b01

ส่วยแรงงานต่างด้าว ยอมจ่ายแล้วจบจริงหรือไม่?

ส่วยแรงงานต่างด้าว ยอมจ่ายแล้วจบจริงหรือไม่?

“จ่ายแล้วจบ” นี่คือคำพูดของขบวนการเรียกเก็บส่วยแรงงานต่างด้าว ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำทีเข้าจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตร บัตรหมดอายุ หรือขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ได้รับอนุญาต ถึงขั้นข่มขู่ว่าถ้าไม่จ่ายเงินก็จะถูกจับ ผลักดันกลับประเทศ ทำให้แรงงานต่างด้าวหรือนายจ้างหลายคนหวาดกลัว

บทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จะพาไปรู้จักกับสินบนแรงงานต่างด้าว ที่มาในรูปแบบของบัตรส่วย ที่จ่ายแล้วจบ…จริงหรือไม่ ?

ปัญหาคอร์รัปชันแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ปัจจุบันยังเป็นประเด็นที่สังคมไทยจับตามอง

โดยเฉพาะเมื่อกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ปัญหาส่วย สินบน กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง กับเหตุการณ์จุดประเด็นเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุกส่งผลลุกลามไปถึงการโพสต์ข้อความถึงส่วยสติ๊กเกอร์แรงงานต่างด้าวด้วย แม้ว่าข่าวดังกล่าวจะถูกชี้แจงในภายหลังว่าเกิดขึ้นนานมาแล้ว เมื่อปี 2559 ซึ่งขณะนั้นกระทรวงแรงงานออกกวดขันจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานแย่งอาชีพคนไทยในย่านเยาวราช พบแรงงานต่างด้าวโชว์สติกเกอร์โดราเอม่อน โดยอ้างว่าจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเลี่ยงกับการถูกจับ ต่อมาหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์แม่ค้าขายกล้วยทอด ย่านบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ถูกกลุ่มชาย 4 คน อ้างตัวเป็นตำรวจเรียกเก็บเงินค่าดูแลแรงงานต่างด้าว จำนวน 3,500 บาทต่อเดือนเพื่อแลกกับสติ๊กเกอร์ส่วย จึงเกิดเป็นคำถามให้ชวนสงสัยว่า ส่วยสติ๊กเกอร์หรือบัตรส่วยแรงงานต่างด้าวนั้น ยังมีอยู่จริงหรือไม่ ?

แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไม่ทัน จึงต้องยอมจ่ายส่วยเพื่อแลกกับการทำงาน

เพื่อคลายข้อสงสัยทีมงาน SPOTLIGHT Anti Corruption จึงลงพื้นที่ไปยังจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานและพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แรงงานส่วนใหญ่ทำประมง ก่อสร้าง และแปรรูปอาหารทะเล

ซึ่งในความเป็นจริงการจ้างแรงงานต่างด้าวมีทั้งการจ้างงานแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายปะปนกัน ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ทำการพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลรายหนึ่งได้บอกว่า ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ตามโรงงานขนาดใหญ่หรือตามตลาดทะเลไทนั้นส่วนมากมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง เพราะได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางานจังหวัดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็มีแรงงานบางส่วนที่พึ่งเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทย แรงงานกลุ่มนี้จะยังไม่สามารถทำบัตรได้ เนื่องจากกรมการจัดหางานจังหวัดได้ปิดให้บริการขึ้นทะเบียนแรงงานไปแล้วในช่วงนี้ ทำแรงงานที่เข้ามาใหม่ส่วนนี้ต้องจ่ายสินบนให้กับกลุ่มคนที่อ้างตนเป็นตำรวจ โดยสนนราคาอยู่ที่ 500 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าคุ้มครองไม่ให้ถูกจับส่งกลับประเทศต้นทาง

ซึ่งเมื่อแรงงานเหล่านี้ถูกตรวจค้นหรือสอบถามก็ให้โทรศัพท์ไปหาทางเบอร์ที่ให้ไว้ เพื่อเคลียร์ว่าแรงงานคนดังกล่าวได้จ่ายส่วยรายเดือนแล้ว ป้องกันไม่ให้ถูกจับหรือเรียกเก็บเงินจากหน่วยงานเดิมซ้ำอีก

ผู้ประกอบการรายนี้บอกต่อว่า ปัญหาการเรียกเก็บส่วยแรงงานนั้นมีเกือบทุกพื้นที่ โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่ก็คล้ายคลึงกันคือจะมีนายหน้าชาวพม่าเป็นคนมาเก็บเงินเพื่อไปส่งต่อให้กลุ่มคนที่อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเรทราคาที่เรียกเก็บก็อยู่ที่หลักร้อยจนถึงหลักพัน ยิ่งหากแรงงานคนไหนต้องการขับขี่ยานพาหนะก็สามารถทำได้ แต่ก็จะต้องจ่ายค่าส่วยแพงขึ้นอีก

b06

การจ่ายส่วยแรงงานต่างด้าวที่เกิดจากความสมยอมของทั้งนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐ

นายจ้างบางคน มองว่า การจัดทำใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายยังมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และมีเวลาที่จำกัดในการทำจนทำให้นายจ้างบางคนจึงยอมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ยอมจ่ายสินบนเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย

นานวันเข้ามีแรงงานต่างด้าวบางคนที่ลักลอบประกอบอาชีพสงวนของคนไทย คือ 1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน 14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตรพระ 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ 27.งานบริการทางกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพต้องห้าม มีความผิดตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้ช่องทางกฎหมายบุกเข้าตรวจสอบจับกุมและไปเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการได้ประกอบอาชีพเหล่านี้

b04

b05

เส้นทางของการจ่ายส่วยแรงงานต่างเกิดขึ้นตั้งแต่ประเทศต้นทาง

ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เล่าถึงเส้นทางของการจ่ายส่วยแรงงานต่างด้าวว่า ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ประเทศต้นทาง เพราะแรงงานที่มาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายต่างต้องมีการจ่ายค่าหัวคิวให้กับนายหน้าที่ฝั่งประเทศต้นทางและรวมทั้งในฝั่งประเทศไทยให้กับหน่วยงานต่างๆที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน และจ่ายต่อเนื่องตลอดเส้นทางที่แรงงานต้องการจะเดินทางไปทำงาน โดยมีค่าหัวคิวที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 15,000 – 20,000 บาทต่อคน

การจ่ายส่วยแรงงานต่างด้าวจึงถือเป็นปัญหาคอร์รัปชันสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายเหล่านี้จะไม่ได้รับสวัสดิการ สิทธิประกันสุขภาพ

พอถึงเวลาเจ็บป่วยหรือมีปัญหาด้านสุขภาพอาจส่งผลลุกลามในเรื่องของโรคติดต่อ หรือเกิดปัญหาอาชญากรรมที่ร้ายแรงตามมา

ดร.มานะ ได้ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาส่วยแรงงานต่างด้าวเอาไว้ 2 ข้อ คือ

1.กฎระเบียบข้อบังคับในการจัดทำเอกสารสำหรับขึ้นทะเบียนแรงงานต้องสะดวกและง่าย ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน

2.เจ้าหน้ารัฐต้องอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจสุขภาพ และเปิดอิสระให้ขึ้นทะเบียนแรงงานได้โดยไม่ต้องกำหนดช่วง

b03

บทลงโทษของผู้กระทำผิดลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ส่วยแรงงานต่างด้าวไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ มีมานานหลายสิบปี สามารถจับกุมขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวส่งดำเนินคดีในข้อหาช่วยเหลือ ซ่อนเร้น ขนคนต่างด้าวเข้าเมือง ตาม
พ.ร.บ. มาตรา 63 ระบุว่าผู้ใดนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และมาตรา 64 ว่าด้วยผู้ใดรู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

b02

การที่จะยุติปัญหานี้ได้จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น รัฐ ผู้ประกอบการ ตัวแรงงานต่างด้าวและนายหน้าที่จะต้องหาข้อตกลงในการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้ปัญหาการละเมิดสิทธิและเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการที่มีต่อแรงงานต่างด้าวยุติลง

 

แหล่งที่มา

Share:
Scroll to Top