ครม.มีมติรับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ P-Move ที่ภูมิธรรมเป็นประธานอยู่ไปดำเนินการตั้งอนุกรรมการ 7 ชุดเพื่อรับผิดชอบตามข้อเสนอของ P-Move และติดตามแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนใน 38 พื้นที่
เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.66) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลเผยแพร่ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดย ครม.มีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2566 ตามที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่องตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานกรรมการ ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานกรรมการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการสรุปผลการประชุมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบ โดยมีสาระสำคัญการประชุมสรุปได้ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 269/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2566 และรับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 6 ประการ ดังนี้
1. ควรยุติการคุกคามพื้นที่สมาชิกของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ด้วยการยุติการแจ้งความดำเนินคดีในทุกพื้นที่ คดีใหม่ต้องไม่มี หรือให้ยุติทุกกรณี คดีเก่าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรการจำหน่าย หรือชะลอการดำเนินคดี และนำเข้าสู่การนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
2. ในการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมรัฐบาลควรยึดปัญหาความเดือดร้อน ข้อมูลและข้อเท็จจริงของประชาชนเป็นหลัก มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายที่เป็นอุปสรรคให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา
3. กรณีชุมชนที่เป็นสมาชิกของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐ
4. ปัญหารายกรณีและกรณีปัญหาเร่งด่วนที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และเมื่อได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วให้รายงานต่อคณะกรรมการทราบ หากยังไม่ได้ข้อยุติให้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหารายกรณีอย่างเป็นรูปธรรมแล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมให้ความเห็นชอบ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบแล้วแต่กรณี
5. ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีสัดส่วนระหว่างหน่วยงานของรัฐกับผู้แทนภาคประชาชนที่เท่ากัน โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
6. ให้นำข้อเสนอเชิงนโยบายของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 10 ด้าน ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องรับข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยเร็ว
ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ยังมีมติรับทราบผลการศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. …. โดยมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมรับไปดำเนินการนำเสนอร่างกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป
ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ การกระจายอำนาจ และการจัดการภัยพิบัติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นประธานกรรมการ
ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ
ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จำนวน 7 คณะและแต่ละคณะมีหน้าที่รับผิดชอบข้อเสนอของ P-Move ดังนี้
1. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ รับผิดชอบดูแลข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบโดยยึดหลักการ 3 ข้อ หนึ่ง กระจายการถือครองที่ดินทุกคนต้องเข้าถึงที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน สอง ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตไม่ใช่สินค้า และสาม รับรองสิทธิชุมชนให้บริหารจัดการที่ดินร่วมกันตามมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
นอกจากนั้น ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและส่งเสริมสิทธิชุมชน และให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานและโครงการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม โดยมีกรณีปัญหาที่ต้องพิจารณาดำเนินการอย่างน้อย 266 กรณี
2. คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ รับผิดชอบเรื่อง รวบรวม ศึกษา ข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้นำไปสู่การแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดทำร่างกฎหมายหลัก และกฎหมายลำดับรอง มติคณะรัฐมนตรี และนโยบาย ที่เอื้อให้กับการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยยึดหลักการดังนี้
1. ให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง โดยให้มีการแต่งตั้งกลไก ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิชุมชน และมนุษยชน คดีกลั่นแกล้ง คดีฟ้องร้องประชาชน เร่งรัดร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐเข้าสู่คณะรัฐมนตรีและบังคับใช้กฎหมายภายใน 100 วัน
2. ขอให้ใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดีแทนระบบกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีที่เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในการพิจารณาคดีและการค้นหาข้อเท็จจริงในคดีที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ต้องไม่ใช้การพิจารณาหลักฐานทางราชการเท่านั้น ควรมีการวิเคราะห์หลักฐานทางด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา รวมถึงวัฒนธรรมประเพณี ตามบริบทของแต่ละพื้นที่
3. ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน โดยให้ปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง 10 ประเด็น เพื่อส่งเสริมการเข้าถึง กระบวนการยุติธรรมของคนจน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนั้นอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ ให้รับผิดชอบเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นแล้ว เข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรี และบังคับใช้ ภายใน 100 วัน
3. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ และให้รับผิดชอบเรื่อง พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาของรัฐ ให้มีแนวทางในการพัฒนาที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยาและชดเชยอย่างเป็นธรรม รวมไปถึงการร่างระเบียบการชดเชย ด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมปัจจุบัน ตลอดรวมถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและยุติปัญหา ในพื้นที่นำร่องทุ่งทับใน ห้วยฝั่งแดง แม่สอด แม่มอก ห้วยน้ำรี โครงการผันน้ำยวม กรณีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เสนอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกระทรวงการคลังเอื้อทุน ให้ต่างชาติเช่าที่ดินหาดไม้ขาวสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ โดยยึดหลักการ ดังนี้
1. การพัฒนาโครงการของรัฐ ไม่กระทบวิถีชีวิตของประชาชน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชนต้องดีขึ้น
2. การชดเชยเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ภายใต้หลักการ “ผู้สร้างผลกระทบจะต้องเป็นผู้จ่าย” โดยมีเกณฑ์การฟื้นฟู 3 ระดับ ดังนี้
2.1 ระยะสั้น ให้มีการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ พัฒนาของรัฐอย่างเป็นธรรมถูกต้องและเท่าเทียม
2.2 ระยะกลาง ให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มและพัฒนาอาชีพของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
2.3 ระยะยาว ให้มีการฟื้นฟูเยียวยาวิถีชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาเป็นปกติสุขเช่นเดิม โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ
3. เคารพสิทธิชุมชนดั้งเดิมเป็นหลักไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยา และยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานอนุกรรมการ รับผิดชอบเรื่อง ขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ จัดทำแผนและกำหนดแนวทาง นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
5. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ ให้รับผิดชอบการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วน จำนวน 102 ราย ให้แล้วเสร็จภายใน 100 วัน และแก้ไขปัญหาสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567
6. คณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานอนุกรรมการ รับผิดชอบ 3 เรื่องดังนี้
1. ให้คณะอนุกรรมการนำที่ดินของรัฐมาใช้ในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย จำนวน 139 แห่ง เพื่อให้ชุมชนดังกล่าวเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน โดยในระหว่างที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาขอให้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหา และพัฒนาสาธารณูปโภคไปพลางก่อน พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณในทุกชุมชนจนกว่าจะมีแนวทางการแก้ปัญหาเป็นอย่างอื่นและให้อนุกรรมการได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณแนวทางในการดำเนินการในทุกกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต
2. กรณีปัญหาที่อยู่อาศัย ต้องไม่ใช้กฎหมายมาบังคับไล่รื้อแต่ให้ใช้กระบวนการเจรจาการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ทั้งนี้การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนของหน่วยงานที่มีอยู่ยังมีข้อติดขัดในระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร หรือ การจัดตั้ง และระบบสหกรณ์ ที่ต้องได้รับการปรับปรุงให้การดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยของคนจนให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของคนจน
3. ให้ทบทวน การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินแบบแปลงรวมที่ประชาชนรวมกลุ่มกันซื้อหรือเช่าที่ดินมาบริหารร่วมกัน โดยให้คิดเกณฑ์การชำระภาษีกับรายแปลงย่อยที่แต่ละครัวเรือนครอบครองจริง โดยดำเนินการตามสรุปผลการประชุมหารือเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง การเสียภาษีที่ดินของสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จังหวัดนครปฐม ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันว่ากระทรวงการคลังสามารถอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 (12) แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อออกกฎกระทรวงให้สหกรณ์ ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินได้
7. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ รับผิดชอบเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
‘พีมูฟ’ จัดกิจกรรมค่ำคืนสุดท้ายของการปักหลักชุมนุม 15 คืน หลัง ครม.มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหา
โดยในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ได้มอบหมายให้อนุกรรมการทั้ง 7 ชุดดูแลแก้ไขปัญหาทั้งหมด 38 กรณีดังนี้
- กรณีบ้านใหม่ล้านนา ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- กรณีบ้านรอยพระพุทธบาท ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
- กรณีบ้านศิริราษฎร์ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
- กรณีพื้นที่ไร่ดง ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
- โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 4 พื้นที่ ของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ได้แก่ 1) ชุมชนบ้านไร่ดง ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง 2) ชุมชนบ้านท่ากอม่วง ตำบลหนองปลาสะวาย อำเภอบ้านโฮ่ง 3) ชุมชนบ้านแพะใต้ ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง และ 4) ชุมชนบ้านโป่ง ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
- การเช่าที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน แปลงริมบึงมักกะสัน (ซอยหมอเหล็ง)
- ขอให้ส่งมอบพื้นที่ให้กับสถาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ 1) ชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ที่ 4 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี 2) ชุมชนสันติพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง 3) ชุมชนก้าวใหม่ หมู่ที่ 5 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี
- สหกรณ์ที่ดินคลองโยง จำกัด พื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง
- ชุมชนไทดำ (บ้านทับชัน) หมู่ที่ 1 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกไม่ตรงตามตำแหน่งทะเบียนหวงห้ามเดิมทับที่อยู่อาศัยชุมชนไทดำ จำนวน 77 แปลง เนื้อที่ 1,408 ไร่
- กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ตำบลตาเกา อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี
- ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล
- ชุมชนพานหินโพธิ์ทอง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
- อ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง ตำบลตาเกา อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี
- ชุมชนตาดปูน ตำบลทุ่งนาเลา อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กรณีโรงโม่หินศักดิ์ชัย
- ชุมชนบ่อแก้ว ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
- ชุมชนโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
- กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนลำเซบก ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี
- ที่สาธารณประโยชน์ ดอนหนองโมง – หนองกลาง บ้านเขวาโคก บ้านเขวาโคกพัฒนา ตำบลสระบัว อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด
- ที่สาธารณประโยชน์โคกภูพระ บ้านหินโง่น หมู่ที่ 11 ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
- ที่สาธารณประโยชน์โคกปออีกว้าง บ้านกุดแข้ด่อน หมู่ที่ 12 ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
- ที่สาธารณประโยชน์ “ป่าช้า – บ้านร้าง” หมู่ที่ 5 บ้านกุดแข้ด่อน ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร (ชุมชนแดนสวรรค์)
- ที่สาธารณประโยชน์โน่นอีหง่อม โนนหนองห้าง และโนนม่วง ตำบลหัวช้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
- ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลงที่ 2 ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร
- ที่สาธารณประโยชน์โนนสามพันตา บ้านน้อยนางาม ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา บ้านจะแวะ ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยศาลา ภูติ๊กต๊อก ตำบลห้วยจันทร์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
- เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระวิหาร ภูกระทุงพนมประโน ซำหมาก กม. 10 – 13 บ้านทับทิมสยาม 07 ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
- ชุมชนท่าเว่อ ตำบลท่ามะไฟหวาน อำแภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ
- ปลูกป่าทับที่ดินทำกิน เขตป่าฝั่งห้วยกำโพด ป่าตาปุม บ้านตาปุม หมู่ที่ 5 ตำบลตระเปียงเตีย อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์
- ที่สาธารณประโยชน์โคกหนองเม็ก หมู่ที่ 1 ตำบลขอนแตก อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
- ที่สาธารณประโยชน์โคกปะแนต ตำบลดม ตำบลบ้านชบ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
- ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
- ชุมชนหลังเวทีสะพานหิน ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
- ชุมชนสระต้นโพธิ์ หมู่ที่ 7 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
- กรณีนายวิทยา แก้วบัวขาว ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
- กรณีหาดไม้ขาว หมู่ 5 ตำบลไม้ขาว อำเภอไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต
- ชุมชนแหลมหมา กรณีนายสมยศ มิตรพันธ์ หมู่ที่ 4 บ้านท่าดินแดง ตำบลลำแกน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
- ชุมชนลับแล ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี