขือเทศตั้งแต่เช้า เพื่อเอาโอที แต่ระหว่างที่เดินทางก่อนจะถึงไร่ ก็มีเสียงไซเรนของหมู่บ้านดังขึ้น พร้อมกับมีเสียงปืนดังสนั่นบนท้องฟ้ารอบเขตฉนวนกาซา แล้วพอไปถึงไร่ก็กลายเป็นมีเสียงปืนยิงกันในภาคพื้นดิน สิ่งที่ทำตอนนั้นคือพากันหมอบตามร่องน้ำของไร่มะเขือเทศ โดยไม่มีบังเกอร์และหลุมหลบภัย 

จนกระทั่งสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ก็รีบพากันกลับที่พักและเข้าไปหลบอยู่ในหลุมหลบภัย แต่ละหลุมต้องอัดกันอยู่ 40-50 คน โดยไม่มีทหารอิสราเอลเข้ามาดูแลเลยสักนาย เนื่องจากเป็นเหตุด่วน ซึ่งภายในนั้นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถติดต่อครอบครัวในไทยได้เลย พอตกกลางคืนก็กลับเข้าไปนอนในห้องพัก แต่ก็ยังคงมีเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงเฮลิคอปเตอร์ดังอยู่บนหัวทั้งคืน 

จากนั้นเช้าของวันที่ 8 ต.ค. 66 ก็เริ่มมีการยิงปะทะกันหนักขึ้น ก่อนที่ทหารอิสราเอลจะเข้ามาช่วยเหลือ ยอมรับว่าคนไทยทุกคนจิตตกมาก แม้ว่าที่ผ่านมา ปีนึงจะมีการยิงทางอากาศปีละ 2 ครั้งก็ตาม แต่ครั้งนี้มันลงมาภาคพื้นดิน ซึ่งเสี่ยงที่จะกลายเป็นศพมาก จึงทำได้แค่ลงไปหลบอยู่ในหลุมหลบภัยแบบเงียบๆ เพราะไม่รู้เลยว่าด้านนอกจะมีผู้ก่อการร้ายมาบุกเข้ามาตอนไหน 

จนกระทั่งช่วงสายๆโชคดีที่มีทหารของอิสราเอลเข้ามาคุ้มกันปากหลุม แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น เพราะมีการยิงใส่กันตลอด ยิ่งทำให้คนไทยขวัญผวากันหมด จึงพยายามหาสัญญาณโทรศัพท์เพื่อติดต่อสถาณฑูตเพื่อขออพยพไปในที่ปลอดภัย แต่คำตอบที่ได้รับคือ “รอ” เนื่องจากทหารและรถบัสไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ทำให้ตลอดวันที่ 8-9 ต.ค. 66 พวกตนต้องนอนภายในหลุมหลบภัยแบบที่ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เนื่องจากโทรไปวันละ 3-4 รอบ ก็ได้คำตอบเหมือนเดิมคือ “รอ” 

แล้วกิจวัตรประจำวันตอนที่อยู่ในหลุมหลบภัยเป็นอะไรที่หมดหวังมาก เพราะกลางคืนไม่สามารถออกจากหลุมได้ เนื่องจากหวั่นจะถูกทหารอิสราเอลที่คุ้มกันเข้าใจผิดและยิงใส่ ส่วนตอนเช้าก็มีเวลาแค่ประมาณ 1 ชั่วโมงให้ออกจากหลุมมาทำธุระส่วนตัวและประกอบอาหาร พอเสร็จก็ต้องกลับไปอยู่ในหลุม เพื่อรอเช้าวันต่อไป 

จากนั้นเมื่อวานนี้ 10 ต.ค.2566 ทางนายจ้าง ซึ่งเป็นชาวอิสราเอล เห็นว่าหากรอสถานทูตให้การช่วยเหลือก็คงไม่ทันการณ์ จึงให้ลูกชายที่เป็นทหารของเขาเอารถส่วนตัวเข้ามารับพวกตนประมาณ 17-18 คน และพาอพยพมาอยู่อย่างที่ปลอดภัยชื่อเมืองว่า “นอร์เดีย” ห่างจากหมู่บ้านที่พวกตนอยู่ประมาณ 170 กม. 

ส่วนอีกร้อยกว่าชีวิตที่เหลือก็ต้องรอรถบัสของรัฐบาลอย่างมีความหวัง ซึ่งเป็นภาพที่ตนเห็นแล้วหดหู่มาก เพราะระหว่างที่รอก็มีการยิงและมีระเบียงอย่างต่อเนื่อง พอมีระเบิดก็ต้องวิ่งกลับเข้าหลุม แล้วเงียบเมื่อไหร่ค่อยออกมายืนรอ ดังนั้นถ้าใครที่ได้ขึ้นรถไปก่อน ก็ถือว่ามีโอกาสรอด ส่วนคนที่ยังอยู่ตรงนั้นต้องยอมรับว่าโอกาสรอดชีวิตมีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่โชคดีที่ปัจจุบันยังไม่มีคนไทยเสียชีวิตและทุกคนได้รับการอพยพเข้าพื้นที่ปลอดภัยหมดแล้ว 

นอกจากนี้ นายชัยธวัช ยังเล่าถึงการรับผิดชอบของนายจ้างพวกเขาที่ดีมากๆ ดูแลดีมากทั้งเรื่องของสถานที่พักผ่อนที่หลับที่นอนก็กว้างขวาง เสื้อผ้า อาหารการกิน ทุกอย่างเตรียมไว้ให้พวกตนหมด ทำให้คนไทยบางคนมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยหลายคนเลือกที่จะไม่ลงทะเบียนกลับไทยด้วยซ้ำ 

แต่สำหรับตัวเองกับเพื่อนอีกประมาณ 10 คนก็ได้มีการลงทะเบียนกลับไทยไว้แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าการลงทะเบียนกลับไทยไม่ใช่ว่าลงแล้วจะมีกำหนดวันกลับทันที ต้องรอให้ทางเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา ซึ่งจนถึงตอนนี้พวกตนก็ยังไม่ได้รับโทรศัพท์เพื่อคอนเฟิร์มวัน 

เหตุผลที่ตัวเองลงทะเบียนกลับไทย เพราะใจลึกๆ ก็กลัวว่าสถานการณ์ที่นี่จะแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งหากสุดท้ายแล้วมันไม่ปลอดภัยจริงๆ เมื่อถึงกำหนดวันกลับ ตนก็ต้องกลับไปหาครอบครัว เนื่องจากห่วงเวลานี้ถือว่าเป็นห้วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต ถ้าไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบก็คงไม่มา แต่ถ้าวันนั้นสถานการณ์ดีขึ้น ก็สามารถสละสิทธิ์แล้วอยู่ทำงานต่อได้ 

สุดท้ายตนก็อยากฝากความห่วงใยความคิดถึงไปยังครอบครัวที่ไทย และอยากให้กำลังใจกับคนไทยทุกคนที่ยังติดอยู่ในพื้นที่สู้รบของอิสราเอล ขอให้ได้อพยพออกมาได้โดยเร็วและปลอดภัย 

ส่วนนายณัฐพล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เลือกที่จะไม่ลงทะเบียนกลับไทย เจ้าตัวบอกว่าเพราะรู้สึกเชื่อมั่นในกองกำลังทหารของประเทศอิสราเอลว่าจะเพียงพอในการจัดการกลุ่มฮามาสได้ บวกกับการให้ความช่วยเหลือจากนายจ้างที่ดี 

แม้ว่าตอนนี้จะคิดถึงคนที่บ้านมาก แต่ก็พยายามโทรหากันทุกวันเพื่อให้เขาได้สบายใจ วันนี้จึงอยากขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงและขอให้เชื่อว่าจิตใจของตนเข้มแข็งมากพอที่จะอยู่สู้ต่อ

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top