‘พีมูฟ’ จัดกิจกรรมค่ำคืนสุดท้ายของการปักหลักชุมนุม 15 คืน หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ เห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหา และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
16 ต.ค.2566 ความคืบหน้าการชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ที่ชุมนุมหน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ (16 ต.ค.) เมื่อเวลา 21.56 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move’ ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารของพีมูฟ รายงานว่า หลังจากปักหลักชุมนุมยาวเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 15 คืน จนกระทั่งวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ เห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
บรรยากาศในช่วงเย็นของวันนี้ (16 ต.ค.) พีมูฟได้มีวงเสวนาปิด ‘ชำแหละมติครม.’ จะนำไปใช้อย่างไรหลังกลับบ้าน และได้มี ‘ตัวแทนพี่น้องสมัชชาคนจน’ เดินทางมาให้กำลังใจพี่น้องพีมูฟ ‘เฉลิมชัย วัดจัง’ กองเลขาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และ ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้กล่าวให้กำลังใจพีมูฟในการขับเคลื่อน เพื่อเติมแรงใจ และเติมไฟในการต่อสู้เคลื่อนไหวต่อไปเช่นเดียวกัน
ช่วงท้ายของค่ำคืน ปิดท้ายด้วยกิจกรรมดนตรีจาก ‘น้ำ คีตาญชลี’ และ ‘วงสามัญชน’ ปลอบประโลมความเหนื่อยล้าของพี่น้องพีมูฟจากการปักหลักชุมนุมท่ามกลางเปลวแดดและสายฝนเกือบครึ่งเดือน
“ค่ำคืนนี้แม้เป็นคืนสุดท้ายในการปักหลักชุมนุม แต่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวและต่อสู้ครั้งสุดท้ายของพีมูฟ ตราบใดที่สังคมยังไม่เป็นธรรม การลุกขึ้นมาต่อสู้ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงจะยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ เชื่อมั่นในพลังประชาชน” เพจ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move’ โพสต์
‘ธรรมนัส’ ลงพบหลังยื่นข้อเสนอ แจง ครม.รับทราบ 10 วาระนโยบาย
โดยก่อนหน้านั้นช่วงเย็น เพจรายงานว่า หลังการยื่นข้อเสนอของพีมูฟถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดจากการตั้งแนวสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ให้พีมูฟเข้าไปยื่นหนังสือในบริเวณด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นตัวแทนรัฐบาลรับหนังสือข้อเสนอของทางพีมูฟ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 16.22 น. ธรรมนัสได้เดินทางมายังสถานที่ปักหลักชุมนุม บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพูดคุย ชี้แจง และตอบคำถามที่ทางพีมูฟมีข้อสงสัย
“เราเจอกันเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 66 หลาย ๆ เรื่องที่ผมเปิดโอกาสให้พี่น้องได้เสนอปัญหาของแต่ละเรื่อง มีข้อสรุปว่าเราจะมีการนำวาระที่เราประชุมเข้า ครม. ผมมีภารกิจวันนี้จึงไม่ได้ร่วมประชุม ครม. แต่ให้ฝ่ายเลขาประสานเลขาของท่านนายกรัฐมนตรี สรุปว่าเราแจ้ง ครม. รับทราบแล้ว ท่านรองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการแก้ไขปัญของพีมูฟ ตั้งอนุกรรมการตามที่เราเสนอเรียบร้อยแล้ว ผมมอบเอกสารนี้ให้ประธานพีมูฟไว้” ธรรมนัสกล่าว
ธรรมนัสได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงบ่ายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสกัดกั้นการเดินขบวนเพื่อยื่นหนังสือของทางพีมูฟ โดยกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจเข้าใจผิด และตนไม่ได้ทราบล่วงหน้าว่าทางพีมูฟจะมีการยื่นหนังสือ ซึ่งทางตนกำลังจะเดินทางไปประชุมกับทางสมัชชาคนจน จึงเป็นธุระรับหนังสือไว้ให้
“อยากนำเรียนว่าฝ่ายเลขาคือ สปน. ได้ทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีให้แต่งตั้งกรรมการชุดพิเศษแล้ว ซึ่งผมจะติดตามเองส่วนพรุ่งนี้ ผมจะประสานให้ สปน. เรียกเลขาอยุแต่ละคณะประชุมกันแนวทางให้เราได้รู้ว่าเราจะทำงานกันอย่างไร”
ในกรณีประเด็นปัญหาของชุมชนบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทางธรรมนัสได้รับปากจะดำเนินการแก้ไขปัญหา และมีการประสานงานไว้บางส่วน จะพยายามใช้เวลาไม่ยืดเยื้อ และการหารือแก้ไขปัญหาระหว่างประชาชนกับภาครัฐจะเป็นไปอย่างกัลยาณมิตร เป็นที่พึ่งกันและกัน
‘กรรมการบริหารพีมูฟ’ ทวงถามข้อสงสัยกับความกังวลใจกับสถานการณ์ในพื้นที่
“ทำอย่างไรให้นายกได้เซ็นคำสั่ง เพราะเวลาเรากลับฐานที่มั่น หน่วยงานไม่ยอมทำตาม ถ้ามีคำสั่งส่งไปยังจังหวัดเราก็จะมั่นใจ” สินชัย รู้เพราะจีน เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปการสังคมและการเมือง (คปสม.) ถาม ด้านธรรมนัสยืนยันว่า ตนสามารถจัดการได้
“เราเห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาระดับหนึ่ง เราอยากได้หนังสือมาถึงประธานพีมูฟว่ามีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร โดยอยากได้แบบเป็นทางการ และท่านนายกรัฐมนตรีจะมาพบเราบ้างไหมคะ” เนืองนิช ชิดนอก เครือข่ายสลัม 4 ภาค ถาม ด้านธรรมนัสกล่าวว่า เรื่องหนังสือจะให้สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นฝ่ายจัดการ ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีไม่ลงมาพบ อยากให้ทำความเข้าใจว่า นายกฯต้องเดินทางลงพื้นที่ไปทำภารกิจติดต่อกัน จึงได้มอบหมายให้ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และภูมิธรรมก็มอบหมายให้ตนมาดูแลปัญหานี้อีกที
ธีรเนตร ไชยสุวรรณ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้ถามย้ำว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะมีการประชุมอนุฯ ทั้ง 7 ชุดภายใน 30 วันนี้ ซึ่งธรรมนัสได้รับปากว่าจะมีการประชุมทุกอนุฯ ภายใน 30 วัน และต้องไม่ให้ปัญหาเหล่านี้หายไป
“เรื่องหลีเป๊ะกับบางกลอย ครม. รับทราบวันนี้ ส่วนอีก 3 คณะกรรมการเป็นเรื่องของดีเอสไอ ผมคุยกับบิ๊กโจ๊กแล้ว ผมจะตามให้ คำสั่งนี้นายกรัฐมนตรีลงนาม ยังไงก็ให้เครดิตผมบ้าง จะได้ทำงานกันสบายใจ ผมไม่เคยบิดพลิ้ว ผิดคำพูด ส่วนเรื่องคดีความทั้งหมด ผมจะประสานให้ชะลอก่อนทั้งหมด และเรื่องคลองโยงเอาเข้าประชุมด้วย แทงหนังสือมา ผมจะประสานให้ และ” ธรรมนัสกล่าว
จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกล่าวว่า เชื่อมั่นว่าปัญหาได้รับการแก้ไขไปแล้วระดับหนึ่ง หลายเรื่องสามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว อยากชื่นชมรัฐบาลที่ดำเนินการบางอย่างไปได้ หลังจากที่มีคำสั่ง มอบหมายงานต่าง ๆ ไปแล้ว อาจแก้ไขปัญหารายกรณีได้ด้วย ซึ่งรัฐบาลก็ต้องพิสูจน์ต่อไปเหมือนกันว่าทำได้จริง และจะมีความคืบหน้าต่อเนื่อง และย้ำว่าอนุกรรมการทั้ง 7 ชุดต้องประชุมให้ได้ภายใน 30 วัน แล้วรายงานคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งทางร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ต้องพิสูจน์เหมือนกันว่าสามารถทำได้จริงมากน้อยเพียงใด
ด้านมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในวันพรุ่งนี้ (17 ต.ค. 2566) เวลา 10.00 น.ขอนัดหมายการประชุมเฉพาะฝ่ายเลขาฯ เพื่อนัดหมายตารางวันเวลาในการประชุมอนุกรรมการให้ครบทุกชุดภายใน 30 วัน
ธรรมนัสกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้เข้าใจนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ว่ามีความเข้าใจประชาชน และจะไม่จัดการยากเหมือนรัฐบาลชุดที่แล้ว ก่อนเดินทางกลับในเวลา 16.48 น.
ข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน
อนึ่ง ข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน ซึ่งพีมูฟระบุว่าเป็นนโยบายสาธารณะ มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่เป็นธรรม ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์จากการขับเคลื่อนในครั้งนี้
มีรายละเอียดดังนี้
1. ประชาธิปไตยใหม่
– แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
– เลือกตั้ง สสร . 100%
2. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
กระจายการจัดการที่ดินสู่ชุมชน
– เลือกตั้งผู้ว่าราชการโดยตรง
– กระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องที่ท้องถิ่น
– จัดทำแผนกระจายอำนาจและให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร
3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
เร่งนิรโทษกรรมให้ประชาชน
– ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรม
– กลไกกลั่นกรองคดีละเมิดสิทธิอย่างมีส่วนร่วม
– สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างถ้วนหน้า
– แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม 2558 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง 10 ประเด็น
4. กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ปกป้องพื้นที่เกษตรกรรรมของทุกคน
– กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
– ผลักดันพ.ร.บ. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร และ พ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
– การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและระบบเศรษฐกิจชุมชนที่ไม่ทำลายธรรมชาติ
– ปรับปรุงประมวลกฎหมายและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบ
– ทบทวนนโยบายการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโฉนด และรูปแบบการทำงานของ บ.จ.ธ.
5.หยุดมรดก คสช.ทวงคืนผืนป่า
ค้าคาร์บอนเครดิต คืนสิทธิชุมชน
– ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า ทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ฯ
– ยกเลิกมติครม. 30 มิ.ย. 41 ทบทวนมติครม. 26 พ.ย. 61
– แก้ไขพ.ร.บ.อุทยานฯ 62, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองฯ 62, พ.ร.บ.ป่าชุมชน 62
– ทบทวนนโยบายคาร์บอนเครดิต หยุดฟอกเขียวกลุ่มทุน ยึดที่ประชาชน
เท่าทันภัยพิบัติ ปลดล๊อดข้อจำกัด ป้องกันภัยพิบัติโดยชุมชน
6.กระจายอำนาจการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน
– นโยบายส่งเสริมการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ‘1 ท้องถิ่น 1 ศูนย์ภัยพิบัติ’
– แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ. 2550
7.กฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์
คืนสิทธิคนเท่ากัน อย่างเท่าเทียม
– ขับเคลื่อนมติ ครม.ชาวเล 2 มิ.ย. 53 มติ ครม.กะเหรี่ยง 3 ส.ค. 53 โดยชุมชนมีส่วนร่วม
– ผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
8.สถานะบุคคล พิสูจน์สิทธิได้
ไม่ตก
– แก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคลให้เสร็จภายในปี 2567
– เร่งรัดสำรวจ ตามมติ ครม. 26 ม.ค. 2564 โดยระบุกลุ่มอย่างชัดเจน
– แต่งตั้งกรรมการแก้ปัญหาที่เป็นกลาง
– เกิดการปฏิบัติในพื้นที่โดยประชาชนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ
– จัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่รอการแก้ปัญหา
9.สร้างรัฐสวัสดิการ
สร้างประชาธิปไตย
สู่สังคมไทยเสมอหน้า
– เปลี่ยนรัฐอำนาจนิยมเป็นรัฐสวัสดิการ
– ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต้องเข้าถึงสวัสดิการเสมอกัน
– สวัสดิการถ้วนหน้า เด็ก การศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย คน ประกันสังคม ผู้สูงอายุ สิทธิทางสังคม และปฏิรูปภาษี
10.สิทธิที่อยู่อาศัย คือ สิทธิมนุษยชน
-จัดสรรทีดินรัฐให้ประชาชนอยู่อาศัย
– หยุดใช้มาตรการไล่รื้อชุมชน
– จัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย
– ทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบแปลงรวม