ศาลปกครองสูงสุด ยกอุทธรณ์ ป.ป.ช.ต้องเปิดความเห็นเจ้าหน้าที่ คดีนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” ชี้ เนื่องจากคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้
วันที่ 20 ต.ค.2566 ศาลปกครองกลาง อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ พม.47/2566 คดีหมายเลขแดง พม.63/2566 และคดีหมายเลขดำที่ พม.48/2566 คดีหมายเลขแดงที่ พม.62/2566 ระหว่าง นายวีระ สมความคิด (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่)
โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของสำนักงาน ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. คดีที่มีผู้อื่นขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เนื่องจากคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้
คดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ พม.48/2566 คดีหมายเลขแดงที่ พม.62/2566 ระหว่าง นายวีระ สมความคิด (ผู้ฟ้องคดี) กับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน (ผู้ฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่)
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย กรณีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย มีคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กรณีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จำนวน 3 รายการ
ได้แก่ 1. รายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด 2. ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคน ที่รับผิดชอบในเรื่องกล่าวหาดังกล่าว และ 3. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพิกเฉย จึงนำคดีมาฟ้อง
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำขอดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 1461/2566 และคำสั่งที่ 1562/2566 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง โดยวินิจฉัยว่า ความเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งอันแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าวในชั้นตรวจคำฟ้องก่อนที่จะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว
แม้ประเด็นการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่กรณีไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามข้อ 92 ประกอบข้อ 116 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่ด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ก็ตาม
แต่เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเองก็มิได้ยกขึ้นโต้แยังทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับมาตรา 69 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดของศาล จะต้องระบุถึงความเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จะมีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้โต้แย้งการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี ทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดตามที่กล่าวมา
ศาลจึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยและระบุไว้ในคำพิพากษา กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าคำพิพากษาของศาล มีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กล่าวอ้าง ซึ่งจะทำให้ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2662 และตามมาตรา 15(2) (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อ้างพยานหลักฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 683/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ อร. 47/2564 โดยมิได้พิจารณา คดีหมายเลขแดงที่ อ. 683/2564 ซึ่งมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับคดีนี้ และการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น
เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างในการขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.224/2560 ได้วินิจฉัยไว้แล้ว กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน การพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเท่านั้น กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่ามีข้อบกพร่อง สำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาทำให้ผลคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้

