“โอเล่” แรงงานไทยแชทวิดีโอคอลข้ามประเทศ ยืนยันรอดชีวิตกับเพื่อนรวม 32 คน เตรียมหอบกระเป๋ากลับไทย เหลือเชื่อ ออกจากที่ซ่อนได้ 30 นาที ระเบิดลงถล่มยับ
จังหวัดนครพนมยังคงมีแรงงานไทยในอิสราเอลจำนวนมาก ที่พยายามติดต่อผ่านแชทเฟซบุ๊กด้วยการวิดีโอคอลมาแจ้งข่าวกับญาติพี่น้องและครอบครัว นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัฐบาลอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา จากข้อมูลของสำนักงานแรงงานจังหวัดนครพนม พบยอดแรงงานชาวนครพนมในอิสราเอลรวมกว่า 2,100 คนและมีแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนในฉนวนกาซาตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงรวมกว่า330 คน ส่วนคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันขาดการติดต่อมีเพิ่มเป็นจำนวน 5 คน รวมถึงมีบางคนที่ญาติไม่สามารถติดต่อได้โดยไม่ทราบชะตากรรมว่าเป็นตายร้ายดีอย่างใด
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มแรงงานไทยในอิสราเอลที่ประสบภัยสงครามอยู่ในพื้นที่เสี่ยง พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านมายังญาติพี่น้องรวมถึงคนรู้จักเพื่อช่วยติดต่อเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องสถานทูตทั้งรัฐบาลไทยรวมถึงรัฐบาลอิสราเอลเข้าไปช่วยเหลือ กรณีติดอยู่ในพื้นที่สีแดงถือเป็นชายแดนที่มีการสู้รบของทหารกับกองกำลังติดอาวุธหนัก
นายชลวิทย์ สุธา อายุ 30 ปี หรือ โอเล่ แรงงานไทยชาวบ้านกอก หมู่5 ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม ได้แชทวิดีโอคอลมายืนยันความปลอดภัยและสะท้อนความเป็นอยู่ของกลุ่มเพื่อนแรงงานที่ร่วมชะตากรรมด้วยกันรวม 32 คน โดยมีชาวนครพนมอยู่ 5 คน ปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือจากทหารอิสราเอลนำไปอยู่ในศูนย์อพยพพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรอคิวเดินทางกลับไทยในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้นายโอเล่ ได้เปิดเผยผ่านแชทวิดีโอคอลเฟซบุ๊กพร้อมส่งคลิปสภาพความเป็นอยู่นาทีชีวิตหลบภัยสงครามและเปิดใจผ่านสื่อว่า ตนไปทำงานที่ฟาร์มเกษตรรวม 4 ปี จากกำหนดสัญญารวม 5 ปีและเหลืออีก 1 ปี ก็จะครบสัญญาว่าจ้างหวังโกยเงินจากหยาดเหงื่อเพื่อไปสร้างฐานะครอบครัวที่ไทย แต่เกิดภัยสงครามก่อนต้องยอมทิ้งเงินเพื่อเอาชีวิตรอดกลับไปดูแลครอบครัว
นายโอเล่เล่าว่าเท่าที่ทราบเหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงที่สุดที่เกิดความขัดแย้งในประเทศอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส เพราะช่วงที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุปะทะแต่ไม่รุนแรงเหมือนครั้งนี้ ตั้งแต่วันเกิดเหตุมีการโจมตีทั้งทางอากาศรวมถึงทางบกที่สำคัญกลุ่มฮามาสหัวรุนแรงบุกจู่โจมเข้าทำร้ายกราดยิงแรงงานไทย ใครโชคดีรอดชีวิตโชคร้ายถูกฆ่าตายโดยไม่ทันตั้งตัว และเป็นการก่อเหตุที่โหดเหี้ยม
ตนว่าโชคดีที่ยังสามารถติดต่อญาติพี่น้องรวมถึงได้ติดต่ออาจารย์ที่เคยสอนในมหาวิทยาลัยนครพนมผ่านแชทเฟซบุ๊ก เพื่อช่วยเป็นธุระประสานงานทางสถานทูตให้ทางการทหารอิสราเอลเข้าไปช่วยเหลืออพยพย้ายออกมาจากชายแดนพื้นที่สีแดงโดยระหว่างวิดีโอแชทตัวเองต้องหลบภัยซ่อนตัวอยู่ในโรงงานถูกตัดน้ำตัดไฟขาดแคลนอาหารมา 3-4 วัน ต้องคอยวิ่งหลบลูกปืนหลบระเบิด
ซึ่งในกลุ่มเพื่อนแรงงานไทยมีอยู่ด้วยกันรวม 32 คน ล่าสุดมีทหารอิสราเอลฝ่ากระสุนช่วยเหลือออกมาปลอดภัยทั้งหมดและได้คิวกลับไทยในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 นี้ นายโอ กล่าวต่อว่าถึงเหลือสัญญาอีก 1 ปี หรือสงครามสงบลงก็ไม่ขอทำงานต่อ ถึงเงินค่าแรงจะมากขนาดไหนขอเลือกเอาชีวิตรอดกลับไปดูแลครอบครัว และไม่ขอกลับมาทำงานอีก ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายขนาดนี้ อยากกลับไทยให้เร็วที่สุดเพราะสงครามครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการรบระหว่างทหารเท่านั้นแต่เป็นการเข่นฆ่าแรงงานไทยแบบโหดเหี้ยมทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ซึ่งนายโอเล่เล่าด้วยความตื่นเต้นเพิ่มเติมว่าหลังจากทหารอิสราเอลนำตัวคนงานไทย ทั้ง 32 คนออกจากโรงงานได้ไม่ถึง 30 นาที ปรากฏว่ามีระเบิดถล่มโรงงานเสียหายยับเยินส่วนตัวเชื่อว่ากลุ่มก่อการร้ายจับพิกัดด้วยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางการอิสราเอลตัดสัญญาณการสื่อสารเพื่อความปลอดภัยของประชาชนโดยจะปล่อยคลื่นออกมาเป็นพัก ๆ
ด้านนายสนธยา คำจันทร์ อายุ 40 ปี อดีตเป็นพนักงานราชการทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยนครพนม ปัจจุบันเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครพนม เปิดเผยว่าช่วงเกิดเหตุตนได้ติดตามข่าวสารเหตุสงครามในประเทศอิสราเอลตลอด และมีความเป็นห่วงหลังทราบข่าวลูกศิษย์คือนายโอเล่ ชาวอ.ปลาปาก จ.นครพนม ที่ไปทำงานฟาร์มเกษตรได้โพสต์เฟซบุ๊กขอความช่วยเหลือก่อนที่จะทักแชทไปสอบถามความเป็นอยู่และลูกศิษย์ขอให้ช่วยประสานทางรัฐบาลไทยรวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องสถานทูตและฝ่ายรัฐบาลอิสราเอลนำทหารเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมแจ้งพิกัดที่อยู่หลบภัยจึงได้แจ้งข้อมูลไปยังสถานทูตประสานการช่วยเหลือ ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงทราบข่าวลูกศิษย์ได้รับการช่วยเหลือจากทหารอิสราเอลดีใจมาก และขอให้ได้รับการช่วยเหลือกลับไทยโดยเร็วตนคิดว่าสำคัญที่สุดจะต้องเร่งช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเพราะเชื่อว่าน่าจะมีอีกจำนวนมากหากปล่อยไว้นานกลัวไม่ปลอดภัย